สวัสดีครับ ผมปีเตอร์กวง ควงมือถือ พิธีกรรายการ “ล้ำหน้าโชว์” ซึ่งรายการนี้ผลิตและสร้างสรรค์โดย บริษัท ล้ำหน้าโชว์ จำกัด ที่เราทั้งสาม (พี่หลาม ปีเตอร์กวง อาจารย์ศุภเดช) ได้ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ด้วยกันเพื่อให้ผู้ชมได้บริโภคสาระดีๆ ที่ให้ความรู้ด้านไอทีและเทเลคอม บวกความบันเทิงตามสไตล์แบบของพวกเราไปด้วย โดยออกอากาศทางช่อง Nation Channel (เนชั่นแชนนอล) ดูได้ทั้งทางทีวีดาวเทียมทางช่อง 32 และทีวีดิจิตอลช่อง 22 ทุกวันอาทิตย์ ออกอากาศสด เวลา 15:00-16:00 อยากให้ติดตามกันเยอะๆ นะครับ แล้วบ่ายวันอาทิตย์ของคุณ จะมีความหมายมากกว่าเดิม… สำหรับตัวผมเองก็ยังประจำการใน What Phone Magazine ทุกเดือนเหมือนเช่นเคยครับ เพื่อไขข้อข้องใจและเก็บตกข่าวคราวความเคลื่อนไหวในวงการเทเลคอม ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ สำหรับฉบับนี้จะมาพูดเรื่อง ยักษ์เทเลคอมรายใหม่จากจีนที่กำลังจะกลายเป็นยักษ์ใหญ่ๆ ของวงการอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์ โทรทัศน์ เครื่องไฟฟ้า เทเลคอม การแพทย์ แก็ดเจต และอื่นๆ แทบทุกอย่าง อีกมากมายของโลกใบนี้ในอนาคต จนอาจทำให้คุณลืมยักษ์ใหญ่อื่นๆ ในปัจจุบันไปได้เลยทีเดียว ถึงแม้จะไม่ใช่เวลานี้ แต่เชื่อว่าอีกไม่นาน….
จุดเริ่มต้นของ Xiaomi โดยชายที่ชื่อ Lei Jun สมญานาม สตีฟ จ๊อบแห่งแดนมังกร
Lei Jun (เล จุน) เริ่มต้นชีวิตกับบริษัทที่ชื่อ Kingsoft ในฐานะวิศวกรของบริษัทในปี 1992 โดย Kingsoft เป็นบริษัทที่พัฒนาแอพพลิเคชั่นทางด้านเอกสารออฟฟิศจำพวก Word, Excel และ PowerPoint นั่นเอง โดยพัฒนาขึ้นมาในชื่อ Kingsoft Writer, Kingsoft Spreadsheet, Kingsoft Presentation กลุ่มเป้าหมายมุ่งไปยังกลุ่มผู้ใช้ชาวจีน เพื่อให้แน่ใจว่าโปรแกรมการจัดการเอกสารเหล่านี้บนใช้บนคอมพิวเตอร์ที่รันด้วย Windows แล้วมันจะสามารถรองรับการแสดงผลภาษาจีนได้อย่างสมบูรณ์ และนอกจากนั้น Kingsoft ยังมีผลงานในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานกับคอมพิวเตอร์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเกมส์ หรือ Kingsoft Antivirus และอื่นๆ มาจนถึงทุกวันนี้
ล่าสุดมีแอพพลิเคชั่น WPS (Word, Presentation, Spreadsheet) ที่ออกมารองรับการทำงานได้ไม่ว่าจะเป็น PC หรือ Android ในชื่อที่คุ้นชิน “Kingsoft Office” จนในปี 1998 Lei Jun ก็กลายมาเป็น CEO ของ Kingsoft ในที่สุดโดยใช้เวลาเพียง 6 ปีเท่านั้น ซึ่ง Lei Jun ได้พัฒนาและสร้างความสำเร็จมากมายให้กับ Kingsoft จนนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นสำเร็จจนกระทั่งในช่วงต้นปี 