AR (Augmented Reality) หรือ “ความจริงที่ถูกแต่งเติมเสริมขึ้นมา” นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะหลายๆ คนก็เคยลองใช้มาแล้วในรูปแบบต่างๆ
ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา AR อิงกับมือถือสมาร์ทโฟนอย่างมาก เริ่มจากยุคแรกๆ เมื่อราวๆ 5 – 6 ปีที่แล้ว AR ถูกลองใช้แพร่หลายโดยผู้ผลิตขนมหลายแบรนด์ในอเมริกา โดยจะให้ผู้ใช้โหลดแอพฯ AR แล้วส่องที่ซองขนมยี่ห้อนั้นๆ แล้วจะเห็นขนมข้างในกระโดดออกมาพร้อมตัวการ์ตูน ซ้อนไปกับฉากหลังซึ่งเป็นซองจริงๆ ที่เราส่องอยู่นั่นเอง
ต่อมาก็มีสมุดภาพและหนังสือหลายเล่ม ที่จะให้ผู้อ่านโหลดแอพฯ AR ด้วย จากนั้นเมื่อเปิดอ่านหนังสือ แล้วยกมือถือเปิดแอพฯ ส่องไปที่หน้านั้นๆ ก็จะได้เห็นสัตว์ตัวนั้นในรูป หรือการ์ตูนต่างๆ หรือคลิปประกอบซ้อนไปบนหน้าที่เรากำลังส่องนั้นเลย
2 รูปแบบตัวอย่างที่ว่าไปนี้เป็น AR ที่ตรวจจับรูปภาพตรงหน้า เช่นถ้าเจอว่าเป็นซองหรือกล่องหรือขวดสินค้ายี่ห้อนั้นๆ ถึงจะส่งภาพออกมา คล้ายๆ กรณี QR Code ที่ยกมือถือส่องแถบบาร์โค้ดแล้วเห็นกราฟฟิกหรือการ์ตูนโดดออกมา แต่นี่ไม่ต้องใช้แถบรหัสใดๆ แค่ส่องภาพที่ตรงกับที่ระบบตั้งไว้ ก็เห็นตัวการ์ตูนหรือข้อมูลโดดเด้งออกมาได้เลย
แต่ยังมี AR อีกแบบที่ซับซ้อนขึ้น คือมีบางเมืองที่สหรัฐฯและอังกฤษ ที่หากยกแอพฯ AR ที่หากผู้ใช้เดินที่ไหนแล้วหลงทาง ก็สามารถยกมือถือขึ้นมา เปิดแอพฯ เปิดกล้อง ส่องทางแยก ซอย หรือตึกต่างๆ ข้างหน้า ภาพ แล้วก็จะเห็นภาพกราฟฟิกซ้อนขึ้นมาบอกทางเป็นลูกศร เป็นป้าย ให้กดดูเพิ่มเติมได้ หรือแม้แต่เป็นตัวการ์ตูนโดดออกมาชี้นำทางไปที่ต่างๆ
แอพฯ AR ประเภทที่สองนี้ นอกจากดูภาพตรงหน้าแล้ว ยังมีการดูตำแหน่งที่อยู่ปัจจุบันเราจาก GPS และดูทิศทางที่เราหันไปด้วย …นี่อาจฟังดูไกลตัว แต่ถ้าคุณเคยลองเล่น Pokemon Go เมื่อมีภาพสัตว์ประหลาดซ้อนมาบนสิ่งต่างๆ ตรงหน้า นั่นก็คือ AR ในแนวที่ว่านี้เอง
ซึ่งในหลายๆ ประเทศมีการใช้บอกทิศทางบนถนนหรือทางเดิน ว่าที่หมายเรานั้นต้องไปทางไหน หรือร้านที่เราส่องอยู่นั้นมีสินอะไรลดราคาอยู่ในนั้นบ้าง ฯลฯ
แอพฯ ที่ใช้ดู AR ทั้งหลายนี้นั้น ก็มีทั้งที่แยกกันทำ ของใครของมัน ไว้ดูสิ่งของหรือสถานที่ของตัวเอง และมีทั้งแบบที่เป็นบริษัทตัวกลางทำแอพฯ AR ออกมาแล้วหาลูกค้าเป็นทั้งบริษัทผู้ผลิตขนม สินค้า และร้านค้าสถานที่ต่างๆ มาให้รองรับบนแอพฯ ตัวเองหมด เพื่อผู้บริโภคจะได้โหลดแอพฯ เดียวเล่นได้หลายสิ่งอย่าง เช่นแอพฯ ของบริษัท Aurasma ซึ่งถูก HP ซื้อกิจการไปเมื่อหลายปีก่อน
…
