มาย้อนและมานึกกันเล่นๆ ว่าในปี 2017 ที่กำลังจะผ่านไป คุณเห็นเทรนด์ไหนบ้างที่มา “แรง” หรือ “In” ในวงการ smartphone และ gadget? และตรงกันข้าม คุณเห็นอะไรบ้างที่อาจจะไม่ถึงกับ “ร่วง” หรือ “Out” แต่ก็ไม่สามารถสร้างความนิยมได้เท่าที่ถูกคาดหวังไว้ หรือก็ไม่ถึงกับล้มเหลว แต่ก็กำลังจะถูกสิ่งอื่นที่ใกล้เคียงกันทดแทน? ในโอกาสฉลองปีใหม่ ผู้เขียนจะขอใช้มุมมองส่วนตัว จัดแบ่ง 3 รุ่ง และ 3 ร่วง ในช่วงปี 2017 หรือ 2560 ที่ผ่านมา
3 กระแส “แรง” ในแวดวงมือถือแก็ดเจ็ท
แรง 1. จอขอบบาง – ไร้ขอบ
หนึ่งในเทรนด์ระยะยาวของสมาร์ทโฟน ก็คือจอใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากยุคของไอโฟนตัวแรกที่จอ 3.5 นิ้ว และแอนดรอยด์รุ่นแรกๆ 4 นิ้ว ก็ค่อยๆ ขยับขึ้นมา เป็น 5, 5.2, 5.5, 5.7 จนปัจจุบันหลายรุ่นก็ 6 นิ้วกันแล้ว
แน่นอนสิ่งที่ได้คือความสบายตา แต่ก็ต้องแลกมากับความยากในการถือ โดยเฉพาะกับสาวๆ หรือหนุ่มที่มือเล็ก และก็ความลำบากในการใส่กระเป๋ากางเกงหรือกระเป๋าเสื้อ
ฉะนั้นทางออกก็คือ บีบให้พื้นที่ขอบจอเหลือน้อยที่สุด หรือหายไปเลย เพื่อให้มือถือจอ 5.5 นิ้วมีขนาดรวมทั้งเครื่องเท่ากับพวกจอ 5 นิ้วถ้วน
ทั้งนี้แบรนด์ต่างๆ ก็หาทางออกกันหลายแบบ ทั้งแบบขอบจอโค้งอย่างใน Samsung รุ่นบนๆ เช่น Edge มาถึง S8 และ Note 8 และใน Huawei ตระกูล Mate Pro และแบบที่ขอบจอยังมี แต่ให้เหลือบางที่สุด และยิ่งขยายพื้นที่จอไปสุดทุกด้านเลยยิ่งช่วยลดขนาดรวมได้ เช่นใน iPhone X (ไอโฟนเท็น หรือไอโฟนสิบ)
และไม่แค่มือถือตัวราคาระดับบนๆ เท่านั้นที่เล่นเทรนด์นี้กันอย่างคึกคัก มือถือระดับกลางๆ ราคาหมื่นหรือต่ำหมื่นก็เล่นเทรนด์นี้กันด้วย เช่น Huawei Nova2i, Wiko View, และ OPPO F5
ฉะนั้นอาจถือได้ว่า พวกเรากำลังเห็นจุดเปลี่ยนของการดีไซน์มือถือ และจากปีหน้า 2018 เป็นต้นไป มือถือแบบมีขอบจอ โดยเฉพาะขอบข้างนั้น อาจกลายเป็นของเชยในไม่ช้า เพราะมือถือทุกย่านราคาจะเต็มไปด้วยดีไซน์ไร้ขอบ หรือเกือบไร้ขอบ
ทั้งนี้กระแสตอนนี้คือเริ่มจากขอบข้างก่อน ส่วนขอบบนและขอบล่างนั้นยังคงเหลือไว้มากกว่าขอบข้าง โดยยังมีแต่ iPhone X เท่านั้นที่หั่นขอบทุกด้านจนแทบจะหายไปเลย
แรง 2. จอสัดส่วน 18 ต่อ 9
เทรนด์นี้ต่อเนื่องจากเทรนด์แรก คือในเมื่อจอใหญ่กว่าให้ความรู้สึกที่ดีกว่า อ่านอะไรได้มากกว่า แต่ถ้าใหญ่ (กว้าง) แล้วถือยาก ก็ให้มันกว้างเท่าเดิมแต่ยาวขึ้นดีกว่าไหม?
