Article

ทำไม Blackberry ไม่ได้ไปต่อ…ในวงการมือถือ

มีไม่กี่คนที่วันนี้เมื่อได้ใช้ไอโฟน, แอนดรอยด์แล้วจะรู้สึกว่าแบล็กเบอร์รี่คือ สุดยอดมือถือในใจคุณ ทำไม? ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?
บทความนี้พร้อมจะตอบคำตอบสั้นๆ ด้วยข้อมูลแบบยาวๆ

ผู้เขียนขอให้ภารกิจเล็กๆ กับคุณทำก่อนอ่านบทความชิ้นนี้คือ ลองไปหยิบมือถือ “Blackberry” คู่กายเครื่องเก่ามาเล่น หากคุณจับมันได้เกิน 10 นาทีก็ขอให้ข้ามบทความนี้ไป แต่เราเชื่อว่า มีไม่กี่คนที่วันนี้เมื่อได้ใช้ไอโฟน, แอนดรอยด์แล้วจะรู้สึกว่าแบล็กเบอร์รี่คือ สุดยอดมือถือในใจคุณ ทำไม? ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?
บทความนี้พร้อมจะตอบคำตอบสั้นๆ ด้วยข้อมูลแบบยาวๆ ที่เล่าประวัติ ขุดลึกปัญหา และคาดการณ์อนาคตของแบล็กเบอร์รี่ให้กับคุณได้ฟังอย่างเต็มอิ่ม! แฟนเก่าแบล็กเบอร์รี่ต้องอ่าน! และเตรียมซับน้ำตาในหน้าสุดท้ายด้วย!

ตำนาน Blackberry เริ่มต้นเมื่อ 29 ปีก่อน!

bb1
ปี 1984 2 คู่หูเด็กวิศวฯ ต่างมหาวิทยาลัยอย่าง Mike Lazaridis และ Douglas Fregin ร่วมกันเปิดบริษัทชื่อ Research In Motion (RIM) ตลอด 4 ปีแรกได้สร้างบริการสำหรับรับส่งข้อมูลขนาดสั้นผ่านเครือข่ายไร้สาย โดยลูกค้ากลุ่มแรกก็เป็นองค์กรของรัฐบาล เช่น ทหาร ตำรวจ ดับเพลิง และโรงบาล

bb2

ใน 12 ปีให้หลัง (ปี 1996) RIM ได้ออกเพจเจอร์ของตัวเอง ชื่อ RIM Inter@ctive 900 เป็นเพจแบบจอพับได้เครื่องแรกที่มีแผงปุ่มกดติดมาด้วย ทำให้ 2 ฝ่ายสามารถส่งข้อความหากันเองได้โดยที่ไม่ต้องโทรเข้าไปฝากข้อความกับโอเปอร์เรเตอร์ นวัตกรรมนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในยุโรปและอเมริกา ทำให้ RIM ได้ออกเพจเจอร์ตามมาอีกหลายๆ รุ่น ทำให้ปีต่อมา (1997) RIM เข้าตลาดหลักทรัพย์ของโตรอนโตระดมเงินได้ 3,680 ล้านบาท

bb4

แบล็กเบอร์รี่กับมือถือเครื่องแรกเพื่อนักธุรกิจ

ก่อนที่แบล็กเบอร์รี่จะเข้าตลาด ผู้นำวงการมือถือมีไม่กี่ราย ไม่ว่าจะเป็นเบอร์หนึ่งอย่างโนเกีย (ที่ในที่สุดปีนี้ถูกซื้อไปโดยไมโครซอฟท์) และโมโตโรล่า (ถูกกูเกิลซื้อไปในปี 2011) แต่ก็ยังมีช่องว่างให้กับ RIM เพื่อเปิดตัวมือถือสมาร์ทโฟนที่มีจุดเด่นไม่เหมือนใครในโลกเลยก็คือ ระบบการรับส่งอีเมล์ของบริษัท และเว็บเมล์แบบเรียลไทม์ (ทันทีที่มีเมล์เข้า จะมาเตือนให้เราทราบ และอ่านเนื้อหาอีเมล์จากในมือถือได้เลย)

