ในปัจจุบัน หากพูดถึงระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟนที่นิยมใช้กันมาก และรู้จักกันมากที่สุด หลายคนคงจะนึกถึง Android เป็นอันดับแรกอย่างแน่นอน เพราะแอนดรอยด์เป็น Open Source ที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตหลายแบรนด์นำไปใช้กับสมาร์ทโฟนของตัวเองได้ฟรี รวมทั้งปรับแต่งระบบได้อย่างอิสระ เราจึงได้เห็นสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์หลากรุ่นหลายราคา ตั้งแต่รุ่นประหยัดไปยันรุ่นพรีเมี่ยมราคาสูง และด้วยความนิยมของแอนดรอยด์ในท้องตลาดนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ทำให้แอนดรอยด์ถูกพัฒนามาหลายเวอร์ชั่น ทั้งเวอร์ชั่นปกติตามชื่อขนมหวาน และเวอร์ชั่นพิเศษ จนมาถึงปัจจุบันที่กูเกิลได้เปิดตัว Android One กับ Android Go เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ผลิตและผู้ใช้ด้วยนั่นเอง
บางคนคงจะสงสัยว่า Android One คืออะไร แล้ว Android Go คืออะไร แล้วสองเวอร์ชั่นนี้ต่างจากแอนดรอยด์เวอร์ชั่นปกติอย่างไร เราจะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับแอนดรอยด์ทั้งสองเวอร์ชั่นนี้กันครับ
Android One คืออะไร?
Google ได้เปิดตัว Android One อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2014 ที่ประเทศอินเดีย โดยมีจุดประสงค์หลักคือการทำให้ผู้คน 5 พันล้านคนที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟน ได้เข้าถึงการใช้งานสมาร์ทโฟนตามยุทธศาสตร์ของกูเกิลที่ว่า “Next Billion (ขยายตลาดไปอีกหนึ่งพันล้านคนถัดไป)” และคนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้เป็นคนอินเดีย ทำให้โครงการแอนดรอยด์วัน นั้นถูกออกแบบมาโดยคำนึงถึงตลาดอินเดียก่อนเป็นตลาดแรก หลังจากนั้นจึงขยายตลาดไปยังประเทศข้างเคียงในภูมิภาคเอเชียใต้ อาเซียน และภูมิภาคอื่นตามลำดับ
Sundar Pichai CEO ของกูเกิล (อดีตหัวหน้าทีมพัฒนา Android ในขณะนั้น) เคยกล่าวไว้ว่า
“Android One จะเป็นมาตรฐานของทั้งฮาร์ดแวร์ผสานกับซอฟต์แวร์ที่เยี่ยมยอดของ Google ที่จะมีการมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้คนที่ไม่เคยได้สัมผัสสมาร์ทโฟนมาก่อน”
เนื่องจากโครงการนี้เริ่มต้นขึ้นในอินเดียก่อน ผู้ผลิตรายแรกๆ ที่ทำสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์วันก็จะเป็นสามแบรนด์หลักในอินเดียนั่นเอง คือ Micromax (รุ่น Canvas A1), Spice (รุ่น Dream UNO) และ Karbon (รุ่น Sparkle V) ซึ่งสเปคทั้งสามรุ่นไม่ต่างกัน คือ
- หน้าจอ 4.5 นิ้ว ความละเอียด 854×480 พิกเซล
- ระบบปฏิบัติการ Android 4.4.4 KitKat
- CPU Quad Core 1.3GHz จาก MediaTek, RAM 1 GB, ROM 4 GB เพิ่ม Micro SD Card ได้
- กล้องหลัง 5 MP (รองรับการบันทึกวีดีโอแบบ HD) กล้องหน้า 2 MP
- แบตเตอรี่ 1700 mAh
กูเกิลได้เปิด roadshow สำหรับโปรโมท Android One ทั้งหมดกว่า 600 สถานที่ใน 20 เมืองใหญ่บนประเทศอินเดีย ซึ่งจะทำให้ Android One และ Google นั้นเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
