EU หรือสหภาพยุโรปผลักดันให้มือถือมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าเดิม ทั้งในแง่ของฮาร์ดแวร์ที่จะมีอะไหล่เปลี่ยนอีกอย่างน้อยห้าปี และออกอัพเดทซอฟท์แวร์ให้ในระยะเวลาที่เท่ากัน
อย่างไรก็ตามเยอรมันนีดูต้องการจะช่วยลดภาวะโลกร้อน และขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่าฝั่งยุโรปเสียอีก เพราะเตรียมผลักดันกฏหมายให้ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม และผู้ผลิตมือถือจะต้องออกแพทช์อัพเดทความปลอดภัยไปอีกอย่างน้อย 7 ปี และจะต้องผลิตอะไหล่ชิ้นส่วนซ่อมไปอีก 7 ปีนับตั้งแต่เริ่มวางจำหน่าย
ไม่ว่าสุดท้ายแล้วสหภาพยุโรปจะเอาด้วยกับตัวเลข 7 ปีของเยอรมันนี หรือจะใช้ตัวเลข 5 ปีที่ร่างเอาไว้ตั้งแต่แรก แต่เรื่องนี้น่าจะส่งผลกระทบกับผู้ผลิตมือถือทั่วโลกอย่างแน่นอน เพราะว่ามือถือจะต้องได้รับอัพเดทยาวนานกว่าเดิม และจะต้องมีอะไหล่ไว้ซ่อมแซมมือถืออีกนาน ผู้ใช้งานอาจจะใช้มือถือเครื่องเดิมนานขึ้นเนื่องจากไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนรุ่นใหม่ก็เป็นได้
แน่นอนครับว่าผู้ผลิตมือถือย่อมไม่เห็นด้วยกับกฏหมายนี้สักเท่าไหร่นัก เพราะการผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์ไปอีก 5 – 7 ปี หมายถึงต้นทุนภาระผูกพันที่สูงขึ้น และผู้ใช้งานจะใช้เงินน้อยลง แทนที่จะซื้อรุ่นใหม่ก็เอาไปซ่อมรุ่นเก่าต่ออายุไปดีกว่า ทำให้กลุ่ม DigitalEurope (มีสมาชิกสามราย ได้แก่ Google, Apple, Samsung) ค้านแนวคิดนี้ และสนับสนุนให้ตัวเลขลดลงมาเหลือ 3 ปี และให้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่เฉพาะหน้าจอ และแบตเตอรีเท่านั้น ขณะที่กฏหมายฉบับร่างกำหนดให้ต้องผลิตชิ้นส่วนทุกชิ้น
คาดว่ากฏหมายนี้จะได้ข้อสรุป และผ่านความเห็นของชาติสมาชิก เริ่มบังคับใช้ในปี 2023 คาดว่าน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มน้อยลงกว่าเดิม และผู้ใช้งานจะไม่ต้องเปลี่ยนมือถือบ่อยเหมือนในปัจจุบันครับ
ที่มา – 9to5Google