สวัสดีครับ พบกับผมเช่นเคย ปีเตอร์กวง ควงมือถือ พิธีกรรายการ “ล้ำหน้าโชว์” ซึ่งรายการนี้ผลิตและสร้างสรรค์โดย บริษัท ล้ำหน้าโชว์ จำกัด ที่เราทั้งสาม (พี่หลาม ปีเตอร์กวง อาจารย์ศุภเดช) ได้ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ด้วยกันเพื่อให้ผู้ชมได้บริโภคสาระดีๆ ที่ให้ความรู้ด้านไอทีและเทเลคอม บวกกับความบันเทิงตามสไตล์แบบของพวกเราไปด้วย โดยออกอากาศทางช่อง Nation Channel (เนชั่นแชนแนล) รับชมได้ที่ช่อง 22 ทั้งทางทีวีดิจิตอลและทีวีดาวเทียม ทุกวันอาทิตย์ ออกอากาศสดเวลา 15:00-16:00 อยากให้ติดตามกันเยอะๆ นะครับ แล้วบ่ายวันอาทิตย์ของคุณ จะมีความหมายมากกว่าเดิม… สำหรับตัวผมเองก็ยังประจำการใน What Phone Magazine ทุกเดือนเหมือนเช่นเคยครับ เพื่อไขข้อข้องใจและเก็บตกข่าวคราวความเคลื่อนไหวในวงการเทเลคอม ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ สำหรับฉบับนี้มาพูดกันเรื่อง Fingerprint Scan on Display พัฒนาการของระบบ Security บนมือถือที่ใช้การสแกนลายนิ้วมือ ล่าสุดพัฒนาไปถึงการฝังระบบการสแกนลงไปบนหน้าจอ และพื้นผิวอื่นๆได้แล้ว
พัฒนาการที่ก้าวข้ามรูปแบบระบบ Security แบบเดิม Advanced Fingerprint Scan การสแกนรายนิ้วมือผ่านหน้าจอ
ในยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่าพัฒนาการของโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสมาร์ทโฟนนั้นถือว่ามีการพัฒนาการไปมากกว่าสินค้าอื่นๆ เพราะวันนี้สมาร์ทโฟนถือว่าเป็นสินค้าอิเล็คทรอนิคที่มียอดขายสูงสุดเมื่อเทียบกับสินค้าชนิดอื่นๆ โดยในปีที่แล้วมียอดขายสูงถึง 1,495 ล้านเครื่องเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นคงไม่แปลกนักที่เทคโนโลยีต่างๆ ที่ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของสมาร์ทโฟนจะได้รับการสนใจและทุ่มทุนในการพัฒนามากกว่าสินค้าประเภทอื่นๆ ในเรื่องระบบ Security หรือระบบความปลอดภัย ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างสมาร์ทโฟน ซึ่งระบบการปลดล็อคเครื่องด้วยวิธีไฮเทคอย่างการสแกนลายนิ้วมือ การสแกนม่านตา และอื่นๆ เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในการใช้งานไปแล้ว เพื่อปกป้องข้อมูลของสมาร์ทโฟนของเรา ไม่ให้ใครสามารถเข้าถึงได้ หรือเอาไปได้
