โทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ตในยุคปัจจุบันนี้สามารถใช้งานได้มากมายหลายอย่างจนเกินคำว่าเครื่องมือสื่อสารไปแล้ว หรืออาจจะเรียกว่าเป็นคอมพิวเตอร์พกพาก็ว่าได้ ทำให้เรามีข้อมูลต่างๆ ในมือถืออย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเกม แอพฯ เอกสารการทำงาน เอกสารส่วนตัว บัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีบริษัท ข้อมูลติดต่อลูกค้า รูปภาพส่วนตัว หนังสืออีบุ๊ค เพลง คลิปวิดีโอ ฯลฯ ไปจนถึงนิทานสำหรับเด็ก การ์ตูน ตำราทำอาหาร ทำให้มือถือ และแท็บเล็ตของเราสามารถใช้งานได้ทั้งครอบครัว ไม่ใช่การใช้งานเพียงแค่ส่วนตัวอีกต่อไป หลายครั้งที่ถูกหยิบยืมเอาไปใช้งานเล็กๆ น้อยๆ ก็ลำบากใจที่จะต้องยอมปลดล็อคหน้าจอเพื่อให้คนอื่นใช้ แต่เรามีวิธีที่จัดการได้ดีกว่าคือการเลือกล็อคเฉพาะแอพฯ ที่เราต้องการความเป็นส่วนตัวเท่านั้น ฉบับนี้เราจึงมาลองล็อคแอพฯ ต่างๆ ที่เราต้องการใช้เป็นส่วนตัวกันได้ด้วยแอพฯ APP Lock ซึงถือว่าเป็นแอพฯ ที่จัดการได้หลายหลายมากที่สุด ดีที่สุด และใช้งานได้ง่ายที่สุดในตอนนี้
หา App Lock มาใช้งานกับมือถือของคุณ
APP Lock เป็นแอพฯ ที่ต้องเข้าไปยุ่งกับระบบภายในเครื่องเพื่อป้องกันการงัดแงะข้อมูลของมือถือเราไปใช้งานได้ จึงมีโทรศัพท์ที่สามารถใช้งาน APP Lock ได้แค่ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่เปิดกว้างให้เราเข้าไปจัดการภายในเครื่องได้อย่างอิสระ มีลูกเล่นหลักๆ ดังนี้
- ล็อคไม่ให้มีการเปิดใช้งานแอพฯ ต่างๆ ตามที่เราต้องการ ทั้งการเปิดแอพฯ ขึ้นมา และการแชร์ไปยังแอพฯ นั้นๆ
- ล็อคไม่ให้มีการกดสั่งซื้อแอพฯ ทาง Google Play เพื่อป้องกันปัญหาการแอพฯ ซื้อเกม ซื้อคอนเทนต์ต่างๆ
- ล็อคไม่ให้มีการลบ และติดตั้งแอพฯ ใหม่ลงไป
- ล็อคไม่ให้มีการรับสาย หรือโทรออกได้
- ระบบล็อคด้วยตัวเลข และการลากเส้น (Pattern) ที่เรากำหนดได้เอง
จากลูกเล่นที่มีนี้เราสามารถดาวน์โหลดได้จาก Google Play มีสองเวอร์ชั่น คือแบบฟรี และแบบ Pro ที่ต้องเสียเงินเพื่อใช้งานที่มากยิ่งขึ้น เช่น การซ่อน การลบโฆษณาออกไป แอพฯ นี้สามารถใช้ได้กับมือถือ และแท็บเล็ตแอนดรอยด์ได้ทุกประเภท
การตั้งค่าสำหรับการล็อคแอพฯ
