แอพพลิเคชั่นด้านตลาดหุ้นเป็นอีกหนึ่งแอพฯ ที่หลายท่านให้ความสนใจ เพราะช่วยอำนวยความสะดวกในการดูข้อมูลโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่ทุกอย่างก็ดูเร่งรีบไปเสียหมด อย่างไรแล้วเมื่อเห็นว่ามีความต้องการสูง แน่นอนย่อมมีผู้พัฒนาแอพฯ ประเภทนี้ออกมาจำนวนมาก เราลองไปพูดคุยกับคุณไปป์ ตู้จินดาผู้พัฒนา Stock Guru กันดีกว่าว่าเขามีมุมมองกับตลาด ด้านนี้อย่างไร
ผู้เขียน: ช่วยแนะนำตัวเองและทีมงานคร่าวๆ ก่อน ก่อนหน้านี้ทำอะไร
Stockguru: ทีมของ Stockguru มีทั้งหมด 6 คน แบ่งเป็น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง 3 คน (ดร.ไปป์, ดร.โน้ต, และ ดร.นัท) โปรแกรมเมอร์ 2 คน (ต้า, ลูกปลา) และนักการตลาด 1 คน (ปุ้ย)
ไปป์ เชี่ยวชาญด้านการดึงข้อมูล (Information Retrieval) โน้ตเชี่ยวชาญเรื่องหุ้น เคยเป็น stock broker ที่เมืองนอกมาก่อน และเรียนจบเอกด้าน Stock Quantitative Analysis มาโดยเฉพาะ นัทเชี่ยวชาญด้านการทำเหมืองข้อมูล (Data Mining) ทั้งสามคนเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล ปัจจุบันทำงานอยู่ที่เนคเทค
ต้า เป็น iOS developer โดยมีประสบการณ์การเขียนแอพฯ มาสามปี และลูกปลาเป็น Web และ Backend developer ต้าและลูกปลาทำงานอยู่ที่เนคเทคเช่นเดียวกัน
ปุ้ยเป็น Strategic Planner ทำงานสายโฆษณามา 8 ปีกับบริษัท Mindshare, Spa-Hakuhodo และปัจจุบันอยู่ที่ Dentsu 360 มีผลงานการวางแบรนด์เช่น Suzuki Swift, Utip, Red Bull International
ผู้เขียน: App Stock Guru ทำงานอย่างไร ได้แนวคิดมาจากไหน
Stockguru: แนวคิดหลักๆ คือ การลงทุนต้องมีข่าวที่ถูกต้องแม่นยำ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าแหล่งข่าวหรือคนที่แนะนำนั้น น่าเชื่อถือแค่ไหน ในอดีตเขาพูดถูกบ่อยไหม หรือส่วนใหญ่ที่พูดมาผิดหมด ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีใครทำการวัดผลตรงนี้เลย
App StockGuru ทำการวัดผล (rating) นักวิเคราะห์หุ้นจากโบรกเกอร์เจ้าต่างๆในไทย โดยมีการทำงานเป็นสามส่วน: Browse, follow, and feed
Browse: ผู้ใช้งานสามารถดู ranking ของโบรคเกอร์ โดย ranking จะถูกจัดตามเปอร์เซ็นต์การทำไรต่อครั้ง กล่าวคือถ้าเราลงทุนตามคำแนะนำของเจ้านี้ เราจะได้กำไรโดยเฉลี่ยต่อการเทรดหนึ่งครั้งกี่เปอร์เซ็นต์ นอกเหนือจากนั้น เรายังมีข้อมูลว่าแต่ละเจ้า ออกคำแนะนำที่ทำกำไร (#profit) กี่ครั้ง และ ออกคำแนะนำที่ทำให้ขาดทุน (#loss) กี่ครั้ง ผู้ใช้สามารถที่จะ filter ตาม อุตสาหกรรม หรือ เฉพาะหุ้นรายตัว เพื่อดูว่า ในอุตสาหกรรมหรือหุ้นแต่ละตัวนั้น นักวิเคราะห์คนไหนเก่ง