AR บนมือถือนั้น จะฮิตก็ไม่ใช่ จะดับก็ไม่เชิง แต่หลายฝ่ายก็ยังเชื่อว่านี่คืออนาคตแห่งสื่ออีกช่องทางหนึ่ง จึงมีความพยายามแจ้งเกิด AR ในรูปแบบที่ต่างออกไป นั่นคือการใช้ “แว่น”
ประโยชน์แรกของการใช้ “แว่น” ก็คือไม่ต้องยกมือถือ เพราะมี “แว่น AR” เห็นกราฟฟิกทั้งหลายนั้นขึ้นซ้อนมาบนความจริงที่มองอยู่ตรงหน้า จะเดิน จะวิ่ง จะทำอะไรก็คล่องตัวไปหมด เมื่อใส่แว่นแล้วจึงเสมือนมีอีกโลกหนึ่งปรากฏขึ้นมาซ้อนกับสิ่งรอบตัวปัจจุบัน ซึ่งเป็นลักษณะของแว่น AR อันต่างจากแว่น VR ซึ่งใส่แล้วเสมือนเป็นอีกโลกหนึ่งโดยมองไม่เห็นสิ่งแวดล้อมจริงรอบตัวเลย
เริ่มจากยักษ์ซอฟต์แวร์อย่าง Microsoft ก็เข้ามาบุกเบิกตลาดแว่น AR ด้วย “Hololens” โดยกับร่วมมือกับองค์การ NASA ในการออกแบบสร้างขึ้นมา โดยเป็นแว่นที่แสดงภาพสามมิติโปร่งแสงคล้ายภาพโฮโลแกรมได้ แถมยังยื่นมือไปสัมผัส จับเลื่อน บิดปรับแต่งภาพสามมิติเสมือนตรงหน้าได้ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นความสามารถเด็ดที่เหนือกว่า AR ทั่วๆ ไป
แว่นโฮโลเลนส์ทำงานได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกใดๆ (แต่ก็เชื่อมต่อได้ถ้าต้องการ) เพราะมี CPU และ GPU (ประมวลผลกราฟฟิก) ในตัวเอง แถมหมัดเด็ดเฉพาะตัวคือ “หน่วยประมวลผลโฮโลกราฟิก Holographic Processing Unit (HPU)” และเซ็นเซอร์จับการเคลื่อนไหว และแน่นอนว่ายังมีหูฟังในตัวด้วย
ส่วนหน้าจออันหรูหราสามมิติ ซอฟต์แวร์ต่างๆ เกมทั้งหลายนั้น นอกจากจะมาจากไมโครซอฟต์เอง และบริษัทต่างๆ แล้ว ผู้ใช้ทั่วไปก็สามารถพัฒนาระบบหน้าจอหรือวัตถุเสมือน 3 มิติของตัวเองได้ด้วย เพราะไมโครซอฟต์มี โปรแกรมที่มีชื่อว่า “HoloStudio” ออกมาพร้อมกัน ซึ่งใช้ได้ตั้งแต่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ยันนักออกแบบอุตสาหกรรม นักออกแบบบ้าน หรือนักออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งหลายเลย
อย่างไรก็ตาม ช่วงแรก HoloLens คงยังไม่ฮิตจ๋ามหาชน เพราะราคาช่วงแรกที่ขายพร้อมชุดซอฟต์แวร์ต่างๆ เช่น “HoloStudio” นั้นคิดเป็นเงินไทยก็ราว 1 แสนบาท โดยกลุ่มเป้าหมายช่วงแรกคือนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งอาจซื้อไปศึกษาเพื่อสร้างเกมหรือโปรแกรมออกมาขายเป็นรายแรกๆ และนักออกแบบมืออาชีพที่ซื้อไปใช้ออกแบบบ้านหรือตกแต่งห้องหรือนำเสนอผลิตภัณฑ์ รวมถึงบรรดาบริษัทจัดอีเวนต์ หรือบูธต่างๆ ที่ซื้อไปสร้างสีสันอันเร้าใจเพื่อดึงคนเข้าชมบูธ เป็นต้น
