Article

Nokia และ Microsoft เมื่ออดีตคู่แข่งทางการค้า กลายเป็นพันธมิตรร่วมธุรกิจกัน!

โทรศัพท์มือถือ Nokia ภายใต้การกำกับดูแลธุรกิจของ Microsoft จะเป็นอย่างไร จะยังมียี่ห้อโทรศัพท์มือถือโนเกียอยู่อย่างนี้ ต่อไปอีกนานแค่ไหน

เพื่อไขข้อข้องใจและเก็บตกข่าวความเคลื่อนไหวในวงการเทเลคอมทั้งในบ้านเราและต่างประเทศสำหรับฉบับนี้จะมาพูดถึงการดำเนินธุรกิจต่อไปของ Nokia หลังจากที่ทาง Microsoft เข้ามาซื้อกิจในส่วนของโทรศัพท์มือถือไปแล้ว หลายๆ คนก็คงมีคำถามว่า แล้วโทรศัพท์มือถือโนเกียภายใต้การกำกับดูแลธุรกิจของไมโครซอฟท์จะเป็นอย่างไร จะยังมียี่ห้อโทรศัพท์มือถือโนเกียอยู่อย่างนี้ ต่อไปอีกนานแค่ไหน การเปิดตัว X Platform ที่ใช้ Android จะมีทิศทางต่อไปในเชิงธุรกิจอย่างไร เรามาติดตามกันครับ

Nokia และ Microsoft เมื่ออดีตคู่แข่งทางการค้า กลายเป็นพันธมิตรร่วมธุรกิจกันไปซะได้

ตั้งแต่ที่โนเกียจับมือกับพันธมิตรในวงการอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถืออย่าง Ericsson, Siemens, Motorola, Panasonic และ Psion ในปี 1996 เพื่อร่วมแรงร่วมใจกันทำ Smartphone ภายใต้ชื่อ “Symbian” OS เพื่อวางมาตรฐานการเป็น Smartphone โลกบนระบบปฏิบัติการเดียวกัน มาตรฐานเดียวกัน นั่นเป็นสัญญาณอย่างเป็นทางการว่า อุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือนั้นร่วมแรงกันเป็นปรปักษ์กับ Microsoft อย่างชัดเจน ซึ่งตอนนั้น Microsoft ได้หันมาทำ “Windows CE” สำหรับอุปกรณ์พกพาอย่าง PDA เพื่อต่อกรกับ Palm ที่กำลังมาแรง ก่อนที่จะผัน Windows CE ให้กลายมาเป็น “Pocket PC” ในปี 2000 และพัฒนาต่อสู่ “Windows Mobile” ในปี 2003 ก่อนที่ไมโครซอฟท์จะพัฒนากลายมาเป็น “Windows Phone” ในปี 2010 ทั้งสองบริษัทเป็นเหมือนถนนคู่ขนานและแข่งขันกันมาโดยตลอด รวมถึงที่ทั้งคู่ก็มาพ่ายแพ้ให้กับ Smartphone OS ใหม่อย่าง iOS จาก Apple ที่เปิดตัวขึ้นในปี 2007 ซึ่งการมาของ iPhone โทรศัพท์สมาร์ทโฟนตัวแรกจากค่าย Apple ทำให้ Symbian ของโนเกียซึ่งในอดีตเคยเป็นผู้นำสมาร์ทโฟนอย่างยิ่งใหญ่ ต้องกลายมาเป็นสิ่งที่ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าไป

ส่วน Windows Mobile ของไมโครซอฟท์ก็ไม่สามารถที่จะมานั่งรอพัฒนาการในตอนนั้นได้ จนต้องรีบเร่งในการพัฒนา Windows Phone ให้กลายมาเป็น Smartphone OS ใหม่เพื่อต่อกรกลับ iOS, Android อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่ง Windows Phone ก็ได้เปิดตัวต่อมาในปี 2010 ซึ่งก็ถือว่าไล่หลัง iOS อยู่ 3 ปีเลยทีเดียว กระนั้นต้องบอกว่าเรื่องของเรื่องเริ่มมาจากการมาของ Stephen Elop อดีตผู้บริหาร Microsoft ที่โยกย้ายมานั่งเป็น CEO ของโนเกียในช่วงเดือนกันยายน ปี 2010 โดยการมาของ Elop ได้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพื่อทำการกอบกู้ธุรกิจของโนเกียที่กำลังเริ่มดำดิ่งสู่ความตกต่ำ สิ่งที่ Elop ทำการปฏิรูปเลยก็คือ การนำเอา Windows Phone มาเป็นระบบปฏิบัติหลักของโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนโนเกียตอนนั้น โดย Elop ได้ยุติ Symbian OS รวมถึง Meego OS ลงไปในเวลาเดียวกัน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นพันธมิตรของอดีตคู่ปรับตัวฉกาจในวงการโทรศัพท์มือถือในยุคนี้
HTC-Windows-Phone-8S-Yellow1