นั่นนำมาซึ่งเทรนด์การใช้ “จอยาว” สัดส่วน 18 ต่อ 9 ยาวกว่าเดิมที่เป็นสัดส่วน 16 ต่อ 9 เล็กน้อย
ซึ่งทรงจอยาวนี้ เมื่อใช้ร่วมกับทรงไร้ขอบ ก็ทำให้มือถือดูสวยเซ็กซี่ขึ้นอย่างชัดเจนจริงๆ หลายคนเลยคิดว่าถ้ามันดูดีขึ้นขนาดนี้ล่ะก็ ทำไมไม่ทำมานานแล้ว ?
คำตอบที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้ ก็คือก่อนนี้มีผู้ผลิตมือถือหลายแบรนด์ “อยากทำแต่ทำไม่ได้” นั่นเพราะ Android ไม่รองรับ หรือพูดง่ายๆว่า กูเกิ้ลไม่ให้ทำนั่นเอง โดยได้กำหนดว่าสมาร์ทโฟนที่ลง Android ไม่สามารถทำหน้าจอสัดส่วนเกิน 16:9 ได้ตามข้อกำหนด “Android Compatibility Definition Document (CDD)” ว่าสัดส่วนหน้าจอต้องอยู่ระหว่าง 4:3 ถึง 16:9
แต่ก็มีเสียงเรียกร้องจากผู้ผลิตหลายราย และรายที่ผลักดันหนักจนสำเร็จรายแรกก็คือ Xiaomi (เสี่ยวมี่) ของพี่จีนซะอย่างนั้น
โดย “เสี่ยวมี่” ถึงกับส่งทีมงานไปยังสำนักงานใหญ่ของกูเกิ้ลเพื่อเจรจาและโชว์ตัวผลิตภัณฑ์ต้นแบบรุ่น Mi Mix ให้ทีมงานแอนดรอยด์ดูจนยอมเปลี่ยนสเปคแอนดรอยด์ แล้วออกใหม่ Android 7.0 CDD ที่ไม่มีการจำกัดสัดส่วนหน้าจอมือถืออีกต่อไปและนั่นก็เปิดทางให้เกิดเทรนด์ “จอยาว” อย่างทุกวันนี้
แต่น่าสังเกตว่าส่วนใหญ่เราจะใช้พื้นที่จอยาวได้คุ้มก็เมื่ออยู่ในหน้าจอหลัก ระหว่างเลือกแอพฯ หรืออยู่ในแกลเลอรี่ดูรูป หรืออ่านเว็บเท่านั้น ส่วนการเล่นคลิปยูทูบ หรือเล่นเกมหลายๆเกม ก็ยังเห็นภาพในสัดส่วนเดิมอยู่ โดยเว้นด้านล่างหรือทั้งบนและล่างเอาไว้
แต่ก็มีมือถือบางรุ่นที่มีระบบช่วยยืดทุกสิ่งบนหน้าจอออกไปให้เต็มได้ตลอด เช่น Samsung Galaxy S8 และ Note 8 และ iPhone X และอีกหลายยี่ห้อหลายรุ่นที่ใครสนใจก็อย่าลืมตรวจสอบก่อนซื้อกันด้วย
แรง 3. กล้องหน้าคู่
กระแสกล้องหลังคู่นั้นมาแรงตลอด 1 – 2 ปีหลัง โดยมีทั้งแบบที่เป็น “คู่ซูม” คือตัวหนึ่งซูม อีกตัวหนึ่งธรรมดา หรือแบบ “คู่กว้าง” คือตัวหนึ่งมุมกว้าง อีกตัวธรรรมดา และยังมีแบบ “คู่ชัดเบลอ” “คู่สี-ขาวดำ” ฯลฯ