Follow: ผู้ใช้สามารถเข้าไปดูโพรไฟล์ของนักวิเคราะห์ได้ ซึงจะมีรายละเอียดคำแนะนำการลงทุนพร้อมผลของการแนะนำการลงทุนนั้น (ว่าทำกำไรหรือขาดทุน) ผู้ใช้สามารถกด ‘follow’ นักวิเคราะห์คนนั้นได้
Feed: นักวิเคราะห์ที่ผู้ใช้ตาม จะถูกแสดงผลที่ Feed ซึ่งแสดงผล คำแนะนำใหม่ๆ ของนักวิเคราะห์ หรือ ผลของคำแนะนำนั้นๆ (เมื่อมีการวัดผลได้)ว่าพูดถูกหรือผิด
ผู้เขียน:รูปแบบการหารายได้
Stockguru: ตอนนี้เปิดให้ใช้บริการฟรีอยู่ แต่ว่าในอนาคตจะมีบริการเพิ่มโดยจะมีการคิดค่าบริการเป็น monthly subscription
ผู้เขียน:ตอนนี้มีแอพฯ แนวหุ้นอยู่เยอะพอควร คุณคิดว่าอะไรคือจุดแข็งของแอพฯ นี้ และเป็น Barrier to entry เพราะคนอื่นก็น่าจะดึงข้อมูล Guru มา feed ได้ไม่ต่างกัน
Stockguru: แอพฯ ที่เราทำเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น แผนระยะยาวของเรามี features ที่จะสร้างข้อแตกต่างกับแอพฯ อื่นๆ แต่ใน context ของเวอร์ชั่นปัจจุบันนั้น ทุกคนสามารถเข้าถึง feed ได้ แต่ feed นั่นเป็นข้อมูลที่เรียกว่า unstructured data คือเป็นภาษาทั่วไป ไม่สามารถเอาไปใช้ได้ทันที ต้องนำมาทำการ ‘ดึง’ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในรูปแบบที่วัดผลได้ (ในรูปแบบตาราง) ออกมาจาก ตัวอักษรเยอะๆในข่าวก่อน หลังจากนั้นก็ต้องเอามาวัดผลซึ่งจะมีรายละเอียดปลีกย่อยในเรื่องของการวัดผลอีก
ส่วนข้อแตกต่างที่ชัดเจนคือ Stockguru ของเราเสนอข้อมูลที่มีการวัดผลครับ
ผู้เขียน: ปัญหาที่เจอหนักหน่วงสุดตั้งแต่ทำมาคืออะไร แล้วคุณแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร
Stockguru: ปัญหาที่เจอคือ เวลา, morale, และ คนภายนอกครับ
- เวลาไม่เคยพอ: วิธีแก้คือต้องจัดลำดับความสำคัญให้ถูกและรู้จักที่จะมอบหมายงานให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทำครับ
- Morale: ทำ startup นั้นไม่มีอะไรแน่นอนครับ บางทีมีอะไรให้ท้อใจ ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอน หรืออะไรต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่ในความควบคุมของเรา วิธีแก้คืออย่ายอมแพ้ครับ เป็น startup ต้องอึดต้องทน อย่าท้อง่าย หรือล้มแล้วก็ต้องลุกขึ้นสู้ต่อไป
- คนภายนอก: ปัญหาในการรันบริษัทส่วนใหญ่เป็นปัญหาของคนนะครับ ถ้าไม่ใช่คนภายในก็จะเป็นปัญหาจากคนภายนอก โชคดีที่เรามีทีมที่แข็งแกร่ง ไม่ค่อยมีปัญหาภายใน ส่วนนปัญหาจากคนภายนอก เราก็ต้องทำใจครับ ‘ลูกค้าผู้น่ารัก’ มีอยู่ทั่วไปเป็นเรื่องปกติ
ผู้เขียน: มองตัวเองอีก 2-3 ปีข้างหน้า อยากให้ Stockguru เติบโตไปอย่างไร
