เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Facebook ได้ประกาศเปิดให้บริการ Instant Articles Facebook กับสำนักข่าวทุกราย ไม่ว่าจะเป็นประเภทใด ขนาดไหนหรือตั้งอยู่ที่ใดในโลก ฟีเจอร์อินสแตนท์ อาร์ติเคิลส์ ถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการดาวน์โหลดคอนเทนต์จากเว็บไซต์บนมือถือที่ใช้เวลานาน ซึ่งส่งผลให้การอ่านข่าวบนมือถือไม่ทันใจ ณ วันนี้ สำนักข่าวในประเทศไทยมากกว่า 400 ราย ได้ใช้บริการ Instant Articles Facebook เพื่อเพิ่มจำนวนผู้อ่านและต่อยอดธุรกิจแล้ว ได้แก่ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7, ไทยรัฐ, บางกอกโพสต์, คม ชัด ลึก, ข่าวสด, เว็บไชต์ MGR Online และเว็บไซต์ MThai
ด้วยบริการ Instant Articles Facebook นี้เอง ที่สำนักข่าวต่างๆ สามารถควบคุมภาพรวมของคอนเทนต์ รวมถึงข้อมูลและโฆษณาต่างๆ ได้ด้วยตนเอง พวกเขาสามารถลงโฆษณาและรับรายได้ทั้งหมดโดยตรง อีกทั้งยังติดตามผลการลงโฆษณาจากระบบมาตรวัดประสิทธิภาพของโฆษณาที่ใช้อยู่เดิม หรือเลือกเพิ่มช่องทางรายได้จากคอนเทนต์ผ่านทาง Facebook Audience Network สำนักข่าวสามารถใช้เครื่องมือด้านมัลติมีเดียอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและความพิเศษให้แก่บทความต่างๆ ซึ่งเปิดอ่านได้อย่างรวดเร็วบน Facebook โดยไม่มีข้อจำกัดว่าผู้อ่านจะอยู่ที่ใดบนโลกใบนี้
เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยที่ชื่นชอบการแชร์เรื่องราวที่พวกเขาสนใจบน Facebook ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสื่อโซเชียลชั้นนำสำหรับชาวไทยอยู่แล้ว สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 สถานีโทรทัศน์อันดับต้นๆ ของประเทศไทยได้เริ่มใช้อินสแตนท์ อาร์ติเคิลส์เพื่อยกระดับการดำเนินธุรกิจไปอีกขั้น
กลยุทธ์ ขยายคอนเทนต์ให้ครอบคลุม ไม่เน้นแต่วิดีโอเพียงอย่างเดียว
จากความสำเร็จของช่อง 7 ทั้งในแพลตฟอร์มโทรทัศน์และดิจิตอล หนึ่งในช่องทางที่ทางช่องยังไม่ได้มีการทดลองอย่างจริงจัง คือการผลิตคอนเทนต์ออนไลน์ที่นอกเหนือจากคลิปวิดีโอ ตั้งแต่อินสแตนท์ อาร์ติเคิลส์เปิดให้บริการ ก็ได้มอบวิธีการสร้างและเผยแพร่คอนเทนต์ที่ง่ายดายให้กับเหล่าสำนักข่าวยักษ์ใหญ่ต่างๆ บริการอินสแตนท์ อาร์ติเคิลส์ได้นำเสนอประสบการณ์การอ่านที่รวดเร็วและเต็มอิ่มในแบบที่ทุกคนคาดไม่ถึง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งการลงทุนใดๆ เพิ่มเติม โดยช่อง 7 ได้ต่อยอดฟีเจอร์อินสแตนท์ อาร์ติเคิลส์ ที่สะอาดตา ดีไซน์มาเพื่อการใช้งานง่าย และเปลี่ยนมาเน้นให้ 10 เปอร์เซ็นต์ของคอนเทนต์ออนไลน์เป็นบทความข่าว เพื่อนำเสนอคอนเทนต์ที่มีคุณภาพให้แก่ผู้อ่านได้อย่างรวดเร็ว
นำเสนอคอนเทนต์วิดีโอที่โหลดได้อย่างรวดเร็ว ผ่าน Native Video Player บนอินสแตนท์ อาร์ติเคิลส์
ขณะที่สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เป็นเจ้าของคอนเทนต์มากมายจากรายการต่างๆ ที่ได้ออกอากาศไปแล้ว ทางช่องก็เริ่มนำรายการข่าวด่วนที่ออกอากาศในโทรทัศน์ส่วนหนึ่ง มาเผยแพร่โดยตรงบนออนไลน์ เพื่อมุ่งให้ผู้ใช้ Facebook บนมือถือ ได้รับรายงานข่าวสารที่เที่ยงตรงและทันเหตุการณ์ อีกทั้งยังใช้ประโยชน์จากการตอบสนองอันรวดเร็วของตัวเล่นวิดีโอ (Native Video Player) ที่ฝังอยู่ในอินสแตนท์ อาร์ติเคิลส์ ซึ่งกลายเป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มทราฟฟิกและการมีส่วนร่วมกับทางช่องอย่างเห็นได้ชัด บริษัทเองสังเกตเห็นอัตราการเข้าถึง (Reach) ที่เพิ่มขึ้นถึง 250 เปอร์เซ็นต์สำหรับอินสแตนท์ อาร์ติเคิลส์ในรูปแบบวิดีโอ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังจากที่เห็นว่าผู้ใช้ Facebook มีส่วนร่วมมากขึ้นในแง่ของการคลิกชมวิดีโอ ช่อง 7 จึงจะเริ่มทดลองกับคลิปที่แชร์บนออนไลน์โดยเฉพาะ เช่นดียวกับฟีเจอร์อินเทอร์แอคทีฟอื่นๆ ของอินสแตนท์ อาร์ติเคิลส์
ผลักดันให้คอนเทนต์ส่วนใหญ่เผยแพร่บนอินสแตนท์ อาร์ติเคิลส์
ทีมงานดิจิตอลของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ได้เริ่มใช้อินสแตนท์ อาร์ติเคิลส์ในจำนวนน้อย ในเบื้องต้นพวกเขาคัดเลือกแต่ข่าวที่น่าสนใจมาทดลองเผยแพร่ผ่านฟีเจอร์ใหม่นี้ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ผู้อ่านต่างก็ชื่นชอบการดาวน์โหลดที่รวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม และรูปลักษณ์หน้าตาของบทความต่างๆ ดังนั้นทางช่อง 7 จึงตัดสินใจนำเสนอคอนเทนต์กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ในรูปแบบอินสแตนท์ อาร์ติเคิลส์ ผลปรากฏว่าตัวเลขสถิติพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว พวกเขาได้รับยอดคลิกลิงค์บน Facebook เพิ่มขึ้นถึง 200 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ใช้พลังเครือข่ายโฆษณา (Audience Network) ของ Facebook ช่วยสร้างรายได้
สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 มีกลยุทธ์การสร้างรายได้ที่แข็งแกร่งและผ่านการวิเคราะห์มาเป็นอย่างดี ซึ่งรายได้หลักมาจากโฆษณาวิดีโอแบบพรีโรล วิธีดังกล่าวได้ผลดีสำหรับวิดีโอที่อยู่บนช่องทางดิจิตอลของสถานี แต่ว่าอินสแตนท์ อาร์ติเคิลส์นั้น ช่วยเปิดโอกาสในการสร้างรายได้ผ่านเครือข่ายโฆษณาในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน จากการเข้าร่วมเครือข่ายโฆษณาและเป็นส่วนหนึ่งในผู้ลงโฆษณาหลายล้านรายบน Facebook ช่อง 7 สามารถสร้างรายได้ผ่านการใช้งานอินสแตนท์ อาร์ติเคิลส์ที่ง่ายดาย บริษัทยังได้ใช้เครื่องมือสร้างรายได้อันทรงพลังของ Facebook ด้วยประสิทธิภาพของเครือข่ายโฆษณาที่มีผู้ลงโฆษณามากกว่า 3 ล้านราย ที่ช่วยยกระดับคอนเทนต์บทความชิ้นที่เขียนขึ้นใหม่ของพวกเขา นอกจากนี้เครือข่ายโฆษณายังนำเสนอโฆษณาที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งโหลดรวดเร็ว ช่วยต่อยอดไปสู่การใช้งานที่ดียิ่งกว่าภายใต้ฟีเจอร์อินสแตนท์ อาร์ติเคิลส์ ผลที่ได้คือช่อง 7 สามารถเพิ่มรายได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์จากเครือข่ายโฆษณาระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม
ผลลัพธ์เพิ่มเติม
ช่วงต้นเดือนเมษายนถึงปลายเดือนกรกฎาคม ช่อง 7 สามารถเพิ่มทราฟฟิกและการมีส่วนร่วมได้อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยยอด การมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้นกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ต่อบทความอินสแตนท์ อาร์ติเคิลส์หนึ่งชิ้น เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกันกับยอดการเข้าชมเว็บไซต์ข่าว ของช่อง ที่เพิ่มขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์
จักรพันธ์ ลีละมาสวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีบีทีวี นิวมีเดีย จำกัด กล่าวว่า “Facebook เป็นแพลตฟอร์มสื่อโซเชียลอันดับหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศไทย และเราต้องการให้กลุ่มเป้าหมายของช่องได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดจากคอนเทนต์ที่เรานำเสนอ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นติดตามช่องทางของเราอย่างต่อเนื่อง เรามุ่งมั่นที่จะมอบการใช้งานที่ดีกว่าและรวดเร็วกว่าสำนักข่าวอื่นๆ ที่ผู้อ่านอาจต้องเสียเวลากับการโหลดคอนเทนต์ที่ช้า เพื่อประสบการณ์การใช้งานที่เหนือกว่า เราเลือกใช้ฟีเจอร์อินสแตนท์ อาร์ติเคิลส์ ซึ่งส่งผลให้เราได้เปรียบกว่าสื่ออื่นๆ”
เคน ชุง หัวหน้าฝ่าย Strategic Partnerships ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Facebook กล่าวว่า “องค์กรสื่อและสื่อมวลชนเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับ Facebook เรามีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะนำเสนอคอนเทนต์ที่สร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้ทั้งสำนักข่าวและผู้อ่านของพวกเขา ด้วยการใช้งานอินสแตนท์ อาร์ติเคิลส์ สำนักข่าวต่างๆ สามารถควบคุมภาพรวมเรื่องราวของพวกเขาได้ รวมถึงข้อมูลและโฆษณาต่างๆ ด้วย เรายังเห็นถึงแนวโน้มที่ดีในประเทศไทยสำหรับการต่อยอดธุรกิจผ่านอินสแตนท์ อาร์ติเคิลส์กับพันธมิตรอย่างสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรด้านสื่อรายอื่นๆ เพื่อสร้างสรรนวัตกรรมใหม่ๆ และส่งเสริมการเติบโตทางธุรกิจของพวกเขาผ่านอินสแตนท์ อาร์ติเคิลส์ในอนาคต”
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการอินสแตนท์ อาร์ติเคิลส์ได้ที่ http://instantarticles.fb.com/
- อ้างอิงจากผลสำรวจ TNS Connected Life เมื่อปีพ.ศ. 2558
- วัดผลจากเว็บไซต์ทรูฮิตส์ (Truehits) ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559