“ธนาคารไทยพาณิชย์” และ “มหาวิทยาลัยมหิดล” ร่วมมือสานต่อโครงการ “สมาร์ท ยูนิเวอร์ซิตี้” (Smart University) ภายใต้แนวคิด “Digital Convergence University” ซึ่งหนึ่งในความร่วมมือสำคัญของโครงการนี้ คือการสนับสนุนและเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการทางการเงิน โดยการปูพื้นฐานด้านการเงินการลงทุน หรือ Financial Literacy ด้วยการเสริมทักษะความรู้ และประสบการณ์จริงให้กับนักศึกษา และบุคลากร ผ่านการเรียนรู้ ในรูปแบบต่างๆ ที่ทันสมัย ได้แก่ “การเรียนรู้ผ่าน e-learning” บน website ของมหาวิทยาลัย การจัดสัมนาจากผู้ทรงคุณวุฒิทางการเงินที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพด้านต่างๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษา “SCB Investment Lab” ห้องปฏิบัติการเรียนรู้ด้านการลงทุนเสมือนจริงแห่งแรกของประเทศไทย
เน้นใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ชูไฮไลท์ ระบบ Simulator ที่ช่วยให้นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยได้ทดลองเรียนรู้ด้านการลงทุนในหุ้นแบบเสมือนจริง ให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้ด้านการเงินการลงทุนให้กับนักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยฯ “Mahidol Virtual Classroom Powered by SCB” ระบบห้องเรียนอัจฉริยะแห่งแรกในสถาบันการศึกษา ที่เชื่อมโยงการเรียนการสอนทั้ง 4 วิทยาเขต (1 พื้นที่และ 3 วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเข้าด้วยกัน ได้แก่พื้นที่ศาลายา วิทยาเขตนครสวรรค์ วิทยาเขตกาญจนบุรี และวิทยาเขตอำนาจเจริญ) และ “WeMahidol” แอปพลิเคชัน ที่จะช่วยให้การเรียนรู้ และการใช้ชีวิต ในรั้วมหาวิทยาลัยยุคดิจิทัล 4.0 ของเหล่านักศึกษาและบุคลากรสะดวกยิ่งขึ้น เตรียมพร้อมก้าวสู่การเป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก
นางสาวปิยะอาภา เจริญเวช ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสาย Corporate Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงิน และผู้นำด้านดิจิทัลแบงก์กิ้ง ธนาคารไทยพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี และบริการเพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ของการเป็น “ธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด” (The Most Admired Bank) โดยนอกจากการมุ่งเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการเงินที่ดีขึ้น เพื่อตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้าได้อย่างครอบคลุม ธนาคารฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะผลักดันสถาบันที่สำคัญในสังคมไทยอย่างสถาบันการศึกษาเข้าสู่สังคมยุคดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ “Smart University” ซึ่งเป็นการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการพัฒนาระบบนิเวศด้านดิจิทัล (Ecosystem) ผ่านการเชื่อมโยงแพลตฟอร์มของมหาวิทยาลัยทั้งในด้านการบริหารจัดการการเรียนการสอน โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการใช้ชีวิตของนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยในยุคดิจิทัล โดยเน้นการสนับสนุนและเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการทางการเงิน โดยการปูพื้นฐานด้านการเงินการลงทุน หรือ Financial Literacy ด้วยการเสริมทักษะความรู้ และประสบการณ์จริงให้กับกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ที่ทันสมัย พร้อมผสมผสานกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยให้การเรียน การใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เพราะปัจจุบันเรื่องการเงินและการลงทุนถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่คนรุ่นใหม่ควรเริ่มศึกษาหาข้อมูล และทำความเข้าใจตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยเหตุนี้ ช่วงการเป็นนักศึกษาจึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ และเหมาะสมอย่างยิ่งในการเรียนรู้และเริ่มต้นฝึกการวางแผนทางการเงิน ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานต่อไป”
ความร่วมมือระหว่าง “ธนาคารไทยพาณิชย์” และ “มหาวิทยาลัยมหิดล” ในการร่วมกันบูรณาการ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับดิจิทัลเทคโนโลยีภายใต้แนวคิด “Digital Convergence University โดยการปูพื้นฐานด้านการเงินการลงทุน หรือ Financial Literacy ได้แก่
- “การเรียนรู้ผ่าน e-learning” บน website ของมหาวิทยาลัย การจัดสัมนาจากผู้ทรงคุณวุฒิทางการเงินที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพด้านต่างๆ ที่ไม่เพียงแต่จะมาให้ความรู้ทางการเงิน แต่จะมาสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาด้วย
- “SCB Investment Lab” ห้องปฏิบัติการเรียนรู้ด้านการลงทุนเสมือนจริงแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดให้บริการในสถาบันการศึกษา เพื่อเป็นพื้นที่บ่มเพาะความรู้และประสบการณ์จริงทางการเงินและการลงทุน