bb7

ซึ่งมือถือแบล็กเบอร์รี่เครื่องแรกที่มาพร้อมกับแผงปุ่มกด QWERTY เหมือนบนคีย์บอร์ดคอมฯ ถูกเปิดตัวในปี 2002 ชื่อรุ่น แบล็กเบอร์รี่ 6710 และตลอดเวลาที่มีการผลิตมือถือ ไม่ว่าจะเปลี่ยนกี่รุ่น กี่สี มือถือแบล็กเบอร์รี่ทุกรุ่นก็จะมาพร้อมกับแผงปุ่มกด QWERTY ทัั้งสิ้น ทำให้เพียงแวบแรกที่เห็นก็ทราบได้ทันทีว่านี่คือมือถือแบล็กเบอร์รี่

bb9

แบล็กเบอร์รี่ปฏิวัติวงการสื่อสารของนักธุรกิจได้อีกด้วยการออกระบบการส่งข้อความสั้นระหว่างผู้ใช้มือถือ ที่เรียกว่า BlackBerry Messenger ในปี 2006 โดยทุกคนที่ใช้แบล็กเบอร์รี่จะมีชื่อประจำตัว (Pin Code) เป็นตัวเลขผสมกับตัวอักษร (เพื่อเน้นความปลอดภัย) โดยจุดเด่นของระบบแชตนี้ นอกจากจะเป็นระบบแชตแรกของโลกที่ใช้บริการบนมือถือได้ ผู้ใช้งานยังรู้ได้ว่าข้อความส่งออกไปและถูกอ่านตอนไหน ทำให้ผู้ทำธุรกิจมั่นใจว่าทุกดีลของพวกเขาสามารถสื่อสารถึงคู่ค้าได้แบบเรียลไทม์ ไม่ว่าอีกฝ่ายจะอยู่ ณ พื้นที่ใดๆ ทั่วโลก

ap

ad2

ad

ด้วย 2 จุดเด่นใหญ่ที่หาใครเหมือนได้ยากของแบล็กเบอร์รี่นี้เอง ทำให้ในเวลาเพียง 3 ปี จาก 2004-2007 ยอดผู้ใช้มือถือแบล็กเบอร์รี่กระโดดจาก 1 เป็น 10 ล้านคน!
ถึงตอนนี้สรุปได้ง่ายๆ ว่าฐานลูกค้าหลักของแบล็กเบอร์รี่คือ ผู้ทำธุรกิจที่ต้องการสื่อสารข้อมูลกับคู่ค้าได้ตลอดเวลา

ไอโฟนผู้นำเทรนด์จอสัมผัส หายนะหลักของแบล็กเบอร์รี่

ระหว่างที่แบล็กเบอร์รี่กุมหัวใจของผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลก ไปไหนมาไหนก็ต้องกดมือถือเช็กเมล์ แชตกับเพื่อน ทำให้เกิดคำเรียกว่า Crackberry หรือผู้ที่ติดมือถือแบล็กเบอร์รี่จนหนึบหนับ แต่ความคลั่งไคล้ในแบล็กเบอร์รี่อยู่ได้ไม่ทันไร ปี 2007 แอปเปิ้ล บริษัทผู้ทำคอมฯ ให้คนติสท์ๆ ใช้ความคิดแปลก และบ้าบิ่น ออกมือถือที่คนทั้งโลกนี้ไม่เคยเห็นมาก่อน นั่นคือ “ไอโฟน”

iphone1

อย่าลืมว่า ณ วันนั้น ไม่มีมือถือเครื่องใดที่ “เทพ” เท่าไอโฟน ประการแรกคือ ใช้นิ้วสัมผัสบนจอขนาดเกือบ 4 นิ้วได้อย่างราบรื่น (ผิดกับแบล็กเบอร์รี่ที่เหมือนคอมพิวเตอร์พีซีย่อส่วน มีคีย์บอร์ด และเม้าส์ปุ่มเล็กๆ ที่กดได้ยาก) ประเด็นต่อมาคือ การปฏิวัติทุกกฎของการสร้างมือถือ เฉพาะแค่พื้นที่เก็บระบบปฏิบัติการของไอโฟนก็ปาเข้าไปถึง 700 เมกฯ แล้ว แถมมี 2 หน่วยประมวลผล (ส่วนแบล็กเบอร์รี่ใช้พื้นที่แค่ 32 เม็กกับ 1 หน่วยประมวลผล) ทำให้มือถือไอโฟนเปิดแอปฯ ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว
สุดท้ายที่ทำให้ไอโฟนรุ่นแรกถูกสื่อฝรั่งยกให้มันเป็นมือถือจากพระเจ้า ก็เพราะ ซาฟารี แอปฯ เปิดเว็บ ที่เปิดชมเว็บไซต์ทั้งเว็บได้เหมือนเล่นคอมฯ !