กล้องคู่แบบที่ฮิตกว่าชาวบ้านเห็นจะเป็นแบบ “คู่ชัดเบลอ” คือช่วยทำหน้าชัดหลังเบลอ หรือ “Bokeh” ตั้งแต่ตอนถ่าย ไม่ต้องมานั่งทำเองบนแอพฯ ให้เหนื่อย
ช่วงแรกๆ นั้นกล้องคู่ล้วนแต่อยู่ข้างหลัง เราะมุ่งจะตอบโจทย์ว่ากล้องมือถือนั้นเก่งเข้าใกล้กล้องถ่ายรูปจริงๆ ขึ้น (อีกนิด) แล้ว จะเอาไปถ่ายแจกันดอกไม้ ถ่ายอาหาร หรือถ่ายบุคคล (อื่น) ก็ดูโปรขึ้นผิดหูผิดตา
แต่ว่าช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กระแสกล้องคู่ดูมีการพลิกกลับด้านอย่างน่าสนใจ คือมือถือรุ่นระดับกลางใหม่ๆ นั้น ย้ายกล้องคู่ไปอยู่หน้ากันใหญ่ เช่น OPPO F5, Wiko View Prime, ฯลฯ
ซึ่งในสมาร์ทโฟนราคาระดับกลางลงไป คงต้องเลือกว่าจะใช้กล้องคู่หน้าหรือคู่หลัง ไม่สามารถใส่กล้องคู่ลงไปทั้งสองฝั่งได้ และพวกเขาก็เลือกคู่หน้า
ฉะนั้นเป้าหมายของการใช้งานเลยเปลี่ยนไป คือแทนที่จะเน้นถ่ายรูปวัตถุหรือคนอื่นให้ดูโปรขึ้น ก็กลายเป็นการถ่ายเซลฟี่ตัวเอง หรือถ่ายกรุ๊ปฟี่กับครอบครัวหรือเพื่อนๆ โดยให้ฉากหลังเบลอแทนซะงั้น
ก็ต้องดูกันต่อไปว่า ในปี 2018 กล้องคู่จะ “ได้หน้าลืมหลัง” ? หรือว่าจะกลับฝั่งไปอยู่หลังเหมือนเดิม ? หรือว่าจะอยู่มันทั้ง 2 ด้านทั้งในรุ่นแพงและรุ่นกลางๆ ลงไปด้วย?
3 กระแส “ร่วง” ในแวดวงมือถือแก็ดเจ็ท
ร่วง 1. Windows Phone
มือถือที่ใช้ Windows เป็นระบบปฏิบัติการนั้น ปกติก็มีน้อยอยู่แล้ว ระยะหลังๆ ก็แทบจะมีแต่ Nokia รุ่น Lumia ต่างๆ ซึ่งหลายคนก็บ่นว่ามีแอพฯ ให้เลือกใช้งานน้อย แถมล่าสุดโนเกียรุ่นใหม่ๆ ก็หันไปใช้ Android แล้ว
ประเด็นแอพฯ น้อยนี้ แม้แต่ไมโครซอฟต์เจ้าของโอเอส Windows Phone เอง ยังผลิตแอพฯ หลายตัวให้ระบบ Android และ iOS แต่ไม่ผลิตให้ระบบ Windows Phone ของตัวเองเลย! งานนี้เรียกว่าเจ้าของยังมองข้าม แล้วจะให้ใครไปลงทุนลงแรงทำแอพฯ ด้วย?
