Article

คลื่น 900 MHz ประมูลดุเดือดแบบไม่มีหยุด สู้กันยิบตา 4 วัน 4 คืน กว่าจะจบลงได้ | mLife

การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เกิดขึ้นในวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งรอบนี้จะมีใบอนุญาตสองใบ ใบละ 10 MHz โดยมีอายุในใบอนุญาต 15 ปี

สวัสดีปีใหม่ 2559 แด่ท่านผู้อ่านทุกท่าน เนื่องในวารดิถีขึ้นปีใหม่นี้ ผมขออวยพรให้ทุกท่านและครอบครัว พบแต่ความสุขสวัสดี สุขภาพแข็งแรง คิดสิ่งใดก็ขอให้สมปรารถนาในทุกๆ ด้านด้วยนะครับ พบกับผมเช่นเคย ปีเตอร์กวง ควงมือถือ พิธีกรรายการ “ล้ำหน้าโชว์” ซึ่งรายการนี้ผลิตและสร้างสรรค์โดย บริษัท ล้ำหน้าโชว์ จำกัด ที่เราทั้งสาม (พี่หลาม ปีเตอร์กวง อาจารย์ศุภเดช) ได้ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ด้วยกันเพื่อให้ผู้ชมได้บริโภคสาระดีๆ ที่ให้ความรู้ด้านไอทีและเทเลคอม บวกความบันเทิงตามสไตล์แบบของพวกเราไปด้วย โดยออกอากาศทางช่อง Nation Channel (เนชั่นแชนนอล) ดูได้ที่ช่อง 22 ทั้งทางทีวีดิจิตอลและทีวีดาวเทียม ทุกวันอาทิตย์ ออกอากาศสด เวลา 15:00-16:00 อยากให้ติดตามกันเยอะๆ นะครับ แล้วบ่ายวันอาทิตย์ของคุณ จะมีความหมายมากกว่าเดิม… สำหรับตัวผมเองก็ยังประจำการใน What Phone Magazine ทุกเดือนเหมือนเช่นเคยครับ เพื่อไขข้อข้องใจและเก็บตกข่าวคราวความเคลื่อนไหวในวงการเทเลคอม ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ สำหรับฉบับนี้จะมาพูดเรื่อง บทสรุปของการประมูลคลื่นความถี่ที่เพิ่งจบสิ้นไป สำหรับความถี่คลื่น 900 MHz หลังจากที่การประมูลความถี่ย่าน 1800 MHz ได้เสร็จสิ้นไปในเดือนพฤศจิกายน อนาคตของวงการเทเลคอมไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป…

คลื่น 900 MHz ประมูลดุเดือดแบบไม่มีหยุด สู้กันยิบตา 4 วัน 4 คืน กว่าจะจบลงได้

AIS_Positive logo dtac TrueH-001

jas

การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เกิดขึ้นในวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งรอบนี้จะมีใบอนุญาตสองใบ ใบละ 10 MHz โดยมีอายุในใบอนุญาต 15 ปี ผู้ประมูลก็มี 4 รายเดิมไม่ว่าจะเป็น AWN (Advance Wireless Network ในเครือ AIS) True Move H Universal, DTAC TriNet และ JAS Mobile (Jasmin International) โดยผู้บริหารทั้งสี่บริษัทได้ทยอยมากันแต่เช้าตามฤกษ์ของแต่ละราย การประมูลจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของ กสทช. เช่นเคย โดยเตรียมความพร้อมมากกว่าคราวก่อน งานนี้ในห้องประมูลมีเตียงให้นอนพักผ่อนด้วยและเสบียงอีกเพียบไม่หายขาดเลย เมื่อพร้อมแล้วก็มีการจับฉลากเลือกห้องที่จะใช้การประมูล รวมถึงการจับฉลากเลือกซอง Username, Password ในการใช้การประมูล ซึ่งการประมูลจะเป็นแบบ E-Auction เช่นเดิม

