เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมาทาง Google ได้เปิดตัวระบบปฏิบัติการรุ่นล่าสุดอย่าง Android Go ที่ทำมาเพื่อผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้น ตอบโจทย์ในเรื่องของความลื่นไหลในสเปคที่ไม่สูงนัก วันนี้ทาง Whatphone ก็จะพามาเปรียบเทียบเจ้าระบบนี้กับระบบ Android ปกติ ว่าจะแตกต่างกันแค่ไหน น่าใช้งานหรือไม่? ไปดูกันเลยครับ
Android Go คืออะไร?
เป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่ออกแบบมาจาก Android OREO (8.1) และ Android Pie (9.0) เพื่อให้ประสบการณ์การใช้งานที่ลื่นไหลในสเปคเบา ๆ RAM น้อย ๆ ตอบโจทย์ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนในระดับราคาเริ่มต้น
ในส่วนของแอปพลิเคชั่นบนระบบปฏิบัติการ Android Go นั้นจะถูกออกแบบมาเป็นพิเศษโดยจะถูกลดสเปคหรือฟีเจอร์ที่มีอยู่ รวมถึงลดขนาดของแอปเพื่อการใช้งานที่ลื่นไหล หลัก ๆ ก็จะประกอบไปด้วยแอปพลิเคชั่นดังต่อไปนี้
- YouTube Go
- Maps Go
- Gmail Go
- Google Go
พอพูดถึง Android Go แล้วก็อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับระบบ Android ปกติเลยล่ะ ซึ่งในส่วนถัดไปจะเป็นการเทียบแอปของเจ้า 2 ระบบนี้ว่ามีความแตกต่างกันตรงไหนบ้างนั่นเองครับ
เปรียบเทียบแอปของ Android Go กับ Android ปกติ
ก่อนที่เราจะไปเปรียบเทียบแอปพลิเคชั่นของทั้ง 2 ระบบปฏิบัติการนี้ ก็จะขอเกริ่นนำเกี่ยวกับ ระบบ Android Go ก่อนซึ่งถูกพัฒนามาจาก Pure Android ปกติตั้งแต่โรงงานเลย (มีแอปพลิเคชั่นพิเศษจาก Google ติดมาด้วย ตัวระบบปฏิบัติการเองก็กินพื้นที่น้อย) ซึ่งมีความคล้ายกับโปรเจค Android One ทำให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนไม่ต้องไปปรับแต่งอะไรมากนัก เรียกได้ว่าพร้อมขายในราคาไม่แพงได้เลย
แต่สำหรับระบบปฏิบัติการ Android ปกตินั้นจะถูกนำไปปรับแต่งเพื่อเติมสไตล์หรือเอกลักษณ์ของผู้ผลิตสมาร์ทโฟนนั้น ๆ อย่าง EMUI ของ Huawei, MIUI ของ Xiaomi, Color OS ของ Oppo หรือแม้แต่ซัมซุงก็ยังมี Samsung Experience UI เช่นกันครับ ซึ่งการปรับแต่งของแต่ละค่ายนั้น จะมุ่งเน้นประสบการณ์การใช้งานที่หลากหลาย ยัดฟีเจอร์มากมายใส่เข้ามาในสมาร์ทโฟนเครื่องนึงให้มีลูกเล่นเพื่อเป็นจุดขายของแบรนด์ ทั้งนี้ราคาและสเปคของสมาร์ทโฟนก็จะต้องสูงพอสมควรทั้ง RAM, ROM รวมถึง CPU เพื่อรองรับลูกเล่นดังกล่าวนั่นเองครับ
Gmail Go vs Gmail
เริ่มต้นกันด้วยแอปพลิเคชั่นอย่าง Gmail Go ที่ออกแบบมาให้ใช้งานส่งอีเมลล์เหมือนกับแอปเวอร์ชั่นเต็ม ความแตกต่างของแอปพลิเคชั่นนั้นแทบจะไม่มีเลย อาจจะมีบ้างที่การตอบสนองของแอปช้ากว่าเวอร์ชั่นเต็ม เพราะสมาร์ทโฟนมีสเปคต่ำ (ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด) แต่ส่งที่น่าสนใจคือเจ้าตัว Gmail Go ดันมีขนาดแอปที่ใหญ่กว่า Gmail ปกติซะอย่างนั้น แต่มันก็กินสเปคน้อยเพราะทางกูเกิ้ลตั้งใจออกแบบมาให้เข้ากับระบบ Android Go โดยเฉพาะนั่นเองครับ
