ทุกวันนี้ภัยอันตรายต่างๆ เข้าใกล้ตัวเด็กและเยาวชนมากขึ้น ทั้งอันตรายจากอุบัติเหตุ อาชญากรรม หรือแม้กระทั่งภัยบนโลกไซเบอร์ซึ่งเป็นความรุนแรงรูปแบบใหม่ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ พ่อแม่ผู้ปกครองในยุคปัจจุบันจึงจำเป็นต้องรู้เท่าทันอันตรายทุกรูปแบบ พร้อมหาวิธีป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน โดยเริ่มตั้งแต่การปลูกฝังวัฒนธรรมความปลอดภัยให้กับบุตรหลานของตัวเอง และหาตัวช่วยที่จะดูแลยามที่พวกเขาอยู่ไกลหูไกลตา
ดร.รัก ชุณหกาญจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า ภัยต่อเด็กและเยาวชนมีหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะภัยที่มากับเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ที่พบมากที่สุดคือ ภัยจี้ชิงทรัพย์ ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้สินค้าที่มีมูลค่าเป็นที่ล่อตาล่อใจ และภัยจากการถูกล่อลวงรูปแบบต่างๆ ทั้งการล่อลวงในเชิงเศรษฐกิจ เช่น การหลอกขายสินค้าและบริการ หรือการล่อลวงที่ส่งผลต่อชีวิต เช่น การแฝงเข้ามาพูดคุยในรูปแบบของเพื่อนแล้วนัดพบกัน จนเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์
“อาชญากรรมที่เกิดขึ้นมากที่สุดคือการจี้ชิงทรัพย์ เพราะก่อเหตุได้ง่าย ซึ่งเด็กและเยาวชนมีทั้งที่ตกเป็นเหยื่อ และเป็นผู้กระทำเสียเอง แต่สังคมไทยยังขาดการให้ข้อมูลเรื่องความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มสอนกันตั้งแต่ระดับครอบครัว การสอนให้บุตรหลานใช้สมาร์ทโฟนอย่างปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ข้อความบนโซเชียลให้เหมาะสม การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะการแชร์ตำแหน่งที่อยู่ของตัวเอง รวมถึงมีวิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ อย่างไรก็ตาม แม้สมาร์ทโฟนอาจเป็นภัยต่อเยาวชนที่ใช้อย่างขาดความระมัดระวัง แต่ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองสอนลูกให้ใช้เทคโนโลยีนี้อย่างรู้เท่าทัน สมาร์ทโฟนก็จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการดูแลบุตรหลานยามที่อยู่ไกลตาได้”
ณัฐกฤตา บุณยรัตพันธุ์ หรือณัฐ คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องดูแลลูกๆ 3 คน (อายุ 1, 10 และ 14 ปี) ถ่ายทอดประสบการณ์การใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน เป็นผู้ช่วยในการดูแลลูกว่า การเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่หาเลี้ยงครอบครัวด้วยการทำงานประจำ ทำให้ไม่สามารถอยู่ดูแลลูกได้ตลอดเวลา จึงนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการดูแลลูกๆ อย่างเช่นตอนที่ลูกเพิ่งใช้สมาร์ทโฟนใหม่ๆ จะติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมขอบเขตการใช้งาน กล่าวคือ อนุญาตให้โทรออก-รับสายได้เท่านั้น เพราะลูกยังไม่มีวิจารณญาณเพียงพอในการคัดกรองข้อมูลในโลกออนไลน์ แต่เมื่อลูกโตขึ้น พ่อแม่จะจำกัดโลกของเด็กแบบเดิมไม่ได้ อีกทั้งการเรียนการสอนในปัจจุบัน มีการสั่งการบ้านทางแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) หรือต้องใช้อินเตอร์เน็ตในการค้นหาข้อมูล จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการดูแลลูก ความเป็นห่วงของแม่คือ ห่วงว่าลูกอยู่ที่ไหน เดินทางอย่างไร กำลังคุยกับใคร และรับสื่อต่างๆ ที่เหมาะสมกับวัยหรือไม่ ซึ่งมีหลายแอปพลิเคชันที่สามารถแสดงตำแหน่งของคนในครอบครัวได้ ทำให้รู้ว่าลูกกำลังอยู่ที่ไหน หรือออกนอกพื้นที่ปกติในชีวิตประจำวันหรือไม่ และยังสามารถค้นหาผ่านเว็บไซต์ Google Device Manager ซึ่งใช้ได้กับสมาร์ทโฟนทั่วไป
