จากประกาศของกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ถึงมาตรการระยะที่ 2 เรื่องการดูแลและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งเป็นมาตรการดูแลเยียวยา ‘แรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม และผู้ที่ส่งเงินประกันสังคม ตาม ม.39 และ ม.40 รวมถึง ม.33 ที่ส่งยังไม่ครบ 6 เดือน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สั่งปิดพื้นที่เสี่ยง เช่น สถานบันเทิง, สนามมวย หรือห้างสรรพสินค้า จากการสำรวจเป็นจำนวน 3 ล้านคนนั้นทางรัฐจึงออกมาตรการ เราไม่ทิ้งกัน จะชดเชยรายได้ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 28 มีนาคม 2563 ผ่านทางเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com
เปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 28 มีนาคม 2563 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป
ขั้นตอนลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาท เราไม่ทิ้งกัน
1. ตรวจสอบคุณสมบัติ
คุณสมบัติของผู้รับเงินเยียวยาที่ต้องมีคือเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ จาก โควิด-19 เนื่องจากการปิดพื้นที่เสี่ยง โควิด-19 ชั่วคราวและการหยุดกิจการของธุรกิจที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัส เช่น สนามมวย สนามกีฬา สถานบันเทิง สปา ฟิตเนส เป็นต้น และในส่วนกลุ่มที่อยู่ในระบบประกันสังคมนั้น จะได้รับเงินกรณีว่างงาน 50% ของค่าจ้าง แยกเป็น 2 กรณีคือกรณีนายจ้างไม่ให้ทำงาน รับเงินไม่เกิน 180 วัน หรือกรณีรัฐสั่งหยุด รับเงินไม่เกิน 90 วัน และผู้ที่ส่งเงินประกันสังคม ตาม ม.39 และ ม.40 รวมถึง ม.33 ที่ส่งยังไม่ครบ 6 เดือน
2. เตรียมหลักฐาน
ในส่วนของการรับเงินชดเชย ผู้ที่ประสงค์จะรับเงินเยียวยาจะต้องมีหลักฐานดังต่อไปนี้
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ข้อมูลส่วนบุคคล
- ข้อมูลนายจ้าง (ถ้ามี)
3. ลงทะเบียน
ผู้ประสงค์ขอรับเงินเยียวยาสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2563 ที่จะถึงนี้ ผ่าน 2 ช่องทาง
- ผ่านทางเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com
- ผ่านธนาคารของรัฐที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
4. รับเงินเยียวยา
- พร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชน
- โอนเข้าบัญชีธนาคาร
ผู้ประสงค์ขอรับเงินสามารถรับเงินเยียวยาเป็นจำนวน 5,000 บาท 5 วันหลังการลงทะเบียนเสร็จสมบูรณ์ เงินจะถูกโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์ (Prompt Pay) ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชน หรือโอนเข้าบัญชีออมทรัพย์ของผู้รับเงิน ถ้าผูกกับบัญชีพร้อมเพย์นั้น เงินจะโอนเข้าบัญชีเร็วกว่าผู้ที่ให้โอนเข้าบัญชีธนาคาร