สวัสดีครับ พบกับผมเช่นเคย ปีเตอร์กวง ควงมือถือ พิธีกรรายการ “ล้ำหน้าโชว์” ซึ่งรายการนี้ผลิตและสร้างสรรค์โดย บริษัท ล้ำหน้าโชว์ จำกัด ที่เราทั้งสาม (พี่หลาม ปีเตอร์กวง อาจารย์ศุภเดช) ได้ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ด้วยกันเพื่อให้ผู้ชมได้บริโภคสาระดีๆ ที่ให้ความรู้ด้านไอทีและเทเลคอม บวกกับความบันเทิงตามสไตล์แบบของพวกเราไปด้วย โดยออกอากาศทางช่อง Nation Channel (เนชั่นแชนแนล) รับชมได้ที่ช่อง 22 ทั้งทางทีวีดิจิตอลและทีวีดาวเทียม ทุกวันอาทิตย์ ออกอากาศสดเวลา 15:00-16:00 อยากให้ติดตามกันเยอะๆ นะครับ แล้วบ่ายวันอาทิตย์ของคุณ จะมีความหมายมากกว่าเดิม… สำหรับตัวผมเองก็ยังประจำการใน What Phone Magazine ทุกเดือนเหมือนเช่นเคยครับ เพื่อไขข้อข้องใจและเก็บตกข่าวคราวความเคลื่อนไหวในวงการเทเลคอม ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ สำหรับฉบับนี้มาพูดกันเรื่องการคัดเลือกคู่ค้าทางธุรกิจของ TOT สำหรับการบริหารจัดการคลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz ที่ได้คำตอบแล้ว
คำตอบสุดท้ายของการเลือกคู่ค้าทางธุรกิจของ TOT คือ dtac
ตลอดยุคของการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ไร้สาย หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ TOT เป็นคู่ค้าที่มี บริษัทอย่าง AIS เป็นเพื่อนร่วมธุรกิจมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุค Analog ที่เป็นระบบสัมปทาน โดย AIS ได้ความถี่ย่าน 900 MHz ให้บริการมาทั้งระบบ NMT 900 และสู่ยุคดิจิทัล 2G GSM หรือแม้แต่ในยุค 3G/4G ก็มีการทำงานร่วมกันโดยแบ่งคลื่นความถี่ 2100 MHz ให้ AIS ไปจัดสรรเพิ่มในการให้บริการแบบร่วมกิจการงานกันอยู่ในตอนนี้
ขณะที่ TOT ยังมีความถี่อีกย่านอยู่ในมือ นั่นก็คือ ความถี่ 2300 MHz และนั่นเป็นที่มาของการหาพันธมิตรใหม่ จากก่อนหน้านี้เมื่อตอนต้นปีที่ บมจ. ทีโอที ได้มีจดหมายเชิญชวนเอกชนเข้ามาร่วมการยื่นซองประกวดเสนอแผนธุรกิจเพื่อเข้าร่วมเป็นคู่ค้าทางธุรกิจกับ TOT ในด้านการให้บริการไร้สายบนคลื่นความถี่ 2300 MHz ด้วยวิธีการแบบ Beauty Contest หรือแปลง่ายๆ ว่าแข่งขันในแผนธุรกิจว่าใครให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ TOT ได้ดีที่สุด ซึ่งมีบริษัทเอกชนมากมายต่างร่วมเข้าเสนอแผนทางธุรกิจกันอย่างคึกคัก รวมถึงโอเปอร์เรเตอร์ทั้งสามรายเช่นเคย โดยมี dtac เป็นเต็งจ๋ามา เนื่องด้วยว่าก่อนหน้านี้การประมูลความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz ทาง dtac ก็ชวดมาหมดทั้งนั้น ถ้างานนี้ไม่ได้อีกย่อมส่งผลถึงความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคและนักลงทุนมากกว่าเดิมอีก
จนล่าสุดมาถึงวันที่ 23 พฤษภาคม ทาง บมจ. ทีโอที ได้ประกาศผลการตัดสินออกมาตามที่ได้เคยแจ้งไว้ว่าจะทราบผลในเดือนพฤษภาคม โดยแจ้งว่าทาง dtac ได้รับเลือกให้เป็นคู่ค้าทางธุรกิจเพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดทำร่างสัญญาทางธุรกิจ สำหรับการให้บริการไร้สายบน คลื่นความถี่ 2300 MHz ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในไทยที่จะนำเทคโนโลยีการสื่อสารชั้นนำของโลกล่าสุดอย่างเทคโนโลยี 4G LTE-TDD มาให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile broadband) บนคลื่น 2300 MHz ในจำนวน 60 MHz ซึ่งถือว่าจะเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศไปอีกขั้นหนึ่ง
ทั้งนี้ ทีโอทีและดีแทคต่างเชื่อมั่นว่า จะสามารถลงนามในข้อตกลงและเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาสสี่ปีนี้ เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้ประเทศ และต่อยอดบริการดิจิทัลแก่ผู้ใช้งานในประเทศไทย โดยในเงื่อนไขก็คือ กลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งในที่นี้ได้จดทะเบียนบริษัทใหม่ในชื่อ บริษัท Tele Asset (เทเลแอสเสท) จำกัด จะเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีสถานีฐานจำนวนประมาณ 20,000 กว่าแห่งทั่วประเทศให้ TOT เช่าใช้งาน โดย บมจ. ทีโอที เป็นผู้บริหารจัดการโครงข่ายสื่อสารไร้สายนี้ด้วยตนเอง และจะให้บริษัทในกลุ่มของ dtac ใช้บริการโดย บมจ. ทีโอที 4 ปี จะมีรายได้ปีละ 510 ล้านบาทจาก dtac ที่จะใช้งานความจุร้อยละ 60 ของโครงข่าย ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 40 นั้นทาง TOT จะนำไปใช้ในทางธุรกิจต่อไป ซึ่งอาจเป็นทั้งการให้บริการส่วน Mobile Broadband ทั้งแบบผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน และแบบผ่านอุปกรณ์ Fixed Wireless แบบ 4G LTE Home Router โดยระยะเวลาสัญญาระหว่าง TOT และ dtac จะทำงานร่วมกันเป็นเวลา 8 ปี ก่อนที่ทาง TOT จะคืนคลื่น 2300 MHz กลับสู่รัฐต่อไป (ถึงปี 2568)
ใครคุ้มกว่ากัน ระหว่าง TOT หรือ dtac ในดีลใหญ่นี้
ถ้ามองในดีลนี้ว่าใครคุ้มกว่ากัน ก็ต้องบอกว่าเจ้าของสัญญาอย่าง TOT ก็คุ้มกว่าแน่นอน เพราะสามารถผันความถี่ที่มีอยู่ในมืออย่างความถี่ 2300 MHz มากลายเป็นรายได้โดยไม่ต้องลงทุนสร้างโครงข่ายด้วยตัวเอง ขณะที่ TOT จะยังมีรายได้จาก dtac กว่าปีละ 4,500 ล้านบาท แถมยังมีความจุของโครงข่ายอีกกว่า 40% ที่จะผันเป็นรายได้อีกส่วนหนึ่ง ดูแล้วแน่นอนว่าเจ้าของสัญญายังไงก็ต้องได้เปรียบวันยังค่ำ
