สวัสดีครับ พบกับผมเช่นเคย ปีเตอร์กวง ควงมือถือ พิธีกรรายการ “ล้ำหน้าโชว์” ซึ่งรายการนี้ผลิตและสร้างสรรค์โดย บริษัท ล้ำหน้าโชว์ จำกัด ที่เราทั้งสาม (พี่หลาม ปีเตอร์กวง อาจารย์ศุภเดช) ได้ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ด้วยกันเพื่อให้ผู้ชมได้บริโภคสาระดีๆ ที่ให้ความรู้ด้านไอทีและเทเลคอม บวกกับความบันเทิงตามสไตล์แบบของพวกเราไปด้วย โดยออกอากาศทางช่อง Nation Channel (เนชั่นแชนแนล) รับชมได้ที่ช่อง 22 ทั้งทางทีวีดิจิตอลและทีวีดาวเทียม ทุกวันอาทิตย์ ออกอากาศสดเวลา 15:00-16:00 อยากให้ติดตามกันเยอะๆ นะครับ แล้วบ่ายวันเสาร์ของคุณ จะมีความหมายมากกว่าเดิม… สำหรับตัวผมเองก็ยังประจำการใน What Phone Magazine ทุกเดือนเหมือนเช่นเคยครับ เพื่อไขข้อข้องใจและเก็บตกข่าวคราวความเคลื่อนไหวในวงการเทเลคอม ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ สำหรับฉบับนี้จะมาพูดเรื่องของ กล้องกับสมาร์ทโฟนในยุคนี้
กล้องนั้นสำคัญไฉน ทำไมสมาร์ทโฟนกล้องต้องมาก่อน
นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2000 ที่ทาง Samsung ได้เปิดตัว Camera Phone (โทรศัพท์มือถือที่มีฟังก์ชั่นกล้องถ่ายรูป) ในชื่อรุ่น SCH-V200 ที่ ได้วางจำหน่ายในกรุงโซล เกาหลีใต้ โดยมีความละเอียดของภาพอยู่ที่ 0.35 ล้านพิกเซล และถ่ายได้สูงสุดเพียง 20 รูปเท่านั้น และต้องต่อเชื่อมกับ คอมพิวเตอร์ในเวลาที่เราต้องการภาพนั้นออกมาสู่คอมพิวเตอร์หรือส่งไปยัง email ต่างๆ นับตั้งแต่นั้นโทรศัพท์มือถือและฟังก์ชั่นกล้องก็กลายเป็นสิ่งที่ผูกติดกันไม่สามารถแยกออกจากกันได้เลย ทุกยี่ห้อต่างก็ต้องเข็นโทรศัพท์มือถือของตัวเองที่มีกล้องออกมากันทั้งสิ้น และกล้องกลายเป็นความจำเป็นต่อการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์เสมอ อาทิเช่น Motorola เปิดตัว Camera phone ตัวแรกในชื่อ Motorola E365 ในไตรมาสสองปี 2003 หรือจะเป็นค่าย Nokia เปิดตัวรุ่น 7650 Smartphone Symbian OS ตัวแรกในไตรมาสแรกปี 2002 ซึ่งมีกล้องด้านหลังความละเอียดระดับ VGA มาด้วย
ขณะที่ Sony Ericsson ก็เปิดตัว Smartphone Symbian OS ตัวแรกในไตรมาสสามปี 2002 เช่นกันในรุ่น P800 ที่มีฟังก์ชั่นกล้องเป็นครั้งแรกอีกด้วย ยุคที่ดิจิตอลแทรกเข้ามาอยู่กลางรูปแบบชีวิตใหม่ของผู้คน การที่คนเรามีกล้องติดตัว(กับมือถือ) ไปไหนมาไหนกลายเป็นสิ่งสะดวกในการบันทึก เก็บข้อมูล เก็บความทรงจำ ผ่านเลนส์กล้องของโทรศัพท์มือถือของเราไม่ว่าจะอยู่ที่ใด สถานการณ์ไหน หรือใช้เป็นหลักฐานประกอบกับสิ่งต่างๆ ทำให้กล้องติดโทรศัพท์มือถือกลายเป็นฟังก์ชั่นชิ้นเอกที่ช่วยในการตัดสินใจว่าจะเลือกโทรศัพท์มือถือรุ่นนั้นหรือไม่ ด้วยการดูจากภาพที่ถ่ายออกมาจากโทรศัพท์มือถือรุ่นนั้นๆ
