ปี 1999 บริษัทสตาร์ทอัปเล็กๆ จากหังโจว ประเทศสาธารณะรัฐประชาชนจีน ที่มีผู้ก่อตั้งถึง 18 คน เวลาผ่านไป 15 ปี บริษัทนี้กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา ที่คาดว่าจะระดมทุนได้สูงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของธุรกิจดอทคอม หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะส่งผลให้บริษัทนี้กลายเป็นบริษัทอินเตอร์เน็ตที่มีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก (ประมาณ 5 แสนล้านบาท)
…มิต้องสงสัย เรากำลังพูดถึง “อลีบาบา (Alibaba)”
อลีบาบาคือใคร?
อลีบาบา (Alibaba.com) คือ ชื่อของบริษัทอี-คอมเมิร์ซที่ตัวเองไม่ได้ขายสินค้าแม้แต่ชิ้นเดียว แต่กลับเปิดเว็บเพื่อเป็นแพล็ตฟอร์มให้กับบริษัทจีนโพสต์ขายสินค้าของตัวเองเป็นภาษาอังกฤษให้กับฝรั่งทั่วโลกได้โดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง (อย่าลืมว่าจีนกลายเป็นโรงงานของโลกมานับทศวรรษ สินค้า MADE IN CHINA ปรากฎอยู่ในหลากบรรจุภัณฑ์) 3 ปีให้หลังบริษัทเริ่มมีกำไรจากโมเดลธุรกิจแบบฟรีเมี่ยม คือ ปกติลงขายฟรี แต่หากอยากได้ฟีเจอร์เสริม เช่น การโปรโมทร้าน การดูสถิติการขายเรียลไทม์ต้องจ่ายเงิน
เมื่อชื่อของอลีบาบาเป็นที่รู้จักในหมู่นักธุรกิจนำเข้า-ส่งออกทั่วโลกแล้ว ทางทีมงานจึงลงมือกับโปรเจคที่สอง ซึ่งครั้งนี้หันกลับมาเจาะตลาดในประเทศด้วยการเปิดเว็บในปี 2003 “เถาเป่า (Taobao.com)”ซึ่งใช้หลักการเดียวกับอลีบาบา คือ ไม่ได้ขายสินค้าด้วยตัวเอง แต่เปิดเว็บให้คนที่เป็นพ่อค้ามาเปิดหน้าร้านออนไลน์ขายของตรงกับลูกค้า ถึงแม้กิจการของเถาเป่าจะไปได้สวย แต่ก็เกิดปัญหาเรื่องของละเมิดลิขสิทธิ์เกลื่อนเว็บ
แทนที่จะเสียเวลามาดีลกับปัญหาทางกฎหมาย อลีบาบาเลือกที่จะเปิดเว็บใหม่ชื่อ “เทียนเมา (Tmall)”ในปี 2008 ที่เน้นว่าเว็บนี้จะขายเฉพาะสินค้าที่บริษัทเป็นผู้ผลิตเองเท่านั้น พูดง่ายๆก็คือ ขายเฉพาะของมีแบรนด์ ซึ่งวันนี้แม้แต่รถเบนซ์ของบริษัทเมอร์เซเดส ก็มาหันเปิดหน้าร้านขายรถของตัวเองกับอาเสี่ยชาวจีนด้วย
อย่างไรก็ดีนอกจากทำเว็บให้คนมาขายของได้สะดวกแล้ว ปี 2004 อลีบาบายังสร้างระบบจ่ายเงินออนไลน์ที่เบื้องต้นมีฟีเจอร์แบบเดียวกับ Paypal (แต่วันนี้ไปไกลกว่าเยอะ เพราะถึงขั้นกลายเป็นธนาคารออนไลน์ไปเสียแล้ว) ในชื่อ “อลีเพย์ (Alipay)”ซึ่งมีจุดเด่นคือ การเป็นคนกลางรับและส่งเงินระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ทำให้สองฝ่ายมั่นใจว่าจะได้รับเงินทันทีที่ลูกค้าพอใจในสินค้า รวมถึงการสร้างระบบแชตระหว่างคนขายและคนซื้อในชื่อ “ว่างว่าง (wangwang)”ที่ในวันนั้นมีฟีเจอร์คล้ายกับ MSN และ QQ
ถึงตอนนี้คุณคงเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า “อลีบาบา” คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำระบบเว็บอี-คอมเมิร์ซที่เจาะตลาดทั้งจีนและทั่วโลกนั่นเอง ซึ่งวันนี้ยอดขายของเว็บต่างๆ ในเครืออลีบาบามากกว่าแอมะซอนและอีเบย์ สองเว็บอี-คอมเมิร์ซจากอเมริการวมกันเสียอีก!