ขณะที่ dtac เองก็มาใหญ่ในการนี้โดยชัดเจนว่าทาง dtac ได้เสนอผลประโยชน์และเทคโนโลยีที่ดีกว่า ก้าวหน้ากว่าคู่แข่งร่วมวงการอย่าง AIS, True Move อยู่แล้ว เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรความถี่ที่เพิ่มเติมจากในมืออย่างความถี่ 2100 MHz ที่มีอยู่ 15 MHz เท่ากับคู่แข่งอีกสองราย ขณะที่ความถี่ที่มีอยู่ในมืออย่าง 1800 MHz (มีอยู่ 25 MHz) และ 850 MHz (มีอยู่ 10 MHz) จะต้องคืนกลับไปเป็นของรัฐในปี 2561 เพื่อไปประมูลกันใหม่นั้น ทำให้ทาง dtac ก็ต้องมีแผน A แผน B ไปข้างหน้าด้วย ไม่งั้นยุ่งแน่ๆ ถ้าการประมูลปีนี้ และปีหน้าเกิดชวดมาอีก (กสทช.วางแผนจะให้มีการประมูลความถี่ 2600 MHz ในปี 2560 และการประมูลความถี่ 850 MHz, 1800 MHz ภายในปี 2561) ขณะที่งานนี้ทาง AIS, True Move ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาแย่งเอาความถี่นี้ (2300 MHz) เพราะปี 2558 ก็ประมูลมาเยอะแล้ว ทั้งความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ซึ่งจ่ายไปเยอะเสียด้วย
แต่ข้อดีคือสัญญาของการใช้ความถี่ที่ประมูลมาได้ในปีก่อนนั้นมีอายุยาวถึงปี 2576 นู่นเลย (สัญญาความถี่ 1800 MHz จะหมดในปี 2576 ส่วนสัญญาความถี่ 900 MHz จะหมดในปี 2573) ขณะที่ในมุม dtac การจ่ายค่าอุปกรณ์โครงข่ายให้ TOT ในระยะเวลา 8 ปีซึ่งต้องทำให้ได้ 20,000 สถานีฐาน แต่ทรัพย์สินยังเป็นของ dtac บวกกับเงินที่ต้องการันตีให้ TOT ปีละ 4,510 ล้านบาทผมว่า dtac นั้นคุ้มครับ เพราะหารเฉลี่ยออกมาต่อ MHz แล้วนั้นไม่ได้แพงกว่าการไปประมูลเลย แถมยังผ่อนส่งในเรื่องค่าใช้จ่ายได้ดีกว่าสำหรับการลงทุนในอุปกรณ์โครงข่าย โดยไม่มีเรื่องใบอนุญาตมาเป็นต้นทุนใหญ่ให้ปวดหัวอีกชั้นหนึ่ง ทำให้งานนี้ dtac ก็นอนมาค่อนข้างแน่และได้ชนะไปตามคาด ก็ถือว่างานนี้สมหวังทั้งคู่ ทั้งเจ้าของสัญญาและผู้ชนะการแข่งขันที่ได้รับเลือก ต่อจากนี้ก็ต้องมาดูว่าการให้บริการ LTE บนความถี่ 2300 MHz จะทำได้ดีกว่าคู่แข่งหรือไม่
ข้อมูลทางด้านเทคนิคที่ควรรู้ของ LTE TDD 2300 MHz Band 40
ในความจริงด้านเทคนิคนั้นหลายๆ คนอาจจะบอกว่า LTE TDD 2300 MHz มันอะไร ใช่มาตรฐานไหม ทำไมไปเอาเทคโนโลยีที่เขาไม่ใช้กันมาใช้ จริงๆ ต้องบอกว่าเทคโนโลยีไร้สายอย่างพวก 3G/4G เนี่ย เขามี Standard Body หรือหน่วยงานมาตรฐานกลางคอยกำหนดมาตรฐานให้เป็นกลางอยู่แล้ว ในแง่ของความถี่ต้องบอกเลยว่าความถี่บนโลกนี้มีเยอะมากมายหลายย่าน ที่บางครั้งเราเห็นความถี่ที่เราไม่คุ้นเคยบ้างก็เพราะว่าความถี่ที่จัดสรรมาใช้งานแต่ละประเทศนั้นมีปัจจัยไม่เหมือนกัน เช่นความถี่ 900 MHz นั้นถูกใช้เยอะมากสำหรับประเทศแถบเอเชียและยุโรป ขณะที่ความถี่ย่าน 800 MHz,1900 MHz, 2600 MHz จะถูกนำมาใช้เยอะกว่าในประเทศแถบอเมริกาเหนือ และลาตินอเมริกา ความถี่บางย่านในแต่ละประเทศอาจถูกหน่วยงานรัฐนำไปใช้ในทางราชการทหารก็มีทำให้ หน่วยงานมาตรฐานกลางอย่าง GSMA นั้นต้องวางมาตรฐานของระบบ 3G/4G ออกมารองรับหลายความถี่