กาลเวลาผ่านไปวิวัฒนาการของกล้องบนโทรศัพท์มือถือจึงถูกเอามาเปรียบเทียบกันเสมอ และไม่ใช่แค่ภาพนิ่งเท่านั้น ภาพเคลื่อนไหวอย่างวิดีโอก็เป็นสิ่งจำเป็นไปแล้วเมื่อผู้บริโภคจะเลือกซื้อโทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟนวันนี้ ยิ่งยุคนี้เป็นยุคของ Social Media ที่ผู้คนต่างแชร์เรื่องราวรูปภาพ วิดีโอ ของตัวเองออกไปสู่ครอบครัว เพื่อนฝูง หรือแม้แต่สาธารณะแก่คนที่เราไม่รู้จัก ผ่านทาง Facebook, Twitter, Instagram, Line และอื่นๆ โดยหวังว่าจะได้รับความนิยม ได้รับการยอมรับ หรือแม้แต่เพื่อการแบ่งปันแก่คนที่เรารู้จัก (หรือไม่รู้จักก็ตาม) เพราะฉะนั้นยุคนี้หลายๆ คนก็มักจะเลือกโทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟนโดยเลือกจากกล้องเป็นจุดหลักก่อนที่จะตัดสินใจในส่วนอื่นตามมา
กล้องบนสมาร์ทโฟน กับวิวัฒนาการจนมาถึงวันนี้
ตั้งแต่วันที่โทรศัพท์มือถือมีกล้องเป็นครั้งแรก เป็นกล้องหลักที่อยู่ด้านหลังไม่มีกล้องหน้า และความละเอียดกล้องเพียงแค่ 0.35 ล้านพิกเซล หรือความละเอียดระดับ VGA เท่านั้น จนพัฒนามามีกล้องหน้าด้วยเพื่อใช้ในการทำ 3G VDO Call จนกลายมาเป็นการนำเอากล้องหน้ามาทำเป็นกล้องถ่ายตัวเอง (Selfie Camera) จากนั้นการพัฒนากล้องก็มีมาตลอดกว่า 16 ปีที่ผ่านมา มาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป
- การถ่ายวิดีโอได้ จากสมัยแรกๆ ที่การถ่ายหรือบันทึกวิดีโอบนโทรศัพท์มือถือทำได้เพียงความละเอียด 176 x 144 พิกเซลเท่านั้น หลังจากนั้นก็พัฒนามาเป็นความละเอียดระดับ HD (720p), Full HD (1080p), 2K (2160p), 4K (4320p) ตามลำดับ แล้วยังมีฟังก์ชั่นการถ่ายแบบ Slow Motion หรือแบบ Time Lapsed ได้อีกด้วย และคาดว่าในอนาคตอันใกล้การถ่ายภาพและวิดีโอแบบ VR (Virtual Reality) จะได้รับความนิยมมากเช่นกันโดยเฉพาะตอนนี้ทาง Facebook ประกาศการรองรับการโหลดภาพและวิดีโอลงใน Facebook ส่วนบุคคลได้แล้ว
- ภาพความละเอียดระดับสูง จากเริ่มต้นที่ภาพถ่ายจากโทรศัพท์มือถือมีความละเอียดเพียง 35 ล้านพิกเซล พัฒนาไปเป็น 1.3 ล้านพิกเซล ต่อไปเป็น 2 ล้าน, 3.2 ล้าน, 5 ล้าน, 8 ล้าน, 12 ล้าน, 16 ล้าน, 18 ล้าน, 20 ล้าน และล่าสุด 23 ล้านพิกเซล ความละเอียดสูงขนาดนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณภาพจะดีหมดนะครับ แต่บอกถึงขนาดของภาพที่สามารถขยายได้ใหญ่มากแค่ไหน ภาพจะดีคุณภาพจะดีต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆ อีกเช่น คุณภาพของเลนส์ และสภาพแสงที่ถ่ายในขนาดนั้น
