ผู้บริโภคทั่วไปเห็นว่า “โลกมือถือ” นั้นวุ่นวายกว่าสมัยพีซีเยอะ เพราะที่ผ่านมาบนจอคอมพิวเตอร์มีระบบปฏิบัติการใหญ่เพียงเจ้าเดียว ที่กุมทั้งตลาดองค์กร รัฐบาล รวมไปถึงผู้ใช้รายคน ซึ่งชื่อนั้นก็คือ “วินโดวส์” จากไมโครซอฟท์ และ ณ วันนั้นถึงวันนี้ MAC OS ของแอปเปิ้ลยังเป็นเบอร์รองมาโดยตลอด
แต่กับจอเล็กๆ 4-10 นิ้ว อย่าง ไอโฟนและไอแพดต่างหากที่ทำให้แอปเปิ้ลกลายมาเป็นผู้นำในตลาด “อุปกรณ์ไฮเทคเคลื่อนที่” โดยทิ้งห่างคู่แข่งอย่างไม่เห็นฝุ่น และความสำเร็จของระบบปฏิบัติการ “ไอโอเอส (iOS)” จึงทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ที่พร้อมาลงตลาดให้แดงเดือดอย่าง “แอนดรอยด์” จากกูเกิ้ล วินโดวส์โฟน ของโนเกีย ยังไม่รวมถึงระบบปฏิบัติการอื่นๆ ในยุคก่อนอย่าง ซิมเบี้ยน แบล็กเบอร์รี่ บาด้า ฯลฯ
การเติบโตของสมาร์ทโฟนและแท็ปเบล็ต พีซีนั้น ส่งผลดีต่อบริษัทผู้ที่ทำธุรกิจครบวงจรด้วยระบบนิเวศน์ “แบบปิด (Walled Garden)” ที่ตัวเองกินรวบตั้งแต่หัวจรดหาง ไม่ว่าจะเป็นผลิตฮาร์ดแวร์ อุปกรณ์เสริม ซอฟท์แวร์ เปิดตลาดขายคอนเท้นต์ทั้ง หนัง เพลง แอพฯ ที่เก็บค่านายหน้า 30% ทุกครั้งที่ขายแอพฯ ได้ รวมถึงทำการขายเองทั้งหน้าร้านและออนไลน์เบ็ดเสร็จ
และทั้งหมดนี้ก็ทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ที่เสมือนเป็น “ขาใหญ่” ที่อยู่ในวงการถูกลดบทบาทลงไปกระทันหัน ทั้งรายได้ก็หดหาย เพราะทั้งแอพฯ แชต (ทำให้รายได้ SMS หด) แอพฯ VOIP, Facetime (ทำให้คนโทรผ่านเครือข่ายน้อยลง) แถมเครือข่ายยังถูกนำไปใช้รับส่งข้อมูลแบบฟรีๆ ด้วยปริมาณที่มากกว่าปกติ ดังนั้นจึงถึงคราวที่ค่ายมือถือ 17 ค่ายทั่วโลกต้องการเอาคืน! และวิธีการที่ว่านั้นก็คือ สนับสนุนให้เกิดระบบปฏิบัติการบนมือถือใหม่ ในชื่อ Firefox OS ระบบปฏิบัติการที่ค่ายมือถือทั่วโลกเดิมพันว่าจะช่วยปรับสมดุลให้กับระบบนิเวศน์ของสมาร์ทโฟนจริงๆ
ข้อดีของ Firefox OS สำหรับค่ายมือถือ คือ การเป็นระบบปฏิบัติการเสรี (Open Mobile Ecosystem) ทำให้ค่ายมือถือสามารถนำ OS นี้ไปแก้ไข ใส่โลโก้ของตัวเอง พร้อมลงแอพฯ ที่เกี่ยวกับบริการของตนได้ฟรีๆ จุดนี้เหมาะมากที่จะนำไปใส่ในเครื่องมือถือและติดแบรนด์ตัวเอง (House Brand) เพื่อแจกเป็นสมาร์ทโฟนฟรีกับผู้ทำสัญญากับเครือข่ายได้ เพราะที่ผ่านมา เพื่อการหารายได้จากค่าเน็ต ทางค่ายมือถือจึงต้องแบกรับออเดอร์ล็อตใหญ่จากแบรนด์สมาร์ทโฟนทั่วโลก ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายในการโปรโมทและดูแลคลังสินค้ามากมาย
นอกจากนี้แล้วในสายตาของโอเปอร์เตอร์มองว่าที่ Firefox OS เหนือกว่าแอนดรอยด์คือ ความสามารถในการทำงานกับเครื่องที่มีสเปคต่ำๆ ได้ จึงทำให้ค่ายมือถือสามารถนำมือถือ Firefox OS ออกขายในราคาต่ำกว่า 3,000 บาทได้
นอกจากนี้แล้วคุณสมบัติเด่นของ Firefox OS คือ การทำให้ทุกแอพฯ นั้นทำงานผ่านระบบอินเตอร์เน็ตด้วยเทคโนโลยี HTML5 ทำให้ค่ายมือถือสามารถมีส่วนที่จะได้รายได้ตรงๆ จากค่าเน็ต (Airtime) และการดูแลรายได้ที่จะเกิดขึ้นจากแอพฯ เช่น Mobile payment, Mobile commerce เป็นต้น โดยที่ไม่ต้องผ่านระบบกลางอย่างที่แอปเปิ้ลทำกับแอพสโตร์ของตัวเอง
