ส่องเทรนด์ร้อนวงการมือถือ ปี 2016
หลังจากการเคาะประมูล 198 รอบ ตลอดเวลา 5 วัน กับยอดเงินประมูลรวม 1.51 แสนล้านบาท ไทยเราก็มีค่ายมือถือที่จะเป็นผู้เล่นในตลาดคลื่นความถี่ 4G แล้ว 2 ราย นั่นคือ ค่ายน้องใหม่อย่าง บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ได้คลื่นความถี่ย่าน 895-905 MHz และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่ได้ คลื่นความถี่ 905-915 MHz คู่กับ 950-960 MHz ไปครอง!
นอกจาก 4G จะเปลี่ยนชีวิตคนไทยเหมือนเมื่อครั้งที่เน็ตบ้านถูกอัพเกรดสู่บรอนด์แบนด์อินเตอร์เน็ต อาทิ ดูหนังทั้งเรื่องด้วยภาพที่คมชัดขึ้นและไม่กระตุก (หนังความละเอียด 1080p จะมีให้เลือกดูเยอะขึ้น) เมื่อคิดประหยัดเงินอยากโทรผ่านเน็ตกับแอพฯ ต่างๆ ก็จะได้เสียงที่ฟังแล้วคมชัดขึ้น และที่ขาดไม่ได้ก็คือ การไม่ต้องกลัวมือถือหน่วยความจำเต็ม เพราะจะอัพข้อมูลไปเก็บไว้ใน “คลาวด์คอมพิวติ้ง” ก็ทำได้ไวทันใจยิ่งขึ้น
ดังนั้นสรุปสั้นๆ ว่ายิ่งมีการอัพเกรดคลื่นมือถือไปเท่าไหร่ สิ่งที่ผู้ใช้ได้คือ ความเร็วและปริมาณในการรับส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายโมบายอินเตอร์เน็ตมากยิ่งขึ้นนั่นเอง แต่ไม่ต้องห่วงเรื่องราคาค่าบริการที่จะแพงกว่าเดิม เพราะ กสทช. ได้กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตด้วย โดย 2 ค่ายมือถือ 4G นั้นจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมประชากร 50% ภายใน 4 ปี และต้องครอบคลุมประชากร 80% ภายใน 8 ปี ในส่วนของอัตราค่าบริการ 4G จะต้องมีอัตราค่าบริการถูกกว่าอัตราค่าบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน
แต่ก็อย่าลืมข้อเสียของมันก็มีชัดเจน เช่น หลายคนอาจจะติดมือถือหนักกว่าเดิม เพราะเปิดดูอะไรก็ไวทันใจ ก็อยากดูจนตาแฉะ และที่แน่ยิ่งกว่าแน่ก็คือ แบตมือถือจะยิ่งหมดเร็วกว่าเดิม ต้องพกแบตเสริมติดตัวตลอดเวลา ฉะนั้นคำเตือนข้อเดียวที่เราจะให้คุณได้คือ โปรดทำตัวเป็นเจ้านายของมือถือ เราต้องควบคุมมันให้ได้!
และในวงการมือถือพลวัตรที่น่าสนใจที่จะเป็นเทรนด์ในปีหน้าไม่ได้มีแต่เรื่อง 4G (เพราะอย่างจีนเขาก็ไป 5G แล้ว) ดังนั้นเราจึงขอหยิบกระแสใหม่ๆ ที่คาดว่าจะเป็นประเด็นร้อนในวงการมือถือปีหน้ามาฝากคุณๆ กัน!