- กล้องหน้าเพื่อการถ่ายภาพ Selfie จากการที่กล้องหน้ามีเพื่อการทำ 3G VDO Call ให้สองฝั่งคู่สนทนาได้เห็นหน้ากัน กลายมาเป็นกล้องเพื่อใช้ถ่ายตัวเองอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อการเล็งกล้องหลังแล้วถ่ายตัวเองทำได้ยากและไม่เห็นองค์ประกอบของภาพในขณะที่ถ่าย โทรศัพท์มือถือตัวแรกที่มีกล้องหน้าคือ Sony Ericsson Z1010 หลังจากนั้นกล้องหน้าบนโทรศัพท์มือถือก็ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดสมาร์ทโฟน Sony Xperia XA Ultra มาพร้อมฟังก์ชั่นกล้องหน้าความละเอียดระดับ 16 ล้านพิกเซลเลยทีเดียว เพื่อเอาใจคอถ่ายภาพ Selfie ที่มีมากขึ้นและนิยมมากขึ้นนั่นเอง
- ปุ่มชัตเตอร์สำหรับถ่ายรูปโดยเฉพาะ เกิดขึ้นครั้งแรกกับ Nokia N70 ที่วางตลาดในปี 2005 นั่นเอง (N70 เป็นสมาร์ทโฟนยุคแรกๆ ที่ขายดีมากๆ รุ่นหนึ่ง) หลังจากนั้นก็มีการพัฒนากันเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น Sony Ericsson K800i ที่มีปุ่มชัดเจน และมีอีกมากมายหลายยี่ห้อหลายรุ่นที่ใช้คอนเซปท์เดียวกันในการออกแบบ
- ระบบ Auto Focus ซึ่งในยุคแรกของกล้องบนโทรศัพท์มือถือจะเป็นแบบ Fixed Focus จนกระทั่งมาในปี 2005 Sony Ericsson K750 ได้ถูกพัฒนามาให้รองรับการเคลื่อนที่ของเลนส์เพื่อปรับระยะโฟกัสให้แม่นยำและชัดเจนมากขึ้น จนมาถึงในรุ่นปัจจุบันอย่าง Sony Xperia X ที่สมาร์ทโฟนสามารถทำ Auto Focus แบบที่ติดต่อวัตถุที่เคลื่อนไหวได้อย่างแม่นยำ แม้วัตถุนั้นจะวิ่งจากซ้ายไปขวา หรือจากหลังมาหน้าก็ตาม หรือแม้แต่เทคโนโลยีที่โทรศัพท์สมาร์ทโฟนของเราจะเก็บข้อมูลของภาพที่ถ่ายได้แล้วไปปรับโฟกัส ให้หน้าชัดหลังเบลอ หรือหน้าเบลอหลังชัดในภายหลังก็ทำได้ด้วยบน HTC One M8 (มีสองกล้องหลัง) ล่าสุดก็มีการใช้แสงเลเซอร์เพื่อช่วยหาโฟกัสในที่แสงน้อยอย่าง LG G4, Asus Zenfone Laser เป็นต้น
- เลนส์คุณภาพระดับสูง Nokia เป็นเจ้าแรกที่นำเอาเลนส์คุณภาพสูงอย่าง Carl Zeiss มาใช้กับ Nokia 90 ทำให้ผลออกมาเป็นที่น่าประทับใจมาก หลังจากนั้น Sony Ericsson ก็ทำบางในการนำเอาเลนส์ Sony G มาใช้ขณะที่ LG ก็เคยนำเอาเลนส์จาก Schneider-Kreuznach มาเป็นพันธมิตรอยู่ช่วงหนึ่ง Motorola ก็เคยจับมือกับ Kodak มาแล้วเช่นกัน เคสปัจจุบันล่าสุดเราก็ได้เห็น Huawei กลับมากพลิกเกมด้านนี้ด้วยการร่วมมือกับ Leica เพื่อสร้างความสนใจใน P9/P9 Plus จนเป็นกระแสสนใจทั่วโลกทำให้หลายๆ คนหันมาหา Huawei Smartphone P9/P9 Plus