ขณะที่ผู้ผลิตอุปกรณ์ระบบโครงข่าย ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนหรือโทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่ผู้ผลิตชิพเซ็ตนั้น ต้องพัฒนาสินค้าของตัวเองให้รองรับมาตรฐานที่หลากหลายอยู่ในอุปกรณ์เดียว หรือเครื่องเดียว บนความถี่ที่แตกต่างกัน ปัจจุบันมาตรฐาน 4G LTE นั้นมีการรองรับการทำงานที่ก้าวหน้าไปกว่าในระบบ 3G เพราะสามารถรองรับ Mode การทำงานให้เหมาะสมกับทรัพยากรคลื่นความถี่ที่มีอยู่ทั่วโลก มาตรฐานอย่าง FDD (Frequency Division Duplex) เหมาะกับย่านความถี่ที่มีความถี่มากพอ และสามารถจัดสรรให้การใช้งานความถี่ในขาลง (Download) และขาขึ้น (Upload) แยกกันคนละช่องทาง หรือที่เขาเรียกกันว่าความถี่แบบ Paired Band (ความถี่คู่ที่มีการแยกขา Download และ Upload จากกัน) โดยที่เราเห็นจากการใช้งานจริงในบ้านเราทั้งความถี่ 900 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz ล้วนแล้วแต่เป็นแบบ FDD (Paired Band) ทั้งสิ้น โดยจุดเด่นของ FDD คือการใช้งานเน้นในด้านพื้นที่ที่ครอบคลุมให้กว้าง
ส่วนมาตรฐานอย่าง TDD (Time Division Duplex) นั้นเกิดขึ้นจากการที่ความถี่ที่สูงขึ้นไปกว่า 2100 MHz นั้นมีแถบกว้างความถี่จำกัด ทำให้ไม่สามารถใช้ความถี่แบบสองขาได้เหมือน FDD ก็เลยมีการพัฒนา TDD Mode เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรความถี่แบบแถบเดียวแล้วใช้งานทั้งขาขึ้นและขาลง (Upload และ Download) ได้ในแถบความถี่เดียวกันแบบแชร์ริ่งเวลาในการทำงานไปพร้อมๆ กัน ซึ่งมาตรฐาน LTE TDD Mode ก็ถูกนำมาใช้ในบนความถี่สูงอย่าง 1900 MHz, 2300 MHz, 2600 MHz, 3500 MHz เป็นต้น ข้อดีของการนำเอา LTE TDD Model มาใช้คือผู้ให้บริการจะได้ในแง่ของความจุการรองรับผู้ใช้ได้มากกว่าในพื้นที่หนึ่งๆ ซึ่งดีกว่าแบบ FDD แต่อาจจะด้อยกว่าในแง่การครอบคลุมพื้นที่บริการให้ไกลได้เท่า LTE FDD แต่ถ้าผู้ให้บริการไหนที่มีทั้งการใช้งาน LTE FDD ไปพร้อมๆ กับ LTE TDD ก็ถือว่าย่อมได้เปรียบกว่า เพราะสามารถจัดสรรทรัพยากรความถี่ให้เหมาะกับสภาพเมืองใหญ่หนาแน่นและเมืองใหญ่พื้นที่ห่างไกลได้อย่างลงตัว
