ย้อนกลับไปเมื่อปี 2012 ที่ผ่านมา Google ได้ประกาศเปิดตัว Google Glass อย่างเป็นทางการที่งาน Google I/O พร้อมกับวิดีโอคลิปการดิ่งพสุธาที่ถ่ายทอดสดให้ผู้ชมทั่วโลกได้ดูกันผ่านทาง Google Hangouts ที่เชื่อมต่อกับ Google Glass ซึ่งในขณะนั้นหลายๆ คนอาจจะมองความหมายของ Google Glass ได้ไม่ชัดเจน เพราะมันดูเหมือนกับผลิตภัณฑ์ที่ส่งมาจากโลกอนาคต และในตอนนี้ Google ก็ได้เริ่มวางขาย Google Glass ให้ผู้ที่สนใจได้สั่งซื้อมาใช้ และที่คุณจะได้อ่านต่อไปนี้ก็คือรีวิวของ Google Glass รุ่น Explorer Edition 2.0 รุ่นที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจซื้อมาใช้งานนั่นเองครับ
Google Glass คืออะไร
Google Glass คือชื่อเรียกของแว่นตาที่เป็นมากกว่าแว่นตา เพราะนอกจากจะผลิตโดย Google บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลกแล้ว ยังเปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์ที่สวมใส่บนร่างกายของเราได้ ใช้สวมใส่เป็นแว่นตา และทำการเชื่อมต่อเข้ากับแอพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนของเรา เพื่อแสดงผลข้อมูลต่างๆ บนหน้าจอของ Google Glass ให้ตาของเราได้เห็นข้อมูลดังกล่าว หรือจะนำมาใช้งานแบบเดี่ยวๆ โดยไม่ใช้สมาร์ทโฟนก็สามารถทำได้เช่นกันครับ แต่ฟีเจอร์ที่ทำได้นั้นจะไม่เท่ากับการเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ทโฟน
Google Glass ทำงานอย่างไร
จากเว็บไซต์ของ Google ระบุอย่างชัดเจนว่า ตัวระบบปฏิบัติการของ Google Glass นั้นคือ Android 4.0.4 ในเวอร์ชั่นปรับแต่งมาสำหรับ Glass โดยเฉพาะ และมีหน่วยประมวลและหน่วยความจำอยู่ในตัวแว่นตา (ไม่ระบุข้อมูล) ส่วนความจุของ Google Glass นั้นอยู่ที่ 16 GB (เหลือพื้นที่ให้ใช้งาน 12 GB), มีกล้องถ่ายรูปความละเอียด 5 ล้านพิกเซลอยู่บริเวณขาแว่นด้านขวา (สามารถถ่ายวิดีโอความละเอียด HD 720p ได้) นอกจากนี้ยังมีแบตเตอรี่, ไมโครโฟน และลำโพงติดตั้งไว้บนตัวแว่นตาด้วย ส่วนหน้าจอของ Google Glass นั้นเป็นจอแบบปริซึมโปรเจคเตอร์ มีความละเอียดของจอที่ 640 x 480 พิกเซล ซึ่ง Google เคลมไว้ว่าเทียบเท่ากับการดู TV หน้าจอ 25 นิ้วจากระยะ 8 ฟุต (ประมาณ 2.4 เมตร) และวัสดุที่ใช้ทำขาแว่นตา Google Glass นั้นทำมาจากไทเทเนี่ยม
นอกจากนี้ที่ขาแว่นบริเวณด้านขวานั้นยังทำหน้าที่เปรียบเสมือนปุ่มสั่งงานของสมาร์ทโฟน Android ด้วย สามารถคลิกนิ้วหรือปัดนิ้วมือไปมาบนขาแว่นเพื่อเลื่อนเมนูต่างๆ ของ Google Glass ได้ นอกจากนี้เมื่อทำการปัดนิ้วลงก็จะเป็นเหมือนกับปุ่ม Back ของสมาร์ทโฟนนั่นเอง
การเชื่อมต่อ Google Glass เข้ากับสมาร์ทโฟน
Google Glass นั้นจะมีการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนผ่านทางแอพฯ ที่มีชื่อเรียกว่า MyGlass โดยเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนผ่านทาง Bluetooth โดยการเชื่อมต่อแว่นตา Google Glass เข้ากับ MyGlass นั้นทำได้ง่ายมาก ตัวแอพฯ นั้นออกแบบให้ใช้งานได้ง่าย มีทั้งวิดีโอคลิปและข้อความสอนการเชื่อมต่อที่เข้าใจง่าย
