อย่างที่ทราบกันดีว่าสมาร์ทโฟนในระบบ Android ที่มีขายอยู่ในบ้านเรานั้น เป็นระบบปฏิบัติการที่มีการอัพเดตกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราในฐานะผู้ใช้งานจึงจำเป็นต้องคอยอัพเดตกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการติดตามข่าวปล่อยอัพเดทเวอร์ชั่นใหม่ หรือข่าวคราวของสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ที่อาจจะมาพร้อมระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่นล่าสุด และสเป็คแรงๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้งานด้วยกันทั้งหมด หลายท่านอาจชื่นชอบการอัพเดต เพราะชอบอะไรที่ใหม่ๆ หรือไม่พอใจในตัวระบบปฏิบัติการที่ใช้งานอยู่ เพราะคิดว่าการอัพเดตจะทำให้เราไม่ตกเทรนด์ แต่ทราบหรือไม่ ? ว่าการอัพเดตมีความสำคัญอย่างไร? และจำเป็นมากน้อยแค่ไหนกับสมาร์ทโฟนที่คุณกำลังใช้อยู่ในขณะนี้ มาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน
สำหรับในเรื่องของการอัพเดต ส่วนใหญ่ที่เราเข้าใจกันนั้นก็คือ การทำให้เครื่องดีขึ้น เร็วขึ้น ลื่นขึ้น ระบบรักษาความปลอดภัยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และที่สำคัญสามารถใช้งานร่วมกับแอพพลิเคชั่นโซเชียลต่างๆ ที่มีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาเช่นกันได้ดีขึ้น ถ้าหากจะพูดถึงสมาร์ทโฟนแอนๆ ในปัจจุบันคงต้องบอกเลยว่า มีอยู่มากมายมหาศาลเลยทีเดียวเพราะตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทยเป็นตลาดที่ใหญ่และเติบโตเร็วเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค รองจากอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ดัง, แบรนด์น้องใหม่, รุ่นเก่า-รุ่นใหม่, ราคาถูก-ราคาแพง, สเป็คก็แรงแตกต่างกันไปตามราคาที่ซื้อหากันมา และในเรื่องของเวอร์ชั่นแอนดรอย์ก็แตกต่างกันตามไปด้วย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยของราคา, สเป็ค, ปีที่ผลิต และตัวผู้ผลิตแต่ละค่ายว่าจะเลือกใส่ระบบปฏิบัติการในเวอร์ชั่นอะไรมาให้ และจะปล่อย ระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่นใหม่ๆ ออกมาให้ได้อัพเดทกันได้อีกหรือเปล่า
แต่ประเด็นที่ส่วนใหญ่มักจะถามกันเข้ามามากนั่นก็ คือ ทำไมเครื่องชั้นไม่ได้อัพเดททั้งที่สเป็คก็พอๆ กับของค่ายอื่น เพราะส่วนใหญ่ผู้ใช้งานหลายท่านเข้าใจว่ามือถือทุกรุ่นควรต้องอัพเดท เพราะคิดว่าการอัพเดตนั้นจะทำให้ไม่ตกเทรนด์ ทำให้สมาร์ทโฟนดีขึ้น มีลูกเล่นมากขึ้น ความสามารถเพิ่มสูงขึ้น ใช้งานแอพฯ ได้ดีขึ้น นั่นคือความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ก็มีอีกหลายๆ ข้อที่ยังเข้าใจไม่ถูกต้อง วันนี้เราจึงขอนำเสนอในอีกแง่มุมนึง เพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมบางค่ายถึงได้อัพเดท
ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เครื่องเก่าไมได้อัพเดท
ก่อนอื่นเรามาดูความสามารถทางด้านฮาร์ดแวร์ หรือที่รู้จักในภาษาบ้านๆ นั่นก็คือความสามารถของตัวเครื่องที่สงสัยกันว่าทำไมถึงไม่ได้อัพเดทสักที เชื่อว่ามีผู้ใช้งานจำนวนไม่น้อยเลยที่เข้าใจว่าสามาร์ทโฟนทุกรุ่นสามารถใช้ระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่นใหม่ๆได้เสมอ หรือกรณีประมาณว่าสมาร์ทโฟนจากค่าย ก. ที่มีสเป็คพอๆ กับค่าย ข. แต่ทำไมค่าย ก. ได้อัพเดทแต่ค่าย ข. กลับไม่ได้อัพเดท ?? ซึ่งอันนี้ก็น่าคิด แต่ …… ก่อนจะโมโหไปกันใหญ่โต เราอยากให้คุณลองย้อนนึกถึงเหตุผลเหล่านี้กันดูก่อนว่า สมาร์ทโฟนของคุณที่ใช้อยู่นั้น สเป็คเป็นยังไง ราคาอยู่ในช่วงระดับไหน เช่น รุ่นไม่ใหม่มากแต่ก็ไม่เก่าจนเกินไป ราคาระดับกลางๆ สเป็คก็ไม่สูงเท่ารุ่น Hi-End แต่ CPU ก็โอเค ROM ก็ให้มาเยอะอยู่ แต่ ….ดั๊นนนนนน !! ให้ RAM มาน้อยนิดซะงั้น ทั้งๆ ที่สเป็คก็พอๆ กับค่ายอื่นในราคาใกล้ๆ กัน
ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นเหตุผลในเรื่องของการตั้งงบการผลิตต่อชิ้นที่ถูกกำหนดด้วย Target และ Margin ทางการตลาดก็เป็นได้ ที่เพิ่มตรงนั้น ก็ต้องลดตรงนี้ ไปแปะตรงโน้น เพื่อที่จะควบคุมต้นทุนการผลิตให้ทำออกมาขายได้ในราคาไม่แพงมากนัก ซึ่งนี่ก็เป็นความจริงที่เราต้องยอมรับอีกข้อหนึ่ง แต่ถ้าหากเป็นเหตุผลทางการตลาดที่ว่ามีรุ่นที่ A2 รุ่นที่ A3 ผลิตตามออกมาแน่นอนว่ารุ่น A1 ที่ออกมาก่อนหน้านี้อาจจะไม่สามารถอัพเดทได้นั่นก็เป็นอีกกรณีนึงที่มีความเกี่ยวพันในเรื่องของกลไกทางการตลาด ฉะนั้นเราเองที่เป็นผู้บริโภคก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการซื้อสินค้าเหล่านี้ ด้วยการเริ่มศึกษาพฤติกรรมของผู้ผลิตแต่ละค่ายเสียก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ อาทิเช่น
ค่าย A : ขายมือถือ ราคาถูก สเป็คกลางๆ ระบบปฏิบัติการอัพเดทได้ 2 เวอร์ชั่นก็ไม่ได้ไปต่อ ปีนึงออก 1-2 รุ่น
ค่าย B : ขายมือถือ ราคาสูง สเป็คสูง ระบบปฏิบัติการอัพเดทไปได้เรื่อยๆ ปีนึงออก 5-6 รุ่น
พฤติกรรมประมาณนี้ก็น่าจะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกได้ และยิ่งสมัยนี้เทคโนโลยีเปิดกว้างผู้คนส่วนใหญ่ใช้อินเตอร์เน็ท ฉะนั้นการจะค้นหาข้อมูลของผู้ผลิต หรือ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ค่อนข้างทำได้ง่ายดายมาก เสียเวลาศึกษานิดหน่อย แต่ได้ของที่ดีก็ถือว่าคุ้มค่าไม่น้อยเลย