ถ้ามาดูในความถี่ 2300 MHz ที่ทาง TOT กับ dtac จะให้บริการโดยมีแถบความถี่กว้างถึง 60 MHz (20+20+20 MHz) นั้น ด้วยเทคโนโลยีล่าสุด LTE Advanced Cat.16 บวกกับมาตรฐานการบีบอัดข้อมูลแบบ 256 QAM รวมถึงการใช้เทคโนโลยี 4×4 MIMO (Multiple Input, Multiple Output หรือที่เรียกว่ามี 4 เสาอากาศรับและ 4 เสาอากาศส่ง) บวกกับการทำ CA-Carrier Aggregation หรือรวมความถี่เข้าด้วยกัน อย่างกรณีนี้ก็คือเอาความถี่ 20 MHz สามช่วงที่ได้ (เท่ากับ 60 MHz) มารวมกันเป็น 3CA คือ 20 MHz + 20 MHz + 20 MHz แล้วนั้นจะทำให้ 4G TDD 2300 MHz ของ TOT – dtac สามารถให้ความเร็วได้สูงสุดถึง 870 Mbps (ขาละ 290 Mbps ต่อความถี่ 20 MHz, 3 ช่วงความถี่รวมกันก็เท่ากับ 290 Mbps x 3 CA นั่นเอง) นี่ยังไม่รวมถึงการทำ LTE-U (LTE on Unlicensed frequency อย่าง 5 GHz) ถ้าเอามารวมเข้าไปด้วยกันอีกจะทำให้ Speed การให้บริการจะได้สูงสุดที่ 1 Gbps เลยทีเดียว แต่ถ้าเอาแบบท่าเบสิค LTE Cat. 4 นั้น แล้วทำ 3CA ของความถี่ทั้งหมดจะได้ความเร็วสูงสุด 330 Mbps (ขาละ 110 Mbps ต่อความถี่ 20 MHz, 3 ช่วงความถี่รวมกันก็เท่ากับ 110 Mbps x 3 CA) ซึ่งตลอดอายุสัญญา 8 ปีนั้นเราคาดว่า dtac จะนำเอาเทคโนโลยี LTE Rel.13 มาใช้ในการพัฒนาต่อยอดไปอีก หรือที่เรียกว่า LTE Advanced Pro (ขั้นสูงสุดของ LTE เทคโนโลยีก่อนที่ 5G จะมาถึง)
ปัจจุบันเทคโนโลยี 4G LTE มีการใช้งานบนความถี่หลายมาตรฐาน ได้แก่ 450 MHz, 700 MHz, 800 MHz, 850 MHz, 900 MHz, 1500 MHz, 1800 MHz, 1900 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz, 2500 MHz, 2600 MHz, 3500 MHz, 3700 MHz โดยส่วนใหญ่ความถี่ต่ำกว่า 2100 MHz จะเป็น FDD Mode ส่วนความถี่ 2300 MHz ขึ้นมาจะเป็น TDD Mode ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้มาตรฐาน 4G LTE ของ GSMA โดยในปี 2011 ประเทศอินเดียเป็นประเทศแรกในโลกที่นำเอา LTE TDD Mode บนความถี่ 2300 MHz มาใช้ก่อนใคร และตามด้วยประเทศจีนที่ทั้ง 3 โอเปอร์เรเตอร์ใหญ่ ต่างก็ให้บริการ LTE TDD 2300 MHz แล้วทั้งสิ้น ปัจจุบันมีประเทศที่ใช้ความถี่ 2300 MHz ในการให้บริการ 4G LTE TDD Mode อยู่กว่า 51 โอเปอร์เรเตอร์ ใน 20 ประเทศ
ภาพเปรียบเทียบในแง่การครอบคลุมระยะทำการระหว่าง FDD กับ TDD
ต้องเปลี่ยนเครื่อง Smartphone ใหม่ไหมเพื่อรองรับการใช้งาน LTE TDD 2300 MHz
ปัจจุบันการพัฒนาสมาร์ทโฟนโดยผู้ผลิตระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Samsung, Apple, Huawei, OPPO, vivo, HTC, LG, Xiaomi, Nubia, ZTE และอื่นๆ อีกหลายยี่ห้อ ล้วนแล้วแต่พัฒนาสินค้าให้รองรับ LTE TDD mode บนความถี่ 2300 MHz แล้วทั้งสิ้น (ส่วนใหญ่เครื่องหนึ่งเครื่องจะรองรับหลายความถี่ หลายเทคโนโลยีในเครื่องเดียวอยู่แล้ว) เพราะไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถขายให้ตลาดอย่างประเทศจีน และอินเดียที่มีประชากรมากที่สุดในโลกได้ ประกอบกับการพัฒนา Chipset จาก Qualcomm, Mediatek ก็รองรับมาตรฐาน LTE