sony-ericsson-p1i

ทำไมไม่โครซอฟท์ถึงซื้อโนเกียและทำไมโนเกียถึงยอมขายธุรกิจมือถือให้

การประกาศของไมโครซอฟท์เพื่อขอเข้าซื้อกิจการโทรศัพท์มือถือของโนเกียด้วยมูลค่าสูงถึง 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็คือ 230,000 ล้านบาท (ยังถูกกว่าที่ Microsoft ซื้อกิจการของ Skype ที่จ่ายไปถึง 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เมื่อปีก่อน ถือว่าเป็นการสร้างความประหลาดใจช็อควงการสื่อสารโทรคมนาคมโลกเป็นอย่างมาก ใครจะไปคิดว่ายักษ์ใหญ่ที่เป็นคู่แข่งทางการค้ากันเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา วันนี้จะมีการรวมร่างรวมทางธุรกิจ โดยที่คนหนึ่งเข้ามาซื้อกิจการของคู่แข่งไปเสีย ในยุคก่อนนั้นโนเกียเคยเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถืออันดับหนึ่งของโลก (ก่อนที่จะมาเสียแชมป์ให้ Samsung) ส่วน Microsoft ก็เป็นอันดับหนึ่งของโลกในด้านวงการคอมพิวเตอร์ ทั้งคู่แข่งขันกันมาตลอดตั้งแต่เริ่มยุคของสมาร์ทโฟน แต่เมื่อมาถึงจุดที่ทั้งคู่เริ่มจนแต้มทางการค้าต่อคู่แข่งตัวฉกาจ ไม่ว่าจะเป็น Apple, Samsung ทำให้สภาวการณ์ทางธุรกิจของทั้งสองบริษัทจะไม่มีอนาคตที่สวยงามสักเท่าไร ประสบปัญหาในการขาดทุนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ส่วนแบ่งการตลาดของสมาร์ทโฟนจากที่เคยเป็นที่หนึ่งในยุคเริ่มต้น กลับต้องมาเพรี่ยงพร้ำให้คนใหม่อย่าง iPhone หรือแม้แต่ผู้มาใหม่อย่าง Google Android ที่แท็คทีมกับ Samsung ได้อย่างเหมาะสมลงตัว

ขณะที่ไมโครซอฟท์เองพยายามปรับตัวในผลิตภัณฑ์ของตัวเองด้วยการออกวินโดว์โฟนมาแทนที่ Windows Mobile ด้วยหวังว่า Business Model เก่าอย่างที่เคยทำมาคือให้พันธมิตรทางการค้าอย่าง HTC, Samsung และรายย่อยอื่นๆ ผลิตสมาร์ทโฟนโดยใช้ OS อย่างวินโดว์โฟนจะทำให้ตัวเองรอดพ้นจากการตกเป็นรองบ่อนในเกมได้หมดไป แต่ก็ไม่เป็นผล เมื่อพันธมิตรผู้ที่ช่วยให้ ไมโครซอฟท์มีหน้ามีตา มีที่ยืนในตลาดสมาร์ทโฟนอย่าง HTC กลับผลักดันวินโดว์โฟนไปไม่เป็นอย่างที่ควรเป็น

