วงการมือถือ…อยู่ยาก!
คำบอกเล่าจากเจ้าของโรงงานผลิตและประกอบสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากเสิ่นเจิ้นที่กล่าวเป็นเสียงเดียวกัน หลังจากที่รู้ดีว่าการผลิตมือถือในเมืองจีนทั้งโรงงานใหญ่และโรงงานห้องแถว ต่างประสบปัญหายอดไม่เข้า ไม่มีสินค้าออกจากสายการผลิต ฟังดูแล้วน่าแปลกเพราะวันนี้ “มือถือ” ยังเป็นสินค้าทุกคนจำเป็นจะต้องใช้ แต่ก็ “ยาก” ที่จะทำแล้ว “คนอยากซื้อ!” เพราะการผลิตมือถือสักเครื่อง ณ สถานการณ์ในวันนี้มีข้อจำกัดมากมาย ทั้งด้านดีไซน์ ชิพ ซอฟท์แวร์ และหากทำเสร็จแล้วไม่สวย ฟีเจอร์เจ๋งเท่า และราคาไม่ถูกกว่าเสี่ยวหมี่ ก็ยากจะขายออก!
แต่ในเมื่อธุรกิจหลักของพวกเขาคือ “โรงงานผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์” ทำยังไงจะไปหาตลาดสีฟ้าได้ (Blue Ocean) และตลาดใหม่ไร้คู่แข่งนั้นจะหน้าตาเป็นยังไง? นโยบายการสร้างความภาคภูมิใจในสินค้าที่แปะป้ายว่า “ผลิตในจีน (Made in China)” จากพรรคคอมมิวนิสต์ใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงช่วยได้ และใบ้ให้ว่าตลาดใหม่ที่ยังน่าสนใจอยู่ก็คือ การสร้างสรรค์แก็ดเจ็ทนวัตกรรมใหม่ๆ นั่นเอง!
ผ่าแผน Made in China 2025
ขอเกริ่นด้วยเรื่องน่าเบื่อแต่มีความสำคัญมากกับรากฐานความเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมแก็ดเจ็ทเทคโนโลยีสูงจากจีน นั่นก็เพราะตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ทางการจีนตั้งใจปลุกปั้นแผนการ “การสร้างความภาคภูมิใจในนวัตกรรมจากจีน (中国制造2025)” ให้สำเร็จภายในปี 2025 โดยมีต้นแบบจากเยอรมัน
ซึ่งนวัตกรรมจากจีนนี้เน้นย้ำไปที่หลากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงทั้งสิ้น อาทิ รถไฟความเร็วสูง (ซึ่งตอนนี้หลายโครงการที่ประเทศไทยและเพื่อนบ้านประมูลไปก็ล้วนเป็นของจีนทั้งนั้น) ยานพาหนะพลังงานสะอาด ที่เมื่อผู้บริโภคซื้อรถไฟฟ้าจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล และภาคขนส่งมวลชนเองต้นแบบอยู่ที่เสิ่นเจิ้น ภายในปีหน้ารถเมล์ทุกคันในเสิ่นเจิ้นจะใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดด้วย! ต่อมาเป็นอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการผลิต อุตสาหกรรมการบิน และที่ขาดไม่ได้เกี่ยวกับวงการสตาร์ทอัพก็คือ การสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยีทั่วๆ ไปให้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นนั่นเอง
โดยแนวคิดนี้จะเกิดขึ้นได้ เพราะโครงการนี้เน้นไปที่การพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้าน ให้เงินสนับสนุน ช่วยเหลือด้านการจดสิทธิบัตร เพื่อให้เกิดเป็นบริษัทหรือเทคโนโลยีใหม่ ที่คิดค้นในจีนโดยเฉพาะ และมีประสิทธิภาพทัดเทียมสากล พร้อมมีที่ยืนและจัดจำหน่ายในตลาดโลกได้ในที่สุดนั่นเอง
หรือกล่าวโดยสรุปแบบง่ายๆ ก็ คือ จีนเตรียมสร้างเทคโนโลยีขั้นสูงของตัวเองเพื่อขายในตลาดโลกนั่นเอง!
