มาถึงตอนสุดท้ายกันแล้วสำหรับมหากาพย์เรื่องน่ารู้ ROM กับ RAM ที่ใช้งานบนสมาร์ทโฟน ซึ่งคราวนี้จะยังเป็นเรื่องของ RAM แต่จะไปเจาะลึกกันที่ขนาดของ RAM ว่าเรามีวิธีการเลือกอย่างไร ให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานสมาร์ทโฟนของคุณ
RAM (Random Access Memory) บนสมาร์ทโฟนในปัจจุบันมีให้เห็นตั้งแต่ขนาด 512 MB ไปจนถึง 4 GB ซึ่งจะมีขนาดความจุมากขึ้นไปตามราคาของเครื่องสมาร์ทโฟนนั้นๆ โดยขนาดดังกล่าวไม่ได้มีความหมายต่างจาก ROM มันคือขนาดความจุที่เอาไว้เก็บสำรองข้อมูล แต่แตกต่างตรงคำว่า “ชั่วคราว” เนื่องจากหน่วยความจำเหล่านี้หากไม่ได้ถูกใช้งานมันก็จะถูกลบไปเองโดยอัตโนมัติ หรือใช้งานไปจนเต็มมันก็จะเคลียร์ตัวมันเองเพื่อให้มีหน่วยความจำว่างพอที่จะรองรับการใช้งานถัดไปของเรา
ยกตัวอย่างเช่น การเรียกโปรแกรม Facebook ขึ้นมานั้น RAM จะถูกดึงมาใช้งานว่าเราเปิดหน้าต่างไหนบ้าง ดูโปรไฟล์ใคร เล่นเกมอะไรบน Facebook และหลังจากนั้นหากปิดโปรแกรม Facebook ไปแล้ว ไปเปิดเล่นอย่างอื่น เช่น Instagram มันก็จะจำไปเรื่อยๆ และหากกลับมาเล่น Facebook ทันทีอีกครั้ง ตัวเครื่องจะเปิดโปรแกรม Facebook ได้เร็วขึ้นและหากเปิดไปหน้าต่างเดิมมันก็จะโหลดไวขึ้นหรือไม่โหลดเพิ่มเลย เพราะข้อมูลบางส่วนถูกเก็บไว้ใน RAM เรียบร้อย
การทำงานของ RAM เปรียบเสมือนอัดวิดีโอเอาไว้ ถ้าหาก RAM มีขนาดความจุมากก็จะเก็บข้อมูลได้มากขึ้น แต่หากว่า RAM เก็บข้อมูลใกล้จะเต็ม ตัวระบบจะมีการเคลียร์ความจำเดิมๆที่ไม่ได้ถูกใช้นานๆออกไป เช่น เปิดโปรแกรม Facebook ไว้แล้วปิดไป จากนั้นไปเล่นโปรแกรมอื่นๆอีก 10 โปรแกรม และหากกลับมาเปิด Facebook อีกครั้งมันก็จะช้ากว่าการเปิดโปรแกรมก่อนหน้า เพราะ RAM เคลียร์หน่วยความจำส่วนนี้ออกไปแล้ว
RAM นั้นนอกจากจะถูกใช้กับโปรแกรมต่างๆ ที่ผู้ใช้งานเปิดเองอย่าง Facebook, LINE หรือ Instagram แล้ว ยังถูกบริการต่างๆ บนเครื่องดึงไปใช้งานด้วย เช่น Samsung Galaxy มาพร้อมกับหน้าตา UI อย่าง TouchWiz ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนหน้าตาให้แตกต่างกันออกไปจากสมาร์ทโฟนยี่ห้ออื่นๆ รวมไปถึงบริการต่างๆ ติดมาใน UI อย่างบริการ feed ข่าวสาร สภาพอากาศ ระบบการแจ้งเตือนต่างๆ ที่เปิดใช้งานอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าแบรนด์ก็มีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบปฏิบัติการ Android ของตัวเองให้ใช้หน่วยความจำ RAM น้อยลงได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วมันไม่ได้เป็นแบบนั้นซักเท่าไรนี่สิครับ มันทำให้กลับมาเผชิญความจริงที่ว่าหากเครื่องมาพร้อมกับ RAM 1 GB ก็จะสามารถใช้งานจริงได้ราวๆ 300 – 400 MB เท่านั้น (ขึ้นอยู่กับการพัฒนาระบบของแต่ละแบรนด์)
ขนาด RAM ที่เหลือมาให้เราใช้งาน 300 – 400 MB นั้นเหลือไปใช้อะไรได้บ้าง ยกตัวอย่างเช่น Facebook แค่เปิดก็ใช้หน่วยความจำ RAM ไปแล้วถึง 145 MB ยังไม่รวม Facebook Messenger ที่ถูกเปิดใช้งานไปพร้อมกันอีก 170 MB รวมไปถึงบริการของ Google ที่ต้องเปิดโดยอัตโนมัติอยู่แล้วเกือบ 100 MB (ขึ้นอยู่กับการพัฒนาระบบของแต่ละแบรนด์) อย่างไรก็ตาม บริการอื่นๆ ก็ถือว่าไม่ได้กิน RAM มาก แต่ภาพรวมแล้วหากใช้งานทั่วๆ ไปตัวเครื่องต้องการ RAM ประมาณ 400 – 800 MB กันเลยทีเดียว
สรุปการเลือกขนาดของ RAM นั้น ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละบุคคล หากใช้งานโปรแกรมมากๆ บ่อยๆ เป็นคนที่ติดต่อสื่อสารต่อเนื่อง เล่นเกมหนักๆ คงเหมาะกับการใช้งานเครื่องที่มี RAM 2 GB ขึ้นไป แต่หากเป็นคนที่ใช้งานโปรแกรมไม่ต่อเนื่องมากใช้ไปนานๆ เปิดที หรือมีช่วงระยะเวลาในการเปิดที่ไม่ถี่นัก RAM 1 GB ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานแล้วในปัจจุบัน
ส่วนขนาด RAM ที่ต่ำกว่า 1 GB นั้น ผู้เขียนไม่แนะนำ เพราะนับวันโปรแกรมต่างๆ ต้องการหน่วยความจำขนาดที่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ ทีนี้ก็อยู่ที่ผู้อ่านแล้วละครับว่าจะเลือกสมาร์ทโฟนที่มี RAM ขนาดเท่าไร? ที่เหมาะสมและคุ้มค่าเงินในกระเป๋าที่สุด