Article

เทคโนโลยีการเชื่อมต่ออุปกรณ์ไร้สาย ช่วยเราอย่างไรในชีวิตประจำวัน

NFC – Near Field Communication

เทคโนโลยี การเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ไร้สาย ที่วันนี้เข้ามามีบทบาทกับการใช้งานในอุปกรณ์ต่างๆ รอบตัวเรามากขึ้นอีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็น Bluetooth, Bluetooth LE

เพื่อไขข้อข้องใจและเก็บตกข่าวความเคลื่อนไหวในวงการเทเลคอมทั้งในบ้านเราและต่างประเทศสำหรับฉบับนี้จะมาพูดเรื่อง เทคโนโลยี การเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ไร้สาย ที่วันนี้เข้ามามีบทบาทกับการใช้งานในอุปกรณ์ต่างๆ รอบตัวเรามากขึ้นอีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็น Bluetooth, Bluetooth LE, NFC, Ant+, WiFi Direct เรามาดูกันว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยเราอย่างไรในชีวิตประจำวันของเรา

Bluetooth / Bluetooth LE มาตรฐานการเชื่อมต่อแบบไร้สายที่มีบทบาทและเป็นที่นิยมมากที่สุด

LG G Watch

Samsung Gear 2

Garmin Vivo02

 

เราคงได้ยินมาตรฐาน Bluetooth กันมานานแล้ว โดยบริษัท Ericsson เป็นผู้คิดค้น ซึ่งมีการตั้งมาตรฐานกันมาตั้งแต่ปี 1994 นู่น และเริ่มมีการนำมาใช้ครั้งแรกกันในปี 2000 กับโทรศัพท์มือถือ Ericsson T36 นู่นเลย

โดยนำมาใช้กับการต่อเชื่อมกับหูฟัง Bluetooth แบบไร้สาย มาตรฐานของ Bluetooth นั้นทำงานอยู่บนความถี่ย่าน 2.4 – 2.485 GHz เป็นความถี่ที่ไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของได้ หรืออีกนัยก็คือความถี่เพื่อการสาธารณะ

โดยมีระยะห่างในการทำงานระหว่างกันได้ตั้งแต่ 1 เมตร,10 เมตร จนไปถึง 100 เมตรเลยทีเดียว แต่ส่วนใหญ่จะใช้กันที่ 10 เมตรเป็นมาตรฐานของอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค โทรทัศน์รุ่นใหม่ๆ รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ในบ้าน โดยช่วงแรกมีความเร็วในการส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ด้วยความเร็วระดับ 1 Mbps บน Bluetooth เวอร์ชั่น 1.2 เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน หรือว่าเอาไว้ใช้ต่อเชื่อมกับอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ เช่นพวกหูฟัง Bluetooth พวกเครื่องเสียงต่างๆ หรือลำโพงต่างๆ

ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมมากๆ และมีอุปกรณ์เหล่านี้ออกมาขายกันเกลื่อนตลาด หรือจะเป็นอุปกรณ์เพื่อการควบคุมต่างๆ เช่น Bluetooth Remote ที่ใช้ต่อกับคอมพิวเตอร์แล้วสามารถควบคุมการนำเสนอสไลด์ได้อย่างสะดวกง่ายดาย

พอต่อมาก็มีการพัฒนามาตรฐานไปสู่ เวอร์ชั่น 2.0 EDR (Enhanced Data Rate) ก็มีความเร็วสูงขึ้นไปเป็น 3 Mbps พอเวอร์ชั่น 3.0 HS (High Speed) ก็มีความเร็วสูงถึง 24 Mbps กันเลยทีเดียว ทำให้เราสามารถส่งข้อมูลใหญ่ๆ ระหว่างกันได้เร็วขึ้นเช่น ไฟล์เพลง ไฟล์วิดีโอ เป็นต้น ทำให้มาตรฐาน Bluetooth นั้นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมมาก

โดยเฉพาะการส่งข้อมูลแบบ Streaming เวลาที่ใช้ในการส่งผ่านการเล่นเพลงหรือวิดีโอไปยังลำโพงหรือจอภาพที่ต่อเชื่อมภายนอก การต่อเชื่อมเพื่อส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์จึงเป็นเรื่องจำเป็นมากขึ้นทุกขณะ