2 จุดสุดท้ายนี่เองที่ทำให้ Mike Lazaridis วิศวกรเก่าและซีอีโอแบล็กเบอร์รี่ถึงกับตาค้าง! เพราะการคิดใหม่ทำใหม่ในวงการฮาร์ดแวร์ และการกล้าหาญต่อกรกับความมั่นคงของระบบรับส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายมือถือของโอเปอร์เรเตอร์ทั่วโลก เพราะตอนนั้นหน้าที่หลักของแบล็กเบอร์รี่ คือทำให้มือถือออนไลน์ตลอด (แบบเงียบๆ) แต่คิดค่าบริการเฉพาะจำนวนการรับส่งข้อมูล
ซึ่งในวันนั้นคำถามที่ค้าใจซีอีโอแบล็กเบอร์รี่ก็คือ ไอโฟนจะไปได้สักกี่น้ำ เพราะทั้งโอกาสที่แบตหมดเร็วเพียงครึ่งวันมีสูง (เพราะคนมัวแต่เล่นเน็ตฟังเพลง) และค่ายมือถือจะรุมกันประณามว่าไอโฟนเป็นตัวการเครือข่ายล่มหรือไม่

ปีถัดมา เขารู้แล้วว่าทั้งหมดนี้ไม่เป็นความจริง ค่ายมือถือแต่ละประเทศทั่วโลกต่างแย่งกันได้สิทธิ์ขาดเพียงผู้เดียวในการขายมือถือของตน สำหรับเมืองไทยตอนนั้นก็คือ ค่ายทรู นั่นเอง ไม่เพียงแต่ขาย ยังมาพร้อมกับแพ็คเก็จอินเตอร์เน็ตแบบ Unlimited ซึ่งขายพ่วงมากับมือถืออีกด้วย!

true1

true2

net

แอนดรอยด์โลว์คอร์ส ผู้ตอกฝาโลงแบล็กเบอร์รี่

ad mkt

หลังจากไอโฟนรุ่นแรกออกได้ปีเดียว ข้าศึกรายที่สองก็ออกมารุกอัดแบล็กเบอร์รี่ต่อ นั่นคือ แอนดรอยด์ ระบบปฏิบัติการมือถือที่ดำเนินการโดยกูเกิล ซึ่งตั้งใจให้เป็นระบบเปิด ค่ายไหนๆ สามารถนำไปปรับปรุงต่อยอดได้ฟรี ไม่มีค่าลิขสิทธิ์
สิ่งสำคัญสำหรับแอนดรอยด์ในเวลานั้นคือ ทำทุกอย่างที่ไอโฟนทำได้ และวันนี้แอนดรอยด์ก็พิสูจน์แล้วว่าเป็นจริง ที่เหนือไปกว่านั้นก็คือ มือถือที่ใช้ระบบแอนดรอยด์ในวันนี้กินตลาดไปค่อนโลกแล้ว ปัจจัยหลักก็มาจากแอนดรอยด์โลว์คอร์สจากผู้ผลิตในจีนอย่าง เสี่ยวหมี่, ZTE, Lenovo นั่นเอง