Xiaomi, LETV ลอยลำสู่ผู้นำแก็ดเจ็ทไฮเทค!
เพราะวันนี้แบรนด์มือถือดัง ราคาดี ฟีเจอร์เด่น ได้ตกเป็นของเสี่ยวหมี่ บริษัทสตาร์ทอัพที่ถูกจัดอันดับว่าเป็นบริษัทน้องใหม่ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
ที่ทำแบบนี้ได้ก็เพราะเสี่ยวหมี่รู้ดีกว่า นักช้อปรุ่นใหม่ฉลาด รู้ต้นทุนของส่วนประกอบทุกชิ้น (เหมือนที่เรารู้ต้นทุนของไอโฟน 6 พลัสที่เครื่องละหักพันกว่าบาท แต่ขายเราเกือบ 3 หมื่น!) ฉะนั้นเน้นขายเครื่องถูกๆ แล้วคิดเสียว่านี่คือ “ฮาร์ดแวร์แพล็ตฟอร์ม” ที่จะทำให้คอนเท้นต์สามารถส่งขายถึงมือลูกค้าได้นั่นเอง
สรุปเคล็ดลับโมเดลธุรกิจของเสี่ยวหมี่ก็คือ ขายฮาร์ดแวร์ไฮเทคราคาถูก หารายได้จากคอนเท้นต์ และเมื่อแบรนด์แกร่ง จะต่อยอดไปขายสินค้าฮาร์ดแวร์อื่นที่กำไรดีกว่ามือถือก็ย่อมได้! โดยล่าสุดไลน์สินค้าน้องใหม่จากเสี่ยวหมี่ก็คือ รถเลื่อนพลังงานไฟฟ้าที่มีฟีเจอร์แบบเดียวกับ เซ็กเวย์ (Segway) แต่คันเล็กกว่าและราคาเพียงหมื่นนิดเดียว! และล่าสุดก็ยังไม่ลงทุนในบริษัทผลิตจักรยานไฟฟ้า สมาร์ทไบค์ ดีไซน์เก๋อย่าง YunMake ด้วย ซึ่งเชื่อว่าเร็วๆ นี้ก็น่าจะได้เห็นจักรยานไฟฟ้าแบรนด์เสี่ยวหมี่ออกมาสู่ตลาดอย่างแน่นอน!
ส่วนเล่อชื่อ (LeTV) เองก็เช่นกัน ประกาศชัดว่าบริษัทของตนพร้อมจะผลิตสินค้าแก็ดเจ็ทเพื่อผู้บริโภคอย่างเต็มตัว และหลุดออกจากกรอบทีวีแล้ว เพราะเมื่อเดือนก่อนเพิ่งเปิดตัวจักรยานอัจฉริยะที่ผสานมือถือเข้าไปในโครงรถ เพื่อแสดงข้อมูลสุขภาพการปั่นแบบเรียลไทม์ พร้อมปุ่มกดคุยผ่านเสียงกับแก๊งค์เพื่อนขณะขี่จักรยานได้ ราคาเริ่มต้นคันละสองหมื่นบาท! ทั้งยังซุ่มเงียบผลิตรถยนต์อัจฉริยะพลังงานไฟฟ้าทั้งคันของตัวเองด้วย
แต่จุดที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างเสี่ยวหมี่และเล่อชื่อก็คือ การเน้นคนละตลาด โดยเสี่ยวหมี่ถึงแม้จะเปิดออฟฟิศขายสินค้าตัวเองในหลายประเทศ แต่ก็เน้นเฉพาะตลาดเกิดใหม่ รายได้น้อย (Emerging Market) เช่น อินเดีย บราซิล แต่เล่อชื่อกลับฝันใหญ่โกอินเตอร์ สร้างฐานทัพใหม่ในอเมริกา เพื่อนำฮาว-ทูจากซิลิกอน วัลลีย์เพื่อผลิตและขายทั้งคนจีนและอเมริกันเป็นหลัก!