สำหรับคนที่ซื้อมาแล้วก็อาจต้องมาคิดกันอีกครั้งว่า ถ้าหากสมาร์ทโฟนที่เราใช้อยู่ ซื้อมาราคาประมาณนี้ สเป็คประมาณนี้ หากอัพเดทเป็นเวอร์ชั่นที่สูงกว่านี้ จะสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพเท่าตัวเดิมที่ใช้อยู่หรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น คุณซื้อเครื่องมาใหม่ได้ Android 5.0 มาด้วยต่อมาไม่นานได้อัพเดทเป็น 5.0.1 และ 5.0.2 และหลังจากนั้นไม่นานก็ประกาศเวอร์ชั่นใหม่ออกมาแต่รุ่นของคุณไม่ได้ไปต่อ ซึ่งกรณีเช่นนี้ในบ้านเรามีสมาร์ทโฟนที่เจอกับเหตุการณ์แบบนี้อยู่เป็นจำนวนไม่น้อยเท่าที่ทราบมามีมากว่า 60-70% ของตลาดเลยทีเดียว
ซึ่งไม่แน่ว่าสมาร์ทโฟน A อาจจะใช้งานได้ดีตอนเป็นเวอร์ชั่น 5.0 ก็ได้เพราะถึงแม้จะปล่อย 5.0.1,5.0.2 ออกมาแต่ดูเหมือนว่าเครื่องจะทำงานได้ไม่ถึงขีดสุดความสามารถ ยิ่งถ้าเป็นเครื่องที่มี CPU ที่สูงแต่มี RAM เพียงแค่ 512 MB พออัพเดทไปปุ้บ กระตุกรัวๆ ค้างรัวๆ อาการเช่นนี้ ลองคำนวณดูเล่นๆ ว่าถ้าระบบปฏิบัติการทำงานอยู่ แอพฯ อื่นๆ ที่ทำงานอยู่เบื้องหลังจำนวนไม่น้อยก็ทำงานตามไปด้วย แม้เราจะบอกว่าไม่ได้เปิดใช้ก็ตาม เพราะ แอพฯ บางตัวที่เป็นแอพฯ โซเชียลที่มีการเชื่อมต่อเน็ทอัตโนมัติส่วนมากจะมีการทำงานตลอดเวลา เนื่องมาจากมีในส่วนของการแจ้งเตือนเข้ามาไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ๊ค หรือไลน์ เป็นต้น
โดยเฉลี่ยแล้ว RAM จะสามารถใช้งานได้ประมาณ 300 MB กว่าๆ ซึ่งพอเราอัพเดทเป็น 5.0.2 แล้วไฟล์ใหญ่กิน RAM ไปเยอะกว่าเดิมทั้งๆ ที่ RAM ก็มีพื้นที่ทั้งหมดเท่าเดิม ต่อให้เคลียร์ RAM ยังไงพื้นที่ก็ยังคงน้อยอยู่ดี ทำให้ต้องแบ่งสัดส่วนการใช้งาน RAM ของตัวระบบนั้นเพิ่มไปอีก พอเปิดแอพฯ มากเกินไปก็จะทำให้เครื่องค้าง เครื่องกระตุก ซึ่งแตกต่างจากเวอร์ชั่น 5.0 ที่สามารถใช้งานได้อย่างลื่นไหลไม่มีสะดุด ฉะนั้นการจะคิดแต่ว่าจะต้องอัพเดทเวอร์ชั่นใหม่เหมือนคนอื่นๆ เค้า เอาจริงๆ มันก็ไม่ได้ดีเสมอไป ก่อนที่คุณจะอัพเดทควรต้องเช็คดูก่อนว่าเครื่องของคุณนั้นทำงานเป็นยังไง สเป็คไหวไหม ประกอบกันหลายๆ อย่างด้วยนะ เพราะไม่อย่างนั้นแทนที่อัพเดทแล้วจะเป็นผลดีก็กลับกลายเป็นแย่ไปเลย ก็เสียเวลาหาทางแก้ไขกันอีก แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่ควรอัพเดทระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่นใหม่ๆ นะ เพราะการอัพเดทให้ซอฟแวร์ใหม่อยู่เสมอนั้นเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว และมันจะดีมากกว่านี้อีก ถ้าสเป็คและระบบปฏิบัติการของคุณทำงานสอดคล้องกันและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าเจอเหตุการณ์ในกรณีที่ว่า ซื้อเครื่องมาราคาแพงมากๆ เกือบ 2-3 หมื่น สเป็คเริ่ดทุกอย่างแต่ยังไม่สามารถอัพเดทได้ อันนี้ก็อาจจะต้องรอฟังข่าวจากทางผู้ผลิตก่อนไม่อยากให้ตัดสินว่าคงไม่ได้ไปต่อ เพราะรอบของการอัพเดทในแต่ละครั้งก็ใช้ระยะเวลานานพอสมควรเลยเช่นกัน