- “Mahidol Virtual Classroom Powered by SCB” ระบบห้องเรียนอัจฉริยะแห่งแรกของสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ที่เชื่อมต่อการเรียนการสอนด้วยระบบ Interactive ระหว่าง 1 พื้นที่ และ 3 วิทยาเขต ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ ศาลายา กาญจนบุรี นครสวรรค์ และอำนาจเจริญ นับว่าเป็นการเรียนรู้อย่างไร้พรมแดนระหว่างอาจารย์และนักศึกษา
- “WeMahidol” แอปพลิเคชันที่ช่วยให้การเรียนรู้และการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย สะดวกสบายยิ่งขึ้น อาทิ การจัดการตารางการเรียน การเช็คชื่อเข้าเรียน อัพเดทข่าวสารต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย รวมทั้ง สามารถชำระเงินให้กับร้านค้าทั้งภายในมหาวิทยาลัย และภายนอกมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมสังคมไร้เงินสดของภาครัฐบาลได้อีกด้วย
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธันย์ สุภัทรพันธุ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปี 2562 มหาวิทยาลัยมหิดลจะครบ 50 ปี ที่ได้รับพระราชทานนาม “มหิดล” และครบ 131 ปี มหาวิทยาลัยมหิดลที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่โรงพยาบาลศิริราช โรงเรียนแพทยากร โรงเรียนราชแพทยาลัย โดยเป็นคณะหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วจึงสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์จนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหิดลมียุทธศาสตร์ที่จะก้าวไปสู่การเป็น World Class University ซึ่งหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้ยุทธศาตร์นั้นประสบความสำเร็จคือการพัฒนาอาจารย์ บุคลากรและนักศึกษาให้มีทักษะการเป็น Global Citizen พร้อมสำหรับการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จึงเกิดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและธนาคาร ไทยพาณิชย์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อร่วมกันสร้างองค์ความรู้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยี สภาพแวดล้อม และด้านอื่นๆ ที่สำคัญในมหาวิทยาลัยฯ อาทิ ด้านการวิจัย ด้านการศึกษา ด้านบริการวิชาการ รวมไปถึงการบริหารจัดการ และการดำเนินชีวิตประจำวันของทุกคนโดยเฉพาะด้านนวตกรรมการเงินดิจิตัลที่เข้ามามีบทบาทในโลกปัจจุบันและถือเป็นการสร้างทักษะด้าน Entrepreneurship ให้แก่นักศึกษาและบุคลากร จากความร่วมมือในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบแห่ง “Digital Convergence University”
นางสาวศลิษา หาญพานิช ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Segment Management และ Strategic Planning ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ความรู้ด้านการเงินและการลงทุน (Financial Literacy) นับเป็นองค์ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของ ทุกคน เช่นเดียวกับช่วงวัยนักศึกษาที่ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการเรียนรู้เกี่ยวกับการลงทุน เพราะพื้นฐานของการลงทุนนั้นมาจาก การออม และการบริหารจัดการรายรับรายจ่าย หากเรามีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถบริหารจัดการการเงินการลงทุนของตัวเองได้แล้วนั้น จะนำไปสู่อิสระภาพทางการเงิน (Financial Freedom) ได้ไม่ยาก โดย SCB Investment Lab จะช่วยสร้างประสบการณ์ และความคุ้นเคยด้านการลงทุนให้กับนักศึกษา เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงต่อไปในอนาคต นอกจากนี้การเปิด SCB Investment Lab ในครั้งนี้ ถือเป็นการเติมเต็มระบบ Ecosystem ด้านการลงทุนในประเทศไทยโดยขยายกลุ่มเป้าหมายเข้ามาในกลุ่มมหาวิทยาลัยมากขึ้น โดยใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านการเงินการลงทุน ผ่านการทดลองซื้อ-ขายหุ้นแบบเสมือนจริง (Simulator) และผ่านเครื่องมือทางการเงินที่ทันสมัยอย่างโปรแกรมวิเคราะห์หุ้นระดับสากล รวมถึงการจัดสัมมนาต่างๆ เพื่อเป็นศูนย์ในการให้ความรู้ทางด้านการลงทุนทางการเงินอย่างครบวงจรให้แก่อาจารย์ นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย”
นายกัมพล จันทวิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า “เพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์เสมือนจริงเกี่ยวกับการลงทุน SCBS ได้เตรียมความพร้อมทั้งในด้านเทคโนโลยี บุคลากร ตลอดจนข้อมูลต่างๆ ที่เป็น องค์ความรู้สำคัญในการปูพื้นฐานด้านการเงินการลงทุน โดยมี ไฮไลท์อยู่ที่ ระบบ Simulator ที่ช่วยให้นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยได้ทดลองเรียนรู้ด้านการลงทุนในหุ้นแบบเสมือนจริง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จาก SCBS ผู้มีความเชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อาทิ ภาวะตลาดโลก ความเคลื่อนไหวในตลาดทุนไทย การอ่านกราฟต่างๆ เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์เพื่อประกอบการตัดสินใจ รวมถึงความรู้ด้านการลงทุนที่จำเป็นต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่เข้ามาใช้บริการ ได้รับความรู้ ความเข้าใจ และสามารถสร้างทักษะในการจัดการและบริหารการเงินของตัวเองได้อย่างแท้จริง”