2000 Lei Jun ก็ก้าวลงจากตำแหน่ง CEO แล้วมาดำรงตำแหน่ง Vice President ของบริษัทเพื่อจะได้มีเวลาทำงานที่ของเขาต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งบริษัท Start-Up มากมายจนหลายๆบริษัทที่เขาสร้างขึ้น ได้มีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาซื้อกิจการไป เช่น Joyo.com ร้านหนังสือ Online ที่มี Amazon.com เข้ามาซื้อกิจการไป การเดินทางของ Lei Jun กับ Kingsoft ก็มาถึงในปี 2007 เขาได้จัดสินใจลาออกจาก Kingsoft และออกไปสร้างบริษัท UCWeb ซึ่งเป็น Mobile Browser ที่มีคนใช้กว่า 500 ล้านคนในประเทศจีนซึ่งถือว่าเป็นแอพฯ ที่ทรงอิทธิพลต่อผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในยุคก่อนสมาร์ทโฟนมากๆ แรงไม่แรงถึงขนาดว่าบริษัท Alibaba (บริษัทซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่ก่อตั้งโดย แจ็ค หม่า มีลักษณะธุรกิจคล้ายๆกับ eBay) ได้เข้ามาซื้อกิจการไปอีก นั่นแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่ Lei Jun มีต่อการสร้างธุรกิจใหม่ที่เขามองเห็นโอกาสได้เสมอ
มาจนถึงในปี 2010 Lei Jun ได้ร่วมกับเพื่อนนักบริหารคนจีนหลายคน ที่ล้วนแล้วแต่ทำงานอยู่ในบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งสิ้น (อาทิเช่น Google, Motorola, Microsoft, Kingsoft, Yahoo) โดยได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทที่พัฒนาโทรศัพท์สมาร์ทโฟนขึ้น ในชื่อ “Xiaomi” (อ่านว่า เสี่ยว-มี่) ซึ่งแปลว่า ข้าวฟ่าง โดยมุ่งหวังพัฒนาโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการสื่อสารของทุกคน ให้เป็นสมาร์ทโฟนที่ดีในราคาที่ชาวจีนไม่ว่าจะชนชั้นใดๆ ก็สามารถเอื้อมถึงได้ โดยไม่ต้องไปจ่ายเงินแพงๆ ให้กับสินค้าต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ผลิตในประเทศจีนทั้งนั้น โดย Lei Jun กับเพื่อนๆ เชื่อว่า เทคโนโลยีคุณภาพสูง ไม่จำเป็นที่ต้องมีราคาค่างวดที่แพงเสมอไป นั่นเป็นที่มาคง Xiaomi ที่ได้เปิดตัวสมาร์ทโฟน Android รุ่นแรกสู่ท้องตลาดในปี 2011 ในรุ่น Mi 1 โดยมุ่งเน้นในการพัฒนา UI ของตัวเอง(User Interface) หรือระบบเมนูเฉพาะตัว ภายใต้การใช้ Source Code ของ Android ในการพัฒนา ในชื่อที่เรียกว่า “MIUI” (Mi User Interface) นั่นคือจุดเริ่มต้นของ Xiaomi สมาร์ทโฟนพิมพ์นิยมของคนจีนเพื่อคนจีน
Xiaomi สมาร์ทโฟนมหาชนโดยคนจีนเพื่อคนจีน
