งานวิจัยด้านแบตเตอรีมีงานวิจัยใหม่ๆ มาตลอด แต่มีจำนวนน้อยมากที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง โดยหนึ่งในแบตเตอรีที่น่าสนใจสำหรับโลกอนาคตก็คือ Lithium Metal
แบตเตอรีประเภท Lithium Metal นั้นมีข้อดีที่เหนือกว่า Lithium-ion ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันสองประการ คือเก็บความจุไฟได้มากขึ้นราวๆ 33% และมีน้ำหนักเบา เนื่องจากขั้วแอโนดนั้นใช้ Lithium แทนที่จะเป็นกราไฟต์
อย่างไรก็ตาม Lithium Metal นั้นก็มีปัญหาในการใช้งานไม่แตกต่างจากแบตเตอรีประเภทอื่นๆ ที่ปรากฏชื่อให้เราได้ยินเป็นครั้งคราว โดยเมื่อใช้ไปนานๆ จะเกิดการเสื่อมสภาพและมี Dendrite เป็นกิ่งก้างของแข็งเกิดขึ้นภายใน ยิ่งนานวัน Dendrite เหล่านี้ก็อาจจะแทงทะลุแผ่นกั้นภายในที่แบ่งขั้วบวกและขั้วลบออกจากกัน และเมื่อสองขั้วไม่มีการแบ่งแยกอีกต่อไปผลก็คือเกิดการลัดวงจร และอาจจะทำให้แบตเตอรีระเบิด หรือลุกติดไฟได้
กลุ่มนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Stanford University จึงหาทางแก้ไขปัญหานี้ โดยล่าสุดเลือกใช้วิธีชุบเคลือบแผ่นป้องกันที่แบ่งขั้วบวกและลบออกจากกันใหม่ ทำให้ควบคุมการเติบโตของ Dendrite ไม่ให้แทงทะลุได้ ทำให้หลังจากชาร์จไฟ 160 Cycle ตัวแบตเตอรียังเก็บไฟได้ราวๆ 85% เมื่อเทียบกับ Lithium Metal ที่ใช้แบบเดิมๆ เมื่อชาร์จไฟไป 160 Cycle จะเก็บไฟได้เพียง 30% เท่านั้น
สิ่งที่จะได้รับประโยชน์จากแบตเตอรีประเภทนี้มากที่สุดอาจจะไม่ใช่มือถือ หรือนาฬิกาอัจฉริยะ แต่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันใช้พลังงานราวๆ 1/4 ของพลังงานทั้งหมดแบกรับน้ำหนักของแบตเตอรี ถ้าหากแบตเตอรีมีน้ำหนักลดลงก็จะทำให้การบริโภคพลังงานลดตามไปด้วย
แม้จะฟังดูดี แต่ทีมนักวิจัยของ Stanford University ก็ระบุว่าการชุบเคลือบแบบใหม่นี้แก้ไขได้บางปัญหาเท่านั้น และยังมีปัญหาอีกมากมายให้แก้ไขก่อนจะสามารถนำไปใช้งานได้จริงๆ แม้ว่าตอนแรก Stanford จะคาดว่าแบตเตอรีชนิดนี้จะใช้งานได้จริงในปี 2015 ดูเหมือนว่าอนาคตที่ Lithium Metal จะเข้ามาแทนที่ Lithium Ion นั้นยังค่อนข้างห่างไกล
ที่มา – Engadget