ฝ่ายกูเกิลนั้น ก็ออก “Project Tango” ระบบที่จะมากับแอนดรอยด์เวอร์ชั่นใหม่เร็วๆ นี้ ช่วยทำให้มือถือแอนดรอยด์สามารถตรวจจับสภาพแวดล้อมรอบตัว และแสดงภาพซ้อนแบบ AR ได้อย่างสัมพันธ์กับสภาพรอบตัวนั้น เช่นแสดงภาพเฟอร์นิเจอร์จำลองสามมิติมาซ้อนกับห้องว่างที่มีอยู่จริง ฯลฯ เป็นการเริ่มจับ AR จริงจังโดยเริ่มจากการผ่านจอมือถือสมาร์ทโฟน
นั่นคือนอกจากจะเป็น AR แบบที่อิงกับภาพตรงหน้าแล้ว ยังอิงกับมิติรอบตัวเช่นระยะห่างจากกำแพงห้องและเสาหรือสิ่งของต่างๆ รอบตัวและตรงหน้าด้วย
ระบบ “Tango” นี้จะเปิดตัวเต็มรูปแบบในต้นปี 2017 ที่งานแสดงไฮเทคชื่อดังคือ CES โดยงานนี้กูเกิลจับมือกับผู้ผลิตมือถืออย่าง Asus จะใส่เทคโนโลยีแทงโก้นี้ลงไปในมือถือรุ่นใหม่ “ASUS ZenFone AR”
ส่วนแว่นนั้น หลายปีก่อนนี้ทางกูเกิลมีผลิตภัณฑ์แว่นที่จะใช้แทนจอได้ ในชื่อ “Google Glasses” มาตั้งแต่ปี 2012 โดยเป็นแว่นที่ถ่ายภาพได้ ถ่ายคลิปได้ มีแบตเตอรี่ มีหูฟังและไมค์ในตัว ใช้เป็นจอเชื่อมต่อกับมือถือในกระเป๋า และมีระบบแจ้งเตือนข่าวสารข้อมูลต่างๆ เองด้วยเหมือนเป็นคอมพิวเตอร์เล็กๆ ในตัว (Wearable computer)
ในระยะแรกไม่ได้เจาะจงว่านี่จะเป็นแว่นเพื่อการใช้ AR เพราะว่าตัวแว่นก็ใช้งานอื่นๆ ได้ทั่วไป แต่เมื่อความนิยม AR เริ่มมีขึ้นมาเรื่อยๆ ฉะนั้นก็เริ่มมีการประยุกต์ใช้ทาง AR มากขึ้น โดยกูเกิลเพิ่งปรับตำแหน่งการตลาดของ Google Glass ไปจับกลุ่มบริษัทองค์กรต่างๆ ให้ซื้อทีละมากๆ ไปให้พนักงานใส่ทำงาน เพราะด้วยราคาคิดเป็นเงินไทยราวๆ 55,000 บาทนั้นยังแพงเกินกว่าจะฮิตติดตลาดผู้บริโภค
ตัวอย่างเช่นบริษัทโบอิ้งซื้อไปให้พนักงานซ่อมเครื่องบินใส่ เพราะจะได้ซ่อมเครื่องไปได้ อ่านคู่มือบอกขั้นตอนซ่อม ซ้อนมาต่อหน้าไปด้วยพร้อมกันเลย ง่ายกว่าเดิมที่ต้องซ่อมไปด้วย แล้วหยุดพักมาเปิดคู่มือไปด้วย สลับกันให้เสียเวลา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้แว่น Google Glass ยังไม่อาจเป็นแว่น AR เต็มตัวได้ คือหน้าจอที่เห็นจะเล็กๆ ไม่ครอบคลุมทั้งหมด โดยเห็นเท่ากับจอ 25 นิ้ว (ทีวีเล็กๆ) ที่ว่างห่างออกไป 2 เมตรกว่า จึงใช้งานแทนจอมือถือได้ แต่ใช้กับ AR ได้อย่างไม่เต็มที่นัก
แต่ล่าสุดกูเกิลเพิ่งประกาศว่ากำลังดีไซน์แว่น Google Glass ใหม่หมด ฉะนั้นน่าจับตามองว่าจะออกมาในแนวคล้ายๆ Hololen ของ Microsoft หรือไม่ ?
…
จากเดิมที่ AR อยู่แต่บนจอมือถือและแท็บเล็ต มาถึงจุดเปลี่ยนที่เพิ่มแว่นตาเป็นอีกช่องทางสำคัญ ทำให้หลายฝ่ายมอง แว่น AR ไปเทียบกับ แว่น VR (ที่เราพูดถึงไปในฉบับที่แล้ว) ว่าใครจะแพร่หลายได้เร็วกว่าแรงกว่า หรือว่าสุดท้ายจะ “แป้ก” หายไปทั้งคู่ ? … สุดท้ายก็เป็นผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่รอจะช่วยกันตัดสินอนาคตของเทคโนโลยีนี้ต่อไปในอีกไม่นาน