“ตอนนี้ลูกสาวคนโตอายุ 14 ปี หลังเลิกเรียน แม่จะอนุญาตให้เขาอยู่ในพื้นที่ระหว่างโรงเรียน และห้างสรรพสินค้าที่อยู่ฝั่งตรงข้ามก่อนที่แม่จะไปรับ แม้จะเป็นการเดินในระยะใกล้ แต่จริงๆ แล้วมีเหตุร้ายเกิดขึ้นบริเวณนั้นบ่อยๆ เพราะมีการกระชากกระเป๋าบ่อยครั้ง ซึ่งแม่ก็จะใช้แอปพลิเคชันดูว่าลูกเดินไปถึงไหนแล้ว ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะต้องให้ลูกโทรหาหรือโทรหาลูกตลอด แต่แอปพลิเคชันก็มีส่วนช่วยได้มาก ไม่ได้ช่วยแค่การหามือถือที่หายเท่านั้น แต่ช่วยเรื่องความปลอดภัยของคนที่เรารักด้วย”
นอกจากการหาแอปพลิเคชันที่จะเป็นตัวช่วยในการดูแลลูกแล้ว การสอนให้ลูกใช้สมาร์ทโฟน อย่างปลอดภัยทั้งระมัดระวังการโพสต์ข้อความบนโซเชียล การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะการแชร์ตำแหน่งที่อยู่ของตัวเอง รวมถึงวิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ
ด้าน วราภรณ์ เพ็ญสุขใจ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท วีโก โมบาย (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันสมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นมากในการสื่อสารระหว่างกันและค้นหาข้อมูลบนโลกอินเตอร์เน็ต ยิ่งเทคโนโลยีทุกวันนี้ก้าวไกลมาก เราคงจะปฏิเสธหรือต่อต้านการใช้งานไม่ได้ โดยเฉพาะกับการใช้งานของเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นมา แน่นอนว่าพวกเขายอมรับและเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีได้รวดเร็ว ผู้ปกครองจึงต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีต่างๆ ด้วย
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่พ่อ แม่ ผู้ปกครองจะต้องให้ความสำคัญคือ การเลือกสมาร์ทโฟน เนื้อหาคอนเทนต์และความปลอดภัยให้เหมาะสม พร้อมเป็นเพื่อนข้างกายของบุตรหลานในแต่ละวัย โดยพิจารณาจากคุณภาพสินค้าและแบรนด์ที่เชื่อถือได้ ราคาเหมาะสมคุ้มค่ากับฟังก์ชั่นการใช้งานของเด็ก และรองรับการใช้งานที่ตอบโจทย์และครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพ ดูวิดีโอ คุยแชท มีสีสันสวยงาม ตามความต้องการของเด็กวัยนี้ รวมทั้งรองรับฟังก์ชั่นการใช้งานด้านความปลอดภัยต่างๆ สำหรับแบรนด์วีโก มีสมาร์ทโฟนรุ่น Wiko Jerry 2 ในราคาเพียงสองพันกว่าบาท ที่ตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างเพียงพอ รูปลักษณ์สวยงาม และรองรับการใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อความปลอดภัยที่กล่าวมาข้างต้นได้ พร้อมเป็นเพื่อนคู่กายให้กับบุตรหลาน และพ่อแม่อุ่นใจได้ตลอดเวลา
แม้เทคโนโลยีการสื่อสารบางอย่างอาจจะนำภัยมาสู่ผู้ที่ไม่รู้เท่าทัน แต่ในทางกลับกัน เทคโนโลยีก็เป็นตัวช่วยที่ดีในการดูแลบุตรหลานที่เรารักยามอยู่ไกลตาได้เช่นกัน