หากคุณติดตามข่าวสารอัปเดทของบริษัทแอปเปิ้ลมาตลอดจะพบว่าก่อนที่ไอโฟน 5 จะออกก็ได้มีการคาดการณ์อย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะว่ามือถือรุ่นใหม่นี้จะมีชิป NFC (Near Fields Communincation) ติดมาด้วย ซึ่งจะช่วยให้ไอโฟนอัจฉริยะขึ้น สื่อสารกับอุปกรณ์ใกล้เคียงได้สะดวกขึ้น และที่สำคัญคือจะช่วยในการใช้มือถือแทนกระเป๋าสตางค์ได้ในที่สุด (เหมือนที่กูเกิลใช้งานกับบริการ Google Wallet) แต่แล้วก็ไม่เป็นอย่างนั้น ทำให้กูรูหน้าแตกไปตามๆ กัน แต่อันที่จริงข่าวลือนี้มีมูล..!
จนที่สุดเมื่องาน WWDC 2013 เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา วันเดียวกับที่ iOS7 เปิดตัว ทางแอปเปิ้ลก็ทำให้คนในวงการอึ้งกับเทคโนโลยีใหม่ที่ตัวเองเรียกว่า “iBeacon” ที่มีประโยชน์การใช้งานคล้ายกับ NFC แต่เจ๋งกว่าในหลายๆ ด้าน
โอกาสนี้เราจึงขอเจาะลึกทุกซอกทุกมุมของ “iBeacon” ของเล่นใหม่จากแอปเปิ้ลที่ไม่เพียงแต่แอปเปิ้ลจะได้ประโยชน์ แต่หลายฝ่ายกลับมองว่าจะพลิกโอกาสธุรกิจให้กับหลายวงการเลยทีเดียว!
“iBeacon” คืออะไร?
“iBeacon” ภาษาอังกฤษอ่านออกเสียงว่า “ไอบีเกิ้น” คือ เทคโนโลยีใหม่ในรูปแบบของการเขียนโปรแกรมลงไปในระบบปฏิบัติการมือถือของแอปเปิ้ล เริ่มต้นใช้ครั้งแรกกับ iOS7 โดยระบบโปรแกรมนี้จะเป็นตัวที่ทำให้ชิปบลูทูธ 4.0 (Bluetooth Low Energy (BLE) หรืออีกชื่อคือ Bluetooth Smart) ที่มีอยู่ในสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ รับรู้ตำแหน่งพิกัดของตัวเอง และสามารถสื่อสาร รับส่งข้อมูลกับอุปกรณ์อัจฉริยะอื่นๆ รอบๆ ตัวในระยะ 50 เมตรแบบไร้สายได้ โดยที่ไม่เปลืองแบตเตอรี่
สิ่งที่ทำให้ไอบีเกิ้นต่างจาก NFC คือ ระยะห่างระหว่างการสื่อสารระหว่าง 2 อุปกรณ์ เพราะ NFC ต้องนำมือถืออยู่ห่างจากเครื่องอ่านในระยะ 4 นิ้ว แต่ iBeacon ครอบคลุมถึง 50 เมตร (ทั้งยังสามารถตั้งค่าให้ iBeacon ส่งสัญญาณระยะต่ำสุดในระยะแค่ 2 นิ้วก็ได้)
ไอบีเกิ้นก็ยังใช้งานต่างจาก GPS (Global Positioning System) ตรงที่ไอบีเกิ้นเน้นใช้งานในร่ม โดยจะระบุพิกัดได้ชัดเจนกว่า GPS เพราะสัญญาณ GPS ส่วนมากไม่สามารถทะลุทะลวงมายังผนังตึกหนาๆ ทำให้ตำแหน่งของ GPS ในที่ร่มไม่ชัดเจนเท่าไอบีเกิ้น นั่นเอง
อย่างไรก็ดีการใช้งานไอบีเกิ้นมักจะอยู่ในรูปแบบของการส่งสัญญาณจากเครื่องส่งสัญญาณไอบีเกิ้นมายังแอพฯ ในมือถือ iOS และตอนนี้ก็มีหลายแอพฯ ได้เขียนโปรแกรมให้ทำงานกับเทคโนโลยี นี้แล้ว!
“ไอบีเกิ้น” เอาไว้ใช้ทำอะไร?
เมื่อคุณพอรู้แล้วว่าคืออะไร แตกต่างจากเทคโนโลยีที่คุณเคยรู้จักอย่าง NFC, GPS อย่างไร? ต่อไปนี้คือ การฉายภาพให้เห็นว่าเอาไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันของเราได้อย่างไร?