หลังจากที่ Lei Jun เปิดตัว Mi 1 ไป ในปีต่อมาปี 2012 Xiaomi ก็เปิดตัว Mi 2 มาต่อเลย โดย Mi 2 นั้นได้ใช้ CPU จากค่าย Qualcomm อย่าง Snapdragon S4 Pro (4 แกนสมอง) ซึ่งเป็น CPU ตัวท็อปในตลาดขณะนั้น ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกันอย่างชัดเจนในเรื่องของราคา ว่า Xiaomi Mi 2 นั้นเป็นสมาร์ทโฟนที่มาแรงมากๆ ในประเทศจีน ขณะที่ตลาดเครื่องหิ้วในบ้านเราอย่าง มาบุญครอง ก็มียอดจองกันอย่างมากมายเช่นกัน ซึ่งยอดขายของ Mi2 นั้นสูงถึง 10 ล้านเครื่องในเวลาไม่ถึงปี ต่อมาในปี 2013 Xiaomi ก็เปิดตัว Mi 3 ต่อเนื่องในตระกูล Smartphone เรือธง โดยในปี 2013 นี่เองที่ทาง Xiaomi ได้ประกาศผลสำเร็จในยอดขายสมาร์ทโฟนตระกูล Mi ซึ่งทำยอดขายไปถึง 18.7 ล้านเครื่อง แน่นอนว่ามียอดขายที่เกิดขึ้นเฉพาะในปี 2013 นั้นเป็นยอดขายที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศจีน และในปี 2014 นี่เองทาง Xiaomi ก็ได้ฤกษ์เปิดตลาด Xiaomi สู่ตลาดนอกประเทศจีน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการเปิดตลาดต่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยประเทศแรกที่ทาง Xiaomi ได้บุกเข้าไปก็คือ สิงคโปร์ โดยเปิดตัวสมาร์ทโฟนของตนเองใน 2 รุ่น นั่นก็คือ Xiaomi RedMi เน้นราคาประหยัด และอีกรุ่นก็คือ Xiaomi Mi 3 และในการเปิดตัวครั้งแรกในต่างแดนก็ถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างมาก โดยทาง Xiaomi ได้มีการจัดให้ซื้อทางออนไลน์เว็บไซต์ สินค้าล็อต แรกนั้นหมดภายในเพียง 2 นาทีในวันเปิดขายเริ่มต้น เป็นเหตุการณ์ที่ต้องจดบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการเทเลคอมกันเลยทีเดียว
หลังจากนั้นทาง Xiaomi ก็เปิดตัว Xiaomi RedMi Note ตามออกมาโดยเน้นหน้าจอใหญ่(แต่ไม่มีปากกา) จากนั้นทาง Xiaomi ที่ได้ Hugo Barra (อดีตผู้บริหาร Android จากทีม Google) เข้ามาเป็นผู้นำในด้านการบริหารจัดการการทำตลาดต่างประเทศ ก็เริ่มแผนขยายออกไปยังประเทศอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ตามลำดับ และในปี 2015 ก็เริ่มขยายตลาดไปในประเทศอินโดนีเซีย และต่อมายังประเทศอินเดีย ที่มีประชากรมากมายระดับพันล้านคน โดยเปิดตัวรุ่น Mi 4i ในประเทศอินเดียก่อนใคร รวมถึงการเข้าสู่ตลาดประเทศไทยในเดือน พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเริ่มจากรุ่น Mi 4 เป็นรุ่นแรกซึ่งพร้อมใช้ในภาษาไทยอีกด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีประเทศอื่นๆ อย่าง รัสเซีย, ตุรกี, บราซิล และเม็กซิโก ก็เริ่มเปิดตลาดแล้วเช่นเดียวกัน