ฟังๆ ดูแล้วเหมือนว่าเมื่อ 2 ยักษ์อย่างเสี่ยวหมี่และเล่อชื่อขยับ จะทำให้ตลาดแก็ดเจ็ทจีนไม่มีพื้นที่พอสำหรับคู่แข่งใหม่ แต่จริงๆ แล้วก็ไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป เพราะยังมีเจ้าของโรงงานผลิต-ประกอบอุปกรณ์ไฮเทคอีกมากมายในตงก่วนพยายามดิ้นหาออเดอร์ใหม่ และนี่คือทางแสงสว่างใหม่ของพวกเขา หันมาสร้างแบรนด์สินค้าไฮเทคของตัวเอง!
เปิดโมเดลธุรกิจและทางรอดใหม่ของบริษัทฮาร์ดแวร์สตาร์ทอัพรายย่อยจากตงกวน!
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าลมหายใจใหม่ของโรงงานผลิตมือถือร่ายย่อยในจีนคือ การหันมาผลิตแก็ดเจ็ทไฮเทค โดยพื้นที่ใหญ่สุดของต้นกำเนิดแก็ดเจ็ทเหล่านี้อยู่ที่เมืองตงกวน (东莞)
“ตงกวน” ห่างจากตัวเมืองเสิ่นเจิ้น ในจังหวัดกว่างโจว (หรือที่คนไทยเรียกกวางเจา) ไปอีก 48 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของบริษัทเทคใหญ่อย่าง ฮวาเหวย เท็นเซ็นต์ และบริษัทสตาร์ทอัพแก็ดเจ็ทเล็กๆ อีกนับพันๆ บริษัท
เชื่อเถอะว่า “ตงกวน” ไม่ใช่เมืองใหม่สำหรับคนไทย หากไม่เชื่อ ขอให้คุณลองสังเกตที่กล่องบรรจุภัณฑ์ของพวกแบตเสริม สายชาร์จแบรนด์จีนทุกวันนี้ ล้วนเขียนชัดเจนอย่างภาคภูมิใจว่า Design in Dongguan ให้ฟีลลิ่งคล้ายกับแอปเปิ้ล ที่บอก Design in California นี่แหละคือ “ตงกวน” ที่เรากำลังพูดถึง!
โดยเจ้าของโรงงานเก่าๆ ที่ยอดออเดอร์มือถือไม่เข้า พวกเขารวมตัวกันหาทางรอดใหม่ นั่นก็คือ
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงตัวอย่างจากบริษัทไฮเทคจีนขนาดยักษ์ที่มีทั้งทุนและคนมาสร้างสรรค์หลากผลิตภัณฑ์ไฮเทคได้ แต่เพราะโรงงานในเสิ่นเจิ้นเมื่อโดน 2 ค่ายนี้ผลิตสินค้าดีราคาถูกตัดหน้าไปหมด จึงต้องหาทางรอด…และทางรอดของพวกเขาก็คือ การเลือกจับมือหรือเข้าซื้อบริษัทสตาร์ทอัพน้องใหม่ ที่มีไอเดียอยากผลิตสินค้าแก็ดเจ็ทเจ๋งๆ แต่หาโรงงานผลิตสินค้าต้นแบบไม่ได้ โรงงานเหล่านี้เมื่อซื้อไอเดียแล้วก็จะเชิญดีไซน์เนอร์ฝรั่งมาช่วยออกแบบ ได้แม่แบบก็ลงมือผลิต หน้าที่การหาเงินทุน สร้างแบรนด์ก็จะตกเป็นของบริษัทสตาร์ทอัพเหล่านี้ จนในที่สุดก็จะออกมาเป็นแบรนด์สินค้าแก็ดเจ็ทน้องใหม่ Made in China ซึ่งวันนี้มีหลายบริษัทที่ใช้ไอเดียนี้จนประสบความสำเร็จ รอดตาย และมีช่องทางหารายได้ใหม่ระยะยาว เปลี่ยนจากการแค่เป็นโรงงานรับจ้างผลิต มาเป็นเจ้าของแบรนด์ที่คุมตั้งแต่ต้นน้ำ (ดีไซน์สินค้า) จนถึงปลายน้ำคือ การผลิตสินค้า และวางขาย
