ในที่สุดก็มาจนได้กับ Nokia X ที่หลายคนรอคอย ถือเป็น Android phone กลุ่มแรกจาก Nokia เปิดตัวออกมาพร้อมกันมากถึง 3 รุ่น ซึ่งถือว่าเกินความคาดหมายไปพอสมควร โดยการเปิดตัวครั้งนี้มองว่าเป็นการเปิดตลาดใหม่ของโนเกียในช่วงราคาที่ไม่สูง ถือว่าเป็นตลาที่กำลังเจริญเติบโตมาก ณ เวลานี้ ในประเทศใหญ่ๆ อย่างจีน, อินเดีย รวมถึงประเทศไทยเองด้วยเช่นกัน
โนเกียนำโดย Stephen Elop ออกมาเปิดตัว Smartphone รุ่นใหม่ใน Series X พร้อมกัน 3 รุ่น อย่าง Nokia X, Nokia X+ และ Nokia XL ซึ่งตัวเครื่องมาพร้อมกับ Android อย่างที่กล่าวไปด้านบน
แต่เราจะบอกว่ามันเป็น Android 100% ก็ดูจะไม่ใช่นัก เพราะว่าทางโนเกียได้ตัดความสามารถจาก Google ออกไปหมด เช่น Google Play, Google Drive และ Google Services อื่นๆ แต่ก็มีการใส่ Service ต่างๆ จาก Microsoft เข้ามาทดแทนอย่าง Skype และ Microsoft Cloud ที่ก็น่าจะทดแทนได้ดีระดับหนึ่ง รวมถึง Service ต่างๆ ของทางโนเกียอย่างบริการ here service ทั้งหลาย
หลายคนคงสงสัยว่าเป็น Android แล้วไม่มี Google Service มันจะมี Play Store เอาไว้ลง Apps ไหม? คำตอบชัดเจนคือ “ไม่มี” แต่ว่าทางโนเกียไม่ได้นิ่งนอนใจเพราะพวกเขาใส่ Nokia Store ที่มีการคัดตัว App apk มาจาก Play Store แล้วบางส่วน รวมถึงไปดึง App Store อื่นๆ จากบางประเทศ อย่าง Yandex store จากรัสเซีย หรือเจ้าอื่นๆ ที่น่าจะมีรายละเอียดออกมาในอนาคตให้ได้ใช้งานกันเพิ่มอีก นอกจากนี้การเลือกลง Application ทางโนเกียเองก็บอกเต็มปากว่าสามารถลงโปรแกรมผ่านการ Sideload ได้ หรือว่าง่ายๆ ก็คือลงแบบนำไฟล์ apk เข้าไปลงผ่านตัวเครื่องนั่นแหละครับ ซึ่งก็ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย ส่วนตัวอยากเสริมอีกมุมมองก็คือในส่วนของการพัฒนาต่อยอดตัวระบบ ที่ผมเองเชื่อว่าน่าจะมีนักพัฒนาอิสระเข้ามาทำให้รุ่น X รัน Android ที่มี Google Service ทั่วไปแบบเต็มตัวในอีกไม่ช้านี้แน่นอน
การมาของ Nokia X สื่อถึงว่าต้องการที่จะเติมเต็ม Line-Up Smartphone ของตัวเอง โดยวางเข้า Nokia X ที่เป็น Android ในจุดที่เรียกว่าระดับล่าง แต่มี Ecosystem ของ Android เกือบครบเครื่อง ตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นบางคนกำลังมองว่าทางโนเกียกำลังกลืนน้ำลายตัวเอง ที่เคยบอกเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่าไม่สนใจทำ Android แต่ผมกลับมองว่ากำลังลองอะไรบางอย่างกับ Android และนำมันเข้ามาตอบโจทย์คนระดับล่างก่อนเพื่อดูพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้งานโทรศัพท์สมัยใหม่ เพื่อบุกตลาดได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งถ้ามันเกิดอาจจะต่อยอดไปสู่ Android Smartphone ในรุ่นที่สูงกว่านี้ก็เป็นไปได้