ใช้ไอบีเกิ้นที่ห้าง
เพราะแอปเปิ้ลเป็นคนคิดค้นเทคโนโลยีนี้เอง จึงจำต้องโชว์เคสว่าเทคโนโลยีนี้ใช้งานอย่างไร? เมื่อเดือนที่ผ่านมา ทางร้านแอปเปิ้ลกว่า 245 สาขาในอเมริกาได้เริ่มใช้ไอบีเกิ้นเพื่อเอาใจลูกค้า โดยเมื่อใดที่ลูกค้าที่ลงแอพฯ Apple Store และเดินเข้ามาที่ร้าน ตัวแอพฯ จะส่งข้อความเด้งขึ้นมาเพื่อต้อนรับลูกค้าแต่ละคนทันที โดยแอพฯ จะเป็นเสมือนผู้ช่วยของเรา คอยแนะนำว่าสินค้าที่ต้องการอยู่ที่ไหน บอกทางเลี้ยวซ้ายขวาจนไปเจอของที่ชั้นวาง โดยอุปกรณ์ที่ส่งสัญญาณไอบีเกิ้นนั้นคือการปรับตั้งค่าให้เครื่องไอโฟน
นอกจากนี้ในห้าง Mecy’s ในอเมริกา เมื่อนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ก็สามารถส่งข่าวสารโปรโมชั่นสินค้า (ที่สอดคล้องกับรายการสินค้าที่เคยซื้อมาก่อนหน้า) รวมถึงเมื่อไปยังบูธที่มีโปรโมชั่นใดๆ ก็จะแจ้งข่าวสารถึงมือถือทันที
ดูวิดีโอการใช้งานไอบีเกิ้นในห้าง Mecy’s ได้ที่นี่
http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=CipsLFB8KFk
นอกจากนี้ร้านค้าเล็กๆ อย่างร้านเสื้อผ้า เครื่องประดับ เมื่อติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณขนาดเล็กไว้ที่ตู้โชว์ เราสามารถตั้งค่าได้ว่า เมื่อใดที่ลูกค้ายืนดูสินค้าที่หน้าร้านเราเกิน 5 วินาที ก็ให้ส่งคูปองส่วนลดสินค้านั้นเข้ามือถือลูกค้า เป็นต้น
ดูวิดีโอการส่งคูปองเข้ามือถือลูกค้าผ่านระบบไอบีเกิ้นได้ที่นี่
http://www.youtube.com/watch?v=sUIqfjpInxY
และสำหรับ Paypal ผู้นำระบบจ่ายเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ก็ได้ฤกษ์ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของไอบีเกิ้นในการชำระเงินในโลกออฟไลน์แล้ว ด้วยการออกบริการ Paypal Beacon โดยแจกอุปกรณ์เสริมหน้าตาเหมือนแฮนดี้ไดรฟ์ที่เมื่อเสียบเข้ากับคอมพิวเตอร์ที่แคชเชียร์ก็จะช่วยให้ลูกค้าจ่ายค่าสินค้าได้จากมือถือโดยผ่านระบบของ Paypal หมดสมัยที่ต้องรอต่อคิว ควักเงินสด-เซ็นบัตรในการช้อปปิ้งอีกต่อไป (ทั้งมือถือก็ไม่ต้องต่อเน็ตด้วย)
วิดีโอแนะนำการจ่ายเงินด้วยมือถือในห้างผ่านระบบไอบีเกิ้น
http://www.youtube.com/watch?v=P0QCRRsuqAo
สรุปได้ง่ายๆ ว่าไอบีเกิ้นช่วยให้เราช้อปปิ้งได้ง่าย และไวขึ้น เพราะสามารถหาของที่ชั้นวางได้เร็วขึ้น จ่ายเงินได้ไวขึ้น ที่สำคัญฉลาดช้อปมาขึ้น เพราะได้รู้โปรโมชั่นใหม่ๆ แบบเรียบไทม์ ณ จุดขายนั่นเอง
ใช้ไอบีเกิ้นที่บ้าน
ไอบีเกิ้นยังนำพาความสะดวกสบายในชีวิตมาให้กับบ้านอัจฉริยะในอนาคตด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสั่งให้เปิดประตูโรงรถ เปิดไฟ ทันทีรถของเราใกล้จะถึงบ้าน และปิดทุกอย่างโดยอัตโนมัติเมื่อเราเดินออกจากโรงรถ เป็นต้น
ไอบีเกิ้นยังมีประโยชน์ในอีกหลายสถานการณ์…
ใช้มือถือเป็นไกด์ในพิพิธภัณฑ์
หากคุณเคยไปลูฟท์ หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่และดีที่สุดของโลกในปารีสก็จะรู้ว่า การมีแผนที่ดิจิตอลนั้นจะทำให้เราเดินได้ถูกทาง และได้รับข้อมูลอย่างดีเยี่ยม และจุดนี้เองที่ไอบีเกิ้นช่วยได้ นั่นก็คือ เมื่อสามารถบอกว่า ขณะนี้เราอยู่ตำแหน่งไหนในโซนไหนของพิพิธภัณฑ์ และภาพศิลปะที่เรากำลังเห็นอยู่ตรงหน้าคืออะไร