ล่าสุดมีการพัฒนาไปสู่เวอร์ชั่น 4.0 ที่มาถึงจุดสำคัญของวงการอีกครั้งโดยนอกจากความเร็วที่ส่งผ่านข้อมูลเร็วถึง 24 Mbps ในเวอร์ชั่นก่อน ขณะเดียวกันก็มีมาตรฐานในการต่อเชื่อมระหว่างอุปกรณ์ที่เรียกว่า Bluetooth LE เป็นมาตรฐานใหม่เข้ามาด้วย (LE = Low Energy ชื่อเดิมคือ Wibree หรือ Bluetooth Ultra Lower Power) โดยนิยามของมันก็คือ มาตรฐานในการเชื่อมต่อ Bluetooth ระหว่างอุปกรณ์ด้วยการทำงานที่กินพลังงานต่ำมาก (Low Energy) ซึ่งปัจจุบันมีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย อาทิเช่น พวกอุปกรณ์ Wearable Computer อย่าง Samsung Gear Fit, Samsung Gear 2, Jawbone Up 24, Garmin Vivo, Google Glass, LG G Watch, Motorola 360, Samsung Gear Live, FitBit Flex เป็นต้น ทำให้อุปกรณ์ Bluetooth เหล่านี้ต่อเชื่อมกันได้ โดยไม่กินพลังงานแบตเตอรี่ของโทรศัพท์มากมายแต่อย่างใด ทำให้เราไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้เวลาที่เราต้องต่อเชื่อมทิ้งไว้ทั้งวันทั้งคืน

ขณะเดียวกันอุปกรณ์ Wearable เหล่านั้นก็สามารถมีอายุใช้งานได้นานเป็นอาทิตย์ โดยเฉพาะ Garmin Vivofit ที่อยู่ได้ 1 ปีโดยไม่ต้องเปลี่ยนถ่าน!! ทำให้ชีวิตของเราสามารถใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในการบันทึกการใช้ชีวิตประจำวันได้ต่างๆ มามายเช่น การนับก้าว การเดิน การวิ่ง ทำให้รู้ว่าจะบรรลุเป้าหมายของการออกกำลังกายได้อย่างไร การตรวจวัดการนอนว่ามีพฤติกรรมการนอนเป็นอย่างไร ตื่นบ่อยไหม นอนเต็มที่ไหม ซึ่งข้อมูลนี้อาจนำไปต่อยอดในเรื่องของสุขภาพได้อีกด้วยในรายที่มีปัญหา การนอนกรน หรือนอนหลับได้ไม่เต็มที่ เพื่อตรวจและประเมินโดยแพทย์ต่อไป การตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ (Heart Rate Monitor) เพื่อให้รู้ว่าหัวใจของเราเต้นเกินกว่าร่างการเราจะรับได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเราต้องออกกำลังกาย อุปกรณ์เหล่านี้สามารถทำงานได้เป็นอย่างดี และมีการเก็บข้อมูลร่วมกับสมาร์ทโฟนของเราเพื่อเก็บสถิติต่างๆ ไว้ได้เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ต่อไป อนาคตของมาตรฐาน Bluetooth นับวันยิ่งมีบทบาทกับอุปกรณ์ไร้สายรอบตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการวงการสื่อสารไร้สายและโทรคมนาคมโลก

NFC – Near Field Communication ผู้ที่เข้ามาช่วยให้โลกเชื่อมต่อง่ายขึ้นกว่าที่เคยเป็น

Olimpicshop NFC – Near Field Communication

Isis-Mobile-Payments-NFC

NFC หรือ Near Field Communication ความเป็นจริงเทคโนโลยีนี้ถูกพัฒนามาจาก RFID (Radio Frequency Identification) ซึ่งมีการนำมาใช้งานกันมากว่าสิบๆ ปี ถ้านึกถึง RFID ให้หลับตานึกถึงสิ่งเหล่านี้ บัตรพนักงานที่เราใช้แตะแล้วเปิดประตูบริษัท บัตรรถไฟฟ้าที่เราใช้แตะแล้วประตูเปิดหักเงินในบัตรเสร็จ หรือแม้แต่เวลาที่เราซื้อของในร้านเสื้อผ้าเราจะเห็นแท็กพลาสติคติดอยู่ตอนจ่ายเงินพนักงานขายต้องเอาออกไม่งั้นเดินออกจากร้านมันก็จะร้องเตือนประมาณว่าของกำลังโดนขโมยเป็นต้น สิ่งเหล่านี้มีการพัฒนามาช้านานแล้ว แต่ส่วนมากถูกนำมาใช้เฉพาะด้าน เฉพาะส่วนพวกรีเทลล์สโตร์ การขายของการใช้เป็นตัวป้องกันการขโมย หรือเฉพาะการใช้งานในองค์กร RFID แท็กเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนหมายเลขอิเล็กทรอนิคส์เฉพาะตัวที่ติดให้กับอุปกรณ์หรือสินค้านั้นๆ เพื่อใช้ในการเก็บฐานข้อมูล การบอกถึงสถานะในระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมต่อกันอยู่