การประมูลนั้นแต่ละรอบจะใช้เวลา 15 นาที ก่อนที่จะปิดรอบเพื่อประกาศราคาสูงสุดในรอบนั้นๆ และมีใครนำอยู่หรือไม่ กี่ราย โดยผู้เข้าประมูลมีสิทธิจะหยุดเคาะในการประมูลรอบใดๆ ได้อยู่ 3 ครั้งเท่านั้นเพื่อไม่ให้การประมูลยืดเยื้อเกินไป โดยการประมูลเริ่มต้นที่เวลา 9:00 ตรงเป๊ะ แต่ในคราวนี้ทาง กสทช. คาดว่าการประมูลจะดุเดือดเลยจัดรอบประมูลให้มีการพักด้วย โดยเริ่มตั้งแต่ 9:00 ไปจนถึง 21:00 พัก 3 ชั่วโมง ไปเริ่มอีกทีตอนเที่ยงคืน จนไปถึง 6:00 ของวันใหม่ และทำการหยุดพักอีกครั้งหนึ่ง และวนไปเริ่มตอน 9:00 เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ผู้ชนะ โดยราคาเริ่มต้นของใบอนุญาตทั้งสองใบอยู่ที่ 12,864 ล้านบาท และเคาะเพิ่มทีละ 644 ล้านบาท และเมื่อราคาการประมูลขึ้นไปถึง 16,080 ล้านบาท การเคาะเพิ่มทีละ 322 ล้านบาท (เพราะถือว่าถึงมูลค่าขั้นต่ำที่ทาง กสทช.วางเป้าหมายไว้)

การประมูลผ่านไปคืนแล้วคืนเล่าจากวันที่ 15 ผ่านไป 4 วันจนถึงคืนวันศุกร์ตอน 21:00 พักการประมูลที่รอบ 198 พอเที่ยงคืนขึ้นวันใหม่ของวันที่ 19 ก็เริ่มต้นที่รอบ 199 ปรากฏว่าไม่มีใครเคาะเพิ่มทั้ง 2 Lot ที่ประมูลกัน คณะกรรมการ กสทช. ประกาศสิ้นสุดการประมูลตามกติกา แปลว่าได้ผู้ชนะประมูลมูลค่าสูงสุดทั้ง 2 Lot ใบอนุญาตแล้ว กองทัพสื่อมวลชนเฝ้ารอการประกาศผลจากทาง กสทช. อย่างใจจดใจจ่อ ยิ่งกว่าตอนประมูลคลื่น 1800 MHz เสียอีก เพราะการประมูลใช้เวลายาวนานถึง 65 ชั่วโมง 55 นาที (ไม่รวมเวลาพัก) และได้มูลค่ารวมในการประมูลไปถึง 151,952 ล้านบาท เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการเทเลคอมในการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่เลยทีเดียวที่รัฐได้เงินเข้าประเทศอย่างมหาศาล ถ้ารวมกับที่ประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ก่อนหน้านี้ เท่ากับว่าได้เงินจากการประมูลไปถึง 232,730 ล้านบาท!!

ตาราง-01ตาราง-01

จากผลการประมูลนั้นถือว่าพลิกล็อคมากๆ หลายๆ คนเก็งว่า ต้องเป็น AIS, DTAC มาวินแน่นอน แต่กลับกลายเป็น True Move H, JAS Mobile หยิบชิ้นปลามัน (อันแสนแพง) ไปกินแบบฝืดคอหน่อย มีการวิเคราะห์และวิจารณ์กันอย่างมากมาย ว่าทำไม AIS และ DTAC ถึงยอมแพ้ ขณะที่ True และ JAS ถึงยอมจ่ายมากมายขนาดนี้ ถ้ามองในเชิงเทคนิค แน่นอนว่าคลื่นความถี่ย่านต่ำ 900 MHz ช่วยในเรื่องการไปได้ไกลและครอบคลุมระยะได้ดีกว่าคลื่นความถี่สูงอย่าง 1800, 2100 MHz ทำให้การลงทุนจะประหยัดกว่าในการตั้งเสาสถานีฐานให้ครอบคลุมทั่วประเทศอย่างที่เคยเป็นจุดแข็งของ AIS มาโดยตลอด ต่อให้จ่ายแพงกว่าในระยะยาว 15 ปีน่าจะช่วยประหยัดการลงทุนได้ระดับหนึ่ง ทำให้ทุกรายสู้กันอย่างหนักมากตลอด 4 วัน 4 คืน เพื่อให้ได้ความถี่นี้มาครอง