สิ่งหนึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะทีมงานวินโดว์โฟนของไมโครซอฟท์เองนั้น ไปจำกัดขอบเขตทางด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์กับพันธมิตรมากจนเกินไป รวมถึงความเชื่องช้าในการพัฒนาวินโดว์โฟนให้มีความสามารถในการแข่งขันหลักๆ คือการที่ไม่ยอมให้ผู้ผลิตนั้นไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหน้าตาของระบบเมนูสำหรับผู้ใช้ใดๆ เลย ทำให้ไม่ว่าจะเป็นวินโดว์โฟนจากใครๆ ก็ต้องมีหน้าตาเหมือนกันหมดเมื่อเปิดเครื่องมา ซึ่งต้องยอมรับว่าในอดีตนั้น การที่ Windows Mobile แข็งแกร่งขึ้นและมีคนใช้มากมายก็ต้องยอมรับว่าเป็นผลมาจากที่ผู้ผลิตอย่าง HTC, Samsung นั้นเข้ามาปรับปรุงหน้าตาส่วนการใช้งาน ระบบเมนูของ Windows Mobile ให้มันดูเป็นมิตรมากขึ้นนั่นเอง นั่นทำให้วินโดว์โฟนของไมโครซอฟท์ไม่ได้น่ากลัวเลยสักนิดเมื่อเทียบปอนด์ต่อปอนด์กับไอโฟน หรือแอนดรอยด์ ถึงแม้การที่แท็คทีมกับโนเกียเพื่อให้ยักษ์เก่าได้มาช่วยในการผลักดันสินค้าโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนให้ใช้ วินโดว์โฟนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีหลายอย่างที่ยังไม่ลงตัวนัก

Microsoft ก็เลยมองการณ์ไกลถึงการที่ตัวเองจะต้องมีบริษัทลูกที่ผลิตเครื่องและขายเครื่องด้วยเลย คล้ายๆ กับการที่ Apple มีผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเองอย่าง iMac, Macbook คอมพิวเตอร์ รวมถึง iPhone, iPad ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับที่ Microsoft เองก็มี Xbox เป็นผลิตภัณฑ์อยู่ในด้านวงการเกม ซึ่งนั่นจะทำให้ Microsoft ควบคุมและวางกลยุทธ์ในการแข่งขันได้ดีกว่าเดิมเพราะมีทั้งทีมงานทำด้าน OS ระบบปฏิบัติการ Windows Phone และทีมงานที่พัฒนาด้านฮาร์ดแวร์โทรศัพท์มือถือ ให้เหมะสมกับการแข่งขันและการวางกลยุทธ์ในระยะยาว รวมถึงการนำเอา Microsoft Services ทั้งหลายเข้าสู่กลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟนให้มากขึ้น อาทิเช่น Bing Search, One Drive, Skype, Outlook.com Email เป็นต้น (แต่ Here Maps ยังเป็นของ Nokia Corp. ต่อไป Microsoft ซื้อสิทธิมาใช้ระยะเวลา 4 ปี)

Microsoft หวังว่าจะสามารถเพิ่มผู้ใช้ในบริการเหล่านี้ได้อีก กว่าพันล้านคนในเป้าหมายอีก 2-3 ปีข้างหน้าโดยผ่านทาง Windows Phone ส่วนหนึ่ง นั่นก็คือวิถีทางของการทำธุรกิจในแหล่งรายได้ใหม่โดยผ่านจากบริการเหล่านั้น

ขณะที่ทางโนเกียเองบอร์ดบริหารมองว่าธุรกิจมือถือของโนเกียเองนั้น ถ้ายังทำต่อไปเรื่อยๆ ก็อาจจะขาดทุนจนกู่ไปกลับอย่างที่ Sony Ericsson เคยเป็นในอดีต การขายธุรกิจออกไปเสียก่อนน่าจะเป็นทางเลือกที่ฉลาดกว่า โดยยังเหลือธุรกิจทางด้านอุปกรณ์เครือข่ายระบบโทรศัพท์อย่างโนเกียเน็ตเวิร์คอยู่ซึ่งระยะยาวยังทำกำไรให้บริษัทได้ดีพอสมควร หลังจากซื้อหุ้นร่วมกลับมาจากบริษัท Siemens พันธมิตรเก่าที่เคยควบรวมกิจการกันอยู่หลายปี

68824

surface_Web

Nokia-X-Range

เราจะยังได้เห็นโทรศัพท์ยี่ห้อโนเกียได้อีกนานแค่ไหน หรืออีกหน่อยจะกลายเป็นยี่ห้อ “ไมโครซอฟท์” ??