YouTube Go vs YouTube
Youtube Go เป็นแอปพลิเคชั่นที่ออกมาแบบให้ใช้งานง่ายและเรียบง่าย แบบเดียวกับ Gmail Go แต่หน้าตายังคงคล้ายกับแอปเวอร์ชั่นเต็มพอสมควร แต่สิ่งที่น่าสังเกตุคือ ในการดูวีดีโอนั้นจะเป็นไฟล์ความละเอียดไม่สูงมากนัก โดยมีการบอกขนาดของไฟล์วีดีโอไว้ชัดเจน สามารถเลือกคุณภาพของวีดีโอก่อนดูได้ เพื่อการประหยัด DATA ของสมาร์ทโฟนไปอีกแบบ อีกทั้งการที่ไม่สามารถ Comment หรือ Like หรือ Dislike คลิปได้ การใช้งานโดยกันปัดไปมาของแอปยังตอบสนองได้ไม่ดีนัก โดยยังมีอาการค้างหรือกระตุกไม่สมูทอยู่เล็กน้อย
Google Go and Assistant Go vs Google
หนึ่งในแอปพลิเคชั่นที่เรียกได้ว่าติดมากับ Android ทุกเครื่องอย่าง Google ก็ถูกพอร์ตลงมาเป็น Google Go ที่มีฟีเจอร์คล้ายกับเวอร์ชั่นเต็มพอสมควร แต่มันก็มาพร้อมกับ Assistant Go ผู้ช่วยอัจฉริยะที่ถูกฝังลงในแอปนี้ด้วยกัน โดยสามารถสั่งงานทั่วไปได้ อาทิ ตั้งนาฬิกาปลุกหรือสั่งให้เล่นเพลงจาก Spotify ก็ทำได้เช่นกัน
แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ ขนาดไฟล์ของแอปที่เล็กลงมากเทียบกับแอปเวอร์ชั่นปกติ, Assistant จะใช้ได้กับกลุ่มภาษาหลัก ๆ เท่านั้น, ไม่รองรับฟีเจอร์ OK Google, ไม่รองรับการสั่งงานให้ใช้งานในส่วนของฮาร์ดแวร์อย่างเช่นการ เปิดไฟฉาย ได้ และมี UI ที่แตกต่างไปจากเดิมเล็กน้อย ในส่วนของการตั้งค่าก็มีให้เลือกอยู่ไม่กี่อย่าง
Google Maps Go vs Google Maps
ปิดท้ายกันด้วย Google Maps แอปพลิเคชั่นยอดฮิตที่ครองใจผู้ใช้งานทั่วโลก ซึ่งเจ้าตัว Google Maps Go นี้จะมีขนาดไฟล์ที่ไม่ถึง 1 MB แถมยังรองรับรูปแบบการทำงานและมีหน้าคล้ายแอปเวอร์ชั่นเต็มอีกด้วย อาทิ การแนะนำเส้นทางที่ใกล้ที่สุด การเรียกบริการขนส่งอย่าง UBER หรือ GRAB
แต่สิ่งที่สังเกตุได้ชัดเจนคือคุณภาพของกราฟฟิคในเวอร์ชั่น Go จะออกแบบมาค่อนข้างไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนนัก (ตามขนาดของแอป) รวมถึงไม่มี GPS แบบเรียลไทม์ ทำให้การบอกตำแหน่งอาจจะมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่สามารถบอกตำแหน่งในที่อัปสัญญาณได้เลย
ก็จบกันไปแล้วกับกับการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง Android Go กับ Android ปกติ และสำหรับใครที่อยากติดตามบทความดี ๆ หรือข่าวสารใหม่ ๆ ก็สามารถกดไลค์เพจ WhatPhone.net หรือเข้ามาพูดคุยกันได้ที่ WhatPhone – Commu ได้เลยครับ
ที่มา : xda-developers