โดยเทคโนโลยีในด้านนี้ก็ได้ถูกสร้างสรรค์ให้ทำงานได้ดีกว่าเดิม เก่งกว่าเดิม กว่าที่เคยเป็น ตั้งแต่การปลดล็อคแบบ Biometric หรือการใช้อัตลักษณ์ของบุคคลมาเป็นตัวรหัสผ่าน แทนการใช้รหัสตัวเลข รหัสแบบตัวอักษรในแบบเดิมที่อาจถูกแฮกค์ได้อย่างง่ายดาย การใช้ Biometric ในการตรวจสอบอัตลักษณ์ของบุคคลนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การจับภาพหน้าบุคคล การตรวจจับม่านตาของบุคคล จนมาถึงรูปแบบลายนิ้วมือ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นอัตลักษณ์ของบุคคลที่เป็นเจ้าของจริงๆ หรือไม่ การสแกนลายนิ้วมือ (Fingerprint Scan) เป็นอีกรูปแบบที่นิยมกันอย่างกว้างขวางสำหรับผู้ผลิตสมาร์ทโฟน และได้รับการตอบรับจากผู้ใช้เป็นอย่างมาก ซึ่งรูปแบบของตัวอ่านลายนิ้วมือส่วนใหญ่ก็จะถูกออกแบบเป็นลักษณะของปุ่ม มีลักษณะวงกลมบ้าง ทรงรีบ้าง แล้วใช้นิ้วของเราทาบลงไปบนปุ่มนั้น ตำแหน่งของปุ่มสแกนลายนิ้วมือนั้นอยู่ด้านหน้าจอบ้าง (อยู่ตำแหน่งต่ำกว่าหน้าใจด้านหน้า) อยู่ด้านหลังเครื่องบ้าง (ใกล้ๆ กล้องหลัง) ก็แล้วแต่การออกแบบของแต่ละยี่ห้อกันไป จนมีคำถามมากมายว่าทำไมเราไม่สแกนผ่านหน้าจอแสดงผลด้านหน้าไปเลยล่ะ แล้วตัดปุ่มโฮมด้านหน้าออกไป หน้าจอจะได้มีขนาดสุดขอบด้านหน้า
อย่างที่วันนี้เราเริ่มเห็นดีไซน์แบบนี้แล้วกับ Samsung Galaxy S8 แต่ยังไม่ได้มีเทคโนโลยีการสแกนลายนิ้วมือจากจอภาพ จนล่าสุดทาง Qualcomm ผู้นำทางด้านการพัฒนาชิปเซ็ตหน่วยประมวลผลของสมาร์ทโฟน รวมถึงชิปเซทสำหรับอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ได้ประกาศถึงความพร้อมในการพัฒนาระบบ Fingerprint Scan ขั้นสูง โดยใช้เทคโนโลยี Ultrasonic Scan หรือการสแกนโดยใช้ระบบคลื่นเสียงมาเป็นตัวอ่านลายนิ้วมือของเรา โดยพัฒนาการของ Qualcomm นั้นจะทำให้ระบบ Ultrasonic Scan นั้นสามารถสแกนลายนิ้วมือของเราผ่านทาง Display (หน้าจอ) หรือผ่านกระจก หรือแม้แต่ผ่านโลหะ โดยการใช้ระบบ Ultrasonic Scan จะทำให้การสแกนลายนิ้วมือของเราผ่านหน้าจอแสดงผลของสมาร์ทโฟนได้เลย โดยไม่ต้องมีปุ่มสแกนนิ้วแบบเดิมอีกต่อไป เพียงแต่ใส่ตัว Ultrasonic Scan ไว้ใต้จอแสดงผล OLED ที่มีความหนาได้สูงสุด 1200 micron (1.2 มม.) หรืออาจจะเป็นด้านหลังของเครื่องที่มีวัสดุเป็นกระจกได้สูงสุดที่ 800 micron (0.8 มม.) หรือโลหะอย่างอลูมิเนียมได้สูงสุด 650 micron (0.65 มม.)