ต้องบอกก่อนว่าชื่อ “ไมโครซอฟท์” นั้นยังคงเป็นชื่อของบริษัทอยู่ต่อไปอย่างเดียว ส่วนในแง่ของผลิตภัณฑ์และบริการนั้นจะตั้งชื่อออกมาเป็นชื่อเฉพาะหมด อาทิเช่น Xbox, Windows 8, Windows Phone, Bing Search, Skype, One Drive, Surface, Lumia และอื่นๆ แต่ถ้าถามว่าเราจะยังเห็นชื่อยี่ห้อ “โนเกีย” นี้อยู่ในตลาดนานอีกแค่ไหน ต้องบอกก่อนว่าในดีลของไมโครซอฟท์เข้าซื้อกิจการโทรศัพท์มือถือจากโนเกียนั้น ในข้อตกลงคือไมโครซอฟท์ได้รับอนุญาตในการใช้ตราสินค้า “โนเกีย” เป็นเวลาอีก 10 ปี รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์ภายใต้ยี่ห้อโนเกียอื่นๆ อย่างเช่น “Asha”, “Nokia X” ซึ่งเป็น Android OS อยู่ในไส้ใน เพียงแต่หันมาใช้ Service ของไมโครซอฟท์แทนที่จะเป็น Google Services ตัวอย่างเช่น Bing Search แทน Google Search, One Drive แทนที่ Google Drive, Outlook.com email แทนที่ Gmail, Here Maps แทนที่ Google Maps, Skype แทนที่ Hangout, Nokia Browser แทนที่ Google Chrome เป็นต้น

และในแง่ของทั่วโลกตราสินค้าของ “โนเกีย” ก็ยังเป็นแบรนด์ที่ผู้คนยังรู้จัก ยังจดจำ และเลือกเป็นโทรศัพท์มือถือเครื่องแรกๆ ของตลาดล่างอยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดฟีเจอร์โฟน ในแถบประเทศอย่างเอเชีย แอฟริกา อเมริกาใต้ รัสเซีย เป็นต้น (โนเกียมีสำนักงานขายธุรกิจโทรศัพท์มือถืออยู่กว่า 140 ประเทศทั่วโลกอยู่เป็นทุนอยู่แล้ว) โดยถือว่าฟีเจอร์โฟน (ที่ไม่ใช่สมาร์ทโฟน) อย่างโทรศัพท์ปุ่มกด โทรศัพท์ในรุ่นตระกูล “Asha” รวมถึง “Nokia X” ซีรีย์นั้น ยังทำจำนวนยอดขายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำอยู่มาก ซึ่งช่วยให้ส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ได้ในระดับสูงเมื่อนับจำนวนยอดขายโทรศัพท์มือถือโดยรวม

ขณะที่ Lumia Windows Phone นั้นยังต้องใช้เวลาในการเติบโตอีกสักระยะหนึ่ง ถึงแม้วันนี้จะมีก้าวกระโดดอย่างมากในแต่ละปีที่ผ่านไป โดยล่าสุด Windows Phone กลายเป็น OS Smartphone อันดับสามต่อจาก Android และ iOS นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม Microsoft ยังต้องการใช้แบรนด์ “โนเกีย” ต่อไปสำหรับโทรศัพท์มือถือในกลุ่มตลาดแมส แต่สำหรับสมาร์ทโฟนอย่าง “ลูเมีย” อันนี้น่าคิด เพราะในระยะยาวยังไงเสีย Microsoft ก็ต้องคิดสร้างแบรนด์หรือตราสินค้าใหม่ ในวันใดวันหนึ่งก่อนที่สิทธิในการใช้ชื่อนี้จะหมดไปในอีก 10 ปีข้างหน้า เป็นไปได้สูงมากว่าตราสินค้าหรือยี่ห้อของวินโดว์โฟนที่ทางไมโครซอฟท์ซื้อกิจการมาจากโนเกียนั้น สำหรับ Smartphone อาจจะกลายเป็นยี่ห้อ “ลูเมีย” เสียเลย เพราะทุกวันนี้เราก็เรียกกันแต่ลูเมียอยู่แล้ว เช่น Lumia 520, Lumia 930 เป็นต้น แล้วค่อยๆ เฟสชื่อ “โนเกีย” ออกในเร็วๆ วันนี้ ก็ต้องมาติดตามดูกันต่อว่าไมโครซอฟท์จะตัดสินใจในด้านกลยุทธ์ของสินค้าวินโดว์โฟนและโนเกียเอ็กซ์ (แอนดอรยด์ไส้ใน) อย่างไรในระยะยาว เพราะวันนี้ตลาดอาจจะยังดูงงอยู่บ้างกับสินค้าของ โนเกียเอ็กซ์และโนเกียลูเมียที่เริ่มไขว้ราคากันในช่วงราคาประมาณ 3,900-5,900 บาท แต่ที่แน่ๆ X Platform ที่เป็น Android กำลังเฟื่องฟูยอดขายติดลมบนทั่วโลก คาดว่าคงจะมี X Platform ออกมาขายอีกหลายๆ รุ่นทั้งในปีนี้และปีหน้าเลยทีเดียว