ทุกโหมดทุกความถี่อยู่ในชิปตัวเดียวกันได้หมดแล้ว ทำให้การรองรับการใช้งาน LTE TDD Mode บนความถี่ 2300 MHz ของสมาร์ทโฟน แทบทุกยี่ห้อตั้งแต่ปี 2016 นั้นไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน บางยี่ห้อเก่ากว่าปี 2016 ก็มีรองรับแล้วเช่นกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าเครื่องของท่านเก่าไปมากก็สามารถเลือกหาจากผู้ผลิตได้ เพราะเครื่องรุ่นใหม่ๆ ก็จะรองรับ LTE TDD 2300 MHz อยู่แทบทั้งสิ้น ลองดูลิสต์รุ่นจากผู้ผลิตต่างๆ เหล่านี้ว่ารุ่นไหนรองรับบ้าง (อ้างอิงเฉพาะรุ่นที่ขายในไทยเท่านั้น ไม่ได้ครบทุกยี่ห้อนะครับ ยังไงรอทางผู้ผลิตทุกยี่ห้ออัพเดตข้อมูลเพิ่มเติม ลิสต์นี้ผมได้รับการยืนยันมาจากผู้ผลิตในจำนวนหนึ่ง อาจจะตกหล่นไปบ้าง ต้องขออภัย) แต่ก่อนที่ dtac และ TOT จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ คาดว่าผู้ผลิตจะต้องออกอัพเดต Operator Profile ออกมาอีกที เพื่อให้แน่ใจว่ามีการตั้งค่า Network ให้ถูกต้องเพื่อการใช้งานที่ไม่ติดขัด ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องรอการอัพเดตอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าทาง dtac จะต้องทำงานในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดกับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนทุกรายที่ขายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
- Apple (9): iPhone 7 / iPhone 7 Plus / iPhone 6S/ iPhone 6S Plus/ iPhone 6/ iPhone 6 Plus/ iPhone SE / iPhone 5S and iPhone 5C (ก่อนใช้งานจริง คาดว่าทาง Apple จะออกอัพเดต Operator Profile ให้ใช้ได้เสียก่อน)
- Samsung (25): Galaxy S8 / Galaxy S8 Plus / Galaxy S7/ Galaxy S7 edge/ Galaxy A7 2017 / Galaxy A5 2017 / Galaxy A7 2016/ Galaxy A5 2016 / Galaxy Note 5 / Galaxy S6 edge plus/Galaxy S6 edge/ Galaxy S6 /Galaxy J7 / Galaxy J5 / Galaxy A8 / Galaxy A9 Pro / Galaxy J7 Ver.2 / Galaxy J5 Ver.2 / Galaxy J7 Prime / Galaxy J5 Prime / Galaxy J2 Prime / Galaxy J1 (2016) 4G / Galaxy Tab S3 / Galaxy Tab A with S Pen / Galaxy C9 Pro
- Huawei (13): P10 / P10 Plus / Mate 9 / Mate 9 Pro / Mate 9 Porsche Design / P9 / P9 Plus / P9 Lite / GR 5(2017) / GR5 / Mate 8 / Mate 7 / P8
- Oppo (13): F1 Plus / F1 / F1s / R7 Plus / R7s / R7 Lite / R9s / R9s Plus / A39 / A57 / A77 / Mirror 5 / Mirror 5 Lite
- Sony (14): Z5, Z5 Premium, M5, C5 Ultra, X-performance, X, XA, XA Ultra, X Compact, XZ, XZ Premium, XZs, XA1, XA1 Ultra