- เลนส์แบบ Optical Zoom Nokia เป็นเจ้าแรกในการนำเอาเลนส์แบบ Optical Zoom จาก Carl Zeiss มาใช้เพื่อให้การซูมภาพได้ระยะที่ดีและยังคงคุณภาพที่สูงมากกว่าการใช้ Digital Zoom มาก ตัวอย่างเช่น Nokia N93 แล้วยังมี Samsung Galaxy K Zoom ที่หันมาใช้เลนส์ซูมแบบ Optical เช่นกัน แต่การใช้เลนส์แบบนี้ก็มีข้อเสียคือ ดีไซน์จะทำให้เครื่องมีความหนาค่อนข้างมากนั่นเอง ทำให้ไม่ได้รับความนิยม เพราะพกพาลำบาก
- Xenon Flash ปัญหาหนึ่งของกล้องมือถือและสมาร์ทโฟนคือการใช้ไฟแฟลชที่มีแสงสว่างเพียงพอ ไฟแฟลชแบบ LED อาจไม่ได้ผลดีมากนักถ้าต้องการภาพในมุมกว้าง Sony Ericsson นำเอา Xenon Flash (ที่ใช้ในกล้อง Compact) มาประยุกต์ใช้กับ Sony Ericsson K800, K850 หรือจะเป็นอย่าง Nokia N82, N95, Lumia 1020 เป็นต้น แต่ปัจจุบันก็เริ่มไม่ค่อยนิยมแล้วเนื่องจากว่าเซนเซอร์รับภาพได้ถูกพัฒนาไปมากแล้ว สามารถถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยได้ดีกว่าเมื่อก่อนเยอะ ทำให้การใช้ไฟแฟลชแบบ LED ก็เพียงพอแล้วสำหรับการถ่ายภาพในที่มืด
- Variable Aperture ความสามารถในการปรับภาพแบบแมนนวลสำหรับรูรับแสงของกล้องบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ทำให้กล้องสามารถทำงานได้ดีขึ้นมากเมื่อเจอสภาพแสงน้อย หรือสภาพแสงมาก หรือแม้แต่ในการทำให้ภาพมีความชัดตื้นบนภาพของเรา ในขณะที่สมาร์ทโฟนบางยี่ห้อสามารถปรับให้การเปิดรูรับแสงของกล้องได้นานขึ้นจนสามารถถ่ายภาพกลางคืน ภาพดวงดาวบนท้องฟ้าได้ ไม่แพ้กับกล้อง DSLR เลยทีเดียว ปัจจุบันกล้องสมาร์ทโฟนรุ่นกลางถึงสูงส่วนใหญ่จะมีฟังก์ชั่นนี้ให้เราได้ปรับด้วยตัวเอง
- HDR (High Dynamic Range) ฟังก์ชั่นนี้ทำให้ภาพของเราสามารถเก็บรายละเอียดของภาพได้ครบแม้ว่าเราจะอยู่ในสภาพแสงที่มากเกินไป หรือน้อยเกิน คล้ายๆ กับการถ่ายภาพคล่อมเพื่อให้ได้ภาพที่ทั้งแสงพอดี แสงน้อยไป แสงมากไป แล้วนำมารวมกันเพื่อให้ได้ภาพที่ยังคงความละเอียดได้ครบทั้งภาพทั้งในส่วนมืดและส่วนสว่างของภาพ ปัจจุบันในกล้องสมาร์ทโฟนแทบทุกรุ่นก็มีความสามารถนี้ทั้งสิ้น
- Camera Image Sensor ผมกำลังหมายถึงเซนเซอร์รับภาพที่เขาใช้กันในกล้องดิจิตอลนั่นเอง ในอดีตกล้องมือถือไม่ได้ใช้ Image Sensor รับภาพแบบกล้องจริง แต่ด้วยความจริงจังในการพัฒนาเพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีมากบนสมาร์ทโฟน จึงมีการนำเอา Image Sensor ขนาดเล็กมาใส่ในกล้องสมาร์ทโฟน โดย Image Sensor ที่นิยมกันในระดับท็อปก็ได้แก่ Sony Sensor และยังมีอีกหลายค่ายที่พัฒนา Image Sensor สำหรับกล้องมือถืออีกมากมาย เช่น Omnivision, Samsung, Panasonic, Toshiba เป็นต้น
