เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวที่สร้างความตกใจให้กับผู้คนก็คือ พาวเวอร์แบงค์ระเบิด สาเหตุมาจากลืมพาวเวอร์แบงค์ (Power Bank) หรือแบตเตอรีไฟสำรองทิ้งเอาไว้ในรถ แล้วจอดรถตากแดดไว้ เกิดเหตุไฟลุกไหม้ขึ้นมา หลายคนจึงสงสัยว่ามันมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงๆ หรือ?
เชื่อว่าตอนนี้ พาวเวอร์แบงค์ ถือเป็นอุปกรณ์ที่ทุกคนต้องพกติดตัวควบคู่ไปกับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เพราะว่าในการใช้งานมือถือในแต่ละวัน พลังงานแบตเตอรี่ในตัวเครื่องไม่สามารถใช้ได้ตลอดทั้งวัน ก็มีเพาเวอร์แบงค์นี่ล่ะมาคอยต่อลมหายใจให้ใช้งานติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้ทั้งวัน
แต่ประเด็นที่ว่า พาวเวอร์แบงค์ระเบิด นั้นเกิดขึ้นได้หรือเปล่า ต้องบอกว่า “มีสิทธิ์เกิดขึ้นได้”
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่านทางหน้า Facebook ของตนเอง เนื่องจากมีนักข่าวมาสอบถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ พาวเวอร์แบงค์ระเบิดในรถ ซึ่งทาง อ.เจษฎาได้ให้ความเห็นว่าเรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าหากพาวเวอร์แบงค์นั้น เป็นรุ่นเก่าที่ยังเป็นแบบ “ลิเธียมไอออน” (Li-Ion) ที่เก่าและเสื่อมคุณภาพแล้ว
เพราะว่า แบตเตอรี่แบบ ลิเธียมไอออน นี้มีราคาถูกและจุปริมาณไฟฟ้าได้มาก แต่ทว่าก็มีโอกาสที่จะเกิดการลัดวงจร, ระเบิด หรือติดไฟจนลุกไหม้ได้ ถ้าหากเป็นของที่ผลิตออกมาไม่ได้คุณภาพ, ระบบตัดวงจรควบคุมไฟมีปัญหา หรือว่าหมดอายุการใช้งานแล้ว ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้ แบตเตอรี่แบบที่เป็น “ลิเธียมโพลิเมอร์” (Li-Po) จะมีความปลอดภัยมากกว่า
และยิ่งการใช้งานอย่างไม่เหมาะสม ก็เป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้ พาวเวอร์แบงค์ระเบิดได้ อาทิเช่น ถูกน้ำจนทำให้วงจรป้องกันเสียหาย, ได้รับความร้อนที่สูงมาก, ชาร์จด้วยกระแสไฟที่สูงเกิน, ได้รับการกระแทกอย่างแรง
นอกจากนี้ ศ.ดร.ประภาส จงสถิตย์วัฒนา อาจารย์ภาควิศวคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังให้ข้อมูลด้วยว่า ลิเธียมเป็นโลหะที่ไวไฟต่อปฎิกริยาเคมีมาก และอาจจะเกิดการลัดวงจรเมื่อเจอความร้อนที่สูจนติดไฟ จากรายงานเคยมีเหตุการณ์ที่พาวเวอร์แบงค์ระเบิดในตอนที่ใช้โทรศัพท์และกำลังชาร์จไฟไปด้วย แต่เหตุการณ์พาวเวอร์แบงก์ระเบิดโดยที่ไม่ได้มีการเสียบชาร์จอยู่ก็มีความเป็นไปได้ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากแค่ 1 ในล้าน
ใช้งาน Power Bank อย่างไร…ให้ปลอดภัย
- เลือกใช้ Power Bank เฉพาะที่ผลิตโดยผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน มีตราสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานการผลิต และผ่านการทดสอบความปลอดภัย
- หลีกเลี่ยง Power Bank ราคาถูกแต่ว่ามีความจุที่สูง เพราะมีโอกาสที่เป็นสินค้าที่มาตรฐานการผลิตต่ำ อาจจะถึงขั้นไม่มีระบบตัดไฟลัดวงจรที่ปลอดภัย
- ขณะที่นำสมาร์ทโฟนมาเสียบเพื่อชาร์จไฟ ไม่ควรเล่นหรือใช้งานระหว่างที่ชาร์จ เพราะอาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดในการจ่ายกระแสไฟฟ้า จนอาจจะทำให้เกิดการลัดวงจรได้
- เมื่อเสียบชาร์จไฟเพื่อเก็บกระแสไฟฟ้าไว้ใน Power Bank เมื่อชาร์จจนเต็มแล้วให้ถอดสายออก ไม่ควรเสียบชาร์จคาทิ้งไว้ เพราะอาจจะเกิดความร้อนและการลัดวงจรได้ รวมไปถึงไม่ควรเสียบชาร์จไฟ Power Bank ไว้ในขณะที่ไม่มีใครอยู่บ้าน
- ไม่ควรใช้ Power Bank ที่หมดอายุการใช้งานหรือเสื่อมสภาพ ไม่ควรใช้งานเกิน 2 ปี
ปัจจุบันเริ่มมีการควบคุมความปลอดภัยของการใช้งาน Power Bank มากขึ้น โดยเฉพาะในสายการบินต่างๆ ที่มีข้อกำหนดห้ามนำเอาแบตเตอรี่ที่มีความจุเกินกำหนดขึ้นเครื่อง ทั้งการโหลดใส่ในกระเป๋าหรือพกขึ้นเครื่อง เพื่อป้องกันความเสียงในการเกิดอุบัติเหตุได้
ข้อมูลจาก : รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ | เดลินิวส์