หลังจากติดตั้งแอพฯ ลงไปบนมือถือแล้วให้กดเข้าไปยังแอพฯ เพื่อเริ่มต้นการตั้งค่า ในหน้าจอแรกจะมีช่องให้ใส่รหัสผ่านเลยทันที ไม่ต้องตกใจ กดรหัสผ่านที่เราต้องการแล้วกดยืนยันทั้งสองครั้ง จะไปยังหน้าตั้งคำถามเพื่อยืนยันเป็นตัวเราจริงๆ โดยการพิมพ์คำถามเข้าไป แล้วพิมพ์คำตอบที่เราต้องกดตอบให้ตรงกับคำถามนั้นๆ เช่น วันเกิดของเรา เลขที่บัตรประชาชน สถานที่ชอบ ทีมฟุตบอล โรงเรียน ฯลฯ คำตอบก็ต้องพิมพ์ให้ตรงด้วย เพราะฉะนั้นโปรดหลีกเลี่ยงการใช้คำตอบที่ยากๆ เช่น ชื่อสถานที่ยาวๆ ชื่อถนน เพราะเราอาจจะพิมพ์คำตอบผิดก็ได้ คำถามในส่วนนี้จะเอาไว้ช่วยล้างรหัสผ่านกรณีที่เราลืมรหัสผ่านนั้นจริงๆ ถือว่าเป็นกุญแจดอกสำรองที่เอาไว้ช่วยแก้ขัดได้
ส่วนช่อง Password Hint นั้นเป็นช่องคำใบ้ในการช่วยเตือนว่าเราระบุรหัสอะไรไว้ เพื่อช่วยให้เรากดรหัสผ่านได้ง่ายมากขึ้น ในส่วนนี้ไม่จำเป็นต้องระบุลงไปก็ได้ แต่หลายท่านกลับเอาตัวรหัสผ่านของเราใส่ลงไป ทำให้เมื่อมีการเปิดแอพฯ ขึ้นมาก็มีรหัสผ่านรอไว้ให้แล้ว เราจึงแนะนำให้พิมพ์คำว่า “กรุณาใส่รหัสผ่าน” หรือไม่ต้องไปยุ่งกับช่องนี้เลยจะดีที่สุด
ล็อคแอพฯ ที่ต้องการด้วยการใส่รหัสผ่าน
ในหน้าจอหลักของ APP Lock นั้นจะมีรายชื่อแอพฯ ที่มีทั้งหมดในเครื่องรวมกันอยู่ทั้งแอพฯ ที่ติดมาในเครื่องเลย และแอพฯ ที่เราติดตั้งเพิ่มเติมทีหลัง ถ้าเราต้องการจะล็อคแอพฯ ไหนก็เลือกเปิดที่ท้ายรายชื่อแอพฯ ให้เป็นสีฟ้า ถ้าต้องการล็อคทั้งหมดก็แค่กดปุ่ม เครื่องหมายล็อคที่อยู่เมนูด้านล่าง เท่านี้ก็จะเป็นการล็อคแบบสมูรณ์แบบแล้ว
Tip: การล็อคแอพฯ ต่างๆ นั้นจะต้องดูด้วยว่ามีแอพฯ ที่ทำงานคล้ายๆ กันด้วยหรือไม่ เช่น แอพฯ เกี่ยวกับการดูรูป ถ้าต้องการจะล็อคการเปิดดูรูปทั้งหมด ควรจะล็อคที่แอพฯ ข้างเคียง เช่น QuickPic, Gallery, Timeline อะไรพวกนี้ไปให้ครบ เพื่อที่จะได้ป้องกันอย่างสมบูรณ์แบบ เช่นเดียวกับการล็อคแอพฯ เพื่อเปิดดูวิดีโอ เพลง คลิป ต่างๆ ก็ต้องดูด้วยว่าควรจะมีแอพฯ อะไรที่ใช้งานใกล้เคียงกันได้ด้วย
ในการล็อคแต่ละครั้งนั้น จะเลือกรูปแบบของการล็อคได้ 2 แบบ คือ Number Lock และ Pattern Lock มีความแตกต่างกันดังนี้
Number Lock เป็นการล็อคด้วยรหัสผ่านเป็นตัวเลขเท่านั้น ไม่สามารถใช้ตัวอักษรอื่นๆ เช่น * # ในการปลดล็อคได้เลย เราสามารถตั้งรหัสเป็นเลขอะไรก็ได้ตามที่เราต้องการ