ถึงตรงนี้เราก็ทราบกันไปแล้วว่าทาง Nokia วาง Nokia X เอาไว้ตรงไหนของแผนการดำเนินงาน งั้นเราลองมาไล่กันดูทีละตัวว่าทาง Nokia ที่เปิดตัวออกมาทั้ง 3 รุ่นนั้นเค้ามีการจัดวางแผนจำหน่ายไว้อย่างไรกันบ้าง
เริ่มตัวแรกเลยกับ Nokia X ที่มาตามข่าวหลุดเลยคือมีรูปร่างหน้าตาเครื่องเหมือน Asha 501 พร้อมหลากสีสัน ที่มาพร้อมกันถึง 6 สีฉูดฉาด ซึ่งโดนใจวัยรุ่นแน่นอน ตัวเครื่องมาพร้อมกับหน้าจอขนาด 4 นิ้ว IPS ความละเอียด WVGA พร้อมกับ CPU Snapdragon S4 Play MSM8225 Dual-Core 1 GHz และมีกล้องหลังความละเอียด 3 ล้านพิกเซล แบตเตอรี่ขนาด 1,500 mAh และแน่นอนมาพร้อมกับ Android 4.4.2 Kitkat นอกจากนี้ตัว RAM มีมาให้ 512 MB และ ROM 4 GB อีกด้วย ในภาพรวมถือว่าเป็น Spec มาตรฐานของเครื่องในช่วงราคาต่ำกว่า 4,000 บาท หรือ 89 ยูโร
ตัวต่อมาคือ Nokia X+ ที่มีรูปร่างหน้าตาและ Spec ไม่ต่างจาก Nokia X เลย แต่ว่ามีการเพิ่มตัว RAM เข้ามาเป็น 768 MB จาก 512 MB ที่มีบน Nokia X ทำให้ใช้งานได้ไหลลื่นมากยิ่งขึ้น พร้อมอัพเกรดราคาเพิ่มมาอีก 10 ยูโร เป็น 99 ยูโร ซึ่งก็สมน้ำสมเนื้อดีครับ
ตัวสุดท้ายที่คาดกันไม่ถึงเท่าไหร่นักนั่นก็คือ Nokia XL ที่ยังคงโครงเดิมไว้เหมือนกับ Nokia X เช่นกัน แต่ตัว Spec มีความแตกต่างออกมาพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องของหน้าจอที่เพิ่มขนาดเป็น 5 นิ้ว IPS LCD ความละเอียด WVGA และกล้องที่อัพเพิ่มมาเป็น 5 ล้านพิกเซล พร้อม LED Flash นอกนั้นพวกสีเครื่องและหน่วยความจำยังคงเหมือนกับ Nokia X+ ที่มาพร้อม RAM 768 MB และหน่วยความจำภายใน 4 GB
ทั้ง 3 รุ่นรองรับการทำงาน 2 SIM รองรับเครือข่าย 900/2100 MHz และสามารถเพิ่มหน่วยความจำ microSD Card ได้ทั้งคู่ครับ
ที่ผ่านมาเราเห็น Nokia ลุยตลาดระดับนี้ด้วย Asha ที่ต้องบอกว่าตัวมันมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการที่ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบมากนัก แต่ก็ยังดีที่มีตัว Application กระแสหลักอย่าง Line, Facebook, WhatsApp มาให้ใช้งาน ทำให้กลุ่มลูกค้าระดับล่าง ที่ไม่ได้สนใจในตัวความสามารถของ Android นั้นรับได้และมันก็ค่อนข้างขายดี แต่การมาของ Nokia X ที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็น Android เต็มใบก็ตาม แต่ตรงนี้เองก็ทำให้ได้กลุ่มลูกค้าที่ต้องการความหลากหลายของ Android ในเรื่องของ Application หรือตัวระบบของ Android ที่ตอบสนองได้รวดเร็ว แถมมีความสามารถหลากหลายกว่า Nokia Asha ถึงแม้จะไม่ได้มีความสามารถของ Google ครบเครื่องก็ตาม ส่งผลให้ผู้ใช้ที่กำลังตามหา Smartphone ที่ครบเครื่อง หันมามองทาง Nokia มากขึ้น และตลาดนี้เองก็กำลังเติบโตอีกมากในหลายประเทศ ทำให้น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการขยายส่วนแบ่งตลาดของ Nokia ครับ