Google ประกาศเปิดทดสอบ Android 11 Developer Preview 1 อย่างเป็นทางการวันนี้ โดยมีการปรับปรุงหลายอย่างจาก Android 10 ที่ปล่อยให้อัพเดทกันในปีที่แล้ว
ก่อนจะลงไปถึงรายละเอียดว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เห็นได้ชัดเจนบ้าง ขออนุญาตพูดถึงกำหนดปล่อยอัพเดทรุ่นทดสอบ เบต้า และตัวจริงเสียก่อน โดยปีนี้ยังคงมีกำหนดปล่อยอัพเดทคล้ายๆ กับที่ผ่านมา คือช่วงแรกจะเป็น Developer Preview ที่ออกอัพเดทรายเดือน (ซึ่งส่วนใหญ่ทุกเดือนก็จะเลทไปเรื่อยๆ) แต่ความแตกต่างคือแทนที่จะออก DP คู่ขนานกับ Beta ไปด้วยกัน
ปีนี้จะเป็น Developer Preview 1, 2, 3 ตั้งแต่กุมภาพันธ์จนถึงเมษายน จากนั้นในเดือนพฤษภาคมจะเริ่มทดสอบ Beta Release (คาดว่าน่าจะประกาศในงาน Google I/O 2020) โดยใน Beta ที่สองจะ Freeze Code ไม่มีการแก้ไขฟีเจอร์แล้ว เน้นการแก้ไขบั๊กในระบบให้เรียบร้อย แล้วปล่อยตัวจริงในไตรมาสที่สาม (ที่ผ่านมาเกือบทุกครั้งปล่อยตัวจริงในเดือนสิงหาคม ทำให้คาดว่าปีนี้ก็คงจะเหมือนเดิม)
สำหรับมือถือที่เข้าร่วมทดสอบAndroid 11 Developer Preview 1 ในตอนนี้มีเพียงมือถือตระกูล Pixel เท่านั้น ได้แก่
- Pixel 2
- Pixel 2 XL
- Pixel 3
- Pixel 3 XL
- Pixel 3a
- Pixel 3a XL
- Pixel 4
- Pixel 4 XL
เนื่องจาก Developer Preview 1 นั้นยังค่อนข้างใหม่ และมี Known Issue (หรือบั๊ก) เต็มไปหมด จึงไม่แนะนำให้บุคคลทั่วไปทำการติดตั้งและใช้งานครับ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดตั้งโดยไม่ได้ตั้งใจ Google จึงไม่ปล่อย OTA สำหรับติดตั้งออกมาครับ ผู้ที่สนใจต้องทำการแฟลชระบบปฏิบัติการจาก OS Image ด้วยตัวเองเท่านั้น ซึ่งมีความยุ่งยากในระดับหนึ่ง
ตอน Android 10 ทาง Google ได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ที่ชื่อว่า Project Mainline โดยมันจะทำหน้าที่แยกโมดูลของระบบปฏิบัติการออกจากกัน ทำให้สามารถอัพเดทส่วนใดส่วนหนึ่งได้โดยไม่ต้องรอแพทช์อัพเดทชุดใหญ่
ในเวอร์ชันที่แล้ว Project Mainline แยกระบบปฏิบัติการออกเป็น 8 โมดูล เป็นโมดูลเฉพาะตัวจำพวกความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย ตัวถอดรหัสวิดิโอ เน็ทเวิร์ค และตัวควบคุมสิทธิการเข้าถึง แต่ใน แอนดรอยด์ 11 นี้ทาง Google เพิ่มเข้ามาอีก 12 อย่างด้วยกัน โดยตอนนี้ยังไม่ระบุว่าทั้งหมดมีอะไรบ้าง แต่จะไม่เป็นฟีเจอร์ระบบเบื้องหลังเหมือนในอดีตอีกต่อไป บางส่วนจะเป็นโมดูลที่เกี่ยวกับผู้ใช้งาน และนักพัฒนาซอฟท์แวร์ ซึ่งจะสามารถอัพเดทได้ผ่าน Google Play Store เช่นเดิม
การจัดการสิทธิการเข้าถึงของแอพเริ่มมีความคล้ายกับ iOS มากขึ้น (คืออนุญาตให้ใช้งานได้เฉพาะตอนที่เปิดแอพ หรือตลอดเวลา หรือไม่ให้เลยก็ได้ และเลือกได้ว่าจะให้แจ้งเตือนทุกครั้งที่มีการใช้สิทธิ์ได้ด้วย)
สำหรับฟีเจอร์ Buble ที่พัฒนามาจนเกือบพร้อม แต่ไม่ได้ใช้จริงในเวอร์ชัน แอนดรอยด์ 10 ก็กลับมาอีกครั้ง คราวนี้รองรับการใช้งานมากขึ้นกว่าเดิม และน่าจะเปิดใช้งานจริงๆ แล้ว
สำหรับการปรับแต่งอื่นๆ ก็เช่นการปรับให้นักพัฒนาสามารถใช้งานหน้าจอโค้งแบบ Waterfall ได้ประโยชน์มากขึ้น, API ใหม่จำนวนมาก รวมไปถึงตัวปรับทดสอบแอพที่เลือกได้ว่าจะลองเปิด ปิด API ใดแล้วแอพพังบ้าง ทำให้สามารถกำหนดแอพให้ใช้ SDK เวอร์ชันล่าสุดและเวอร์ชันเก่าร่วมกันได้
คาดว่าเราจะได้ยินข่าวฟีเจอร์ แอนดรอยด์ 11 ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอีกสักพักล่ะครับ เชื่อว่าปีนี้น่าจะเก็บฟีเจอร์ที่ปีที่แล้วทำไม่เสร็จ หรืออิมพลีเมนต์ไม่เรียบร้อย และเพิ่มความสเถียรเป็นหลักมากกว่าใส่ฟีเจอร์ใหม่ๆ สำหรับฟากผู้ใช้งาน
ที่มา – Android Police (1), (2),(3), The Verge