แม้ว่าระบบปฏิบัติการ Symbian จะอยู่ในตลาดมานานแสนนาน นับตั้งแต่ Nokia 7650 ถือกำเนิด จนถึงปัจจุบันก็มีรุ่นใหม่ออกมาให้เราเลือกหาใช้งานกันไม่ขาดสาย ถึงจะโดนกระแส iOS หรือ Android กลบกระแสไปบ้างแล้ว แต่ถึงอย่างไร Symbian ก็ยังคงครองใจสาวกโนเกียอยู่ไม่มากก็น้อย มาถึงวันนี้ โนเกียก็มีเวอร์ชั่นใหม่ออกมาทั้ง Anna และ Belle รวมถึงระบบปฏิบัติการใหม่อย่าง Meego บน โนเกีย เอ็น 9
Nokia Group Test Speed
Nokia 500
เป็นสมาร์ทโฟนราคาประหยัดที่ทางโนเกียหวังจะให้ตลาดล่างอัพขึ้นมาใช้สมาร์ทโฟนแทนฟีเจอร์โฟน โดยเน้นไปในเรื่องของสีสัน และการเปลี่ยนฝาหลังที่เอาใจวัยรุ่นขี้เบื่อ ซึ่งก็น่าจะถูกใจวัยโจ๋พอสมควร
Nokia 700
ขยับขึ้นมาอีกนิด กับ โนเกีย 700 ที่มีวัสดุ และงานประกอบดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด พร้อมทั้งอัพเกรดระบบปฏิบัติการขึ้นมาเป็น Symbian Belle ตัวเครื่องเน้นเล็ก และบาง หากไม่ต้องการเครื่องที่ใหญ่เทอะทะก็จัดรุ่นนี้ไปได้เลย
Nokia 701
สำหรับใครที่รัก Symbian เป็นชีวิตจิตใจคงต้องมองรุ่นนี้ เพราะมีหน้าจอที่ใหญ่กำลังดี วัสดุ และงานประกอบก็อยู่ในขั้นเลิศ มีกล้องดิจิตอลความละเอียดสูง ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ต้อง โนเกีย 701 รุ่นนี้เลย
Nokia N9
มาถึงตัวท็อปสุดของค่ายกันบ้างโนเกีย เอ็น 9 แม้ว่าจะผันเปลี่ยนตัวเองจาก Symbian เป็น Meego ระบบปฏิบัติการที่สดใหม่ ท้าทายผู้ใช้ที่ชอบค้นหา และใช้งานระบบใหม่จะต้องถูกใจ ด้วยรูปลักษณ์ และรูปแบบการใช้งานที่ปรับเปลี่ยนใหม่หมด หากคุณเป็นหนึ่งในกลุ่มนั้นต้องหามาลองแล้วล่ะ
ขนาด วัสดุ และการควบคุม
- 2-12-2554 12-15-43.png (6.97 KiB) เปิดดู 1521 ครั้ง
สมาร์ทโฟนทั้ง 4 รุ่นที่นำมาทดสอบนั้นเป็นหน้าจอแบบสัมผัสทั้งหมด แต่ละรุ่นมีขนาดต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งความใหญ่ และความบาง โดยมี Noia 700 มีขนาดเล็ก และบางที่สุดเพียง 9.7 มม. แต่หนักกว่า โนเกีย 500 ที่มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย เป็นผลมาจากตัวเครื่องที่ใช้โลหะเป็นส่วนประกอบ ส่วนรุ่นที่มีน้ำหนักมากที่สุดคือ โนเกีย เอ็น 9 ที่มีน้ำหนัก 135 กรัม
เรามาดูกันทีละรุ่น เริ่มจากน้องเล็ก โนเกีย 500 กับวัสดุที่เป็นพลาสติกทั้งหมด และมีขนาดหนาที่สุดในกลุ่ม แต่ก็มีน้ำหนักเบาที่สุดในกลุ่มด้วยเช่นกัน ในแพ็คเก็จยังมีฝาหลังเคลือบยางมาให้เปลี่ยนสีตามใจชอบด้วย การสั่งงานทั้งหมดทำได้จากหน้าจอสัมผัส แต่ที่ปุ่มด้านล่างเป็นปุ่มกดรับสาย วางสาย และปุ่มเมนู