และสำหรับลูกค้าเองก็ไม่ต้องอัพเดท OS บ่อยๆ เพราะทุกครั้งที่ต่อเน็ตก็อัพเดทเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดอยู่แล้ว ทั้งเรื่องแอพฯ ก็ไม่ต้องห่วง เพราะกว่า 75% ของแอพฯ ในแอนดรอยด์เป็น HTML5 สามารถปรับปรุงเพิ่มเติมในโปรแกรม Firefox OS Simulator ที่วันนี้อัพเกรดถึงเวอร์ชั่น 3 แล้ว ก็ทำให้นำมาใช้ใน Firefox OS ได้โดยโพสต์ขึ้น Firefox Marketplace ศูนย์รวมแอพฯ ของ Firefox OS ได้เลย จึงการันตีได้ว่าในตลาดแอพฯ จะมีแอพฯ นับแสนให้เลือกเล่นอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ค่ายผู้ผลิตตัวเครื่องมือถือ (Vendors) ก็สามารถมีตัวเลือกของ OS ใหม่ๆ มาใส่ให้กับเครื่องของตนเพื่อเจาะตลาดอื่นๆ และตอนนี้ก็มีผู้ผลิตตัวเครื่องมือถือหลายค่ายที่ตกลงผลิตมือถือ Firefox OS แล้ว ได้แก่ Alcatel ออกมาแล้วกับชื่อรุ่น Alcatel One Touch Fire, LG, ZTE ออกมาแล้วกับชื่อรุ่น ZTE Open และเร็วๆ นี้ก็จะมี Huawei ตามมาด้วย
จึงอาจกล่าวได้ว่ากลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงของผู้ที่จะใช้ Firefox OS คือ ตลาดของประเทศกำลังพัฒนาที่มีเครือข่าย Mobile Internet พร้อมแล้ว ขาดก็แต่เครื่องราคาถูกๆ ที่มีความสามารถเหมือนสมาร์ทโฟน โดยตลาดเหล่านี้หากระบุลงไปให้ชัดคือ ผู้ที่เปลี่ยนมือถือปีละครั้ง ใช้ซิมแบบเติมเงิน ซึ่งตลาดมือถือแรกที่ Firefox OS จะบุกไปคือในประเทศ บราซิล โคลัมเบีย ฮังการี เม็กซิโก มอนเตรเนโกร โปแลนด์ เซอร์เบีย สเปน และเวเนซูเอล่า และอีก 4 ปีข้างหน้าก็จะพร้อมบุกครบ 88 ประเทศรอบโลกเลยทีเดียว สำนักวิจัย Strategy analytics คาดว่า Firefox OS จะสามารถกินตลาดสมาร์ทโฟนในปี 2013 ได้ 1% อย่างแน่นอน
ฟังดูเหมือน Firefox OS ที่ถึงแม้จะดูเป็นรถไฟขบวนสุดท้าย แต่ก็มีทีมงานจะเอาจริงเอาจังพร้อมประสบการณ์การทำเบราว์เซอร์มากว่าทศวรรษ แต่เมื่อมองอีกด้านก็เห็นสัญญาณของความน่ากลัวที่จะเกิดขึ้นกับ Firefox OS ซึ่งก็หนีไม่พ้นปัญหามัลแวร์ที่ยิ่งเป็นระบบเสรีเท่าไหร่ ก็ยิ่งเจอมือมืดชอบลองของมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งหากปัญหานี้แก้ไม่ตก โอกาสบุกตลาดองค์กรของ Firefox OS ก็ท่าจะลิบหรี่
นอกจากนี้ปัญหาใหญ่อีกประการคือ การการันตีว่าระบบปฏิบัติการที่ทำงานบนเว็บนั้น จะทำให้แอพฯ ต่างๆ ทำงานได้ราบรื่นไม่ต่างจาก Native Application ซึ่งก็ต้องจับตาดูความเก๋า และเทคโนโลยีล้ำๆ ต่อไปของทีมงาน Mozilla ผู้ให้กำเนิด Firefox Browser และ Firefox OS นั่นเอง
หมายเหตุ:
17 ค่ายมือถือทั่วโลกที่อ้าแขนรับ Firefox OS มีดังนี้ América Móvil, China Unicom, Deutsche Telekom, Etisalat, Hutchison Three Group, KDDI, KT, MegaFon, Qtel, SingTel, Smart, Sprint, Telecom Italia Group, Telefónica, Telenor, TMN and VimpelCom
ดูวิดีโอรีวิวมือถือ Firefox OS ได้ที่นี่
วิดีโอพาทัวร์ฟีเจอร์ต่างๆ ของ Firefox OS