เริ่มกันที่เทรนด์การการออกแบบแอพฯ บนมือถือ (Mobile UI-UX Design) กันเลย
จากการที่รวบรวมไอเดียจากหลายกูรู พบการฟันธงที่คล้ายคลึงกันนั่นคือ
- ยิ่งออกแบบยิ่งต้องเรียบง่าย ให้แบคกราวด์เบลอๆ แล้วเนื้อหาบนจอเด่นลอยออกมา
- ต้องนึกถึงความสามารถของเทคโนโลยีใหม่อย่าง 3D Touch หรือจอที่รองรับกับแรงกดได้หลายระดับ
ซึ่งทำให้ตัวเครื่องมีปฏิกิริยาตอบสนองในแต่ละระดับที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งตอนนี้ถูกนำมาใช้แล้วในนาฬิกาแอปเปิ้ล และในไอโฟน 6s โดยมันจะนำมาซึ่งการปฏิสัมพันธ์รูปแบบใหม่กับจอมือถือ ที่ไม่ต้องรอเปิดหน้าเพจมากมายอีกต่อไปแล้ว แค่กดลึกลงไปในจออีกขั้นก็ดูเนื้อหาที่เป็นน้ำจิ้มได้ เช่น ตัวอย่างแนวคิดการออกแบบ UX ของฟีเจอร์ไว-ไฟที่กดที่ปุ่มไอค่อนไว-ไฟก็เลือกหาเสาสัญญาณที่ต้องการได้ทันที หรือการกดที่ไอค่อนแอพฯ เขียนบล็อก ก็สามารถเลือกได้เลยว่าจะอัพรูปหรือเริ่มต้นเขียนบทความใหม่ เป็นต้น
- สุดท้ายที่ขาดไม่ได้ก็คือ การทำเว็บหลักให้เปิดได้กับทุกอุปกรณ์ ไม่ว่าจอจะเล็กหรือใหญ่
การทำเว็บหลักให้เปิดได้กับทุกอุปกรณ์ ภาษาเชิงเทคนิคเรียกว่า Responsive Web Design วิธีนี้จะทำให้เว็บเดิมที่กูเกิ้ลรู้จักอยู่แล้ว ยังคงสภาพเว็บที่ติดอันดับการค้นหาลำดับแรกๆ ต่อไป เพราะกูเกิ้ลรู้ว่าเว็บของคุณสามารถเปิดได้กับทุกอุปกรณ์ ซึ่งก็อำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้โดยรวม
เว็บที่ทำแบบนี้ได้ส่วนมากจะเป็นเว็บไซต์รุ่นใหม่ๆ สำเร็จรูปที่มีธีมและระบบจัดการเนื้อหามาให้พร้อมแล้ว เช่น WordPress เป็นต้น
ดังนั้นต้องตั้งเป้าปีหน้าเว็บคุณต้องเปิดชมบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้สบายตา มิฉะนั้นจะโดนกูเกิ้ลเตะตกกระป๋อง
ต่อมาเป็นเทรนด์ของการหาเงินผ่านแอพฯ (Mobile Business)
สิ่งแรกที่คุณจับต้องได้ในปีนี้ก็คือ ชีวิตสะดวกสบายขึ้นเพราะอะไรๆ ก็เรียกหาได้ผ่านแอพฯ ตั้งแต่รถแท็กซี่ เบียร์เย็นๆ หรือเสื้อผ้าที่ซักเสร็จหอมๆ พร้อมใส่ไปทำงาน
เพราะสตาร์ทอัพที่หันมาทำธุรกิจแบบ O2O (Online 2 Offline) ใช้แอพฯ เป็นเครื่องมือจัดหาคนมาบริการเราในโลกออฟไลน์ กำลังเป็นที่นิยมในทุกประเทศทั่วโลก เริ่มตั้งแต่ อเมริกา ผ่านมาถึงจีน ที่มีบริการแปลกๆ อย่างเรียกหมอนวดมานวดที่บ้านแบบชิลๆ หรือตามพ่อครัวตัวจริงมาทำอาหารถึงในครัวบ้านเราเอง พร้อมล้างจานให้เสร็จสรรพ หรือจองหมอผ่าตัดคนดังและห้องว่างผ่านมือถือก็มี (แต่เวลาผ่าไม่ได้ผ่าที่บ้านนะ ไปผ่าที่ รพ.)
