ในตอนที่ผ่านมานั้นได้มีการกล่าวถึงเทคโนโลยีทางด้านหน่วยความจำภายในกันไปแล้ว ว่าทั้ง eMMC และ UFS ทั้ง 2 เทคโนโลยีมีความแตกต่างกันอย่างไร มาวันนี้เป็นตอนที่ 2 ที่ผมจะขอพูดถึงความสำคัญของขนาดหน่วยความจำภายในและจะเลือกอย่างไรให้เหมาะสม
หน่วยความจำของสมาร์ทโฟนหากจะแยกให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือหน่วยความจำภายในหรือที่เราเรียกกันว่า “ROM” ที่ถูกกล่าวถึงไปแล้วว่ามี 2 รูปแบบในตอนที่ 1 และหน่วยความจำภายนอก หรือที่เราคุ้นหูกันว่าการ์ดหน่วยความจำภายนอก (microSD card) ที่ปัจจุบันใช้เป็นการ์ด microSD กันหมดแล้ว ซึ่งหน่วยความจำภายนอสามารถหาซื้อได้ทั่วไป โดยเลือกขนาดและราคาได้มีตั้งแต่ 4 GB ไปจนถึง 128 GB ให้เลือกซื้อได้ตามกำลังทรัพย์
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่จะสามารถเพิ่มหน่วยความจำภายนอกได้เอง และสามารถเพิ่มได้ตามใจชอบ หรือตามกำลังทรัพย์ แต่หน่วยความจำภายในก็ยังคงมีความสำคัญมากกว่า เนื่องจากหน่วยความจำภายใน นอกจากจะเป็นที่อยู่ของระบบปฏิบัติการ (System + Apps ที่ติดตั้งบนเครื่องแบบอัตโนมัติ) แล้วยังมีไว้เพื่อติดตั้งโปรแกรมของ Android ที่ไปดาวน์โหลดกันผ่านทาง Google Play Store หรือจะเป็นการติดตั้งโปรแกรมผ่านไฟล์ .apk สรุปคือไม่ว่าจะติดตั้ง Apps อะไรไปบนเครื่องสมาร์ทโฟนของคุณ มันก็จะไปอยู่ที่หน่วยความจำภายใน ไม่ใช่หน่วยความจำภายนอกที่สามารถเพิ่มได้นั่นเอง
บางคนอาจจะเกิดคำถามว่า แล้วความสามารถของ Android ตั้งแต่เวอร์ชั่น 2.2 (Froyo) เมื่อหลายปีที่ผ่านมาอย่าง App to SD มันใช้ไม่ได้หรือ? (App to SD คือการย้าย Apps ที่ติดตั้งบนหน่วยความจำภายในไปยังหน่วยความจำภายนอก microSD card) คำตอบคือ App to SD ยังสามารถใช้งานได้จริง แต่ในความจริงแล้ว App to SD สามารถทำได้แบบไม่ค่อยสมบูรณ์นัก เนื่องจากโปรแกรมที่ติดตั้งบนหน่วยความจำภายในแล้ว หากมีการย้ายไปยังหน่วยความจำภายนอกจะย้ายได้แค่บางส่วนเท่านั้น
การย้ายโปรแกรมที่ติดตั้งไว้บนหน่วยความจำภายในไปยังหน่วยความจำภายนอก สามารถทำได้แค่ไฟล์ที่ไม่สำคัญมากของโปรแกรมเท่านั้น กล่าวคือพวกไฟล์ System สำคัญของ Apps ไม่ได้ติดตามมาบนหน่วยความจำภายนอกหรือ microSD card ด้วย สิ่งที่ย้ายได้มามีแค่ไฟล์กราฟฟิค, เซฟเกมและไฟล์อื่นๆ เป็นต้น ทำให้หน่วยความจำภายในยังคงหนักอึ้งเหมือนเดิม