และล่าสุด การร่วงของมือถือ Windows ถูกคอนเฟิร์มด้วยข่าวอดีตหัวหน้าทีมพัฒนา Windows Phone ที่ปัจจุบันถูกย้ายไปเป็นผู้บริหารระบบปฏิบัติการในภาพรวมของไมโครซอฟต์แล้ว ได้โพสต์ผ่านทวิตเตอร์ว่าไมโครซอฟท์จะไม่ออกฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ และไม่พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ให้กับ Windows Mobile อีกต่อไป โดยจะแค่แก้บั๊กและอัพเดตความปลอดภัยให้ Windows 10 Mobile เท่านั้น
ใครจะซื้อมือถือไม่ว่าของใหม่หรือมือสอง ก็ต้องพิจารณาให้ดีก่อนเลือกมือถือ Windows จากนี้ไป
ร่วง 2. Tablets
ยอดขายแท็บเล็ตที่เป็นแทบเล็ตแท้ๆ นั้นมีแต่ทรงกับลดทั่วโลกมาพักใหญ่ โดยถูกคู่แข่งเบียดทั้ง 2 ด้านบนล่าง คือด้านจอใหญ่นั้น พวกแท็บเล็ต 8 – 10 นิ้วก็ถูกโน๊ตบุ๊ค 2 in 1 รุ่นใหม่ๆ ที่ถอดจอได้มาแย่งยอดขาย ไม่ว่าจะเป็น Surface, Chromebook และสารพัดรุ่นยี่ห้อและโอเอสต่างๆ เพราะใช้ทำงานได้ง่ายกว่า สะดวกกว่า
ส่วนแทบเล็ตเล็กๆ เช่น 7 นิ้ว ก็โดนมือถือเบียด เพราะมือถือสมัยนี้ก็มีจอ 5.7 ถึง 6 นิ้วกันหลายรุ่นที่สามารถถือมือเดียวได้สบาย เพราะทำจอไร้ขอบบ้าง จอยาวบ้าง
การร่วงการซึมของแท็บเล็ตนั้น ดูง่ายๆ ได้จากการที่ไม่ค่อยมีรุ่นใหม่ๆ ออกมาบ่อยเหมือนหลายปีก่อนแล้ว และสเปคก็ไม่ค่อยถูกใส่ให้เท่าที่ควร เช่นกล้องหลังก็มักอยู่ที่ 2 ล้านพิกเซล กล้องหน้ายังไม่เกินล้านพิกเซลกันมากมาย ในขณะที่มือถือนั้นอัดกล้องหลักสิบล้านพิกเซลทั้งหน้าหลังแถมมีกล้องคู่กล้องซูมกันสารพัด แถมมีรุ่นใหม่ๆ จัดกันออกมาไม่เว้นเดือน
ร่วง 3. แว่น VR
เทคโนโลยี VR ถูกพูดถึงกันมานานนับปี บริษัทต่างๆ ก็ลงทุนลงแรงพัฒนากันมากมาย เช่น Google ทำแว่นทั้งแบบกระดาษแข็งราคาถูกและแบบพลาสติคอย่างดีเสริมผ้าราคาแพง, ฝ่าย Samsung ก็ออกแว่น Samsung Gear VR, และทาง HTC ก็ออกแว่น HTC Vive และยังมีอีกหลายแบรนด์ รวมถึง “แว่นจีน” ราคาร้อยกว่าสองร้อยบาทอีกมากมาย
แต่กระแสความฮิตแว่น VR ก็ยังไม่มาเท่าที่ควร คลิป VR และเกม VR ก็ยังหาได้ไม่ง่ายนัก และในการเลือกซื้อมือถือ คนก็ยังไม่ค่อยสนใจของแถมที่เป็นแว่น VR กันเหมือนเดิม และก็ไม่ค่อยสนใจสเปคเครื่องที่จะซื้อ ว่ามี Gyroscope (เซ็นเซอร์ที่ต้องมีหากจะนำมือถือไปใส่แว่น VR) หรือไม่ด้วย
หลายฝ่ายวิเคราะห์เหตุผล ว่าเป็นเพราะการดู VR ผ่านจอมือถือนั้น ยังไม่ให้ประสบการณ์ที่ดีเท่าไรนัก เพราะคลิปที่มีและสื่อที่มีทุกวันนี้ภาพยังไม่ชัดพอ หรือถึงชัดพอแต่ดูนานหลายนาทีก็มึนแล้ว
ที่ต้องจับตามองกันหน่อยก็คือ “แว่น VR คุณภาพสูงที่ไม่ต้องใช้มือถือ” เช่น PlayStation VR ของโซนี่ และ Oculus Rift ของเฟซบุ๊กว่าจะในทางธุรกิจและความฮิตนั้น จะไปได้ไกลกว่า “แว่น VR ราคาถูก-ใส่โทรฯมือถือ” หรือไม่ ?
ย้ำอีกทีว่าทั้งหมดนี้เป็นมุมมองส่วนตัว ถ้าผู้อ่านมีความเห็นเพิ่มเติม หรือความเห็นที่แตกต่าง ก็มาแลกเปลี่ยนกันได้ที่เพจ “WhatPhone.net” หรือ facebook.com/WhatPhoneThailand กันนะครับ ^_^