- OIS Technology เทคโนโลยี Optical Image Stabilization คือเทคโนโลยีในการที่เลนส์ของกล้องจะปรับตัวให้เคลื่อนไหวไปตามความสั่นไหวของกล้องมือถือในขณะที่เราจะถ่ายภาพเพื่อป้องกันไม่ให้ภาพออกมาดูไหวหรือไม่นิ่ง ถ้าเป็นการถ่ายวิดีโอก็จะได้ภาพนั้นไหวน้อยลงมาก แม้มือของเราจะไม่อยู่นิ่งก็ตาม
- การถ่ายภาพขณะที่ถ่ายวิดีโอ ปัญหาหนึ่งของการที่เราต้องทำสองอย่างในเวลาเดียวกัน คือการถ่ายวิดีโออยู่แต่เราอยากได้ภาพนิ่งตอนนั้นด้วย ปัจจุบันในกล้องสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่จะรองรับฟังก์ชั่นนี้แล้ว ทำให้เราได้ภาพนิ่งไปพร้อมๆ กับภาพวิดีโอเลย ไม่เหมือนในอดีตที่ต้องเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
- ถ่ายภาพทันทีแม้เครื่องล็อคอยู่ การปลดล็อคเครื่องแล้วเข้าสู่โหมดกล้องได้ทันทีเพียงเสี้ยววินาที หรือบางยี่ห้อจะถ่ายภาพให้เราได้ทันที เป็นประโยชน์มากสำหรับการเรียกใช้กล้องในเวลารีบด่วน ปัจจุบันเพียง 0.5 วินาทีก็ทำให้เราได้ภาพในทันที หรือพร้อมถ่ายในทันทีที่สัมผัสตัวกล้องแล้วกดปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้
- Panorama Photo ภาพแบบแนวกว้างที่สมัยก่อนต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อถ่ายให้ได้มาอย่างนั้น ปัจจุบันการถ่ายภาพแบบนี้มีอยู่ในฟังก์ชั่นกล้องสมาร์ทโฟนแทบทุกรุ่น แต่ภาพจะมีความละเอียดดีมากแค่ไหนก็อยู่ที่เลนซ์และสภาพแสงที่ถ่ายด้วยนะครับ
- Dual Lens สมาร์ทโฟนแบบกล้องคู่ ถือว่ามีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากในการประยุกต์ให้อีกเลนส์มาทำให้ภาพที่ได้นั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น LG Optimus 3D ที่มีกล้องหลังสองเลนซ์เมื่อถ่ายแล้วจะได้ภาพแบบ 3 มิติ พร้อมหน้าจอ 3 มิติที่เห็นภาพ 3 มิติโดยไม่ต้องใส่แว่น หรือจะเป็น HTC one M8 ที่มีกล้องหลังสองเลนซ์เพื่อเก็บข้อมูลของภาพแล้วมาปรับภาพหลังถ่ายให้มีมิติชัดลึกได้ตามต้องการ และล่าสุด Huawei P9 ที่ร่วมกับ Leica ในการทำกล้องคู่ด้านหลังโดยเลนซ์ที่สองจะเก็บภาพแบบ Monochrome หรือภาพขาวดำ แล้วนำภาพที่ได้ไปรวมกับภาพสีปกติ จะทำให้เฉดสีของภาพสวยสมจริงมากกว่า
กล้องหลังกับกล้องหน้า กล้องไหนสำคัญกว่ากัน