โนเกีย 700 กับขนาดที่เล็ก และบางที่สุดในกลุ่ม ตัวเครื่องส่วนใหญ่ทำจากพลาสติก แต่ฝาหลังเป็นโลหะ ทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย ทำให้เครื่องดูคงทน งานประกอบจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีทีเดียว ไม่มีอาการกรอบแกรบให้เห็น การสั่งงานจะสั่งผ่านนิ้วมือเป็นหลัก ใต้หน้าจอก็มีเพียงปุ่มรับสาย วางสาย และปุ่มเมนู ใต้ปุ่มเป็นที่อยู่ของลำโพง
โนเกีย 701 ที่พัฒนาต่อมาจาก โนเกีย C7-01 ออกมาในเวอร์ชั่น Symbian Belle โดยรวมแล้วถือว่าแทบจะเหมือนกันทุกประการ ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่กว่า โนเกีย 700 เพียงเล็กน้อย วัสดุค่อนข้างคล้ายกันคือเป็นพลาสติก มีฝาหลังเป็นโลหะ งานประกอบก็ทำได้ดีเช่นเดียวกัน การสั่งงานก็แตะสั่งงานจากหน้าจอสัมผัส และจากปุ่มกดด้านล่าง
สุดท้ายกับ N0kia N9 กับวัสดุโพลีคาร์บอเนตชิ้นเดียว ไร้รอยต่อ ทำให้ตัวเครื่องแข็งแรง ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดให้โยกคลอน ตัวเครื่องขนาดบางที่สุดจะอยู่ที่หัว และท้ายที่มีความบางเพียง 7.6 มม. และส่วนที่หนาที่สุดอยู่บริเวณตัวเครื่อง มีความหนา 12.1 มม. น้ำหนักมากที่สุดคือ 135 กรัม ซึ่งก็ไม่ได้หนักอะไรมากมาย มีให้เลือก 3 สี ไม่ว่าจะเป็นสีดำ, ฟ้า หรือชมพู ส่วนการใช้งานจะสั่งผ่านปลายนิ้วเท่านั้น ไม่มีปุ่มเมนู หรือปุ่มโฮมเหมือนกับรุ่นอื่นๆ หากต้องการเปิดใช้งานก็เพียงแตะที่หน้าจอ 2 ครั้ง หน้าจอก็จะสว่างขึ้นมาทันที
ขนาดจอแสดงผล
- 2-12-2554 12-19-54.png (15.9 KiB) เปิดดู 1521 ครั้ง
NOKIA 500
NOKIA 700
NOKIA 701
NOKIA N9
ถึงแม้ว่า Nokia 500 จะมีขนาดใหญ่กว่า Nokia 700 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหน้าจอจะใหญ่ตาม กลับมีขนาดเท่ากันคือ 3.2 นิ้ว ความละเอียดเท่ากัน สำหรับรุ่นที่มีหน้าจอแบบ ClearBlack จะมีอยู่ในรุ่น 700 และ 701 ซึ่งก็หมายถึงว่าหน้าจอจะให้สีดำสนิทมากกว่าจอภาพแบบ TFT อย่าง Nokia 500 หากต้องการจอภาพที่ใหญ่ขึ้นมาอีกนิดก็จะเป็น Nokia 701 และ Nokia N9 ตามลำดับ
ความละเอียดของหน้าจอของ Nokia ทั้ง 3 รุ่นที่คือ 500, 700 และ 701 มีความละเอียด 640 x 360 พิกเซล ซึ่งมีอัตราส่วน 16:9 หรือ nHD ที่ใช้มาตั้งแต่ Nokia 5800 XpressMusic รุ่นแรก ส่วน Nokia N9 ก็มีอัตราส่วน 16:9 เช่นกัน แต่มีความละเอียดมากกว่าถึง 854 x 480 พิกเซล และทั้ง 4 รุ่นก็ใช้เทคโนโลยีการแตะสั่งงานบนจอภาพแบบ Capacitive ซึ่งตอบสนองเฉพาะปลายนิ้วเท่านั้น จะใช้ปากกาสไตลัสอื่นๆ มาแตะสั่งงานไม่ได้เลย
ระบบปฏิบัติการ หน่วยประมวลผล และหน่วยความจำ