Pattern Lock เป็นการล็อคด้วยการลากเส้นเรียงตามจุดต่างๆ ได้ตั้งแต่ 3 จุดต่อเนื่องกันไปจนครบทุกจุด สามารถลากเส้นตัดทับกันได้ แต่ไม่สามารถลากเส้นทับจุดเดิมได้ (ดูภาพประกอบ) การใช้งานประเภท Pattern Lock นี้มีจุดอ่อนอยู่ตรงที่ลายนิ้วมือตรงหน้าจอ ถ้าหน้าจอเปื้อนอยู่ การลากเส้นไปตามจุดต่างๆ จะมีรอยลากอยู่ การเอามือถือไปส่องดูจะแกะรหัสจากรอยลากนั้นได้ เพราะฉะนั้นควรรักษาความสะอาดของหน้าจอให้ดีด้วย
ทดสอบการใช้งานเมื่อมีการล็อคแอพฯ เอาไว้
หลังจากที่ตั้งค่าการล็อคของแอพฯ ต่างๆ เอาไว้แล้วให้กดกลับแล้วเลือกบันทึกค่าที่ตั้งเอาไว้ทุกครั้งเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดเกิดขึ้นกับแอพฯ ที่เราต้องการ เราสามารถทดสอบโดยการเปิดแอพฯ นั้นๆ ขึ้นมาจากไอคอน หรือปุ่มบน Widgets เพื่อทดสอบการเข้าไปใช้งานแอพฯ
เมื่อเปิดขึ้นมาจะมีหน้าจอแจ้งให้เราใส่รหัสผ่าน หรือการลากเส้นตามที่เราตั้งเอาไว้ ให้เราปลดล็อคก่อนการเข้าแอพฯ ด้วยทุกครั้ง และเมื่อหน้าจอดับจนมือถือทำงานแบบประหยัดพลังงานแล้ว การกลับมาเปิดแอพฯ อีกครั้งก็จะต้อใส่รหัสผ่านด้วยเช่นกัน
การล็อคเพื่อป้องกันการติดตั้ง หรือลบแอพฯ ออก
อีกหนึ่งอย่างที่น่าปวดหัวคือเมื่อมีการล็อคแอพฯ ต่างๆ แล้วผู้ที่เอามือถือเราไปใช้งานรู้สึกหงุดหงิดที่เข้าอะไรก็ไม่ได้ เปิดอะไรก็ไม่ได้เพราะติดรหัสผ่านหมดเลย ก็เลยแก้ปัญหาโดยการโหลดแอพฯ มาใหม่ซะเลย เพื่อที่จะได้ดูรูปภาพ หรือเอกสารที่อยู่ในเครื่องได้ หรือไม่ก็ทำการลบแอพฯ APP Lock ทิ้งซะเลย เราสามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้โดยการเลือก เปิดใช้งานในส่วนของ Google Play และ Install/Uninstall ไว้ด้วยเพื่อป้องกันการใช้งานในส่วนนี้ เมื่อมีการพยายามเข้าถึงรายการรายชื่อแอพฯ เพื่อติดตั้ง หรือลบทิ้งจะถามรหัสผ่านให้ทุกครั้ง ซึ่งผู้ที่เอาไปใช้งานจะไม่สามารถยุ่งในส่วนนี้ได้เลย
ล็อคการโทรเข้าไม่ให้มีใครรู้
นอกจากการล็อคแอพฯ เพื่อไม่ให้มีการใช้งานแล้ว เราสามารถล็อคการโทรเข้า หรือโทรออกได้ด้วย เพียงแค่เลือกการล็อคหน้าจอในส่วนของ Incoming Call เท่านั้น เมื่อมีสายเข้ามาจะขึ้นหน้าจอล็อคก่อนทุกครั้ง เมื่อทำการปลดล็อคด้วยรหัสของเราเรียบร้อยแล้วจึงจะเป็นหน้าจอสายเข้าเพื่อให้เราเลือก รับ/ไม่รับ สายได้อีกครั้ง ดูแล้วอาจจะยุ่งยากบ้าง แต่ก็ช่วยให้คนที่เอามือถือเราไปไม่สามารถกดรับสายได้เลยไม่ว่าจะกรณีใดๆ รวมไปถึงการกดเข้าไปเพื่อโทรออกได้ด้วยการล็อคส่วนของแอพฯ ที่ใช้โทรออก
