จากสถานการณ์ เด็กติดเกม พบว่า ปัจจัยที่มีส่วนในการเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กมีโอกาสติดเกม คือ การเลี้ยงดูของครอบครัว ซึ่ง “พ่อแม่” มีบทบาทหน้าที่หลักในการอบรมสั่งสอน แม้ว่าการให้เด็กได้เติบโตขึ้นมาเป็นคนดี และมีความรับผิดชอบ จะเป็นเป้าหมายของการดูแลลูก แต่สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สามารถไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างสมบูรณ์ก็คือ การเป็นพ่อแม่ที่ปฏิบัติอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกได้ ซึ่งจากการสัมภาษณ์ รศ.นพ. ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้ข้อสังเกต 8 พ่อแม่กลุ่มเสี่ยง ที่ลูกมีโอกาสติดเกม โดยมีลักษณะดังนี้
1. พ่อแม่Busy
พ่อแม่ Busy คือ พ่อแม่ที่ “คิดหรืออ้างว่าตัวเองยุ่ง” มีภารกิจเป็นของตัวเอง ไม่อยากให้ลูกมากวน พันแข้งพันขา งอแง หรืออยู่ใกล้ตนเอง โดยจะใช้อุปกรณ์ ITทีวีเกม สมาร์ทโฟน IPadเสมือนพี่เลี้ยงเด็ก ตนเองจะได้มีเวลาส่วนตัวมากยิ่งขึ้น
2. พ่อแม่ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์
พ่อแม่ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ มักจะเข้าใจว่าเด็กยุคนี้จำเป็นที่จะต้องเท่าทันเทคโนโลยี เพราะทำให้ทันสมัย ฉลาด เรียนรู้ไว ช่วยเพิ่มศักยภาพด้านไอทีให้กับลูก จากที่กล่าวมาถูกเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ปฏิเสธว่าการที่มีทักษะด้านไอทีนั้นเป็นสิ่งจำเป็น แต่สิ่งที่พ่อแม่ขาดความรู้ต่อเนื่อง คือ ถ้าพ่อแม่ไม่ดูแล หรือปล่อยลูกให้ใช้เวลากับเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่ยังเล็กๆ (ประมาณ 6 เดือน – 3 ขวบ) จะส่งผลร้ายกับเด็ก ทำให้พัฒนาการด้านอื่นๆ จะช้าลง เช่น พูดช้า กล้ามเนื้อมัดใหญ่-มัดเล็กเติบโตช้า และทักษะทางสังคมก็จะสูญเสียไปหากเป็นเด็กที่เข้าสู่วัยเรียน ปัญหาที่พบคือ เด็กจะไม่แบ่งเวลาให้กับสิ่งอื่น เช่น การเล่น การเรียน การเข้าสังคม
3. พ่อแม่ที่กลัวอารมณ์ลูก
พ่อแม่ที่กลัวอารมณ์ลูก คือ พ่อแม่ที่ไม่กล้าปฏิเสธลูกหากลูกอาละวาดแผดเสียง หงุดหงิด หรือตะโกน เมื่อถูกยึดเกม โทรศัพท์ หรือปิดคอมพิวเตอร์ พ่อแม่ก็จะตกใจลนลาน และทำอะไรไม่ถูกพ่อแม่ประเภทนี้จะไม่สามารถจัดการอารมณ์โกรธของลูกได้ ไม่รู้จะทำอย่างไรกระทั่งพ่อแม่กลายเป็นลูกไก่ในกำมือของลูก
4. พ่อแม่ชอบใจอ่อน
พ่อแม่ชอบใจอ่อน มักจะไม่ชอบความขัดแย้ง ไม่กล้าปฏิเสธ ไม่อยากทำให้ผิดหวังไม่อยากทำให้ลูกเสียใจกลัวลูกโกรธพ่อแม่กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่ที่ทำงานเยอะ ทำให้ตนเองเกิดความรู้สึกผิดที่ไม่ค่อยให้เวลากับลูก ดังนั้นเวลาลูกขออะไรก็จะให้เพื่อเป็นการชดเชยทดแทน
5. พ่อแม่ที่ละเลยความสำคัญของวินัย