นอกจากใช้ในการสแกนลายนิ้วมือแล้ว ยังมีฟีเจอร์อื่นๆอีก ได้แก่การใช้ในการตรวจวัดชีพจรหรืออัตราการเต้นของหัวใจ รวมถึงอัตราการไหลเวียนของเลือดได้อีกด้วย แถมยังสามารถใช้ในน้ำได้ ขณะที่เทคโนโลยีการสแกนนิ้วแบบเดิมทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้
vivo ประกาศความร่วมมือกับ Qualcomm ก่อนใคร
ถึงแม้ว่าในอดีตแบรนด์อย่าง Xiaomi จะเป็นพันธมิตรที่เคยเปิดตัวเทคโนโลยี “Sense ID” กับทาง Qualcomm มาก่อนก็ตาม แต่ในครั้งทาง vivo ได้เป็นพันธมิตรรายแรกที่จะได้เปิดตัวเทคโนโลยี Fingerprint Scan on display ก่อนใคร (แม้แต่ Apple ที่เคยมีข่าวลือออกมาว่าจะมีเทคโนโลยีนี้ เปิดตัวพร้อมกับ iPhone รุ่นใหม่ ก็คงต้องมองค้อนว่าทำไม vivo ถึงชิงตัดหน้าสิ่งนี้ไปได้)
โดยในงาน MWC (Mobile World Congress) ที่จัดในทวีป Asia ที่เมืองเซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา บู๊ตของ vivo ก็คึกคักและเต็มไปด้วยสื่อมวลชนที่สนใจต้องการสัมผัสเทคโนโลยีนี้เป็นครั้งแรก โดยเป็นการประกาศการเป็นพันธมิตรระหว่าง vivo กับ Qualcomm ในการนำเอาเทคโนโลยี Fingerprint Scan on display ออกสู่สายตาประชาชนก่อนใคร งานนี้ทาง vivo ได้พัฒนาตัว Prototype (ต้นแบบ) โดยใช้ vivo XPlay 6 มาเป็นตัวเป็นๆ ให้ได้จับ และลองสัมผัสประการณ์จริงๆ กันในงานนี้เลย ซึ่งอนาคตของการพัฒนานั้นทาง Qualcomm ได้เปิดเผยว่าได้เตรียมชิปเซทในตระกูล Snapdragon 660, 630 เพื่อรองรับการใช้งาน Fingerprint Scan on Display ไว้เรียบร้อยแล้ว และในอนาคตยังจะรองรับ Chipset Snapdragon ตระกูลต่างๆ ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Snapdragon 800 series, 600 series, 400 series, 200 series หรือแม้แต่ผู้ผลิตบางราย อาจจะต้องการใช้ CPU ที่ไม่ใช่ Snapdragon ของ Qualcomm ก็สามารถใช้ Solution ของ Qualcomm ไปพัฒนาร่วมได้เช่นกัน
อนาคตของการนำเอา Advanced Fingerprint Scan นี้จะนำมาใช้ได้จริงเมื่อไร
ตามแผนการแล้วทาง Qualcomm จะสามารถส่งมอบตัวอย่างที่ใช้ได้จริงตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไปสำหรับ Fingerprint Sensor ที่ใช้กับวัสดุกระจกและโลหะ คาดว่าจะเห็นตัวสมาร์ทโฟนที่พร้อมจะออกขายได้ภายในต้นปี 2018 ส่วน Fingerprint Sensor ที่ใช้กับหน้าจอ OLED นั้น ทาง Qualcomm จะสามารถส่งมอบตัวอย่างที่ใช้ได้จริงได้ภายในต้นปี 2018 และคาดว่าจะเห็นตัวสมาร์ทโฟนที่พร้อมจะออกขายได้ภายในกลางปี 2018
เราก็ต้องมาลุ้นกันว่าใครที่จะสามารถออกผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนมาขายได้ก่อนกัน ที่แน่ๆ เราเห็นแล้วว่า vivo นำผู้ผลิตอื่นๆ แล้ว 1 ก้าวหลังจากที่ได้เปิดตัวเทคโนโลยีนี้ร่วมกับทาง Qualcomm และแสดงตัวผลิตภัณฑ์ต้นแบบออกมาแล้ว มาลุ้นกันนะครับว่าเจ้าเทคโนโลยี Advanced Fingerprint Scan จะเปลี่ยนโฉมของอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ และสมาร์ทโฟนไปได้อย่างไร มากน้อยแค่ไหน ที่เห็นเบื้องต้น อย่างน้อยเรื่องของการดีไซน์ก็น่าจะเปลี่ยนโฉมไปได้อย่างมากเลยทีเดียว
สำหรับแฟนๆ ท่านใดที่มีคำถาม สามารถติดตามมาได้ที่ twitter ของผม @peter2514 นะครับ ส่วน facebook ตามมาได้ที่ Techoffside ถ้าจะติดตาม Instagram ก็ Search หา ID “peter2514” ได้นะครับ แล้วเจอกันใหม่ฉบับหน้านะครับ ขอบคุณทุกการติดตามครับ