ต่อจากนี้เราจะมาพูดถึงสารพัดกลยุทธ์ทั้งรูปแบบการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ การลงทุน และการเข้าซื้อกิจการอื่นของอลีบาบา เพื่อทำให้ตัวเองปรับตัวได้อย่างดีในยุคที่เปลี่ยนจากจอพีซีและจอมือถือและแท็ปเบล็ตพีซี
สร้างแอพฯ เปิดแอพฯสโตร์
ทุกเว็บและทุกบริการของอลีบาบาที่กล่าวถึงข้างต้น มีการสร้างแอพพลิเคชั่นมาเพื่อให้คนเข้าถึงได้ผ่านมือถือและแท็ปเบล็ตพีซี คาดว่าแอพฯ ในเครือของอลีบาบาน่าจะมากถึง 50 แอพฯ โดยแบ่งเป็นทั้งแอพฯ สำหรับคนซื้อ แอพฯ สำหรับคนขาย นอกจากนี้แล้วอลีบาบายังเปิดแอพสโตร์ของตัวเอง เพื่อให้คนเข้ามาหาแอพฯ ทั้งในและนอกเครือของตนได้ง่ายๆ
อย่างไรก็ดี แอพฯ จากอลีบาบาที่เราจะต้องพูดถึงก็คือ“หลายหวั่ง (Laiwang)”ที่แปลว่าการสื่อสาร ซึ่งก็พอเดาได้ว่ามันคือแอพฯ แชต ตอนนี้มีผู้ใช้มากกว่า 10 ล้านคน มีฟีเจอร์เด่นอย่างลบข้อมูลทันทีที่อ่านเสร็จ สร้างกรุ๊ปได้ 500 คน ที่สร้างแอพฯ นี้มาก็เพื่อหวังจะถ่วงดุลความแรงของ WeChat จากค่ายเท็นเซ็นต์คู่แข่งนั่นเอง และขณะนี้แอพฯ นี้ก็ยังเน้นขยายตัวไปทำแอพฯ เกมมาเสริมในหลายหวั่งด้วย โดยจุดดึงดูดใจคือ การเก็บแต้มในเกมมาแลกเป็นเงินจริงใน Alipay เพื่อนำไปช้อปสินค้าอื่นๆ ในเครืออลีบาบาได้!
เดือนมีนาคมที่ผ่านมา อลีบาบาก็ขนเงิน 7,000 ล้านบาท เพื่อเข้าซื้อหุ้นของแอพฯ วิดีโอแชตชื่อดังอย่าง “แทงโก้ (Tango)”ใครจะไปรู้ว่าอนาคต อาจจะนำไปเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขายของเว็บ 11main.com (เว็บอี-คอมเมิร์ซใหม่ของอลีบาบาที่ตั้งใจเจาะตลาด SME’s ในอเมริกาโดยเฉพาะ) เหมือนที่ “ว่างว่าง” ทำสำเร็จแล้วกับการช้อปปิ้งในเถาเป่า
โครงการล่าสุดสำหรับแอพฯ ของอลีบาบาก็คือ การร่วมกับ UCWeb บริษัทเว็บเบราว์เซอร์ชื่อดังของจีนตั้งบริษัทใหม่ ชื่อ “เฉินหม่า (Shenma Inc)”เพื่อทำระบบการค้นหาข้อมูลบนโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะ
สร้างมือถือและระบบปฏิบัติการอลีหยุน
เมื่อแอปเปิ้ลแนะแนวทางบริษัทเทคทั่วโลกว่าหากอยากแกร่งต้องทุ่มทำทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ อลีบาบาก็เจริญรอยตามในส่วนนี้ เพราะปี 2008 ก็ได้สร้างแบรนด์ที่ชื่อว่า “อลีหยุน (Aliyun)”ขึ้นมา ซึ่งแบรนดนี้มีหลายสินค้าด้วยกัน ตั้งแต่สมาร์ทโฟนราคาไม่ถึง 5,000 จาก 25 แบรนด์ ที่ภายในลงระบบปฏิบัติการอลีหยุน ซึ่งระบบปฏิบัติการนี้มีจุดเด่นคือ ทำงานด้วยระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง ทุกแอพฯ ที่ลงจะถูกอัปเกรดเองอัตโนมัติเพื่อให้ทันสมัยอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เก็บข้อมูลด้วยฮาร์ดดิสก์ออนไลน์ให้ใช้ฟรีหลายเทราไบต์ด้วย ล่าสุดก็ยังนำระบบปฏิบัติการนี้ไปออกแบบกล่องดิจิตอลทีวีของ Tmall ด้วย
โดยวิธีโปรโมทมือถือของอลีหยุนทางอลีบาบาใช้กลยุทธ์ป๋าใจป้ำ ร่วมกับค่ายมือถือแจกแพ็คเกจเน็ตฟรี 2 กิกฯ สำหรับเล่นแอพฯ ต่างๆ ของเครือ และลงทุน 2,500 ล้านบาท ขายแพคเกจมือถือราคาพิเศษ รุกให้คนหันมาใช้มือถือเพื่อเปิดร้านออนไลน์ ซึ่งวิธีนี้ก็ช่วยขายมือถืออลีหยุนได้อีกทางหนึ่ง
ค่ายมือถืออลีทงชิน จากอลีบาบา
ขนาดแอปเปิ้ลยังไม่ได้กล้ามารุกธุรกิจเทเลคอม แต่อลีบาบาไม่เคยหยุดที่จะท้าทายตัวเอง เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อลีบาบาได้ทำการเปิดตัวระบบปฏิบัติการของตัวเองที่ใช้โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเสมือน (MVNO : Mobile Virtual Network Operator) โดยดีลกับทั้ง 3 ค่ายมือถือยักษ์ของจีนเพื่อขอสัมปทานโครงข่ายและเบอร์มาทำการตลาดเองในนามว่า “อลีทงชิ่น (Aliqin)”
ซึ่งหลังจากเปิดโครงการนี้แล้ว ก็ถือได้ว่าอลีบาบาได้เป็นบริษัทเน็ตที่ปรับโครงสร้างธุรกิจจากพีซีมายังโมบายได้อย่างสมบูรณ์แล้วนั่นเอง
ณ วันนี้ ประชากรที่เล่นอินเทอร์เน็ตในจีนเกือบทะลุ 800 ล้านคน ส่วนคนใช้สมาร์ทโฟนก็ 500 ล้านคน (320 ล้านคนช้อปผ่านมือถือ) และกว่า 51% ของชาวจีนนี้ช้อปปิ้งออนไลน์ผ่านเว็บเถาเป่า! ตัวเลขเหล่านี้เมื่อนำมาประกอบกับความพยายามที่จะต่อจิ๊กซอว์เพื่อสร้างอาณาจักรเทคโนโลยีชั้นนำ ที่ช่วยให้การซื้อขายของและการใช้ชีวิตออนไลน์ของคนจีนแผ่นดินใหญ่ และใครๆ อีกทั่วไปโลกเป็นไปได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้เขียนมองเห็นความเป็นไปได้ว่า “อลีบาบา” จากวันนี้ที่อายุเพียง 15 ปี จะมีศักยภาพพอที่จะเป็นองค์กรระดับนานาชาติ ที่จะเติบโตไปได้อีกไกล…ไกลมากๆ
และยังเหลือเวลาอีกตั้ง 87 ปี กว่าที่อลีบาบาจะเดินทางถึงวันครบรอบ102 ปีของบริษัทตามฝันของ “แจ๊ค หม่า” คนที่ครั้งหนึ่งเป็นครูภาษาอังกฤษ และผันตัวมาก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัปชื่อแปลกๆว่า “อลีบาบา”
คุณเองล่ะ? พอจะจิตนาการได้ไหมว่า “อลีบาบา” ในปี 2101 จะล้ำไปถึงดีกรีไหนกัน?