สวัสดีครับ ผมปีเตอร์กวงควงมือถือ จากรายการ “แบไต๋ไฮเทค เดลี่ไฟว์ไลฟ์” ที่ถ่ายทอดสดออกอากาศ ตรงจาก Beartai Digital Gateway Studio ชั้น 4 Digital Gateway สยามสแควร์ ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ โดยออกอากาศสดไปยังสถานีทีวีดาวเทียมต่างๆ 2 ช่อง ไม่ว่าจะเป็น Mango TV และ Dude TV ส่วนใครที่ดูสดไม่ทันก็ติดตามการ Re-Run ได้ทาง Nation Channel ทุกวันตอนเที่ยงคืนนะครับ โดยผมมาประจำการใน What Phone Magazine ทุกเดือน เพื่อไขข้อข้องใจ และเก็บตกข่าวความเคลื่อนไหวในวงการเทเลคอม ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ สำหรับฉบับนี้จะมาพูดถึงควันหลงหลังจากการเปิดตัวของ Samsung Galaxy S4 สมาร์ทโฟนจากค่ายยักษ์ใหญ่ Samsung ที่ทุกปีจะต้องมีคนมาเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อของการเปิดตัวโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเรือธงจากค่ายนี้กัน สิ่งที่คนพูดถึงกันมากก็คือในเรื่องของการออกแบบซึ่งมีเสียงวิจารณ์มาอย่างมากมายจากนักวิเคราะห์และบล็อคเกอร์ทั่วโลก
Samsungเจ้าแห่ง Android ได้มาเพราะโชคช่วย หรือเพราะฝีมือ?
อย่างที่เราเห็นกันวันนี้ Android Smartphone ที่เป็นพระเอกสุดของวงการ ทั้งในเรื่องความนิยมและเรื่องยอดขาย คงหนีไม่พ้น Android จากค่าย Samsung ยักษ์ใหญ่จากค่ายเกาหลีซึ่งวันนี้กลายมาเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 โทรศัพท์มือถือของโลกแทนที่ Nokia ตั้งแต่ปีก่อน ถ้าย้อนกลับไป 12 ปีก่อน Samsung ยังเป็นเพียงผู้เล่นที่เก่งแต่ในบ้านเกิดตลาดเกาหลีเท่านั้น ยังไม่เห็น Samsung มีอิทธิพลในตลาดเลยแม้แต่น้อย แต่ด้วยความพยายามของเลือดเกาหลีที่ไม่ยอมแพ้ต่อการแข่งขัน และมีความทะเยอทะยานสูงมาก ทำให้ Samsung มีวันนี้ ย้อนกลับไปในอดีตยุคที่ Smartphone Symbian ของ Nokia รุ่งเรืองก็ต้องยอมรับว่าใครๆ ก็ใช้ Symbian เท่านั้น แต่ด้วยที่ Nokia พยายามจะใช้โอกาสกับ Symbian ให้มากที่สุด เนื่องด้วยตัวเองเป็นตัวตั้งตัวตีทำทุกอย่าง โดยพยายามให้ผู้ผลิตทุกรายกันมาใช้ Symbian OS เป็นหนึ่งเดียวในการพัฒนาสมาร์ทโฟนในยุคนั้น และใช้ Symbian เป็นอาวุธหลักสำหรับตัวเอง ทำให้คู่แข่งหลายอื่นๆ เริ่มตีตัวออกจาก Symbian กันหมด และเฝ้าพัฒนา Platform ใหม่มาแข่งขันแทน ถึงแม้ Windows Mobile จะช่วยได้ในระยะหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ดีพอที่จะโค่นล้ม Symbian ได้