ซึ่งช่องทางการขายที่สำคัญที่สุดสำหรับแก็ดเจ็ทพวกนี้ก็หนีไม่พ้นโลกออนไลน์ ที่ปัจจุบัน เมืองจีนมีหลากเว็บไซต์ขายแก็ดเจ็ทไฮเทคด้วยการระดมทุน อาทิ Hi.taobao.com จากเถาเป่า (เครืออลีบาบา) หรือ z.jd.com จากจิงตง (แอมะซอนจีน) รวมถึงเว็บขายของแบบผ่อนจ่ายโดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต ที่เหมาะมากกับการขายสินค้าแก็ดเจ็ท เพราะเทรนด์เปลี่ยนเร็ว การผ่อนจ่ายด้วยเงินน้อยๆ ได้ของเท่ๆ มาใช้ก่อนใคร ไอเดียนี้จี๊ดใจวัยรุ่นและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็นที่สุด ซึ่งเว็บเหล่านั้นก็ได้แก่ http://99fenqi.com, aixuedai.com เป็นต้น
5 บริษัทฮาร์ดแวร์สตาร์ทอัพจากจีนที่ต้องจับตามอง!
1More : บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตหูฟัง โดยแฝงตัวผลิตให้เสี่ยวหมี่มานาน ล่าสุดปั้นแบรนด์ 1More ของตัวเอง และออกสินค้าที่ดีไซน์เองขายไปได้แล้วกว่า 17 ล้านชิ้น (1more.com)
HolaTex: สร้างผลงานเด่นอย่างเครื่องฉายโปรเจคเตอร์แอนดรอยด์ ที่ซื้อเครื่องเดียวก็สามารถเปลี่ยนห้องธรรมดากลายเป็นมินิโฮมเธียเตอร์ได้ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ jmgo.com)
inwatch: บริษัทที่ทำทั้งระบบปฏิบัติการและตัวเรือนของนาฬิกาอัจฉริยะ ที่ล่าสุดได้ทำนาฬิกาเรือนแรกที่แตะแล้วจ่ายเงินผ่านระบบอลีเพย์ได้! (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ inwatch.cc)
Zixingche: บริษัทจักรยานไฟฟ้าดีไซน์เก๋ที่เหลย จุน ซีอีโอเสี่ยวหมี่เข้าไปซื้อหุ้น เตรียมพลิกวงการกับจักรยานไฟฟ้าซิงก์กับมือถือได้รุ่นแรกๆ ที่ตั้งใจตีตลาดวัยทีนจีน (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ zixingche.com)
Youxia: “โหยวฉย๋า” รถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งคัน ของเล่นใหม่ของลูกเศรษฐีจีน ที่ฝรั่งเรียกว่า “เทสล่าจีน” คาดว่าจะคันจริงพร้อมออกขายต้นปี 2017 (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ youxiamotors.com)
เชื่อว่าถึงตอนนี้หลายท่านคงจะเต็มอิ่มกับการได้รู้ถึงเส้นทางที่มาที่ไปของตลาดแก็ดเจ็ทไฮเทคจากจีนเป็นอย่างดี และรู้ถึงเทรนด์ในอนาคตที่กำลังจะเป็นไป และสำหรับเราผู้บริโภคทั่วไปก็สบายใจได้ว่ายิ่งแผน Made in China 2025 ประสบความสำเร็จมากเท่าไหร่ การได้ใช้ของเท่ ดี ถูกจากจีนก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น แต่ก็อย่าลืมว่านี่จะกลายเป็นพิมพ์เขียวของแผนครองโลกครั้งใหม่ด้วย “เทคโนโลยี” จากฝีมือคนเก่งแดนมังกรก็เป็นได้!