- Asus (7): Zenfone AR / Zenfone 3 Deluxe / Zenfone 3 Ultra / Zenfone 3 5.5” / Zenfone 3 5.2” / Zenfone 3 Laser / Zenfone Live (ZB501KL)
- Moto (9): Moto Z / Moto Z Play / Moto M / Moto G5 / Moto G5 Plus / Moto X Style / Moto X Play / Moto G4 Plus / Moto G3
- HTC (7): U11 / U Ultra / U Play / Desire 10 Pro / Desire 10 Lifestyle / HTC 10 / Desire 728
- Nubia (7): M2 / M2 Lite / N1 Lite / N1 / Z11 / Z11 mini / Z11 mini-S (รุ่นที่ขายในไทยตอนนี้)
- Xiaomi (4): Mi Note 2 / Mi 5s Plus / Mi 5s / Redmi 4A (อัพเดตมาเฉพาะรุ่นที่ขายโดย i-Mobile ในตอนนี้)
- ZTE (4): Axon 7 / Axon 7 mini / Blade V7 Max / Blade V7 Lite
- Nokia (3): Nokia 6 / Nokia 5 / Nokia 3
- Google (4): Pixel / Pixel XL / Nexus 5X (by LG) / Nexus 6P (by Huawei) **ไม่ได้ขายในไทยอย่างเป็นทางการ
- Meizu (1): M3 Note (รุ่นนี้ขายอย่างเป็นทางการโดย dtac**)
- dtac Phone (3) : dtac X3, dtac T3, dtac S3
- Vivo: V5s, รุ่นอื่นๆ ต้องรอทาง Vivo คอนเฟิร์มว่าจะอัพเกรด s/w แล้วทำให้ใช้ได้ไหม
อนาคตของ dtac จะเข้าประมูลความถี่ในปีหน้าอีกไหม
ดูจากสถานการณ์นั้นคาดว่า dtac น่าจะเข้าประมูลความถี่ในครั้งต่อๆ ไปอย่างแน่นอน เพราะเนื่องจากปีหน้า dtac จะต้องทำการคืนคลื่นความถี่ 850 MHz ที่มีอยู่ 10 MHz รวมถึง 1800 MHz ที่มีอยู่ 25 MHz ให้กับรัฐ ซึ่งจำเป็นต่อ dtac ในระยะยาวอย่างแน่นอนในการได้มาซึ่งความถี่ย่านต่ำเหล่านั้น ขณะที่ความถี่ย่านสูงอย่าง 2100 MHz, 2300 MHz ก็ได้มาอยู่ในกำมือแล้ว ขณะที่การประมูล 900 MHz, 1800 MHz ในปี 2558 นั้น dtac ก็ไม่ได้ไปทุ่มเงินกับเขา ทำให้คาดว่า dtac น่าจะมีการเตรียมงบประมาณไปสู้ในการประมูลครั้งหน้าอย่างแน่นอน
สำหรับความถี่ย่านอื่นๆ อย่าง 2600 MHz หรือความถี่ย่าน 700 MHz ก็ถือว่าเป็นความถี่ที่น่าพิจารณาในการเข้าร่วมประมูลด้วยทั้งสิ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ dtac แต่รวมถึงมหาอำนาจอันดับหนึ่งอย่าง AIS, หรือดาวรุ่งอย่าง True Move ก็เช่นกัน จับตาดูครับว่าการประมูลความถี่ในอนาคตจะมีม้ามืดรายอื่นๆ ที่จะเข้ามาแข่งขันกับรายเก่าบ้างหรือไม่ หรือจะมีแค่ 3 รายใหญ่นี้ที่จะยังยึดหัวหาดในธุรกิจ Telecom ต่อไป โดยมี TOT, CAT เป็นคู่ค้าอยู่ข้างๆ เพราะผมเชื่อว่าไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าได้ อนาคตก็ย่อมไม่แน่นอนเพราะมันยังมาไม่ถึงครับ
สำหรับแฟนๆ ท่านใดที่มีคำถาม สามารถติดตามมาได้ที่ twitter ของผม @peter2514 นะครับ ส่วน facebook ตามมาได้ที่ Techoffside ถ้าจะติดตาม Instagram ก็ Search หา ID “peter2514” ได้นะครับ แล้วเจอกันใหม่ฉบับหน้านะครับ ขอบคุณทุกการติดตามครับ