ยิ่งไปกว่านั้นบางคนอาจจะบอกว่า ไม่เล่นเกม ไม่ฟังเพลง ไม่ชมภาพยนตร์บนสมาร์ทโฟน แต่ปัจจุบัน Apps ต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง Facebook, LINE, Instagram และ Twitter ต่างก็มีการเก็บข้อมูล (ไฟล์ที่ดาวน์โหลดเพื่อแสดงผลแบบชั่วคราว) ไว้บนหน่วยความจำตลอดเวลา โดยเฉพาะกับ Apps LINE ที่หลายคนจะเจอปัญญาการเพิ่มขึ้นอย่างมากของการใช้งานหน่วยความจำ ยกตัวอย่างเช่น Apps LINE ที่โหลดผ่าน Play Store ขนาดแค่ 30 MB แต่หากใช้งาน App เป็นเวลานาน หน่วยความจำของ LINE จะใหญ่ขึ้น เฉลี่ยทั่วไปเดือนละ 500 – 800 MB
หน่วยความจำของ LINE ที่เพิ่มขึ้นมาจากการแชท, สติ๊กเกอร์, การส่งไฟล์ภาพและวิดีโอต่างๆ ที่ตัวโปรแกรมจะเก็บเป็นข้อมูลไว้ทั้งหมด แถมย้ายไปไหนไม่ได้ด้วย ยิ่งถ้ามีกลุ่ม LINE เยอะและมีการส่งไฟล์ภาพและวิดีโอกันทุกวัน รับรองได้ว่าไฟล์ข้อมูลเหล่านั้นมีโอกาสเกิน 2-3 GB แน่นอน ดังนั้นปัญหาที่ตามมาคือสมาร์ทโฟนที่มีหน่วยความจำ 4 GB และ 8 GB ในปัจจุบันจะใช้งานได้ไม่เพียงพอ แม้จะไม่เล่นเกมหรือดูหนังฟังเพลงก็ตาม วิธีแก้ไขคือลบข้อมูลของ LINE แล้วลงใหม่และต้องล็อคอินใหม่ ถึงจะแก้ไขปัญหานี้ได้ แต่สำหรับคนที่เล่นเยอะๆ คุยเยอะๆ คงไม่อยากให้ประวัติแชทหรือรูปภาพหายไปนั่นสิครับ
สมาร์ทโฟนที่หน่วยความจำเริ่มต้นขนาด 4 GB หรือ 8 GB มีหน่วยความจำให้ใช้งานกันจริงๆ เพียงแค่ประมาณ 2 GB หรือ 5 GB เท่านั้น ตามลำดับ (เนื่องจากบางส่วนถูกใช้เป็นหน่วยความจำของระบบ) เป็นสาเหตุให้สมาร์ทโฟนเหล่านี้มีอายุการใช้งานเครื่องที่ไม่ยาวนานนัก แค่เพียง 4-5 เดือน อาจจะต้องรีเซ็ทเครื่องใหม่ เนื่องจากหน่วยความจำเต็มหรือเกิดอาการหน่วง แต่ยังดีที่ไฟล์เพลง วิดีโอ รูปภาพและอื่นๆ นั่นสามารถเอาไว้บนหน่วยความจำภายนอกได้ แต่ถ้าเครื่องนั้นไม่มีหน่วยความจำภายนอกก็อาจจะต้องพิจารณาให้ดีเหมือนกัน โดยเฉพาะหน่วยความจำภายใน 16 GB แบบที่เพิ่มหน่วยความจำภายนอกไม่ได้ หากดูหนังฟังเพลง ถ่ายรูปเยอะ ไม่ค่อยแนะนำครับ
ดังนั้นขอสรุปตรงนี้ครับว่าการจะเลือกสมาร์ทโฟนที่ใช้งานแล้วไม่เหนื่อย อยู่กับเราได้ยาวๆ ไม่อยากจะเปลี่ยนกันบ่อยๆ ขอแนะนำว่าขนาดของหน่วยความจำภายในเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่เป็นรองอย่างอื่นเลย เพราะปัจจุบันแอพฯ ต่างๆ มีแนวโน้มที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงระบบปฏิบัติการยิ่งเพิ่มความสามารถมากๆ ก็ยิ่งใช้งานหน่วยความจำที่มากตามไปด้วย เป็นเหตุผลสำคัญและที่มาของตอนที่ 2 นี้ สำหรับฉบับถัดไปพบกับเรื่องหน่วยความจำภายนอก ที่แม้ว่าจะเพิ่มได้ง่าย แต่กว่าจะเลือกซื้อได้อาจจะยืนงงอยู่นาน เนื่องจากมีให้เลือกเยอะ ยังไงวันนี้ขอลาไปก่อน สวัสดีครับ