พ่อแม่ที่ละเลยความสำคัญของวินัยอาจเพราะตนเองไม่มีวินัย ไม่มีเวลาที่จะถ่ายทอดวินัยหรือไม่รู้จะถ่ายทอดอย่างไร เพราะฉะนั้นจึงเลี้ยงลูกแบบไร้วินัย ไม่มีการตั้งกฏกติกาภายในบ้าน ไม่ฝึกความรับผิดชอบ ไม่นั่งคุยกันในครอบครัวเพื่อวางกฏเกณฑ์เด็กจึงทำตามใจตนเองและขาดความรับผิดชอบ
6. พ่อแม่ที่ขัดแย้งกันเอง
พ่อแม่ที่ขัดแย้งกันเองคือ พ่อแม่ที่จัดการลูกคนละแนวทางซึ่งลูกจะเชื่อคนที่ให้ประโยชน์แก่ตัวเอง เช่น หากคนใดคนหนึ่งใจอ่อน อะลุ่มอล่วย ลูกก็จะทำตามกฏคนนั้น
7. พ่อแม่ที่ละเลยกิจกรรมในครอบครัว
พ่อแม่ที่ละเลยกิจกรรมในครอบครัว คือ พ่อแม่ที่ไม่รู้จะหากิจกรรมอะไรที่ทำร่วมกับลูก ไม่ให้ความสำคัญในการทำกิจกรรมที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวมักพบในครอบครัวเดี่ยว จึงไม่ค่อยมีต้นทุนทางสังคม ในแง่ของกลุ่มเพื่อน หรือมีลูกในวัยเดียวกัน ซึ่งกิจกรรมที่พ่อแม่ประเภทนี้พอจะนึกออก เช่น ส่งลูกเรียนพิเศษ เดินเที่ยวห้าง กินข้าวนอกบ้าน เป็นต้น แต่ไม่ขวนขวายที่จะหากิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งหากพ่อแม่มีกลุ่มเพื่อนหรือมีลูกในวัยเดียวกันก็ไม่ยากที่จะหากิจกรรมทำระหว่างเด็กๆ เช่น กิจกรรมเดินป่า ส่องนก ถ่ายรูป ปลูกต้นไม้ ทำครัว อ่านหนังสือ ขี่จักรยาน หรือเล่นเกมหมากกระดานกับลูกในบ้าน เป็นต้น
8. พ่อแม่ที่เอาแต่บ่น
พ่อแม่ที่เอาแต่บ่น คือ การบ่นที่มักตามมาด้วยคำตำหนิ การประชดประชัน แต่ไม่แก้ไขหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูก เพียงแค่บ่นและเดินหนีไป โดยพฤติกรรมก็จะทวนซ้ำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ พ่อแม่ประเภทนี้จะพูดแต่ข้อเสียของเกม มักไม่ถามถึงอารมณ์ความรู้สึกละเลยความเป็นอยู่ของลูก เอาแต่เพ่งเล็งเฉพาะเรื่องการเรียน การอ่านหนังสือและการทำการบ้าน จะใช้คำพูดเชิงจับผิด และเสียดสีอาทิ “เดี๋ยวจะเปิดให้เล่นทั้งวันทั้งคืน” “เกรดเทอมนี้จะถึงหนึ่งไหม” เป็นต้น ซึ่งใช้คำพูดที่ไม่สร้างสรรค์ เมื่อเด็กฟังก็จะรู้สึกต่อต้าน ไม่อยากทำตาม เร้าอารมณ์ทำให้โกรธ ทำให้รู้สึกไม่ดีทั้งต่อตัวเองและคนพูด
นอกจาก8 ข้อต้องห้ามข้างต้นแล้ว ยังมีอีก 2 สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ การสื่อสาร และสร้าง Self-Esteem
- การสื่อสารพ่อแม่ควรมีทักษะการสื่อสารกับลูกที่ดี ในเกียรติลูก ฟังลูก พยายามดึงลูกมามีส่วนร่วมในการสร้างวินัยและสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว
- การสร้าง Self-Esteemพ่อแม่ควรให้ความสำคัญกับเรื่อง “ความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง”เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีความสามารถอย่างเช่น เมื่อพ่อแม่พาลูกทำกิจกรรม ลูกก็จะค้นพบว่าตนเองทำอะไรได้ดี และยิ่งถ้าประสบความสำเร็จด้วย ก็จะเกิดความภาคภูมิใจและมั่นใจ ซึ่งพ่อแม่ควรให้คำชม เปิดโอกาสและสร้างเวทีให้ลูกได้แสดงออก จะทำให้เด็กกลุ่มนี้ห่างไกลจากการติดเกม อีกทั้งช่วยสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กและครอบครัวอีกด้วย