แบล็กเบอร์รี่ฮึดสู้แก้ทุกเกม

ระหว่างที่ 2 ข้าศึกใหม่บุกแบบไม่ทันตั้งตัว ทางทีมงานและผู้บริหารแบล็กเบอร์รี่ก็พยายามคิดทุกวิธีที่จะต่อกร

st

เริ่มจากปี 2008 แก้เกมไอโฟนและแอนดรอยด์ ด้วยการออกมือถือจอสัมผัสล้วนๆ อย่าง “แบล็กเบอร์รี่ สตอร์ม (BlackBerry Storm)” แต่ก็แป้กสนิท! นั่นก็เพราะว่าปัญหาของแบล็กเบอร์รี่มีลึกกว่านั้น นั่นก็คือ ระบบปฏิบัติการที่เก่าและล้าสมัย สร้างด้วยจาวาล้วนๆ
ระหว่างที่แบล็กเบอร์รี่กำลังงมกับทางแก้โครงสร้างหลักของมือถือ ปีเดียวกันทางแอปเปิ้ลก็เปิดตัวแอปสโตร์ ทำให้มือถืออย่างไอโฟนกลายร่างเป็นทุกๆ อย่างเกินจินตนาการ ไม่ว่าจะเป็น แก้วเบียร์ หนังสือพิมพ์ ไม้กอล์ฟ ฯลฯ

ap

ap2

เมื่อไอโฟนนำหน้าแบล็กเบอร์รี่ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์แล้ว ทางซีอีโอก็ถึงคราวที่ต้องปิดจุดอ่อนนี้ให้จงได้ ปี 2010 จึงรีบเข้าซื้อบริษัท QNX Software ผู้ทำซอฟท์แวร์ด้านการสื่อสารสำหรับองค์กรใหญ่ เพื่อมาปฏิรูประบบปฏิบัติการใหม่จนได้ออกมาเป็น BlackBerry 7 ซึ่งได้ใช้กับสินค้าไลน์ใหม่นั่นคือ แท็ปเบล็ตพีซี จอ 7 นิ้ว ในนาม “เพลย์บุ๊ค (Playbook)” ที่ออกล่าช้ากว่ากำหนด คือเป็นปี 2011 จากที่วางแผนไว้เป็นปีก่อนหน้า ปีเดียวกับที่แอปเปิ้ลออก “ไอแพด” นั่นเอง!

pb

และการเร่งออก เพลย์บุ๊ค (Playbook)” จนทำให้เครื่องที่ขายล็อตแรกๆ ไม่มีแม้กระทั่งฟีเจอร์อีเมล์ รายชื่อ และแอปฯ ต่างๆ จึงเท่ากับว่าเพลย์บุ๊คออกมาฆ่าตัวเองทั้งเป็น!

แบล็กเบอร์รี่กับมรสุมข่าวร้าย ทั้งลดทั้งปลด

ช่วง 2 ปีที่แล้วสถานการณ์ในองค์กรของแบล็กเบอร์รี่ย่ำแย่อย่างหนัก เริ่มจากความคิดที่ไม่ลงรอยกันของผู้บริหาร ฝ่ายหนึ่งต้องการให้แบล็กเบอร์รี่หยุดการพยายามแข่งกับไอโฟนผลิตมือถือจอสัมผัส และให้หันกลับมายังรากฐานของตัวเอง คือ การผลิตมือถือพร้อมคีย์บอร์ด
อีกฝ่ายมองว่าควรหันมาเอาจริงกับระบบแชตอย่าง BBM ก่อน โดยเสนอให้ทุกค่ายมือถือล้มเลิกระบบส่ง SMS และหันมาใช้ระบบของ BBM แทน วิธีนี้จะทำให้ทางแบล็กเบอร์รี่ได้ค่าลิขสิทธิ์จากการใช้เทคโนโลยีนี้ ซึ่งเป็นส่วนแบ่งที่ค่ายมือถือต้องจ่าย! (ซึ่งล่าสุดได้ออกแอปฯ BBM มาลงทั้งไอโฟนและแอนดรอยด์ให้โหลดฟรีแล้ว)
นอกจากนี้ข่าวร้ายก็ยังตามมาเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็น ยอดขายตกทุกตลาดทั่วโลก จากยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา ตกฮวบจากกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท เหลือเพียง 2.1 หมื่นล้านบาท รวมถึงเอเชีย และลาติน อเมริกาก็ลดอย่างน้อย 30% แม้กระทั่งตลาดใหญ่ที่สุดของแบล็กเบอร์รี่อย่างอินโดนีเซียจากปี 2012 กินตลาด 53.5% ปีนี้ก็ถูกกินเหลือเพียง 21% เท่านั้น
ทางทีมผู้บริหารก็ประกาศปลดพนักงานกว่า 40% หลายพันออก รวมถึง 2 ผู้ก่อตั้งก็ลาออกจากตำแหน่งซีอีโอคู่หู และจ้างพนักงานคนใหม่มาแทนตำแหน่งนั่นคือ Thorsten Heins

