หากเรามองดูสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ตามท้องตลาดในปัจจุบัน จะพบว่า มีหลายรุ่นที่ใช้พอร์ตการเชื่อมต่อแบบ USB-C และรุ่นใหม่ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะใช้พอร์ตนี้มากขึ้นเรื่อยๆ (ไม่นับรุ่นราคาถูก) อะไรที่ทำให้ผู้ผลิตต่างๆ หันมาใช้ USB-C กันมากขึ้น, มาตรฐาน USB 3.1 คืออะไร, USB PD มีคุณสมบัติอย่างไร, USB-C มีข้อดีข้อเสียอย่างไร วันนี้เราจะพาทุกคนมาหาคำตอบกันครับ
USB-C , USB 3.1 และ USB PD สามสิ่งนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร ที่นี่มีคำตอบ
USB-C เป็นพอร์ตมาตรฐานแบบใหม่สำหรับการชาร์จแบตเตอรี่และการถ่ายโอนข้อมูลด้วยความเร็วที่สูงขึ้น ซึ่งจะรองรับทั้งสมาร์ทโฟน โน้ตบุ้ค แท็บเล็ท และอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่กำลังจะมาถึงในอนาคต เพื่อให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับ USB แบบเก่าที่มีพอร์ตขนาดใหญ่และมีอัตราการถ่ายโอนข้อมูลที่ช้ากว่า USB-C
USB-C เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2014 ซึ่งในขณะนั้นก็มีมาตรฐานการเชื่อมต่อแบบอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น Thunderbolt หรือ Display Port ซึ่งจากการทดสอบพบว่า เมื่อฟังเพลงผ่านพอร์ต USB-C แทนการใช้แจ๊คหูฟัง 3.5 mm ก็ให้คุณภาพเสียงที่ดีเมื่อใช้ควบคู่กับมาตรฐานของ USB Audio นอกจากนี้ยังรองรับมาตรฐานอื่นๆ อย่าง USB 3.1 เพื่อการโอนถ่ายข้อมูลด้วยความเร็วที่สูงขึ้น และ USB Power Delivery (USB PD) เพื่อใช้ในการจ่ายกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าเดิมผ่านสาย USB
USB-C ใช้งานง่ายขึ้น รองรับมาตรฐานใหม่ๆ ตามข้อกำหนดของ USB
USB-C ใช้หัวเสียบที่มีขนาดเล็กกระทัดรัด เมื่อเทียบกับ Micro USB เดิม นอกจากนี้ ยังรองรับมาตรฐานใหม่ๆ ของ USB อีกหลายประเภท เช่น USB 3.1 หรือ USB Power Delivery (USB PD) เป็นต้น
ก่อนหน้าที่จะมี USB-C หัวเสียบ USB มาตรฐานที่เรารู้จักและพบเห็นกันเป็นอย่างดีก็คือ USB Type A นั่นเอง ไม่ว่าจะเปลี่ยนมาตรฐานความเร็วเป็น USB 1, 2 หรือ 3 หัวเสียบก็ยังคงเป็น USB-A เหมือนเดิม ซึ่งเป็นหัวเสียบ USB ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับแบบอื่น แต่เมื่ออุปกรณ์ต่างๆ มีขนาดที่บางลงและเล็กลง การใช้ USB-A เริ่มไม่ตอบโจทย์เพราะมีหัวเสียบที่ใหญ่เกินไป จึงได้เกิดหัวเสียบแบบใหม่สำหรับอุปกรณ์ขนาดเล็ก อย่าง Micro USB และ Mini USB
ด้วยขนาดและรูปทรงที่แตกต่างกันระหว่าง Micro USB และ Mini USB จึงได้มีการพัฒนาหัวเสียบแบบใหม่อย่าง USB-C ที่มีขนาดเล็กประมาณหนึ่งในสามของ USB-A โดยเป็นหัวเสียบแบบเดียวที่รองรับการใช้งานกับทุกอุปกรณ์ ผ่านใช้สายเคเบิลเพียงแค่เส้นเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะใช้ชาร์จสมาร์ทโฟน หรือจะเสียบ HDD พกพาเข้ากับโน้ตบุ้ค คราวนี้ก็ไม่ต้องซื้อสาย USB หลายแบบให้ยุ่งยากอีกต่อไป
ฟีเจอร์ที่สำคัญของ USB-C คือรูปทรงที่ใช้งานง่าย สามารถหมุนเสียบได้สองทิศทางไม่ว่าจะด้านบนหรือหรือด้านล่าง (แบบเดียวกับหัวเสียบ Lightning) หมดปัญหาในการหมุนเสียบผิดด้านเมื่อใช้ในที่มืดหรือตอนเพิ่งตื่นนอน หากอุปกรณ์ต่างๆ ที่คุณมีนั้นใช้สาย USB-C ทั้งหมด ก็หมดปัญหาที่ต้องพกสายหลายๆ แบบออกจากบ้าน นอกจากนี้ ด้วยความที่หัวเสียบมีขนาดเล็ก นั่นหมายความว่าอุปกรณ์ต่างๆ ก็มีแนวโน้มที่จะเล็กลงด้วยเช่นกัน