การมาของ Apple iPhone และ Android Smartphone ได้ทำให้ตลาดเปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะ ผู้ผลิตอื่นที่ไม่มี OS ของตัวเองได้พุ่งเป้าไปที่ Android OS ที่ Google หมายมั่นปั้นมือให้เป็น Open Platform เพื่อผู้ผลิตมือถือในอุตสาหกรรมอย่างแท้จริงได้กำเนิดขึ้นมา นั่นทำให้ยุคสมัยของ Symbian ได้จบลงแล้ว และ Nokia ก็เลิกผลิต Symbian ไป และทำให้ Nokia ต้องหันไปจับมือกับ Microsoft Windows Phone แทน เพื่อให้ตัวเองกลับมาสู่สมรภูมิ Smartphone ให้เร็วที่สุด ก่อนที่ Samsung จะทิ้งห่างไปไกลกว่านี้ แต่ต้องยอมรับว่า Samsung ฉกฉวยโอกาศนี้ได้ดี แม้ในความเป็นจริงแล้ว Samsung ไม่ใช่ผู้ผลิตมือถือรายแรกที่ผลิต Android Smartphone แต่กลับเป็น HTC ต่างหากที่เริ่มอย่างจริงจังกับ Google แต่ก็สู้แรงพลังของ Samsung ไม่ได้ ที่มีทั้งกำลังทุน และกำลังคนร่วมพัฒนาสินค้าที่มีความหลากหลาย เจาะกลุ่มตลาดได้ตั้งแต่บนลงล่าง และสร้างความแตกต่างให้ตัวเองเมื่อเทียบกับ iPhone อย่างเห็นได้ชัด จนทำให้ HTC เลยกลายเป็น Android Smartphone ยี่ห้อตัวประกอบของตลาดไปซะนี่ หรือแม้แต่ Android Smartphone ยี่ห้ออื่นๆ ก็ไม่ต่างกัน แต่ด้วยยังไม่มีทางเลือกอื่นๆ ที่จะให้ผู้ผลิตรายอื่นใช้เป็นทางออก ก็คงต้องพึ่งพา Android OS ไปก่อน
ในวันนี้ Samsung แทบจะกินส่วนแบ่งตลาดของ Android Smartphone ไปกว่า 90% เข้าไปแล้ว สิ่งนี้เป็นเรื่องน่าสนใจว่าอนาคตของ Android OS จะถูก Samsung ครอบงำจนเหลือแต่ Samsung รายเดียวเหมือนอย่างที่ Nokia เคยทำกับ Symbian หรือไม่ ผู้ผลิตรายอื่นๆ อย่าง Sony, HTC, LG และอีกมากมายจะทำอย่างไร แล้ว Google เจ้าของ Android OS จะทำให้ทิศทางตลาดของ Android Smartphone เดินไปอย่างไร ขณะที่วันนี้เริ่มมีการเกิดใหม่ของ Smartphone OS อย่าง Ubuntu Mobile OS, Firefox OS ก็กำลังมาและน่าจับตามองว่าจะแจ้งเกิดได้หรือไม่
ดีไซน์นั้นสำคัญไฉน หน้าตาเดิมๆ รับไม่ได้แล้วหรือ
สมาร์ทโฟนในอดีตจนมาถึงปัจจุบันมีการออกแบบที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่จอแบบธรรมดาและมีปุ่มกดมาตรฐาน แบบปุ่มกด QWERTY เหมือนคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ง่ายต่อการป้อนข้อมูล เรื่อยมาจนเป็นแบบจอสัมผัสที่มีทั้งมีปุ่มกดมาตรฐาน ปุ่มกด QWERTY และไม่มีปุ่มกดด้านหน้าเลย หรืออาจเหลือเพียงปุ่มเปิดปิดเครื่อง ปุ่มปรับความดังเสียง สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการออกแบบ จนวันนี้หน้าตาสมาร์ทโฟนแทบจะคล้ายกันไปหมด โดยเฉพาะ Android สมาร์ทโฟน ที่ถูกบังคับด้วย Platform การออกแบบในส่วนของปุ่มฟังก์ชั่นต่างๆ ที่ล่าสุดถูกย้ายไปอยู่บนหน้าจอแทนในลักษณะปุ่มแบบ Virtual (เสมือน) เพื่อเปิดให้พื้นที่บนขอบจอใช้อย่างอื่นแทน แต่ก็มีหลายยี่ห้อยังพยายามคงปุ่มแบบสัมผัสไว้บนตัวเครื่อง ซึ่งมีข้อดีในความทนทานกว่าปุ่มแบบที่กดแบบ Mechanic (กดแล้วรู้สึกว่ากดจริงๆ)