photo-1423666639041-f56000c27a9a

ถ้าในเชิงยุทธศาสตร์การแข่งขัน แน่นอนการแข่งขันให้ล้ำหน้าคู่แข่งให้ได้ความถี่มาอยู่ในมือไว้ก่อนย่อมได้เปรียบกว่า หรือป้องกันไม่ให้คู่แข่งรายใหม่เข้าตลาดมาได้ก็เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่ต้องทำ ขณะที่ตามกฎของ กสทช. นั้น ผู้ชนะจะต้องจ่ายค่าใบอนุญาตในงวดแรกปีแรกที่มูลค่า 8,040 ล้านบาท (50% ของมูลค่าคลื่นเริ่มต้น) ปีที่ 2 และปีที่ 3 จ่ายอีกปีละ 25% คือ 4,020 ล้านบาท แล้วส่วนที่เหลือไปชำระทั้งหมดในปีที่ 4 การกำหนดเงื่อนไขนี้ทำให้เงินที่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตใน 3 ปีแรกค่อนข้างผ่อนคลาย (จ่าย 3 ปีแรกเพียง 16,080 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะไปเป็นบอลลูนในปีที่สี่อีกประมาณ 60,000 ล้านบาท ซึ่งถึงตรงจุดนั้นค่อยไปว่ากันอีกที เป็นไปได้ว่าผู้ได้ใบอนุญาตก็ต้องเตรียมแผนการในการระดมทุนให้พอเพื่อไปจ่ายในปีที่สี่ต่อไป ทำให้ทุกรายถึงได้สู้ยิบตาจนถึงวันที่ 5 ของการประมูลและจบลงอย่างดุเดือดที่สุดในมูลค่าที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมาถึงจุดนี้ได้

AIS พี่ใหญ่ยอมจบที่ 75,000 พันล้าน แต่ไม่กลัวที่ไม่ได้

G4COHFA7SW

 

หลังจากที่ชนะการประมูลคลื่น 1800 MHz ไปได้แล้ว AIS ยังมุ่งมั่นที่จะแข่งขันเพื่อเอาคลื่น 900 MHz อีกใบอย่างแน่นอน ซึ่ง AIS ได้มีแถลงการณ์ก่อนหน้านั้นแล้ว และ AIS ก็จัดเต็มสู้สุดๆ จนมาหมอบในรอบสุดท้าย ยอมแพ้ True Move H ไปเพียง 1 เคาะ (322 ล้านบาท) ซึ่งหลังจากจบการประมูล คณะผู้บริหารของ AIS ได้ออกแถลงการณ์ตามหลังในวันเสาร์นั้นเลยถึงการที่ทาง AIS ยอมยกธงให้กับมูลค่าการประมูลที่ทะลุกว่า 75,000 ล้านบาทไป ด้วยการชี้แจงว่ามูลค่านั้นสูงเกินไป เกินกว่ามูลค่าที่มันควรจะเป็น โดยทาง AIS เชื่อว่าคลื่นที่มีอยู่ในมือแล้วอย่าง 2100 MHz จำนวน 15 MHz และ 1800 MHz จำนวน 15 MHz นั้นเพียงพอต่อการให้บริการไปอีกนาน จากนี้ไปก็จะใช้งบประมาณอย่างเต็มที่ในการขยายโครงข่าย 2100, 1800 MHz ให้สามารถรองรับผู้ใช้ให้ได้ดีที่สุด

โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า AIS จะยังรักษาฐานลูกค้าของตัวเองได้ต่อไป และดีขึ้นกว่าช่วงก่อนแน่นอน โดยเฉพาะการได้ความถี่ 1800 MHz มาและได้ทำการเปิดความถี่นี้ให้บริการ 4G LTE ในกรุงเทพฯ เป็นการเริ่มต้นไปแล้วทำให้ลูกค้ากลับมามีความมั่นใจในบริการของ AIS อีกครั้ง ยิ่ง AIS เองมีโปรแกรมรักษาฐานลูกค้าอย่าง Serenade ที่มัดใจลูกค้ามาอย่างยาวนานอีกด้วย เชื่อได้ว่าสงครามนี้ AIS ยังสามารถยึดเบอร์ 1 วงการเทเลคอมไทยไปได้อีกนานครับ

True Move H สู้เกินคาดเทหมดหน้าตัก เพื่อสะสมคลื่น หมายพิชิตคู่แข่งทุกราย

HNCK8991

จากการที่ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz เช่นเดียวกับทาง AIS มาก่อนหน้านี้ ทำให้หลายๆ ฝ่ายเชื่อว่ายอดเงินร่วม 40,000 ล้านบาทที่ทาง True ต้องจ่ายสำหรับใบอนุญาต 1800 MHz น่าจะมากพอที่ทำให้ True ไม่อยากได้คลื่น 900 MHz อีกใบ เพราะไม่งั้นหนี้จะเข้ามาอ่วมระดับมหาศาลแน่นอน ซึ่งก่อนหน้านี้ True เพิ่งจะมีผลประกอบการเป็นบวก (มีกำไรแล้ว) หลังจากที่ทาง China Mobile มาร่วมทุน แต่พอใกล้วันประมูล คุณศุภชัย เจียรวนนท์ หัวเรือใหญ่แห่งค่าย True พูดชัดว่าต้องการคลื่น 900 MHz เพื่ออะไร (เพื่อให้ขยายเครือข่ายไปได้ไกล ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการให้มากที่สุด และช่วยประหยัดงบประมาณในการลงทุนกว่าคลื่นความถี่สูงอันอื่นๆที่มี)

ขณะเดียวกันก็ต้องกันไม่ให้ JAS เข้ามาในธุรกิจนี้อีกครั้ง และยิ่งถ้า dtac ไม่ได้คลื่นนี้อีก ยิ่งทำให้อนาคตที่ทาง True จะขึ้นเป็นเบอร์สองแทน dtac ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นกว่าเดิม แต่ต้องยอมสู้อีกละรอก จนในที่สุด True ก็ได้ความถี่มาสมใจ ถึงแม้จะแพงมากก็ตาม (ผู้บริหารให้สัมภาษณ์หลังการชนะประมูลว่า ราคาคุ้มแล้ว) ส่วนเรื่องเงินทุน ก็ตามสไตล์ True อยู่แล้ว เพิ่มทุน เปิดกองทุนให้คนมาลงทุนอีก หรือจะให้ China Mobile มาลงทุนเพิ่มอีก (เพราะวันประมูลมีผู้บริหารคนจีนมาร่วมด้วย 1 ท่าน ซึ่งน่าจะมาจาก China Mobile พันธมิตรของ True) โดยมีความถี่ที่มากที่สุดและครบทุกย่าน (ที่ไม่มีใครมีเท่า) มาเป็นตัวยืนยันความมั่นคงในธุรกิจ