USB-C ยังรองรับโปรโตคอล (มาตรฐานการเชื่อมต่อ) หลายแบบที่แตกต่างกันออกไปโดยการใช้ Alternate Mode ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแปลงสัญญาณเพื่อรองรับหัวเสียบแบบต่างๆ เช่น HDMI, VGA, DisplayPort และการเชื่อมต่อแบบอื่นๆ หากเทียบกับอุปกรณ์ของ Apple ก็คือ USB-C Digital Multiport Adapter นั่นเอง จากคุณสมบัติเหล่านี้ ทำให้ผู้ใช้สามารถแปลงหัวเสียบแบบต่างๆ โดยการใช้ช่องเสียบ USB-C เพียงแค่ช่องเดียวเท่านั้น ซึ่งรวมไปถึงช่องจ่ายไฟของโน้ตบุ้คด้วย
USB-C, USB PD, และ Power Delivery
USB PD มีคุณสมบัติที่เกี่ยวข้องกันกับ USB-C เป็นอย่างมาก เนื่องจาก USB 2.0 ที่ใช้กันในปัจจุบันรองรับการจ่ายไฟได้เพียงแค่ 2.5 วัตต์ ซึ่งเพียงพอกับการชาร์จสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ทเท่านั้น แต่ USB-C สามารถจ่ายไฟได้มากถึง 100 วัตต์ รองรับการจ่ายไฟหรือชาร์จไฟไปพร้อมๆ กันของทั้งสองอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกัน รวมไปถึงการจ่ายไฟในขณะถ่ายโอนข้อมูลด้วย ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ของ Power Delivery ทำให้การชาร์จโน้ตบุ้คขนาด 60 วัตต์ด้วยสาย USB-C กลายเป็นเรื่องง่ายและเกิดขึ้นจริง
แต่ช้าก่อน! อุปกรณ์ต่างๆ หรือสายเคเบิลที่เป็น USB-C ไม่ได้หมายความว่าจะรองรับ USB-PD เสมอไป ดังนั้น ก่อนจะซื้อสายชาร์จสักเส้น ต้องเช็คให้แน่ใจว่ารองรับทั้ง USB-C และ USB PD ด้วย
USB-C, USB 3.1, และอัตราการถ่ายโอนข้อมูลที่สูงขึ้น
ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า USB-C นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับ USB 3.1 โดยตรง เพราะ USB-C เป็นเพียงแค่พอร์ตการเชื่อมต่อเท่านั้น ซึ่งอาจจะรองรับมาตรฐานการถ่ายโอนข้อมูลแบบเดิมๆ อย่า USB 2.0 หรือ 3.0 ก็เป็นได้ เช่น แท็บเล็ท Nokia N1 ใช้พอร์ตชาร์จเป็น USB-C แต่การถ่ายโอนยังใช้แบบ 2.0 อยู่ (เพื่อลดต้นทุน) เป็นต้น ดังนั้น ก่อนจะซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ควรเช็คให้แน่ใจว่าอุปกรณ์เหล่านั้นรวมถึงสายเคเบิล รองรับ USB 3.1 ด้วย
USB 3.1 เป็นมาตรฐานใหม่ของการโอนถ่ายข้อมูล รองรับความเร็วสูงสุดถึง 10 Gbps ซึ่งเร็วกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับเวอร์ชั่น 3.0 ที่ 5 Gbps และเร็วเทียบเท่ากับพอร์ต Thunderbolt รุ่นแรกอีกด้วย
USB-C ยังรองรับกับอุปกรณ์เวอร์ชั่นเก่าๆ เพียงแค่ใช้หัวแปลง
จริงอยู่ที่เราไม่สามารถเสียบอุปกรณ์ที่ใช้ USB-C เข้ากับพอร์ต USB แบบเก่าได้โดยตรง แต่เราสามารถใช้หัวแปลงเพื่อแก้ปัญหานี้ได้โดยที่ไม่ต้องทิ้งอุปกรณ์แบบเก่าให้เสียเปล่า ด้วยการใช้หัวแปลงด้านหนึ่งที่เป็น USB-C สำหรับอุปกรณ์แบบใหม่ ส่วนอีกด้านก็นำอุปกรณ์แบบเก่าเข้ามาเสียบ เพียงแค่นี้ก็สามารถใช้อุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกันได้ด้วยไม่มีปัญหา (แต่อาจจะเสียเวลาหาหัวแปลงสักหน่อย)
ข้อดีของ USB-C
- เสียบได้สองด้าน (แบบเดียวกับ Lightning ของ iPhone) จึงไม่ต้องเสียเวลาจ้องมองในขณะที่เสียบสาย
- ไม่ต้องพกสายเคเบิลเยอะ หากอุปกรณ์ของคุณรองรับ USB-C พกแค่เส้นเดียวก็พอ!
- พอร์ตมีขนาดเล็กลง จึงเหมาะกับสมาร์ทโฟน แท็บเล็ท และโน้ตบุ้คดีไซน์บางเฉียบ
- รองรับมาตรฐานต่างๆ ที่ดีขึ้น เช่น USB 3.0, 3.1 ที่ถ่ายโอนข้อมูลด้วยความเร็วสูง, USB PD ที่จ่ายไฟได้มากถึง 100 วัตต์, ชาร์จและจ่ายไฟไปพร้อมๆ กันทั้งสองอุปกรณ์
- ใช้กับอุปกรณ์รุ่นเก่าๆ ได้เพียงแค่แปลงหัวเสียบ เพราะมาตรฐานของ USB นั้นรองรับการเชื่อมอุปกรณ์เก่าและใหม่เข้าด้วยกันอยู่แล้ว (Backward Compatibility)
ข้อเสียของ USB-C
- สายเคเบิลจะมีราคาแพงกว่าปกติ เนื่องจากรองรับมาตรฐานต่างๆ ที่ดีกว่า USB รุ่นเก่า
- ยุ่งยาก ต้องพกสายเคเบิลหลายเส้น หากอุปกรณ์บางอย่างที่คุณมีนั้นไม่ได้รองรับ USB-C