แบล็กเบอร์รี่เดิมพันครั้งใหม่ที่ไปไม่รอด

newbb3

newbb

newbb2

ในที่สุดซีอีโอคนใหม่ไม่รับไอเดียทั้ง 2 และยืนยันที่จะเดินหน้าต่อกับการทำแบล็กเบอร์รี่จอสัมผัส โดยต้นปี 2013 นี้ แบล็กเบอร์รี่ก็หาฤกษ์ยามใหม่ และทำอะไรใหม่ๆ เช่น ได้เปลี่ยนชื่อบริษัท จาก Research In Motion (RIM) มาเป็น BlackBerry ตามาด้วยการออกระบบปฏิบัติการแบล็กเบอร์รี่ 10 ที่เคลมว่าสร้างใหม่หมดไม่ได้อิงเทคโนโลยีเก่าเลย และได้ทีมงานออกแบบใหม่จากบริษัท The Astonishing Tribe (TAT) ที่แบล็กเบอร์รี่เข้าซื้อมาก่อนหน้านี้ (และวันนี้ทีมงานทั้ง 7 คนของ TAT ก็ลาออกไปครบเซ็ท) สุดท้ายคือ การออกมือถือจอสัมผัส 3 รุ่นได้แก่ แบล็กเบอร์รี่ Z10, Q10, Q5 และล่าสุดๆ ก็คือ Z30 มือถือไฮเอนด์จอ 5 นิ้วสไตล์ Phablet
แต่ยอดขายของทุกรุ่นก็ไม่เป็นที่เปิดเผย…

แบล็กเบอร์รี่จ่อคิวรอ(ถูก)ซื้อ!

fairfax

sap

cisco

ช่วง 2 สัปดาห์ระหว่างที่เขียนบทความนี้ บริษัท Fairfax Financial Holdings บริษัทด้านการเงินและธุรกิจประกันของแคนาดา เสนอซื้อกิจการของแบล็กเบอร์รี่ในมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท แต่ก็ยังไม่รับการตกลงอย่างเป็นทางการ ทั้งยังมีข่าวลืออีกว่าองค์กรที่ทำธุรกิจเทคโนโลยีแบบ B2B อย่าง ซิสโก้ (Cisco) แซป (SAP) รวมถึงซัมซุง ต่างก็อยากเป็นผู้เข้าประมูลครอบครองแบล็กเบอร์รี่ด้วย นอกจากสินทรัพย์ด้านทรัพยากรบุคคล เทคโนโลยีล้ำอย่างระบบส่งอีเมล์เรียลไทม์ ระบบส่งข้อความเรียลไทม์แล้ว แบล็กเบอร์รี่ยังมีสิทธิบัตรมูลค่านับหมื่นๆ ล้านในครอบครองด้วย!

จาก RIM สู่ RIP

จากการสำรวจล่าสุดพบว่า แบรนด์แบล็กเบอร์รี่ไม่ติด 100 อันดับแรกของแบรนด์ยอดนิยมอันดับโลก จุดนี้ก็อาจมองได้ว่าอนาคตของแบรนด์มือถือในตำนานอย่าง “แบล็กเบอร์รี่” กำลังจะถูกปิดลงเมื่อถูกเข้าครอบครอง และอาจจะไม่สวยเหมือนโมโตฯ และโนเกีย ที่ยังคงดำเนินธุรกิจมือถือต่อไป และแบรนด์ก็ยังอยู่ เพราะผู้ที่คาดว่าจะซื้อแบล็กเบอร์รี่ไปเหมือนจะนำไปเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโซลูชั่นด้านการสื่อสารขององค์กรเสียมากกว่า! หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็ถือได้ว่าตำนานเกือบ 3 ทศวรรษเต็มๆ ของแบล็กเบอร์รี่ได้ถูกปิดฉากลงอย่างถาวร จาก RIM (Research in Motion) จนกลายมาเป็น RIP (Rest in peace) นั่นเอง!

Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

To Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณและสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • GA

    Google Analytic

Save