ROM RAM 2 เรื่องควรรู้ไว้ก่อนเลือกซื้อสมาร์ทโฟน ตอนที่ 1: เทคโนโลยีหน่วยความจำภายใน
ปัจจุบันอาจบอกได้ว่าสมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์ฟุ่มเฟือยชิ้นหนึ่งที่ใครๆ ต่างก็เลือกซื้อมาใช้งาน เนื่องจากการเติบโตของอินเตอร์เน็ตและการเข้ามาของ Social Network ที่แพร่หลายมากขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่การเลือกซื้อสมาร์ทโฟนซักเครื่องสมัยนี้บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องง่าย ในทางกลับกัน เนื่องด้วยความมากมายหลายยี่ห้อบวกกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาแทนที่เดิมอยู่ตลอดเวลา ทำให้การเลือกซื้อสมาร์ทโฟนซักเครื่องนั้น ไม่ง่ายอย่างที่ใครหลายๆ คนคิด
ฉบับนี้ผมจะพาทุกท่านไปสู่ตอนแรกของชิ้นส่วนสำคัญแทบจะที่สุดของเครื่องที่หลายๆ คนไม่รู้ ก็คือเรื่องของ “รอม” หรือหลายคนอาจจะชินตาคำว่า “ROM” หรือภาษาไทยอาจเรียกว่า “หน่วยความจำภายใน” ถึงตรงนี้อาจมีหลายคนสงสัยว่า แล้วมันยากยังไง แค่เลือกความจำเยอะๆ ก็ดีแล้วไม่ใช่หรือ? คำตอบคือ แค่ความจำอย่างเดียวไม่พอครับ และผมได้ไขความกระจ่างไว้แล้วตามมาเลย
ในตลาดสมาร์ทโฟนปัจจุบันเราอาจจะเห็น ROM หรือ ความจำภายใน 4 GB, 8 GB, 16 GB, 32 GB และ 64 GB ซะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งนั่นเป็นส่วนของขนาดความจุ ซึ่งเอาไว้เลือกตามความต้องการของแต่ละคน แต่ในความจริงแล้วในเนื้อเทคโนโลยีของหน่วยความจำภายในนั้นเป็นอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้นเยอะ
หลายคนอาจจะไม่คุ้นซักหน่อย ปัจจุบันมีเทคโนโลยีหน่วยความจำภายในที่ใช้กันอยู่ในสมาร์ทโฟนหลักๆ 2 ตัวคือ eMMC และ UFS โดยเฉพาะ UFS ตัวหลังนี้ เพิ่งจะเป็นที่ฮือฮาไปไม่นาน เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่นำเทคโนโลยีนี้ลงมาใช้กับสมาร์ทโฟน ซึ่งเครื่องแรกก็ไม่ใช่ใครที่ไหน Samsung Galaxy S6 และ S6 edge นั่นเอง
ความแตกต่างของเทคโนโลยีหน่วยความจำแบบ eMMC (embedded Multimedia card) กับ UFS (Universal flash storage) นั้นเป็นสิ่งที่ค่อนข้างน่าสนใจ เนื่องจาก eMMC โลดแล่นอยู่กับตลาดสมาร์ทโฟนมาอย่างยาวนาน การมาของ UFS ทำให้วงการนี้สั่นสะเทือนครั้งใหญ่ไม่น้อย
eMMC ที่ปัจจุบันสมาร์ทโฟนแทบทุกรุ่นใช้งานอยู่นั้น ดำเนินมาถึง eMMC 5.1 แล้ว โดยเน้นไปที่เทคโนโลยีการเขียนเป็นหลัก ซึ่งตามสเปคแล้วมีอัตราความเร็วการเขียนที่ 125 MB ต่อวินาที (มากกว่า eMMC 5.0 ที่ 90 MB ต่อวินาที) และอ่าน 250 MB ต่อวินาที ซึ่งจะถูกนำมาใช้บนสมาร์ทโฟนเร็วๆ นี้ (ปัจจุบันใช้ eMMC 5.0 ซะเป็นส่วนใหญ่)
ในขณะเดียวกัน UFS เพิ่งถูกพัฒนามาให้ใช้งานกับสมาร์ทโฟน ด้วยแนวคิดนำความเร็วแบบที่ SSD (Solid state drive) มีและการประหยัดพลังงานที่ eMMC มี มาประยุกต์เข้าด้วยกันและล่าสุดกับ UFS 2.0 ที่ Samsung นำมาใช้งานกับสมาร์ทโฟนเรือธงของตัวเองไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย โดยเทคโนโลยีของ UFS 2.0 แม้ว่าจะเปิดตัวออกมาก่อน eMMC 5.1 แต่ล้ำกว่าเป็นอย่างมาก เพราะตามสเปคแล้วทิ้งกันพอสมควร ที่อัตราความเร็วการเขียน 150 MB ต่อวินาที และอัตราความเร็วการอ่าน 350 MB ต่อวินาที
นอกจากข้อจำกัดของ eMMC ที่มีอัตราการอ่าน/เขียนช้ากว่า UFS แล้ว ยังมีข้อจำกัดอื่นๆ อีกก็คือ eMMC จะส่งข้อมูลได้ทีละทาง นั่นหมายความว่าจะอ่าน/เขียน ก็ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้เสร็จก่อน ในขณะที่ UFS สามารถส่งข้อมูลได้พร้อมกัน 2 ทางทั้งอ่าน/เขียน ไปพร้อมๆ กันได้ รวมไปถึงมีอัตราการสุ่มหาข้อมูล (Random read/write) ทั้งอ่าน/เขียนที่ไวกว่า eMMC เป็นอย่างมาก ทำให้สมาร์ทโฟนที่เลือกใช้ UFS 2.0 นั้นเปิดโปรแกรม, ติดตั้งโปรแกรม, เรียกโปรแกรมหรืออ่านไฟล์ต่างๆ เช่น เพลง, วิดีโอ ได้ดีกว่า eMMC ประมาณ 3 เท่า
ดังนั้นไม่แปลกใจกับผลทดสอบคะแนน Benchmark ของ Samsung Galaxy S6 และ S6 edge ในเรื่องของหน่วยความจำที่ล้ำหน้ากว่ารุ่นอื่นๆ ไปหลายก้าว และแน่นอนปัจจุบันเทคโนโลยี UFS 2.0 มีผู้ผลิตออกมาไม่มากนักหลักๆ ก็คือ Samsung และ Toshiba ซึ่งต่อไปเราจะได้เห็นสมาร์ทโฟนเลือกใช้เทคโนโลยี UFS 2.0 เพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน
สำหรับตอนแรกกับเทคโนโลยีของหน่วยความจำภายใน ก็ถือว่าเป็นความรู้ใหม่ๆ ที่นำมาอัพเดทกัน ซึ่งน่าจะมีประโยชน์กับคนที่กำลังหาสมาร์ทโฟนคู่ใจเครื่องใหม่ ส่วนตอนที่ 2 ในฉบับถัดไปจะว่าต่อกันในเรื่องของ ขนาดของหน่วยความจำกับอายุการใช้งานสมาร์ทโฟนครับ วันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