Nokia-lumia-1520-second-1-medium-3

แล้วการขายและบริการโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโนเกียในไทยจะเป็นอย่างไรต่อไปล่ะ ??

หลังจากที่การควบรวมกิจการเข้าไปอยู่ใต้ร่มของธุรกิจ Microsoft เสร็จสิ้นตามขั้นตอนเมื่อเดือนเมษยนที่ผ่านมา แน่นอนว่าในเชิงของชื่อบริษัทก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วย โดยทีมงานของ โนเกีย โมบายโฟน ซึ่งเป็นบริษัทลูกของโนเกียครอปหรือ Nokia Oy (Oy ในภาษาฟินแลนด์แปลว่า Company Limited นั่นเอง) ก็ต้องถูกโอนย้ายทั้งหมดไปอยู่กับ Microsoft Inc. โดยกลายเป็นหนึ่งบริษัทลูกที่ทาง Microsoft Inc. ตั้งชื่อออกมาเป็นส่วนงานที่เรียกว่า “Microsoft Mobile Oy” โดยมี Stephen Elop (บุคคลที่ทางวงการเขาเรียกกันว่าเป็นเหมือน Virus Trojan จากไมโครซอฟท์มาเป็น CEO โนเกียจนทำให้เกิดดีลระดับช็อคโลกนี้เกิดขึ้น) มานั่งกุมบังเหียนบริษัทนี้ ซึ่งรวมถึง Xbox, Xbox Live, Microsoft Studio, Microsoft Hardware, Surface และอุปกรณ์และบริการทั้งหมด ในส่วนของ Nokia Mobile Phone ประเทศไทย ก็ถูกโอนย้ายมาอยู่ใต้บริษัทไมโครซอฟท์แล้วเช่นกัน แต่ในเชิงของการทำงาน Microsoft Mobile ประเทศไทยทีมนั้นยังทำงานแบบเดิม โดยไม่ได้ข้องเกี่ยวอะไรกับประเทศไทยแต่อย่างใด โครงสร้างทีมงานการรายงานลำดับชั้นในภูมิภาคก็ยังเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

ขณะที่ในด้านผู้บริโภค ลูกค้าของโนเกียก็ยังได้รับบริการต่างๆ การรับประกันเครื่องต่างๆ เหมือนเดิมทุกประการ ให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าที่เคยซื้อโทรศัพท์มือถือ Nokia Asha, Nokia Lumia ต่างๆ ยังได้รับการดูแล เหมือนเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลง และโนเกียก็ยังจะมีสินค้าใหม่ๆ ออกมาให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อเลือกหากันต่อไปอีกนาน

สำหรับแฟนๆ ท่านใดที่มีคำถาม สามารถติดตามมาได้ที่ twitter ของผม @peter2514 นะครับ ส่วน facebook ตามมาได้ที่ www.facebook.com/Peerapol หรือจะติดตาม Instagram ก็ Search หา ID “peter2514” ได้นะครับ แล้วเจอกันใหม่ฉบับหน้านะครับ ขอบคุณทุกการติดตามครับ

Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

To Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณและสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • GA

    Google Analytic

Save