เมื่อแอนดรอยด์วันเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นนอกประเทศอินเดีย ในระยะต่อมา ผู้ผลิตแอนดรอยด์ชื่อดังหลายเจ้าก็เริ่มหันมาทำแอนดรอยด์วันด้วยเช่นกัน อย่างเช่น Motorola, HTC, Xiaomi, Nokia เป็นต้น โดยหันมาใช้ CPU ตระกูล Snapdragon เป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีสเปคเครื่องที่แรงขึ้นเมื่อเทียบกับตอนเปิดตัวครั้งแรกในอินเดีย (บางรุ่นเป็นเรือธงซะด้วยซ้ำ เช่น Nokia 8 ใช้ Snapdragon 835) และมีจำหน่ายเกือบทุกประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ แอนดรอยด์วันรุ่นที่ใช้สเป็คต่ำแทบจะไม่มีให้เห็นในตลาดอีกต่อไปแล้ว
ไม่เพียงแต่ยี่ห้อดังจากต่างประเทศเท่านั้นที่ทำแอนดรอยด์วัน หากจำกันได้ สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์วันสัญชาติไทยตัวแรก คือ i-mobile IQ II นั่นเอง! นอกจากกูเกิลจะรับประกันการอัปเดต 2 ปีแล้ว ไอโมบายล์ยังรับประกันตัวเครื่อง, อะไหล่ เป็นเวลา 2 ปีอีกด้วย!!! เป็นที่ฮือฮาในขณะนั้นพอสมควร
ข้อดีของ Android One
- ได้อัปเดตใหม่ก่อนใครจากกูเกิล แบบเดียวกับสมาร์ทโฟนตระกูล Nexus หรือ Pixel จึงไม่ต้องเสียเวลารอการอัปเดตจากผู้ผลิต แบบสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ทั่วๆ ไป
- กูเกิลรับประกันการอัปเดต 2 ปี นับตั้งแต่แอนดรอยด์เวอร์ชั่นปัจจุบัน นอกจากนี้ ประกันตัวเครื่อง, อะไหล่จากผู้ผลิตยังขยายเวลาออกเป็น 2 ปีอีกด้วย (ปัจจุบันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของผู้ผลิตแต่ละแบรนด์ที่ไม่แน่นอน)
- ไม่มี Bloatware มากวนใจ เพราะแกะกล่องเปิดเครื่องออกมา มีแต่ Google Service มาให้อย่างเดียว ไม่มีแอพขยะที่ต้องคอยถอนการติดตั้งให้ปวดหัว (บางแอพถอนทิ้งไม่ได้อีกต่างหาก) แถมประหยัดเนื้อที่ได้อีกเยอะเลย
- มีแพคเกจอินเทอร์เนตจากโอเปอเรเตอร์มาให้ด้วย กูเกิลกำหนดให้การขายในแต่ละประเทศจะต้องมีแพคเกจบริการอินเทอร์เนตผ่านมือถือให้มาด้วย (ในระยะแรกของโครงการ) อย่างของไทยเราสำหรับผู้ที่ซื้อ i-mobile IQ II จะได้ซิมของ True Move H เล่นเนต 4G ฟรี 1GB นาน 2 ปี เมื่อมียอดเติมเงินสะสมครบ 200 บาทต่อเดือน
- สเปคสุดคุ้มในราคาถูก เพราะเป็นเพียวแอนดรอยด์แท้ๆ จากกูเกิล ไม่มีการครอบ UI เพิ่มเติมจากผู้ผลิต จึงลื่นไหลแม้สเป็คจะไม่สูงนัก (สำหรับรุ่นที่ออกมาในช่วงแรกๆ)
ข้อเสียของ Android One
- สเปคเครื่องที่ไม่สูงนัก โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ใช้ CPU ของ MediaTek เป็นหลัก แต่ภายหลังหันมาใช้ Snapdragon กันแทบทั้งหมดแล้ว
- การประกอบตัวเครื่องและวัสดุ เนื่องจากเน้นทำราคาถูก วัสดุจึงใช้พลาสติกเป็นหลัก ตัวเครื่องอาจดูไม่สวยงามเมื่อเทียบกับแอนดรอยด์รุ่นอื่นในราคาที่เท่ากัน
- ฟังก์ชั่นน้อยเมื่อเทียบกับเครื่องรุ่นอื่นในราคาที่เท่ากัน ด้วยความที่เป็นเพียวแอนดรอยด์แท้ๆ จึงไม่มีแอพเสริมจากผู้ผลิตมาให้ UI ดั้งเดิมจึงไม่มีลูกเล่นใหม่ๆ ที่ผู้ใช้ต้องการ
แล้ว Android Go ล่ะ คืออะไร