นอกจากนี้แล้วธุรกิจประเภทคอนเท้นต์บนมือถือที่ออกมาต้อนรับ 4G อย่างการดูหนัง ซีรี่ส์ทั้งเรื่อง หรือแม้แต่การอ่านหนังสือ นิตยสารทั้งเล่ม แบบบุฟเฟต์ ทำให้เลือกดู-อ่าน-ฟัง ได้ไม่อั้น ก็กำลังจะเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะมีราคาเดียวที่ชัดเจน แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้ให้บริการเนื้อหาต้องหาวิธีดึงเงินเข้ากระเป๋าจากการสมัครสมาชิกต่อเนื่องทุกเดือน หรือสมัครรายปีจากลูกค้าคนไทย ที่งบประมาณเพื่อการบันเทิงที่ต้องจ่ายเงินยังไม่มากเท่าไหร่นั่นเอง (เพราะอย่าลืมว่าเว็บ-แอพฯ เสพสื่อบันเทิงแบบละเมิดลิขสิทธิ์ก็ยากจะตามจับหมด)
ด้านเนื้อหาบนมือถือ (Mobile Content)
สิ่งที่ยังเรียกความว้าวและสร้างความแตกต่างจากเนื้อหาเดิมๆ อย่าง หนัง เพลง ข้อความ ก็คือ การทำให้มันดู-ฟังยิ่งสมจริง ซึ่งเทคโนโลยีเดียวที่ทำระดับนั้นได้ก็คือ VR (Virtual Reality) ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายบริษัทที่ออกมายืนยันแถวหน้าว่าเทคโนโลยีนี้จะต้องยิ่งแรงขึ้นในปีหน้า เช่น เฟสบุ๊ก ซัมซุง (ที่ตั้งใจจะทำให้เราอ่านเนื้อหาออนไลน์แบบเสมือนจริงกว่าเดิม ผ่านเบราว์เซอร์ระบบ VR และแว่นตา VR นั่นเอง
อันที่จริงอุตสาหกรรมโฆษณา อีเว้นท์ ท่องเที่ยวการเดินทาง ดูเหมือนจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ เช่น แอพฯ VR ช่วยให้เสมือนเข้าไปนั่งหลังพวงมาลัยรถเพื่อขับไปยังถนนที่ไม่มีอยู่บนโลกจริงๆ หรือการที่แบรนด์สายการบินพาไปเที่ยวข้ามซีกโลกได้ทั้งๆ ที่ยังนั่งอยู่ในเก้าอี้บนเครื่องบิน เป็นต้น
แต่ปีหน้าประโยชน์ของ VR จะถูกขยายไปที่อุตสาหกรรมการแพทย์ด้วย เพราะที่ผ่านมามีแพทย์ที่ได้ทดลองนำอุปกรณ์ VR และเนื้อหาที่เกี่ยวกับการทำสมาธิ ผ่อนคลาย ไปบำบัดรักษาคนไข้ที่มีความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ หรือโรค Post traumatic stress disorder (PTSD) ซึ่งภาพและเพลงที่เลือกมาใช้อย่างถูกทางนั้นสามารถช่วยบำบัดทั้งด้านสมองและจิตใจของพวกเขาได้อย่างเห็นผล
และ ณ ปัจจุบัน อุปกรณ์ที่ช่วยในการชมเนื้อหา VR ก็ได้ถูกพัฒนาขึ้นไปในหลายรูปแบบ เพื่อความสะดวกในการเสพเนื้อหาในราคาที่ถูกลง ตั้งแต่เป็นกระดาษพับอย่าง Google Cardboard ไปจนถึงอุปกรณ์สวยๆ ราคาเบาๆ โดยล่าสุดค่ายสื่อบันเทิงยักษ์ของจีนก็ออกแว่น VR มาในราคาไม่ถึง 1,000 บาท! ซึ่งใครๆ ก็เป็นเจ้าของได้!