ซ่อนแอพฯ เพื่อป้องกันการพยายามปลดล็อค
หลังจากที่เราได้ตั้งค่าเพื่อล็อคการใช้งานแอพฯ ต่างๆ แล้ว เรายังสามารถเก็บซ่อนตัวแอพฯ APP Lock ได้อีกด้วย เพื่อป้องกันการพยายามลบแอพฯ ทิ้ง หรือพยายามปลดรหัสเพื่อที่จะใช้งานแอพฯ ต่างๆ ได้ วิธีการซ่อนแอพฯ ก็ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่เลือกเมนู Setting (มุมขวาบน) จากนั้นเลือกที่ “Hide AppLock” จากนั้นไอคอนของแอพฯ และการใช้งานจะหายไปจากปุ่มลัดในเครื่องทั้งหมด โดยที่สถานการณ์ล็อคที่เราตั้งค่าไว้จะยังทำงานไปตามปกติ
วิธีการเข้าไปยังแอพฯ เพื่อเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มแอพฯ ที่ต้องการล็อค สามารถทำได้โดยการเข้าไปยังหน้าจอโทรออก จากนั้นกด *#*#12345#*#* แอพฯ APP Lock จะขึ้นมาที่หน้าจอทันที แต่ก็ต้องใช้รหัสที่เราตั้งค่าเอาไว้เพื่อการเข้าไปยังหน้าหลักของแอพฯ อีกที ถือว่าเป็นการป้องกันการเข้าถึงแอพฯ และซ่อนไม่ให้มีการพยายามเอาไปใช้งานได้เป็นอย่างดี
ทั้งหมดนี้เป็นการใช้งาน APP Lock ซึ่งเป็นแอพฯ สำหรับการป้องกันไม่ให้มีการใช้งานเครื่องนอกจากที่เราต้องการ อาจจะใช้แอพฯ นี้เพื่อเก็บบันทึกข้อมูลส่วนตัว การป้องการเข้าถึง การเข้าใช้งาน การเรียกข้อมูลต่างๆ ได้อย่างง่ายดายด้วยรหัสของเราเอง หรือใช้แพทเทิร์นในการลากนิ้ว ผู้ใช้งานควรตั้งค่าให้ดีเพื่อใช้ในการป้องกันได้สูงสุด เช่น การล็อคแอพฯ เปิดดูรูปภาพ ควรที่จะล็อคทุกแอพฯ ที่ใช้เปิดดูได้ และควรล็อคการติดตั้งเพื่อไม่ให้มีการติดตั้งแอพฯ ดูรูปอื่นๆ มาใช้แทนกันด้วย ส่วนท้ายนี้ขอให้ผู้ใช้งานจดจำรหัสผ่านเอาไว้ให้ดี เพราะถ้าลืม หรือเข้าไม่ได้แล้ว อาจจะต้องล้างเครื่องใหม่ (Factory Reset) ทั้งหมดเพื่อใช้งานได้ การล็อคแอพฯ นี้เป็นการจำกัดสิทธิในการใช้งานของเครื่องได้ดีที่สุดโดยที่เรายังเอามือถือไปให้คนอื่นยืมใช้ได้ตามปกติ ส่วนวิธีการสื่อสารกับคนที่บ้านในเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูลในมือถือนั้น อยู่ที่เราว่าจะเคลียร์กันได้หรือไม่นะครับ เรื่องส่วนตัวในมือถือบางทีเรื่องบางเรื่อง ถ้าไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าไปยุ่ง จะดีกว่า การล็อคเก็บเอาไว้อาจจะช่วยให้ไม่เกิดการเคืองใจกันได้ด้วย