สำหรับความแตกต่างของระบบปฏิบัติการ Symbian Anna และ Symbian Belle โดยรวมแล้วจะคล้ายๆ กัน ที่เห็นได้ชัดคือ Symbian Belle มีการพัฒนาในด้านการแสดงเมนูที่ดีกว่า ทั้งระบบทรานซิชั่นตอนเปลี่ยนเมนู, ไอคอนเมนูต่างๆ ที่ออกมารวมกันอยู่หน้าเดียว ซึ่งหากเป็น Symbian Anna แอพฯ ต่างๆ ที่ดาวน์โหลดจะไปรวมอยู่ในโฟลเดอร์ Applications ส่วนอื่นๆ ที่ปรับปรุงจะไปอยู่ในส่วนของผู้พัฒนาที่ทำออกมาให้เสถียรขึ้น รองรับระบบต่างๆ มากขึ้น หากเป็นผู้ใช้อย่างเราๆ คงไม่ต้องใส่ใจอะไรมากนัก
ระบบปฏิบัติการ Meego ที่ถือว่า Nokia N9 เป็นรุ่นแรก ซึ่งก็มีข่าวที่ไม่สู้ดีนักที่ Nokia จะไปให้ความสำคัญกับ Windows Phone มากกว่า แต่ก่อนหน้านี้ทาง Nokia ก็ได้ออกเครื่องมือสำหรับนักพัฒนาโปรแกรมที่สามารถแปลงแอพฯ จาก Symbian มาสู่ Meego ได้ ทำให้ Meego มีแอพฯ ออกมารองรับอย่างรวดเร็ว และมีให้เลือกมากพอสมควร จึงต้องยกนิ้วให้ทางโนเกียที่ออกมาสนับสนุนเครื่องมือตัวนี้
ในด้านความเร็วในการประมวลผลคงไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะทั้ง 4 รุ่นใช้ CPU ความเร็ว 1 GHz ทุกรุ่น จะต่างกันเพียงชิพประมวลผลภาพ 3D ซึ่งมีเพียง Nokia 500 เท่านั้นที่ไม่มี และชิพประมวลผล 3D ของ Nokia N9 จะดีที่สุด เพราะใช้ชิพ PowerVR SGX 530 เป็นหน่วยประมวลผล
ส่วนหน่วยความจำภายใน Nokia 500 และ 700 มีมาให้ 2 GB หากใช้งานไม่พอก็สามารถเพิ่ม microSD ได้อีก 32 GB แต่หากเป็น Nokia N9 ที่มีหน่วยความจำมาให้ 16 GB ไม่สามารถเพิ่มหน่วยความจำภายนอกได้ หากคิดว่าใช้งานไม่พอก็ต้องข้ามไปที่รุ่น 64 GB รับรองว่าใช้งานได้อย่างเหลือเฟือแน่นอน
การถ่ายภาพ
- 2-12-2554 12-35-36.png (44.16 KiB) เปิดดู 1521 ครั้ง
NOKIA 500
NOKIA 700
NOKIA 701
NOKIA N9
น่าแปลกที่ทางโนเกียไม่ใส่ระบบออโต้โฟกัสมาให้กับกล้องในหลายๆ รุ่น โดยเฉพาะ Nokia 700, 701 ซึ่งเป็นรุ่นที่มีราคาระดับหมื่น แต่ถึงอย่างไรหากไม่ต้องการถ่ายภาพมาโคร ระบบออโต้โฟกัสก็ไม่ค่อยมีความจำเป็นสักเท่าไหร่ จะมีเพียงกล้อง Nokia N9 ที่มีระบบออโต้โฟกัส ความละเอียด 8 ล้านพิกเซล และใช้เลน Carl Zeiss ซึ่งเป็นเลนส์คุณภาพสูง ส่วนไฟแฟลชแบบ LED ที่ช่วยส่องสว่างในที่มืด จะมีเพียง Nokia 500 รุ่นเดียวที่ไม่มีไฟแฟลชมาให้ นอกจากนี้ Nokia 500, 700 และ 701 ยังมีระบบตรวจจับใบหน้าโดยอัตโนมัติมาให้ด้วย
ในด้านการถ่ายวิดีโอก็มีเพียง Nokia 500 เช่นเดียวกันที่ถ่ายได้ที่ความละเอียด 640 x 480 พิกเซล 15 เฟรมต่อวินาที นอกนั้นไม่ว่าจะเป็น Nokia 700, 701 และ N9 ที่ถ่ายได้ความละเอียดระดับ HD 720p ในอัตรา 30 เฟรมต่อวินาที
ส่วนกล้องด้านหน้าจะมีเพียง Nokia 701 และ N9 ที่มีมาให้ แต่มีเพียง Nokia 701 ที่สามารถใช้กล้องด้านหน้าถ่ายภาพได้ หากเป็น Nokia N9 จะไม่สามารถถ่ายได้ จะทำได้เพียงการสนทนาแบบ Video call เท่านั้น