ขณะที่การออกแบบรูปลักษณ์หน้าตา ขอบโค้งมนหรือเป็นเหลี่ยม นั่นคือสิ่งหลักๆ ที่เห็นกันอย่างชัดเจนในวันนี้ของสมาร์ทโฟนยุคใหม่ โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ผลิตมือถือใหญ่ระดับโลกจะมีทีมดีไซน์ที่ทำงานอย่างเป็นเอกเทศอย่างชัดเจน เพราะต้องการคงรูปแบบของการออกแบบโทรศัพท์มือถือให้มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมา ว่าไปแล้วก็เป็น Philosophy หรือปรัชญาในการออกแบบนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหน้าตา หรือ Identity ของเครื่องทั้งด้านหน้าด้านหลังว่าแต่ละรุ่นต้องเหมือนกันหรือไม่ ตำแหน่งของปุ่มกดที่ต้องมี วัสดุที่ใช้ว่าจะเป็นโลหะหรือพลาสติคแบบไหน เป็น Uni-Body หรือสามารถถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ หลายๆ อย่างกลายเป็นที่มาของความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละยี่ห้อไป เช่น iPhone สังเกตว่าจะกี่รุ่นหน้าตาหลักก็ต้องมีปุ่มเมนูกลมๆ ตรงกลางเป็นเอกลักษณ์ไปเฉพาะตัว หรือจะเป็นปุ่มเปิดปิดบนเครื่อง ปุ่มสวิทช์สำหรับเปิดปิดการใช้งานเสียงเป็นสั่นแทน และปุ่มปรับระดับความดังเสียง ที่เหลือส่วนประกอบอื่นก็ว่ากันไปว่าวัสดุที่ใช้จะเป็นอะไร พลาสติคแค่ไหน โลหะแค่ไหน ใช้สีโทนอะไร ตัวเครื่องจะบางหรือโค้งมนอย่างไร ลำโพงอยู่ตรงไหน ซึ่งส่วนประกอบเหล่านั้นจะทำให้ผู้บริโภครับรู้ได้เมื่อถืออยู่ในมือ ซึ่งจะบอกถึงความเปลี่ยนแปลงในการออกแบบ รวมถึงประสบการณ์เมื่อได้สัมผัสกับผลิตภัณฑ์เหล่านั้น ว่ารู้สึกถึงความแข็งแรงหรือเปราะบาง รู้สึกถึงความหนักเบายามเมื่อถือใช้ ความถนัดมากน้อยแค่ไหนเมื่อต้องใช้งานจริง หรือถ้าจะยกตัวอย่างอื่นก็อยากกล่าวถึง Samsung Galaxy S4 ที่เพิ่งเปิดตัวไป และหลายคนอาจไม่รู้สึก “ว้าว” อย่างที่คาดไว้ หน้าตาแทบจะเหมือนเดิมด้วยความโค้งมนของเครื่อง ปุ่มเมนูตรงกลางด้านล่างของจอ ขนาดเครื่องเท่าเดิม แต่บางลงเล็กน้อย วัสดุที่ใช้เป็นพลาสติคไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก สีที่มีมาก็ตามแบบฉบับคือ ดำและขาว ถ้ามองโดยรวมแบบตรงๆ นี้ก็จะเป็นว่าไม่มีอะไรแตกต่าง เพราะด้วยปรัชญาการออกแบบ Android Galaxy Family ของ Samsung แล้วจะเห็นว่าก็แทบจะคล้ายกันหมด ลองเอา Galaxy S3, Galaxy Note 2, Galaxy Grand, Galaxy S3 mini มาเรียงกัน ก็จะเห็นว่าหน้าตามันคือพี่น้องกันหมด แต่ก็ถูกต้องตามหลักการการออกแบบ ซึ่งผมเชื่อว่านี่คือ ปรัชญาการออกแบบสมาร์ทโฟนของ Samsung ให้มีความเฉพาะตัว และแยกออกมาอย่างชัดเจนเมื่อต้องไปวางอยู่บนชั้นวางขายมือถือในห้างที่มีสมาร์ทโฟนหลายสิบยี่ห้อเรียงรายเต็มไปหมด ด้วยยี่ห้อหรือแบรนด์ที่แข็งแกร่งอยู่แล้วจะไปเปลี่ยนหน้าตาหรือ Identity ให้มากมายไปทำไม เพราะถ้าทำอย่างนั้นก็คงไม่แตกต่างอะไรกับโทรศัพท์จีนที่จ้างคนทำหลายๆ ยี่ห้อแล้วขายไปทั่วตลาด แต่ต่างกันที่ยี่ห้อที่ติดเท่านั้น ส่วนจุดขายก็ไปว่ากันต่อที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่คิดค้นได้ก็ใส่เข้าไป รวมถึงสเปคเครื่องในด้านฮาร์ดแวร์ก็เป็นสิ่งสำคัญ