ในอดีตที่เราเริ่มใช้กล้องบนสมาร์ทโฟนในการถ่ายภาพกันได้นั้น ผู้ผลิตได้พยายามในการพัฒนากล้องหลักด้านหลังให้ดีขึ้นมากที่สุด พอมาถึงยุคที่ผู้คนอยู่กันเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น คนเป็นโสดมากขึ้น ไปเที่ยวคนเดียวมากขึ้น กล้องด้านหน้าก็กลายมาเป็นความสำคัญไม่แพ้กันเลย โดยเราก็มักใช้กล้องหลักด้านหลังถ่ายภาพวิว หรือภาพที่อยู่ตรงหน้าเราให้ดีและสวยที่สุด แต่ก็อย่างว่าครับกับยุค Social Media ทุกคนพยายามแชร์บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองและแบ่งปันผ่าน Facebook, Instagram, Twitter มากขึ้น ทำให้ผู้ใช้เองก็อยากได้กล้องหน้า Selfie ที่ดีๆ สวยๆ ไม่แพ้กล้องหลัง ทำให้มีผู้ผลิตมากมายหันมาทำให้กล้องหน้าถ่ายได้สวยไม่แพ้กล้องหลักด้านหลัง ยกตัวอย่าง Oppo F1 Plus ที่มีกล้องหน้าสวยและความละเอียดมากกว่ากล้องหลังเสียอีก (กล้องหน้า 16 ล้านพิกเซลขณะที่กล้องหลังอยู่ที่ 13 ล้านพิกเซล)
หรือจะเป็น Sony Xperia X, XA Ultra ที่มีกล้องหน้าความละเอียดระดับ 13-16 ล้านพิกเซล เพื่อให้ภาพที่ได้ในการถ่ายแบบ Selfie นั้นออกมาสวยที่สุด สุดท้ายว่าไปแล้วก็อยู่ที่ผู้ใช้ครับ ถ้าซีเรียสกับกล้องหน้า Selfie มากกว่า ก็แนะนำให้ลองเช็คดู และลองเล่นตามศูนย์ขายสมาร์ทโฟน เขามีตัวจริงให้ลองทุกรุ่น แต่ถ้าชอบถ่ายภาพที่อยู่ตรงหน้ามากกว่าจะหันกล้องมาถ่ายตัวเอง ก็ดูสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ของแต่ละค่ายไปเลย รักค่ายไหนชอบค่ายไหนก็ลองไปจับๆ เล่นๆ ถ่ายภาพดู ก่อนจะตัดสินใจซื้อนะครับ ของสมัยนี้มันแพง คิดก่อนค่อยตัดสินใจนะครับ
ถ้าต้องเลือกสมาร์ทโฟนกล้องสวยสักตัวหนึ่ง ตอนนี้อะไรที่เป็นทางเลือกที่ดีบ้าง
ปัจจุบันโทรศัพท์สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ จะเน้นเรื่องการถ่ายภาพมาเป็นอันดับแรกในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ บอกได้เลยว่าถ้าสมาร์ทโฟนรุ่นไหนถ่ายภาพไม่สวย รับรองครับ ขายไม่ออกอย่างแน่นอน สำหรับปีนี้มีสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงมากมายที่มีจุดเด่นในเรื่องการถ่ายภาพ ลองไปดูกันครับว่ารุ่นไหนบ้างเป็นทางเลือกในแบบเรา ถ้าชอบค่าย Samsung ผมแนะนำ Galaxy S7/S7 Edge เลยครับ เทคโนโลยี Dual Pixel ทำให้การถ่ายภาพแม้ในสภาพแสงน้อยภาพก็ยังออกมาสวยครับ แม้ความละเอียดจะอยู่ที่ 12 ล้านพิกเซลก็ตาม (อย่าไปยึดติดมาก 12 ล้านพิกเซลก็ถือว่าไม่ขี้เหร่นะครับ ภาพชัดภาพคม สำคัญกว่าขนาดของภาพนะจะบอกให้)