นอกจากนี้ตัวแอพฯ MyGlass ยังทำหน้าที่สตรีมหน้าจอของ Google Glass ในขณะนั้นมาอยู่บนสมาร์ทโฟนได้ด้วย (screencast)
OK Glass
นอกจากการใช้งาน Google Glass ผ่านทางการเลื่อนเมนูต่างๆ ของ Google Glass (หน้าตา UI ของ Google Glass นั้นจะเป็นลักษณะแบบการ์ด คล้ายๆ กับ Google Now แต่จะมีพื้นหลังเป็นสีดำ) ด้วยขาแว่นแล้วนั้น คำสั่งหลักในการใช้งาน Google Glass จะใช้คำสั่งเสียงเป็นหลัก โดยพูดคำว่า “OK Glass” และตามด้วยสิ่งที่ต้องการจะให้ Google Glass
นั้นจัดการให้กับเรา ซึ่งคำสั่งนั้นก็เป็นไปตามภาพหน้าจอที่เราได้เห็นด้านล่างนี้
การรับคำสั่งเสียงของ Google Glass นั้นสามารถรับฟังภาษาอังกฤษสำเนียงไทยๆ ได้อย่างไม่มีปัญหาอะไรเลยครับ ตัว Google Glass นั้นสามารถใช้งานบริการของ Google ผ่านทางคำสั่งเสียง OK Glass ได้เกือบทั้งหมดเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งค้นหาโดย Google, นำทางผ่าน Google Maps, เช็คหุ้นผ่าน Google Now หรือจะถ่ายรูปและวิดีโอก็สามารถทำได้ และยังสามารถถ่ายรูปที่ตาเห็นและโพสต์ไปบน Facebook หรือ Twitter ได้ทันทีอีกด้วย
การนำทางด้วย Google Glass นั้นจะเป็นไปในลักษณะ Turn by Turn และแสดงผลมาบนหน้าจอปริซึมโปรเจคเตอร์ของ Google Glass
การถ่ายภาพด้วยมุมมองในระดับสายตาของเราก็สามารถทำได้สบายๆ ด้วย Google Glass ครับ
เช็คพยากรณ์อากาศพร้อมทั้งแสดงผลสถานที่ที่อยู่ก็สามารถทำได้บน Google Glass เช่นเดียวกัน
การค้นหาสิ่งที่ต้องการด้วยคำสั่งเสียงของ Google นั้นยังมีการแสดงผลเป็นภาษาไทยด้วย ซึ่งก็จะแสดงขึ้นมาบนหน้าจอของ Google Glass เลยครับ
ดูหุ้นไทยรายวันก็สามารถทำได้บน Google Glass
หรือจะเช็คผลฟุตบอลทีมโปรดก็ทำได้เช่นกัน
ไฮไลท์ของ Google Glass ในเวอร์ชั่นที่ซอฟต์แวร์อัพเดทใหม่นั้นจะสามารถใช้เซ็นเซอร์ต่างๆ บนแว่นตา ตรวจสอบการทำงานต่างๆ ได้มากครับ (ซอฟต์แวร์รุ่นล่าสุดในรีวิวนี้คือเวอร์ชั่น XE12)
เซ็นเซอร์ตรวจจับลักษณะของศีรษะของเราว่าพร้อมใช้งาน Google Glass หรือไม่
เซ็นเซอร์ตรวจจับว่าสวมใส่ Google Glass อยู่หรือไม่ ซึ่งเมื่อทำการสวมใส่ Google Glass หน้าจอปริซึมโปรเจคเตอร์ก็จะติดขึ้นมา พร้อมใช้งานคำสั่งเสียง OK Glass ทันที
และฟีเจอร์ล่าสุดในอัพเดทล่าสุดก็คือการใช้การกระพริบตาของเราในการถ่ายภาพนั่นเองครับ นับว่าล้ำมากเลยจริงๆสำหรับแว่นตา Google Glass ที่สามารถกระพริบตาแล้วถ่ายรูปได้ด้วย
สรุป
Google Glass นับว่าเป็นอุปกรณ์ต้นแบบของการหันมารุกตลาดอุปกรณ์สวมใส่ ที่สามารถใช้งานได้จริง และดูล้ำอนาคตมากเลยทีเดียว แต่ยังคงมีราคาที่แพงอยู่พอสมควร (Google ขายในราคา 1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ) แต่ในอนาคตน่าจะมีแว่นตาในลักษณะนี้ออกมาลุยตลาดมากขึ้น และเมื่อนั้นเทคโนโลยีการสวมใส่แบบนี้ก็จะกลายเป็นเทรนด์ และมีราคาที่เราๆท่านๆ สามารถจับต้องได้อยู่แน่นอน