ส่วนเรื่องบัญชีตัวแดง(การกลับไปขาดทุนอีก) ไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าที่ True จะบริหารจัดการได้เพราะผ่านประสบการณ์จุดนั้นมาก่อน (มันดีไหมเนี่ย) ก็ต้องดูต่อไป ผมเชื่อว่าจากนี้ True จะจัดเต็มด้วยงบการตลาดที่เตรียมไว้อย่างมากมายในปี 2559 อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะภารกิจการดึงลูกค้าจากค่ายอื่นๆ มาอยู่ True Move ด้วยการมัดบริการต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นจุดขายหลัก (รวมกับ True Vision, True Internet บ้าน) แต่สิ่งหนึ่งที่ทาง True ต้องปรับปรุงอีกมากถ้าอยากที่จะเป็นผู้นำที่แท้จริง ก็คงไม่พ้นเรื่องการบริการนั่นเอง เพราะทุกวันนี้เน็ตเร็ว เน็ตแรง แต่การบริการนั้นต้องบอกว่ายังห่างชั้นเบอร์ 1-2 อยู่หลายสเต็ป มีแต่เสียงบ่นให้เราได้ยินอยู่ตลอด ก็หวังว่า True คงจะเอาใจใส่เรื่องนี้ให้มากขึ้นนะครับ

JAS ไม่ได้มาเล่นๆ ได้ความถี่ไปสมใจ เตรียมแต่งตัวร่วมทุนต่างชาติ

Banner JAS CST on Web

การต่อสู้ของ JAS Mobile ในการประมูลความถี่ย่าน 1800 MHz ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการวอร์มอัพและได้ใจคนเชียร์ไปมากพอสมควร มาถึงรอบนี้คลื่น 900 MHz ส่งผู้บริหารมาประมูลเพียง 3 คนโดยที่แม่ทัพใหญ่อย่าง คุณพิชญ์ โพธารามิก ไม่ได้มาร่วมอยู่ด้วย ทำให้กองเชียร์แอบหวั่นๆ ว่าจะมาไวไปไว หรือมาหมอบไหม แต่หาเป็นอย่างนั้นไม่ JAS กลับกลายเป็นม้ามืดที่ต่อสู้จนได้คลื่น 900 MHz Lot 1 ไปครองด้วยมูลค่า 75,654 ล้านบาท สูงกว่าที่หยุดประมูลคลื่น 1800 MHz ไปร่วมสองเท่าตัว แต่ก็สมหวังสำหรับ JAS ที่อยากได้ความถี่มาให้บริการ โทรศัพท์มือถือ เพื่อเติมเต็มบริการทุกอย่างที่ตัวเองมีอยู่ คือมีทั้งเน็ตมือถือ เน็ตบ้าน เน็ตไว-ไฟ โทรศัพท์บ้าน (ต่างจังหวัด) และอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ต่างอะไรกับ True Group

แต่ก็มีคำถามมากมายกลับมายัง JAS ว่าจะบริการจัดการกับเงินลงทุนอย่างไร ที่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตตั้ง 75,654 ล้านบาทใน 4 ปี และความถี่ที่ได้มาเพียง 10 MHz ก็ใช่ว่าจะเยอะ ซึ่งผู้บริหารของ JAS อย่างคุณพิชญ์ ได้ออกมาตอบคำถามสื่อมวลชนว่า เขาไม่ได้มีความกังวลเลย บริษัทยังมีกระแสเงินสดมากพอที่จะจัดการเรื่องเล่านี้ รวมถึงเงินในการลงทุนเน็ตเวิร์คเครือข่าย ก็ไม่เป็นห่วง โดยมุ่งไปที่กลุ่มลูกค้าที่ใช้ 3BB Broadband เป็นอันดับแรก (คล้ายๆกับ True ในสมัยก่อน) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะได้ลูกค้า 2 ล้านเลขหมายในปีแรกเลย และ JAS มองว่าธุรกิจนี้ยังโตได้อีกมาก มองเป็น Blue Ocean คือยังมีตลาดให้ตักตวงได้อีก (แต่ผมกลับมองตรงข้ามครับ ตอนนี้มันเป็น Red Ocean มากกว่า เพราะแข่งขันกันดุเดือดมากๆ มากกว่าที่ JAS มองโลกในแง่ดี)