Android Go เปิดตัวครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2017 เป็นโครงการที่คล้ายคลึงกับ Android One เพื่อให้ผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนได้เข้าถึงการใช้งานสมาร์ทโฟนตามที่กูเกิลตั้งเป้าหมายไว้นั้นเอง แต่ต่างกันตรงที่ แอนดรอยด์โกจะเป็นฟังก์ชั่นหนึ่งที่มีในแอนดรอยด์เวอร์ชั่น Oreo ทุกเครื่อง (ส่วนแอนดรอยด์วัน มีเฉพาะรุ่นที่ผู้ผลิตระบุไว้เท่านั้น) เพื่อทำให้เครื่องสเปคต่ำๆ สามารถใช้งานได้ดีและมีประสิทธิภาพสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว แอนดรอยด์โอรีโอ้ออกอัปเดตใหม่เป็นเวอร์ชั่น 8.1 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเดิมจากแอนดรอยด์โก เป็น Android Oreo (Go Edition) และเปิดให้ใช้งานอย่างเป็นทางการ (เพื่อความสะดวก ในที่นี้จะขอเรียกว่าแอนดรอยด์โก)
สเปคของแอนดรอยด์โกนั้น รองรับ RAM ต่ำสุดที่ 1 GB และที่สำคัญ รุ่นไหนก็ใช้ได้ ขอแค่เป็นแอนดรอยด์โอรีโอแล้วอัปเดตก็เพียงพอแล้ว (จะใช้โหมดแอนดรอยด์โก ในสมาร์ทโฟนตระกูล Pixel ก็ไม่มีปัญหา) ซึ่งมีจุดเด่นดังนี้
- ระบบปฏิบัติการที่ใช้พื้นที่หน่วยความจำในเครื่องน้อยลง และทำงานได้เร็วขึ้น
- แอพพื้นฐานที่ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ใช้พลังงานน้อยลง
- Play Store แบบใหม่ที่จะเน้นการนำเสนอแอพที่เน้นกินทรัพยากรเครื่องน้อย (Facebook lite, Twitter lite, Youtube Go เป็นต้น)
ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์โก มีความเร็วและความคล่องตัวมากกว่าเวอร์ชั่นก่อน ทำให้การทำงานของแอพเร็วขึ้น 15% ระบบใช้พื้นที่ของเครื่องน้อยลงถึงเท่าตัว พร้อมฟังก์ชั่น Data Saver ที่ควบคุมการใช้ดาต้าอินเทอร์เน็ตให้น้อยลงเท่าที่จำเป็น
ปกติแล้ว สมาร์ทโฟนที่จะใช้แอนดรอยด์โกได้นั้น ต้องอัปเดตจากโอรีโอ้ เวอร์ชั่น 8.0 มาเป็น 8.1 ก่อน แต่มีสมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่มาพร้อมกับแอนดรอยด์โกจากผู้ผลิตโดยไม่ต้องอัปเดตเพิ่ม นั่นคือ Nokia 1 นั่นเอง
ข้อดีของ Android Go
- ระบบปฏิบัติการที่ทำงานได้เร็วขึ้น เมื่อเทียบกับแอนดรอยด์โอรีโอ้ 8.0
- ใช้ RAM น้อย เครื่องที่มีแค่ 1 GB ก็ทำงานไหว
- แอพที่กินทรัพยากรเครื่องน้อยลง เช่น ตระกูล Go
- ใช้พื้นที่ใน ROM น้อยลง 50% เมื่อเทียบกับเวอร์ชั่นที่แล้ว
- แอนดรอยด์โอรีโอ้ 8.1 ทุกรุ่นทุกยี่ห้อสามารถใช้ฟังชั่น Go ได้
ข้อเสียของ Android Go
- Data Saver จะไม่ทำงานในเว็บที่มีการเข้ารหัส หรือเปิดโหมด Incognito (โหมดไม่ระบุตัวตน)
- แอพในเวอร์ชั่น Go และ Lite บางฟังก์ชั่นจะถูกตัดออก เพื่อลดขนาดของแอพลง
ข้อแตกต่างระหว่าง Android One และ Android Go
- สมาร์ทโฟนรุ่นไหนจะเป็นแอนดรอยด์วัน ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต แต่สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์โก ทุกรุ่นทุกยี่ห้อสามารถใช้ฟังก์ชั่นโกได้เลย
- แอนดรอยด์วันรองรับหลายเวอร์ชั่นตั้งแต่คิทแคท 4.4 เป็นต้นไป แอนดรอยด์โกจะต้องเป็นเวอร์ชั่นโอรีโอ้ 8.1 เท่านั้น
- แอนดรอยด์วันช่วงแรกเน้นราคาถูก ภายหลังจึงยอมให้มีรุ่นราคาสูงขึ้น แต่แอนดรอยด์โกเน้นทุกช่วงราคาเพราะรองรับทุกรุ่นทุกยี่ห้อ
- แอนดรอยด์วันรองรับสเปคจำกัด แต่แอนดรอยด์โกรองรับสเปคทุกรุ่น ขอแค่เป็นโอรีโอ้ 8.1
- แอนดรอยด์วันต้องใช้แอพเวอร์ชั่นปกติ แต่แอนดรอยด์โกมีแอพเวอร์ชั่น Go มาให้ (ไม่นับแอพตระกูล Lite ที่ไม่ใช่ของกูเกิล)
- แอนดรอยด์วันเป็นเพียวแอนดรอยด์ปกติ ไม่มีการเพิ่มประสิทธิภาพใดๆ แต่แอนดรอยด์โกจะปรับปรุงการใช้พลังงาน, RAM, ROM, ความไวในการใช้งาน ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเวอร์ชั่นก่อน