ผ่านไป 2 ตอนแล้วนะครับ สำหรับหัวเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญที่สุดข้อหนึ่งในการเลือกซื้อสมาร์ทโฟนให้เหมาะสมอย่าง ROM และ RAM ทั้ง 2 ตอนที่ผ่านมาผมได้กล่าวถึงเทคโนโลยีของ ROM และขนาดของ ROM ที่เหมาะสมกันไปแล้วอย่างหอมปากหอมคอ ในที่สุดก็มาถึงคิวของ RAM กันบ้าง และสำหรับตอนที่ 3 นี้ ผมขอเริ่มด้วยเทคโลยีของ RAM ที่มีบนสมาร์ทโฟนกันครับ
RAM หรือชื่อเต็ม Random-access Memory แปลเป็นไทยได้ว่าหน่วยความจำชั่วคราว มีมาตั้งแต่ยาวนานตั้งแต่ยุคสมัยของคอมพิวเตอร์ในชื่อสถาปัตยกรรมที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ SDRAM ไปจนถึง DDR RAM แต่ในทางกลับกัน การจะประยุกต์เข้ามาใช้งานบนสมาร์ทโฟนไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเหตุผลของพลังงานหรือแบตเตอรี่ที่จำกัด ทำให้ความจริงแล้ว RAM ที่เราเรียกกันในท้องตลาดสมาร์ทโฟนนั้น ความจริงแล้วคือ RAM บนสมาร์ทโฟนใช้ชื่อว่า LPDDR โดย LP ย่อมาจาก Low Power นั่นเอง
LPDDR RAM ประหยัดพลังงานมากกว่า DDR RAM ที่ใช้กันบนคอมพิวเตอร์อย่างมาก โดยยุคแรกมีการลดอัตราการกินพลังงานลงมาถึง 30% แต่นั่นก็แค่ก้าวแรก เพราะปัจจุบัน LPDDR RAM รุ่นใหม่ล่าสุดประหยัดพลังงานมากกว่า DDR บนคอมพิวเตอร์ถึง 60% ส่งผลให้เราสามารถใช้งานสมาร์ทโฟนได้ยาวนานยิ่งขึ้นด้วย LPDDR RAM รุ่นใหม่ๆ
LPDDR RAM รุ่นแรกถูกนำมาใช้งานกับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต Android ตั้งแต่ปี 2010 เป็นยุคที่อุปกรณ์เคลื่อนที่กำลังเติบโต โดยรุ่นแรกๆ ที่ใช้งานก็คือ Google Nexus One, HTC Desire, Apple iPad และ Samsung Galaxy Tab ถึงตรงนี้ระยะเวลาผ่านมากว่า 5 ปีแล้ว เทคโนโลยีของ LPDDR RAM ได้ก้าวข้ามขั้นมาถึง LPDDR4 RAM ที่ทำความเร็วได้มากกว่ารุ่นแรกถึง 8 เท่า
LPDDR4 RAM ออกมาช้ากว่าที่คาดกว่า 1 ปีทำให้เทคโนโลยี LPDDR3 RAM ถูกนำไปใช้งานกับสมาร์ทโฟนหลายรุ่น ในช่วงปี 2013-2015 โดยที่ LPDDR4 RAM นั้นถูกใช้งานบนสมาร์ทโฟนเป็นครั้งแรก ก็คือรุ่นเรือธงจาก Samsung อย่าง Galaxy S6 และ Galaxy S6 edge ที่เปิดตัวเมื่อช่วงต้นปี 2015 ถือเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีหน่วยความจำเลยก็ว่าได้ เนื่องจากเทคโนโลยี LPDDR4 RAM นั้นก้าวกระโดดจาก LPDDR3 RAM แบบเท่าตัว และด้วยสถาปัตยกรรมที่พัฒนาไปอีกขั้น ทำให้มันเป็นที่จับตามองเป็นอย่างมาก
LPDDR4 แตกต่างจาก LPDDR3 ด้วยการเพิ่มการป้อนและรับข้อมูลเป็น 2 ช่อง หากอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนกับ Dual-core บนหน่วยประมวลผลนั่นแหละครับ โดยทั้ง 2 ทำงานควบคู่กัน พร้อมกับการพัฒนาที่มากขึ้นในแต่ละ Core ทำให้มีความเร็วเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัว อีกทั้งยังประหยัดพลังงานมากขึ้นอีกด้วย
ความเร็วของ RAM ที่เพิ่มขึ้นบอกถึงการเรียกข้อมูลบนหน่วยความจำที่รวดเร็วขึ้น สอดคล้องกับหน่วยประมวลผลที่มีหน้าที่ประมวลผลจากคำสั่งของเราไปยังหน่วยความจำ หากหน่วยประมวลผลเร็วบวกกับ RAM ที่ดีจะส่งผลให้เราเรียกโปรแกรมต่างๆ ได้เร็วยิ่งขึ้น ดังนั้นสรุปได้ว่าทั้งหน่วยประมวลผลและ RAM ทำงานร่วมกันนั่นเอง ยิ่งโดยเฉพาะโปรแกรมที่เคยเปิดก่อนหน้าที่จะปิดไปจะถูกเรียกกลับมาได้เร็วยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามน่าเสียดายที่เทคโนโลยี LPDDR4 RAM นั้นน่าจะยังผูกติดกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตรุ่นเรือธงไปอีกอย่างน้อย 2 ปี ในขณะที่รุ่นกลางๆ น่าจะได้สัมผัส LPDDR4 RAM ในช่วงปี 2017 ทำให้ช่วงปีนี้สมาร์ทโฟนหรือแท๊บเล็ตรุ่นกลางๆ ไปจนถึงล่างน่าจะขยับจาก LPDDR2 RAM เป็น LPDDR3 RAM มากขึ้นในช่วงปีนี้
ที่ว่ามาทั้งหมดนั้นเป็นส่วนของเทคโนโลยีภายในของ RAM ซึ่งมองเผินๆ แล้วเราจะไม่เห็นในโบรชัวร์ของสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเท่าไรนัก แต่สิ่งที่มักจะพบเกี่ยวกับ RAM ก็คือขนาดของ RAM ซึ่งจะมาเจาะลึกกันอีกทีในตอนหน้า แต่เกริ่นไว้คร่าวๆ ว่า ขนาดของ RAM นั้นก็มีผลต่อการเก็บข้อมูลความจำชั่วคราวนั่นเอง ยิ่งมีมากก็เก็บได้มาก ทำให้สมาร์ทโฟนสามารถเรียกโปรแกรมที่เคยเปิดก่อนหน้าได้หลายโปรแกรมยิ่งขึ้น พูดง่ายๆ คือมันบันทึกสิ่งที่เราใช้งานล่าสุดได้ยาวนานขึ้นเหมือนหนังสือที่มีหลายหน้ามากขึ้นนั่นเอง
ในตอนหน้าจะเป็นการกล่าวถึง การเลือกขนาดของ RAM ที่เหมาะสมกับสมาร์ทโฟนของคุณ ใช่ว่าขนาด RAM มากจะคุ้มค่าสำหรับคุณมากเสมอไป RAM น้อยๆอาจจะประหยัดเงินในกระเป๋าคุณไปได้อีกมาก เนื่องจากการใช้งานสมาร์ทโฟนของแต่ละคนที่แตกต่างกันทำให้ต้องมาดูกันว่าเราจะมีวิธีการเลือก RAM อย่างไรให้เหมาะสม สำหรับตอนนี้ขอลาไปก่อน สวัสดีครับ