การเชื่อมต่อ
ในด้านการเชื่อมต่อในระบบ 2G นั้น ทุกรุ่นรองรับทุกความถี่ ไม่ว่าจะเป็น 850/900/1800/1900 MHz ส่วน 3G ทั้ง 4 รุ่นก็รองรับความถี่ถึง 4 ย่าน ไม่ว่าจะเป็น 850/900/1700/1900/2100 MHz เรียกได้ว่าครบทุกค่ายในบ้านเรา และนำไปใช้ได้ทั่วโลกเลยทีเดียว ส่วนความเร็วในการเชื่อมต่อในระบบ 3G ก็ทำได้ที่ 14.4 Mbps ทุกรุ่น สำหรับการเชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi ก็รองรับมาตรฐาน b/g ทุกรุ่นอยู่แล้ว จะมีเพียง Nokia 700, 701 และ N9 เท่านั้นที่รองรับมาตรฐาน n ที่ให้ความเร็วสูงกว่า
การเชื่อมต่อผ่านบลูทูธก็จะมีเพียง Nokia 700, 701 ที่รองรับบลูทูธเวอร์ชั่น 3.0 ส่วน Nokia 500 และ N9 รองรับเพียงเวอร์ชั่น 2.1 เท่านั้น ส่วนระบบนำทาง GPS พร้อมระบบช่วยอย่าง A-GPS และเข็มทิศดิจิตอลก็มีมาให้ทุกรุ่น มาพร้อมระบบนำทาง Nokia maps และระบบเสียงนำทาง โนเกียก็เปิดให้ใช้งานได้ฟรีทุกรุ่นเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว สำหรับระบบการเชื่อมต่อไร้สายแบบใหม่ล่าสุดที่เรียกกันว่า NFC ก็มีมาให้เฉพาะ Nokia 700, 701 และ N9 สามารถนำไปใช้กับอุปกรณ์เสริมต่างๆ ได้อย่างเช่นลำโพง Nokia 360 เพียงแค่นำเครื่องไปแตะก็สามารถเปิดเพลงฟังแบบไร้สายได้ทันที ไม่ต้องเสียบสายสัญญาณให้ยุ่งยาก หรือในอนาคตอาจจะนำไปใช้ชำระค่าสินค้าต่างๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าหน่วยงานในบ้านเราสนใจจะลงทุนใช้งานหรือไม่ ส่วนในตัวเครื่องก็มีเกม Angry Birds Magic ที่ต้องแตะกับ NFC เพื่อปลดล็อคด่านใหม่ๆ ด้วย
บทส่งท้าย
หลายท่านคงได้บทสรุปในการเลือกหามาใช้งานกันแล้ว ซึ่งแต่ละรุ่นก็มีจุดเด่น จุดด้อยต่างกันออกไป หากต้องการประหยัด Nokia 500 ก็มีความสามารถเกือบจะเทียบเท่ากับรุ่นใหญ่แล้ว เพียงแต่อาจจะใช้วัสดุที่ด้อยลงไป แต่หากต้องการเครื่องที่มีขนาดกะทัดรัด หน้าจอแสดงสีสันได้สวยงามก็เป็น Nokia 700 หรือหากต้องการเครื่องที่จับได้ถนัด หน้าจอใหญ่ขึ้นมาอีกนิดนึงก็ขยับไปที่ Nokia 701 และถ้าหากต้องการค้นหาความแปลกใหม่ ท้าทายกับระบบปฏิบัติการ Meego ซึ่งก็สามารถตอบโจทย์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งก็มีราคาค่อนข้างสูงเช่นกัน สำหรับฉบับนี้คงต้องกล่าวอำลาปี 2554 หรือ 2011 ปีแห่งมหาอุทกภัย ทิ้งความทุกข์ไว้ในปีนี้ให้หมดสิ้น พบกันปีหน้าฟ้าใหม่ 2555 หรือ 2012 กับคอลัมน์ What Phone Awards จัดอันดับมือถือ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตแห่งปี แล้วพบกันครับ