แต่ต่อมาในบทบาทของโลกการสื่อสารไร้สายเข้ามามีบทบาทต่อโลกมากขึ้น จึงมีการพัฒนาระบบ NFC หรือ Near Field Communication นี้ขึ้นมาซึ่งประยุกต์การใช้ระบบคลื่นวิทยุระยะสั้นบนมาตรฐาน RFID เพื่อใช้ในการสื่อสาร การควบคุม การส่งต่อข้อมูล ไปมาระหว่างอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน กับอุปกรณ์อีกด้านหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นโทรศัพท์มือถือด้วยกัน หรือเป็นอุปกรณ์อื่นๆ เช่น ลำโพงไร้สาย Bluetooth, สมาร์ทวอช, แท็ก NFC และอื่นๆอีกมากมาย ปกติการเชื่อมต่อเพื่อการส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์เรามักจะใช้ Bluetooth เป็นโปรโตคอลในการต่อเชื่อมระหว่างอุปกรณ์ไร้สายกัน แต่จะมีความยุ่งยากในการเริ่มต้นจับคู่ (Paring) ซึ่งคนส่วนใหญ่ร้อยละ 50 ทำไม่เป็นในครั้งแรกที่เริ่มใช้งานอุปกรณ์ Bluetooth เพื่อการต่อเชื่อม ส่วนหนึ่งของประโยชน์ของอุปกรณ์ที่มี NFC ติดตั้งอยู่ก็คือ การให้อุปกรณ์สองตัวนั้นจับคู่กันโดยอัตโนมัติ เพียงแต่เอาอุปกรณ์ทั้งสองมาแตะชิดติดกันเพื่อจับคู่ (ระยะไม่เกิน 4 ซม.) หลังจากนั้นอุปกรณ์ทั้งสองตัวก็จะเชื่อมต่อกันแบบต่อเนื่องด้วยโปรโตคอล Bluetooth เพื่อส่งข้อมูลหากันไปตลอดจนกว่าเราจะสั่งให้หยุด อาทิเช่น เราอยากจับคู่ลำโพง Bluetooth ที่ซื้อมาใหม่กับสมาร์ทโฟนของเรา ถ้าทั้งสองสิ่งนี้มี NFC อยู่ทั้งคู่ก็เพียงแต่เปิดโหมด NFC แล้วเอาอุปกรณ์ทั้งสองตัวมาแตะกัน ทั้งคู่ก็จะรู้จักกันแล้วจับคู่โดยอัตโนมัติเพื่อใช้ในงานร่วมกัน พอครั้งหน้าจะใช้ก็ง่ายแล้ว เพราะเราจับคู่ให้รู้จักกันไว้แล้ว ก็ไม่ต้องมาจับคู่กันซ้ำแต่อย่างใด

หรือจะเป็นการส่งข้อมูลระหว่างเครื่องเช่น ข้อมูลส่วนตัว เบอร์โทรศัพท์ รูปภาพ วิดีโอ ไฟล์เอกสาร ในรูปแบบเดิมๆ เราต้องทำการจับคู่ทาง Bluetooth เพื่อเชื่อมต่อโปรโตคอลในการส่งข้อมูล แต่ถ้าเรามี NFC เราก็เพียงแต่เอาโทรศัพท์สมาร์ทโฟนนี้มาแตะชิดกันก่อนจะทำการส่งภาพหรือไฟล์ใดๆ ไปยังอีกเครื่องหนึ่ง ให้เครื่องรู้ว่าเรากำลังจะส่งข้อมูลนี้ไปยังอีกเครื่องหนึ่งตามหมายเลขของ NFC ที่มารู้จักกันในการแตะใกล้ๆ กัน (เหมือนคนจับมือกันกับอีกคนเพื่อรู้จักกันแล้วเริ่มพูดคุยกันต่อไป) ล่าสุดก็มีการนำไปใช้แทนบัตรรถไฟฟ้าโดยใช้ NFC ที่มีอยู่ในสมาร์ทโฟนเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อกับระบบจ่ายเงินผ่านระบบของรถไฟฟ้า BTS เพื่อความสะดวกในการใช้งานกับอุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟนให้สะดวกยิ่งขึ้น ทำให้ไม่ต้องพกบัตรรถไฟให้ยุ่งยากเพราะยังไงเราก็ต้องพกพาโทรศัพท์ไปกับตัวเราตลอดอยู่แล้ว