ฮาร์ดแวร์ก็เทพๆ กันทั้งนั้น ต่างกันที่อะไรล่ะ
แน่นอนว่าการออกแบบโทรศัพท์ในแต่ละกลุ่มราคา (Price Segmentation) ย่อมแตกต่างกันไปด้วยสเปคด้านฮาร์ดแวร์ของเครื่อง เทคโนโลยีที่ใส่เข้าไป ไม่ว่าจะเป็น จอแสดงผล (Display) ใครใหญ่เล็กกว่ากันอย่างไร จอใครละเอียดกว่ากันแค่ไหน HD หรือ Full HD หน่วยการประมวลผล (CPU+GPU) ความจุหน่วยความจำที่ให้มา ลำโพงเสียง ความจุแบตเตอรรี่ ปากกาสไตล์ลัส (อย่าง Galaxy Note) เทคโนโลยีไร้สายต่างๆ อย่าง NFC, Wi-Fi Direct, 3G, 4G LTE จะเทพสุดหรือต่ำสุดก็แปรออกมาเป็นราคางวดของค่าเครื่องทั้งนั้น แต่ก็มีคำถามว่าถ้าฮาร์ดแวร์ต่างๆ ก็เหมือนๆ กัน เช่น CPU สเปคเดียวกันตัวเดียวกัน RAM ที่ให้เท่ากัน ความจุหน่วยความจำเท่ากัน จอใหญ่เท่ากันที่ความละเอียดจอเท่ากัน แล้วจะต่างกันที่อะไรได้อีก ถ้ามองกันที่ฮาร์ดแวร์ล้วนๆ ก็ต้องดูจากภายนอกก่อนล่ะว่าชอบในดีไซน์หรือไม่ วัสดุที่ใช้ถ้าเทียบกันเป็นโครงสร้างโลหะ กับโครงสร้างที่ทำจากพลาสติค ก็ย่อมต่างกันแน่นอน โครงสร้างโลหะจะแข็งแรงกว่า รองรับแรงกระแทกการตกกระแทกได้ดีกว่าเพื่อปกกันความเสียหายภายในเครื่องไว้ แต่ก็ไวกับความร้อนที่สัมผัสได้จากตัวเครื่องง่ายกว่า ขณะที่ระบายความร้อนได้เร็วกว่าพลาสติคแน่นอน และตัวโครงสร้างโลหะย่อมสะท้อนถึงความหรูหรา และราคาค่างวดได้มากกว่าเช่นกัน
ส่วนโครงสร้างพลาสติคเองก็มีหลากหลายแบบ พลาสติคทั่วไปที่ยืดหยุ่นสูงแต่เปาะบาง ไปจนถึงพลาสติคที่แข็งแรงมากกว่าอย่าง โพลีคาร์บอเนต ที่เริ่มนิยมมากขึ้น (Nokia, HTC) แน่นอนย่อมมีราคาต้นทุนที่สูงกว่าตามมา ในโครงสร้างของเครื่องอีกอย่างที่กำลังเป็นจุดขายคือโครงสร้างที่สามารถกันน้ำ กันฝุ่นละอองได้ ซึ่งมี Sony Xperia ที่เป็นยี่ห้อที่เริ่ม และมีจุดขายเรื่องนี้เป็นสำคัญกับสินค้าเรือธงอย่าง Xperia Z, Xperia V เป็นต้น ซึ่งภาพรวมก็อยู่ที่การนำเอาฮาร์ดแวร์ต่างๆ มาประกอบรวมกันเป็นเครื่องที่สมบูรณ์ว่าทำออกมาได้ดีแค่ไหน แข็งแรงแค่ไหน ดูเด่นดูดีอย่างไร และดึงดูดผู้บริโภคมากน้อยอย่างไร น่าจะเป็นตัวตัดสินสำหรับผู้บริโภคที่มีในการมองนวัตกรรมการออกแบบเป็นสำคัญ
ตัวแปรสำคัญอยู่ที่ลูกเล่นต่างๆ และการพัฒนาซอร์ฟแวร์ของเครื่อง
ตัวแปรสำคัญสำหรับสมาร์ทโฟนตัวเรือธงนั้น หลักๆ ก็มักจะอยู่ที่นวัตกรรมการออกแบบในด้านซอร์ฟแวร์ หรือฟีเจอร์ของเครื่องเป็นจุดใหญ่ สังเกตว่าเรื่องนี้มักจะเป็นจุดขายที่แต่ละยี่ห้อจะนำไปขยายต่อในการโปรโมตทั้งสิ้น เพราะนวัตกรรมในการออกแบบด้านฮาร์ดแวร์ย่อมถึงทางตันในที่สุดคงไม่มีใครสามารถมีมุขใหม่ๆ ทางด้านฮาร์ดแวร์ (ตัวเครื่อง) ได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก และใช้เวลาในการพัฒนาค่อนข้างนาน ต่างกับนวัตกรรมทางด้านฟีเจอร์ต่างๆ ที่ทำอยู่บนซอร์ฟแวร์ที่ทำได้ง่ายกว่าและเร็วกว่า อย่าง HTC One ก็ชูจุดขายอย่าง BlinkFeed ในการอัปเดตข่าวสารบนหน้าจอวิดเจ็ท Zoe ก็เน้นการโชว์รูปแบบใหม่ในการถ่ายภาพ และแสดงภาพ เป็นต้น หรืออย่าง Samsung Galaxy S4 ก็เดินตามรอยรุ่นพี่อย่าง Galaxy S3 ที่มีดีไซน์แทบจะเหมือนเดิม แต่คงไว้ด้วยขนาดเครื่องเท่าเดิมและบางลง แต่หน้าจอใหญ่ขึ้น ก็ถือว่าทำการบ้านมาได้ดีเพราะผู้ใช้จะไม่รู้สึกว่าเครื่องจะเทอะทะขึ้นแต่อย่างใด อันนี้ต้องชม ขณะที่กล้องก็มีความละเอียดเพิ่มขึ้นถึง 13 ล้านพิกเซล และมาพร้อมทั้งฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์การพัฒนาด้านซอร์ฟแวร์มาอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์ของกล้องที่พัฒนามาในเรื่องลูกเล่นต่างๆ อย่าง Dual Shot ที่ถ่ายภาพทั้งกล้องด้านหน้าและหลังพร้อมกัน Cinema Photo ที่ถ่ายภาพนิ่งให้เคลื่อนไหวได้ในบางส่วน Video Calls ที่ทำให้คุณสามารถทำวิดีโอคอลล์ผ่านทาง ChatOn ได้อย่างสะดวกกว่าเก่า
ฟีเจอร์อย่าง Smart Pause ที่หันมาเล่นกับเรื่อง Gesture (การควบคุมเครื่องผ่านทางท่าทางของคน) ทำให้วิดีโอที่เปิดเล่นอยู่หยุดเล่นเมื่อเราหันหน้าไปทางอื่น และกลับมาเล่นต่อเมื่อเราหันหน้ากลับมา การเลื่อนหน้าจอด้วยการมองด้วยสายตา การทำงานกับการใช้ในการออกกำลังกายเพื่อวัดอัตราการเต้นหัวใจ หรือวัดระยะในการวิ่ง การวัดอุณหภูมิทั่วไป การวัดระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเล และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ในฟีเจอร์เหล่านั้นมาจากการพัฒนาซอร์ฟแวร์ของเหล่าวิศวกร Samsung ล้วนๆ ด้านหนึ่งอาจจะมองว่าเป็นฟีเจอร์ที่มีก็ดีไม่มีก็ไม่เป็นไร (Nice to have) ถ้าใช้ก็มีประโยชน์ ถ้าไม่ใช้ก็ไม่ได้อะไร แต่ถ้ามีก็ถือว่ามีจุดขายมากกว่ายี่ห้ออื่น เมื่อมองหาความแตกต่าง และจุดขายที่จับต้องได้เป็นรูปธรรม ถ้ามองอีกด้านหนึ่งก็ต้องชมในความพยายามของ Samsung ที่พยายามเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคโดยมองฟีเจอร์ต่างๆ ที่สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้ใช้ (แม้ว่าบางอย่างอาจจะเคยเห็นแล้วในมือถือยี่ห้ออื่นๆ) เพื่อก่อให้เกิดประสบการณ์ที่ดีที่สุดนั่นเองในฐานะที่เป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ของโทรศัพท์มือถือของโลกในยุคนี้ จับตาดูต่อไปว่า Samsung จะงัดไม้เด็ดอะไรออกมาอีกเมื่อถึงเวลาปลายปีที่จะมาถึงของ Samsung Galaxy Note III
สำหรับแฟนๆท่านใดที่มีคำถาม สามารถติดตามมาได้ที่ twitter ของผม @peter2514 นะครับ ส่วน facebook ตามมาได้ที่ www.facebook.com/Peerapol ได้นะครับ แล้วเจอกันใหม่ฉบับหน้านะครับ