ถ้าเป็นค่าย iPhone ก็ต้องเป็น iPhone 6s Plus ครับ แต่ถ้าจะรอผมคาดว่า iPhone 7 ที่จะออกปีนี้น่าจะมีกล้องที่ดีมากๆ ตัวหนึ่งในวงการสมาร์ทโฟนเลย สำหรับค่าย OPPO ก็อยากจะแนะนำไปที่ F1 Plus ครับ ตัวนี้กล้องหลังก็ถ่ายสวยที่เด็ดกว่าคือกล้องหน้า Selfie ที่ความละเอียด 16 ล้านพิกเซลครับ ขนาดได้คุณใหม่ ดาวิกา มาเป็น Brand Ambassador ด้วย ถือว่าไม่ธรรมดาเลย สำหรับคนที่ชอบค่าย Asus ก็อยากแนะนำไปที่ Zenfone Zoom ที่มีเลนส์ซูมระดับ Optical Len 28-84 mm เลยทีเดียว ภาพชัดคมในทุกระยะซูมครับ
แต่ถ้ามองหาสมาร์ทโฟน ขนาดมาตรฐานก็แนะนำให้รอ Zenfone 3 ที่จะออกในปลายเดือน ก.ค. นี้รับรองถ่ายสวยแน่นอนครับ โดยเฉพาะ Zenfone 3 Deluxe ที่กล้องมีความละเอียดสูงถึง 23 ล้านพิกเซล สำหรับกระแสที่มาแรงตอนนี้ก็ต้องเป็น Huawei P9/P9 Plus ที่ใช้เทคโนโลยีของ Leica ทำให้ภาพที่ได้คมชัดมากๆ (มากกว่าที่เคยเห็นเทียบกับกล้องสมาร์ทโฟนยี่ห้ออื่นๆ) ตอนนี้ถึงขนาดว่าของขาดตลาดกันเลยสำหรับรุ่น P9 Plus (ที่จริงๆแล้วแพงกว่ารุ่น P9 ปกติถึง 5,000 บาท แต่ดีกว่าตรงที่กล้องหน้าเป็น Auto Focus)
ขณะที่อีกค่ายหนึ่งที่ทำกล้องได้ดีมากๆ (เพราะเป็นเจ้าตลาด Image Sensor ที่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟน ทุกค่ายต่างต้องใช้กับกล้องของสมาร์ทโฟนตัวเองกันทั้งสิ้น) อย่างค่าย Sony ก็มีรุ่นที่น่าใช้ในทุกระดับราคา ไม่ว่าจะเป็น Xperia XA น้องเล็ก แต่คุณภาพกล้องไม่เล็กตาม หรือจะเป็น Xperia XA Ultra ที่มีหน้าจอใหญ่ 6” ใช้กล้องหน้าละเอียดถึง 16 ล้านพิกเซล และรุ่นใหญ่อย่าง Xperia X, X-Performance ที่มาพร้อมความละเอียด 23 ล้านพิกเซลสำหรับกล้องหลักและ 13 ล้านพิกเซลสำหรับกล้องหน้าบวกกับความสามารถในการปรับโฟกัสของวัตถุที่เคลื่อนที่ได้ทุกองศา ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีมากสำหรับคนที่เน้นสมาร์ทโฟนในการถ่ายภาพ
สุดท้ายอยากฝากไว้ว่า ชอบรุ่นไหน ให้ไปลองกันก่อนนะครับ เดี๋ยวนี้เครื่องทดลองเล่น (Live Demo) เขามีกันอยู่แทบทุกรุ่น ตามร้านขายมือถือในห้างทุกแห่ง ลองเล่นลองถ่ายรูป ลองซูมภาพดู และเปรียบเทียบกับสมาร์ทโฟนตัวเก่าของเราที่ใช้อยู่ แล้วคุณจะพบกับสมาร์ทโฟนในฝันของคุณเพื่อการถ่ายภาพให้สวยงาม อย่างที่คุณตามหามานานแน่นอน โชคดีนะครับ
สำหรับแฟนๆ ท่านใดที่มีคำถาม สามารถติดตามมาได้ที่ twitter ของผม @peter2514 นะครับ ส่วน Facebook ตามมาได้ที่ Techoffside ถ้าจะติดตาม Instagram ก็ Search หา ID “peter2514” ได้นะครับ แล้วเจอกันใหม่ฉบัานะครับบหน้ ขอบคุณทุกการติดตามครับ