สถานการณ์ในเมืองไทยตอนนี้จำนวนเลขหมายมือถือ มันมากกว่าจำนวนประชากรไทยไปมากแล้ว คือมีประมาณ 90 ล้านเบอร์ หรือประมาณ 135% เมือเทียบกับประชากรไทย แสดงว่าคนแทบทุกคน (ยกเว้นเด็กแรกเกิด) มีเบอร์มือถือกันหมดแล้ว สิ่งที่ทำได้ ไม่ว่าจะรายเก่าหรือรายใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในธุรกิจนี้คือ การแย่งลูกค้าจากคนอื่น ซึ่งต้องทุ่มตลาดมากพอสมควรที่จะทำให้คนย้ายค่ายเบอร์เดิม หรือจับเอาซิมยัดใส่มือลูกค้าเพิ่มเข้าไปอีก (แต่นั่นแปลว่าลูกค้าต้องซื้อเครื่องเพิ่มอีก) ขณะที่ลูกค้าที่มีเบอร์เพิ่มมากกว่า 1 หรือ 2 เบอร์ แน่นอนย่อมมีทั้งแบบ เบอร์หลัก กับเบอร์รอง โดยเบอร์รองนั้นอาจจะมียอดใช้จ่ายค่อนข้างน้อยกว่าเบอร์หลัก ทำให้รายได้ต่อหัวต่อเบอร์ ของเบอร์รอง (ซึ่งเป็นค่ายรองๆ หรือค่ายเกิดใหม่) นั้นย่อมน้อยไปโดยปริยาย ใช้ๆ ไปอาจโดนปิดไปก็เป็นได้ ถ้าลูกค้ารู้สึกว่ามีเบอร์เพิ่มก็เป็นภาระ

นอกจากนี้การเริ่มต้นตั้งเสา ตั้งชุมสายให้พร้อมใช้บริการได้ในพื้นที่ครอบคลุมมากพอ สำหรับคนทั่วไป เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่มีการครอบคลุมทั่วประเทศอยู่ก่อนแล้ว เป็นเรื่องท้าทาย JAS มากๆ โดยเฉพาะประสบการณ์ในเรื่องเทคโนโลยี Cellular ไร้สายย่อมเป็นเรื่องใหม่ของ JAS พอสมควร ทำให้น่าคิดว่ากว่า JAS จะตั้งไข่ในธุรกิจนี้ได้ ต้องใช้เวลาอีกกี่ปี (ลองนึกถึงภาพตอนที่ True เกิดขึ้นตอนที่ยังใช้ชื่อ Orange สิครับ ต้องใช้เวลานานขนาดไหนกว่าจะมาถึงวันนี้ได้) เพราะฉะนั้นต้องจับตาดูกันให้ดีนะครับ กับผู้ให้บริการรายใหม่ถอดด้ามอย่าง JAS ไม่ง่ายเลยครับ ยังไงก็เป็นกำลังใจให้นะครับ (เห็นในความตั้งใจของคุณพิชญ์แล้ว ยอมรับว่าสู้จริงๆ)

dtac รายเดียวที่ไม่ได้เลย ทุ่มทุนสุดกำลังรักษาฐานลูกค้า ขอประมูลใหม่อีก 3 ปีหน้า

9011116378_7fb5dc9e88_k

S6LSWPB1BP

dtac เป็นรายเดียวในผู้เข้าร่วมประมูลที่ไม่ได้ใบอนุญาตคลื่นความถี่ทั้ง 900 MHz, 1800 MHz สร้างความกังขาให้กับผู้บริโภคมากว่า ผู้บริหารคิดอะไรอยู่ หลังจากที่ตอนแรก การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz นั้น dtac หมอบไปตั้งแต่ตอน 17,000 ล้านบาท เร็วสุดๆ กว่าใครเพื่อน แต่ก็พอเข้าใจได้เพราะว่าทาง dtac บอกว่าเขามีคลื่นความถี่ 1800 MHz อยู่ในมือตั้ง 25 MHz ซึ่งใช้ได้ถึงปี 2561 แล้วค่อยไปสู้ประมูลกันอีกทีในสามปีข้างหน้า ผิดกับการมาประมูล 900 MHz ผู้บริหารประกาศชัดว่าเอาแน่ๆ ทำให้การต่อสู้ในครั้งนี้ดุเดือดกันไปอย่างที่เราได้ทราบกัน จน dtac มาหยุดอยู่ที่ 70,000 ล้านบาท ชัดเจนว่าคิดกันมาเป็นอย่างดีแล้วว่าเพดานเงินทุนควรเป็นเท่าไร คล้ายๆ กับกรณีของ AIS เช่นกัน