วิดีโออธิบายการปฏิวัติการเที่ยวพิพิธภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีอย่างไอบีเกิ้น
http://www.youtube.com/watch?v=MUlYpCmtHbE
ไอเดียเดียวกันนี้ยังปรับใช้กับสถานที่ใหญ่ๆ อย่างสนามบิน (ในการหาห้องน้ำ หรือเค้าเตอร์ต่างๆ) สนามกีฬา (นำทางไปหาสถานที่ขายของที่ระลึกหรือร้านอาหาร) เป็นต้น รวมถึงถนนสายสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวของแต่ละเมือง เช่น แนะนำถนนสายต่างๆ ตลอดทางบนเกาะรัตนโกสินทร์ เป็นต้น
ไอบีเกิ้นสร้าง Proximity Marketing ในวงการโฆษณา
อีกหนึ่งวงการที่จะได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ จากเทคโนโลยีของไอบีเกิ้นก็คือ วงการโฆษณา ที่สามารถที่จะใช้สื่อเก่าสื่อสารกับลูกค้าแบบอินเตอร์แอคทีฟได้
อันที่จริงแนวคิดนี้ คนในวงการโฆษณาได้ลองกับเทคโนโลยีเก่าๆ ของมือถืออย่าง อินฟราเรด, บลูทูธ, NFC มาหมดแล้ว เช่น เมื่อเดินผ่านป้ายบิลบอร์ดเห็นโฆษณาหนังใหม่ มือถือก็จะส่งคูปองซื้อป๊อปคอร์นไปให้ เป็นต้น ซึ่งไอเดียการส่งสารโฆษณาในระยะใกล้ๆ ให้กับลูกค้าแบบนี้ถูกเรียกว่า Proximity Marketing นั่นเอง
แต่ที่ผ่านมา Proximity Marketing ยังไม่บูมมาก เพราะเทคโนโลยียังไม่เอื้อกับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ไฮเทค หลายคนไม่รู้ว่าจะเปิดบลูทูธตรงไหน มือถือตัวเองมี NFC หรือไม่ก็ไม่เคยทราบ ทำให้กิจกรรมการโฆษณาในรูปแบบนี้มักจะได้กล่องมากกว่าเงิน!
แต่เมื่อปรับมาใช้ไอบีเกิ้นในการทำ Event Marketing ก็น่าจะได้ผลกว่าในอดีต เพราะทางแบรนด์สามารถขอให้คนร่วมงานโหลดแอพฯ ของตัวเองก่อน จากนั้นเมื่อไปยังซุ้มไหนๆ ในงานก็สามารถยิงสารโฆษณาเพื่อไปแลกของในแต่ละซุ้มได้ และก่อนออกจากงานก็สามารถมอบคูปองส่วนลด เพื่อให้คนไปซื้อสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตทีหลังได้ หรือช้อปปิ้งจากเว็บเวอร์ชันมือถือของตัวเอง เป็นต้น
ไอบีเกิ้นละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่?
หลายคนฟังข้อมูลทั้งหมดแล้ว อาจจะเกิดความกังวลใจว่าเทคโนโลยีนี้คือตัวติดตามเรา ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร ซื้ออะไร ก็รู้ไปหมด เราจะป้องกันตัวอย่างไร?
อย่างที่เล่าไปแต่ต้นว่าจะทำงานควบคู่กับแอพฯ ต่างๆ ในมือถือ และต่อไปในอนาคตผู้สร้างแอพฯ ก็มักจะเขียนโปรแกรมให้แอพฯ ของตัวเองทำงานกับอุปกรณ์ส่งสัญญาณไอบีเกิ้นดังนั้นหากผู้ใดไม่ต้องการเปิดเผยพิกัดว่าเราอยู่ที่ไหน ทุกครั้งที่ลงแอพฯ ใหม่เสร็จ เมื่อใดที่มีหน้าต่างขึ้นว่า allow location เราก็ต้องเลือก “cancel” เพื่อมิให้แอพฯ ทราบพิกัดตำแหน่งของเรา หรือเข้าไปตั้งค่าปิดแบบถาวรได้ที่ Settings > Privacy > location service > Off เป็นอันปลอดภัย!
ไม่เพียงแต่อุปกรณ์ iOS ของแอปเปิ้ลเท่านั้นที่ใช้งานไอบีเกิ้นได้ ตอนนี้ก็มีนักพัฒนาแอพฯ ของแอนดรอยด์หลายรายได้สร้างแอพฯ ของตนให้ใช้งานกับไอบีเกิ้นได้ด้วย!
สุดท้าย ขอสรุปแบบสั้น 3 คำของประโยชน์ที่ผู้ใช้มือถือทุกคนจะได้จากการเทคโนโลยี iBeacon คือ right people, right place and right time!
Pingback: รู้จัก “iBeacon” พิกัดทำเงินจากไอโฟน | ibeacon.in.th