สิ่งเหล่านี้ถูกนำมาใช้แพร่หลายมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะทาง Samsung และ Sony ที่มี NFC แทบจะทุกชนิดสินค้าที่ได้นำออกมาจำหน่าย ตั้งแต่สมาร์ทโฟน ทีวีแอลอีดี เครื่องเสียงในบ้าน กล้องถ่ายรูป กล้องวิดีโอ และอีกมากมายในอนาคต ซึ่งเชื่อว่า NFC จะมีบทบาทมากขึ้นอีกมากมายในอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคในบ้านต่อไป

 

ANT+ มาตรฐานใหม่เชื่อมต่อเราเข้าสู่โลกของอุปกรณ์ต่อเชื่อมที่ใช้กับการออกกำลังกายและสุขภาพ

GolfBuddy_051

TT_MULTISPORT_MI

garmin-edge510-01

 

ANT+ เป็นมาตรฐานการต่อเชื่อมแบบไร้สายอีกโปรโตคอลหนึ่งที่กำลังนำมาใช้กันมากขึ้นกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่เราใช้ในการออกกำลังกาย โดยทำหน้าที่ในการตรวจจับประเภท Sensor เพื่อวัดค่าต่างๆ ที่มีอยู่บนอุปกรณ์ เช่น เครื่องลู่วิ่งตามฟิตเนสคลับต่างๆ โดยจะทำหน้าที่ตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจขณะที่วิ่ง รวมถึงข้อมูลการวิ่งต่างๆ จักรยานชั้นดีที่เราใช้ปั่นออกกำลังอย่างพวกจักรยานเสือหมอบหรือจักรยานเสือภูเขา ก็มีเซนเซอร์แบบ ANT+ เพื่อวัดรอบความเร็วจักรยานรวมถึงรอบขาของการปั่นของเราในขณะที่ออกกำลัง ซึ่งข้อมูลจะถูกส่งต่อไปยังอุปกรณ์ที่เราต่อเชื่อมด้วย เช่น มาตรวัดดิจิตอลที่ติดกับรถจักรยาน หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่รองรับการเชื่อมมาตรฐาน ANT+ ด้วย ซึ่งได้แก่โทรศัพท์ยี่ห้ออย่าง Samsung ในรุ่นใหญ่อย่าง Galaxy S5, Galaxy S4, Galaxy Note3, Note 3 Neo เป็นต้น

ส่วน Sony จะรองรับแทบทุกรุ่นที่ออกมาขายช่วงปีสองปีที่ผ่านมา รวมถึง Z2 รุ่นล่าสุดด้วย, Nexus 5 ที่ออกมาเมื่อปีที่แล้ว  ANT+ นั้นถูกพัฒนาโดยบริษัท Garmin อย่างที่เราทราบกันดีบริษัท Garmin เป็นบริษัทหนึ่งที่หลังๆ หันมาพัฒนาอุปกรณ์เกี่ยวกับการออกกำลังกายมากยิ่งขึ้น อาทิเช่น GPS Watch, Golfing GPS Watch, Cycling Computer นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม Garmin ถึงมาพัฒนามาตรฐานของ ANT+ เพื่อมาใช้กับอุปกรณ์ไร้สายต่างๆ รอบตัวเรามากยิ่งขึ้น ต้องมาเอาใจช่วยกันเพื่อให้ ANT+ เป็นมาตรฐานที่จะอยู่ในสมาร์ทโฟนทุกรุ่นทุกยี่ห้อ เพื่อทำให้มาตรฐานนี้แข็งแรงต่อไป และมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายมากยิ่งๆ ขึ้นครับ โดยเฉพาะปัจจุบันมนุษย์อย่างเราๆ หันมาใส่ใจกับการออกกำลังกายมากขึ้นนั่นเอง