Stockguru: เราอยากสร้างเป็นแพลตฟอร์มการลงทุน ที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ในปัจจุบันนั้นการลงทุนในหุ้นต้องทำการศึกษามากมาย หรือถ้าจะให้มีที่ปรึกษาทางการเงินส่วนตัวช่วยลงทุนให้ ลูกค้าต้องมีเงินระดับเป็นสิบล้าน ทำอย่างไรถึงจะให้คนทั่วไป สามารถลงทุนในหุ้นได้แบบง่ายๆ เหมือนอย่างลงเงินกับกองทุน แต่มีอิสระในการปรับแต่งและเลือกสไตล์ให้เหมาะกับแต่ละคน โดยไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนเยอะขนาดนั้น
thumbsup: จากที่ตัวเองกระโดดมาเป็น Startup และเจอเพื่อนๆ Startup หลายราย คิดว่าตัวผู้ประกอบการเองยังขาดอะไร ตัว Startup เองควรพัฒนาไปในแนวทางไหน และคาดหวังอยากเห็นอะไรจากสังคม
Stockguru: Startup ที่เราเจอมีความหลากหลาย และก็อยู่ในหลาย Stage บางคนยังเริ่มที่ไอเดีย บางคนก็มีรายได้อยู่ได้แล้ว ในมุมมองของผม หากเปรียบเทียบกับ Startup เมืองนอกแล้วคิดว่ามีหลายจุด.. ผมไม่เรียกว่าขาดดีกว่า แต่ขอเรียกว่ายังต้องพัฒนาอีก ซึ่งก็เป็นหัวข้อที่หลายๆ คนเคยอาจได้ยินแล้ว แต่ก็ต้องพูดอีกเพราะคิดว่ามันสำคัญจริงๆ คือ ไอเดีย และ ตัวของทีม
ไอเดียผมคิดว่า เราควรจะ ‘ฝันให้ใหญ่’ นะครับ ผมว่าไอเดียก็เหมือนกับดูดวงนะครับ ฮาาา คือดวงแต่ละคนมันมีศักยภาพไปได้ไกลไม่เหมือนกัน บางคนเป็นได้แค่ยาจก บางคนเป็นได้ถึงมหาเศรษฐี เวลาเราเลือกปัญหาหรือไอเดีย ควรเลือกอันที่มีศักยภาพสูงมากๆ ไอเดียที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ เหมือนที่มีคนพูดว่า “Aim for the moon, even if you miss, you will land among the stars” ในเวทีระดับอินเตอร์ VC มักจะมองที่ Opportunity เสมอ พยายามมองหาปัญหาที่ Market Size ใหญ่ๆ ครับ
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือผู้ร่วมทีมครับ จริงๆ แล้วผู้ร่วมทีมอาจจะสำคัญกว่าไอเดียตั้งต้นอีกด้วยซ้ำ เพราะว่าเวลาลงมือทำจริงแล้ว จะเจอปัญหามากมาย สุดท้ายแล้วไอเดียที่เรามีตั้งแต่ต้นนั้นมันอาจจะไปไม่รอดก็ได้ แล้วตัวคุณในฐานะทีมมีศักยภาพที่จะ pivot ไอเดียเพื่อทำให้บริษัทอยู่รอดได้หรือไม่ ผู้ร่วมทีมควรมีผู้นำทีมที่แข็งแกร่ง สามารถคุมทีมฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ ไม่ย้อท้อต่อความล้มเหลวตามรายทาง เพราะมันจะมีจุดที่ล้มและจุดที่ท้อแน่ มีลูกทีมที่นอกเหนือจากใจสู้แล้วยังมีศักยภาพในการทำงานด้วย บางทีมเก่งแต่หัวหน้าทีม ไปรอดยากครับ
นับเป็นผู้เล่นอีกรายในแอพฯ ด้านตลาดหุ้นที่กำลังร้อนแรงและมีการแข่งขันกันมากพอสมควร เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่าทิศทางของแอพฯ นี้จะเป็นเช่นไร ใครที่จะสร้างรูปแบบธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Business Model) ได้ในบ้านเรา เมื่อฐานแข็งแล้ว เราต่างก็หวังว่าจะได้เห็นบริการของไทยสามารถขยายสู่ระดับภูมิภาคและเอเชียได้เช่นกัน แม้จะมีผู้เล่นท้องถิ่นของแต่ละประเทศอยู่ก็ตามที