แต่การที่ dtac ประมูลไม่ได้คลื่นความถี่ทั้งสองใบนี้ มันเป็นการส่งสัญญาณทางจิตวิทยาที่น่าเคลือบแคลงใจสำหรับคนทั่วๆ ไป รวมถึงตลาดหุ้นที่มักจะหวั่นไหวกับข่าวต่างๆ โดยไม่ได้วิเคราะห์อย่างละเอียดกับการไม่ได้ความถี่ในตอนนี้ แต่ในความจริง dtac มีความถี่ในมืออยู่แล้วมากมายที่ให้บริการอยู่ อย่างน้อยก็อีก 3 ปีกว่าที่จะหมดอายุลงในปี 2561 สำหรับความถี่ 850 MHz, 1800 MHz ที่ถือครองอยู่ก่อนด้วยสัญญาสัมปทานร่วมกับ CAT (การสื่อสารแห่งประเทศไทย)

กระนั้นก็ตาม dtac ยังมีความเสี่ยงอยู่จนกว่าอีกสามปีข้างหน้าจะเดินทางมาถึง เพื่อต่อสู้ประมูลความถี่ 1800 MHz และ 850 MHz ที่ตัวเองถือครองมาก่อนหน้านี้ ให้กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเองอีกครั้งให้จงได้ เพื่อเป็นการรับประกันว่าจะสามารถให้บริการ 4G/3G สู้กับคู่แข่งอื่นได้อย่างทัดเทียมไปอีกนานๆ เพราะถ้าไม่ได้อีกแปลว่า dtac จะเหลือความถี่ในมือแค่ย่าน 2100 MHz เท่านั้น (แต่ก็เพียงพอต่อการให้บริการลูกค้า 27 ล้านรายนะ เพียงแต่อินเตอร์เนตอาจจะไม่เร็วที่สุด คุณภาพจะไม่ได้ดีที่สุด อย่างที่ True จะทำได้)

อีกมุมหนึ่งในการที่ dtac ประมูลไม่ได้ แปลว่า dtac จะมีเงินเหลือสำหรับการที่ไม่ต้องไปจ่ายค่าใบอนุญาตเหมือนรายอื่นๆ ทำให้ dtac น่าจะทุ่มทุนตรงนี้ไปในการเน้นการให้บริการ 4G/3G ให้ดีที่สุดในสามโลก รวมถึงการขยายเครือข่าย และทุ่มงบการตลาดต่อไป ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ dtac ก็คงใช้ศิลปะในการดูแลให้บริการลูกค้าของตนให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก (เพราะทุกวันนี้ dtac ได้รับคำชมเป็นอย่างมากในเรื่องการให้บริการ) เพื่อไม่ให้ลูกค้าหนีไปไหน ไม่ว่าความถี่ส่วนใหญ่จะหมดอายุลงในอีกสามปีข้างหน้าก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ dtac จะต้องลดเขี้ยวเล็บในการแข่งขันลงแต่อย่างใด ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า dtac จะแก้เกมนี้แล้วพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ขนาดไหน เอาใจช่วย dtac กันครับ

ตาราง-02

สำหรับแฟนๆท่านใดที่มีคำถาม สามารถติดตามมาได้ที่ twitter ของผม @peter2514 นะครับ ส่วน facebook ตามมาได้ที่ จะติดตาม Instagram ก็ Search หา ID “peter2514” ได้นะครับ แล้วเจอกันใหม่ฉบับหน้านะครับ ขอบคุณทุกการติดตามครับ

To Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณและสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • GA

    Google Analytic

Save