 

WiFi Direct

เป็นมาตรฐานของการสื่อสารที่พัฒนามาจาก WiFi ปกติ เพียงแต่ WiFi Direct นั้นจะเป็นการต่อเชื่อมระหว่างอุปกรณ์แบบ Peer to Peer (P2P) หรือจากจุดต่อจุดไม่ข้ามจุดอื่น ซึ่งเหมาะสำหรับการต่อเชื่อมระหว่างอุปกรณ์ต่ออุปกรณ์ ซึ่ง WiFi Direct นั้นมีความเร็วในการส่งข้อมูลสูงถึง 52 Mbps หรือเร็วกว่ามาตรฐาน Bluetooth 3.0/4.0 กว่าสองเท่าเลยทีเดียว เหมาะสำหรับการส่งข้อมูลใหญ่ๆ ระหว่างอุปกรณ์ต่ออุปกรณ์ ซึ่งปัจจุบันถูกติดตั้งในอุปกรณ์ไอทีต่างๆ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต กล้องดิจิตอล เครื่องพริ้นเตอร์ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ้ค ทีวีดิจิตอลแอลอีดีรุ่นใหม่ๆ แต่มาตรฐาน WiFi ไม่มีโหมดการทำงานแบบพลังงานต่ำ (Low Energy) อย่างที่ Bluetooth ทำได้ เพราะฉะนั้นการนำเอา WiFi Direct ไปใช้นั้นเหมาะสำหรับการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ไปยังอุปกรณ์เพื่อส่งข้อมูลไปให้อีกข้างหนึ่งเท่านั้น อาทิเช่น WiFi Direct ในกล้องดิจิตอล ช่วยให้เราสามารถส่งรูปภาพจากกล้องดิจิตอลไปยังสมาร์ทโฟนได้หลังจากถ่ายภาพเสร็จ โดยไม่ต้องไปผ่านคอมพิวเตอร์เหมือนสมัยก่อนแล้ว เราก็สามารถส่งภาพนั้นต่อผ่านทางอีเมล์จากสมาร์ทโฟนได้เลย หรือจะส่งภาพจากกล้องดิจิตอลไปยัง พริ้นเตอร์ได้ในทันที โดยที่ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นตัวกลางเราก็สามารถพิมพ์งานได้เลย หรือในกรณีที่เราสามารถพิมพ์งานจากคอมพิวเตอร์ได้เลยโดยไม่ต้องต่อสายกับพริ้นเตอร์ตัวนั้น หรือไม่ต้องมีวง WiFi ในบ้าน เราก็พิมพ์งานได้โดยตรงโดยผ่านทาง WiFi Direct หรือจะเป็นสมาร์ทโฟนที่มีฟีเจอร์ WiFi Direct เราก็สามารถส่งไฟล์ระหว่างมือถือสมาร์ทโฟนด้วยกันได้อย่างรวดเร็ว หรือจะส่งไฟล์งานพิมพ์จากสมาร์ทโฟนโดยตรงไปที่เครื่องพิมพ์ก็แสนสะดวก มาตรฐาน WiFi Direct กำลังได้รับการยอมรับและเข้ามามีบทบาทกับการใช้งานอุปกรณ์ไอทีและสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าซื้ออุปกรณ์ไอทีใหม่ๆ ก็มองหาตัวที่มีมาตรฐาน WiFi Direct ด้วยนะครับ จะช่วยให้ชีวิตสะดวกมากขึ้นเลยทีเดียว กับโลกไร้สายยุคใหม่นี้

สำหรับแฟนๆท่านใดที่มีคำถาม สามารถติดตามมาได้ที่ twitter ของผม @peter2514 นะครับ ส่วน facebook ตามมาได้ที่ www.facebook.com/Peerapol หรือจะติดตาม Instagram ก็ Search หา ID “peter2514” ได้นะครับ แล้วเจอกันใหม่ฉบับหน้านะครับ ขอบคุณทุกการติดตามครับ

 

Click to comment

You must be logged in to post a comment Login

Leave a Reply

To Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณและสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • GA

    Google Analytic

Save