ด้านโฆษณาและการตลาด (Mobile Marketing & Advertising)
สิ่งที่กำลังจะเป็นนิมิตใหม่สำหรับคนใช้กูเกิ้ลคือ หากใช้มือถือค้นหา ผลการค้นหาจะถูกใจมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การแนะนำแอพฯ ที่สอดคล้อง (แทนที่จะเป็นเว็บเพียงอย่างเดียว) หรือการแนะนำไปยังเพจที่พร้อมจะกดสั่งซื้อเมื่อค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า เช่น พิซซ่า ก็จะเป็นการเข้าดูหน้าเมนูพร้อมสั่งเลย แทนที่จะเป็นหน้าหลักของเว็บไซต์เป็นต้น
และสำหรับนักการตลาดดิจิตอล การกระตุ้นให้ผู้ใช้เกิดพฤติกรรมการซื้อสินค้า ณ จุดขาย ด้วยกลยุทธ์ Proximity Marketing ด้วยการใช้อุปกรณ์ iBeacon เพื่อส่งสัญญาณแจ้งข่าวสารหรือโปรฯ ใหม่ให้ลูกค้าผ่านมือถือจะถูกนำมาใช้ในร้านค้า ธนาคาร โรงพยาบาลมากยิ่งขึ้น เพื่อเข้าสู่รูปแบบของการทำการตลาดที่เรียกว่า SoLoMo (Social Local Mobile) ที่หมายถึงการส่งข้อมูลให้ถูกคน ถูกที่ และถูกเวลานั่นเอง
ตอนนี้ในห้างดังของอเมริกา และจีน ก็ลุยใช้เทคโนโลยีนี้มาสักพักแล้ว อาทิ ร้านเครื่องสำอาง Sephora, ร้านแอปเปิ้ล, ห้าง Macy’s, Target ในอเมริกา และ Suning ในจีน และก็อย่าลืมว่าสารเหล่านี้ต้องไม่หยุดแค่ที่จอมือถือ จะต้องสามารถไปปรากฏยังอุปกรณ์ไฮเทคที่พวกเขาสวมใส่อยู่ด้วย เช่น สายรัดข้อมือ หรือนาฬิกาอัจฉริยะนั่นเอง
สุดท้ายคือ เทรนด์การลงโฆษณาบนมือถือ สรุปง่ายๆ ว่าต้องทำยังไงก็ได้ให้คนไม่รู้สึกว่ามันเป็นโฆษณามากที่สุด ซึ่งเทคนิคแบบมีกึ๋นซึ่งอาจจะต้องมิใช่แค่ทำให้เว็บมาอยู่ในแอพฯ หรือหากทำแอพฯ เสร็จแล้วก็ไปโพสต์ลงโฆษณาในบริการประเภทโฆษณาออนไลน์-เฟสบุ๊กแต่เพียงอย่างเดียว เพราะยังมีโอกาสใหม่ๆ โดยการผสานแบรนด์เข้าไปยังช่องทางเดิมที่ลูกค้าใช้ประจำก็น่าจะเป็นวิธีที่ทำให้คนเข้าถึงได้เร็วกว่า ซึ่งก็มีทั้งแบบถูกๆ คือ การทำโฆษณาแนว Content Marketing (ที่ใช้สมองคิดและการออกแบบสวยๆ เป็นหลัก) เช่น แบรนด์อมยิ้มชูพาชุปส์ ทำเกมสนุกๆ อินเตอร์แอคทีฟในแต่ละโพสต์บนอินสตาแกรม เพื่อให้คนตามล่าหาอมยิ้มให้เจอ เป็นต้น
แต่หากเป็นแบรนด์ใหญ่ การเป็นสปอนเซอร์ในแอพฯ ดังก็น่าสนใจ เช่น ค่ายหนังทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ อยากโปรโมทการ์ตูนสนู๊ปปี้กับวัยรุ่น จึงเลือกลงโฆษณาที่เป็นกรอบภาพรูปการ์ตูนจากหนังเรื่องนี้ในแอพฯ SnapCHat เป็นต้น