ขณะที่ในหลายๆ ประเทศที่ทาง Xiaomi ยังไม่บุกตลาดไป แต่ก็ยังมีเครื่องที่ถูกนำเข้าไปขายจากผู้ขายอิสระในประเทศต่างๆ สั่งซื้อจากประเทศจีนอีกมากมาย (คล้ายกับประเทศไทยก่อนหน้านี้) โดยในปีนี้ทาง Xiaomi ก็ได้เปิดตัว Xiaomi Note Pro ออกมาอีกหนึ่งรุ่นที่เป็นเรือธงของ Xiaomi โดยเน้นไปยังสเปคระดับสูงและดีไซน์ที่หรูหราเฉพาะตัว ซึ่งมีการใช้วัสดุอย่างกระจกและโลหะในการประกอบ และยังเน้นในเรื่องของ 4G อีกด้วย ถ้าดูในด้านฮาร์ดแวร์สเปคแล้ว ต้องบอกว่าไม่เป็นสองรองใครในวงการสมาร์ทโฟนโลกกันเลยทีเดียว ด้วยยอดขายที่ถล่มทลายในประเทศจีนของ Xiaomi ทำให้ตอนนี้ยอดขายสมาร์ทโฟนของ Xiaomi ได้ก้าวสู่อันดับ 1 ในประเทศจีนแซงหน้า Samsung, Apple iPhone ไปอย่างน่าตื่นเต้น หรือแม้แต่แบรนด์จีนอื่นๆ อย่าง Huawei, OPPO, Lenovo, HTC ที่อยู่ในตลาดมาก่อน ก็ยังถูกทิ้งห่างอย่างไม่เห็นฝุ่นและยังไม่เคยทำได้ขนาดนี้มาก่อนเลย ในขณะที่ตอนนี้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า Lei Jun และผู้บริหารของ Xiaomi คงกำลังเตรียมแผนการใหญ่ที่จะเตรียมสินค้าใหม่ระดับเรือธงในทุกระดับราคา เพื่อเปิดตัวทั้งในตลาดจีนและต่างประเทศในไตรมาส 4 ที่จะถึงนี้ เพื่อต่อกรกับคู่แข่งใหญ่ๆ อย่าง Apple และ Samsung อยู่เป็นแน่แท้
Xiaomi ทำได้อย่างไรในความเหมือนที่แตกต่าง…
ผู้คนในวงการได้เห็นวิธีการทำงาน วิธีคิดของ Lei Jun จนหลายๆ คน รู้สึกได้ว่า Lei Jun นั้นลอกเลียนแบบวิถีของ Steve Jobs ตำนานของ Apple ผู้สร้างคอมพิวเตอร์ Macintosh, iPod, iPhone, iPad และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งในวิธีคิด การออกแบบผลิตภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ หรือแม้แต่ลักษณะการเปิดตัวสินค้า รวมไปถึงการแต่งตัวของ Lei Jun ในเวลาที่เขายืนอยู่โดดเด่นอยู่บนเวทีและมีแสงจากสปอตไลท์ส่องมาที่ตัวเขา แต่อีกมุมหนึ่งในกลยุทธวิธีการทำธุรกิจของเขามีความต่างจากบริษัทเหล่านั้นอยู่มากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการวางราคาสินค้าให้ถูกกว่าคู่แข่งร่วมครึ่งหนึ่ง หรือแม้แต่การใช้การประชาสัมพันธ์ โฆษณาผ่านทางเว็บไซต์ Online รวมถึง Social Media มากกว่าต้องมาจ่ายเงินซื้อเวลาการโฆษณาจากทีวี หรือหนังสือพิมพ์ นั่นได้สะท้อนถึงกลยุทธวิธีการทำตลาดแบบใหม่ของ Lei Jun ที่ทำให้แบรนด์น้องใหม่อายุเพียงไม่ถึง 3 ปีกลายมาเป็นแบรนด์ยักษ์ใหญ่ของตลาดจีน และเป็นอันดับ 4 ของตลาดโลกไปอย่างรวดเร็ว
สิ่งที่ Lei Jun เน้นอย่างมากก็คือ การพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพสูง สเปคสูง และเน้นที่การทำราคาของสินค้าให้ต่ำกว่าคู่แข่งให้มากที่สุด โดยไม่เน้นกำไรที่เก็บกับตัว และคู่ค้าเองก็จะไม่ได้กำไรมากเหมือนกับสินค้ายี่ห้ออื่นๆ แต่เน้นการขายออกเร็ว ไม่เก็บสต็อกสินค้านาน ผลิตออกจากโรงงานแล้วก็ส่งของออกไปยังลูกค้าเลย ไม่ใช้โกดังมาเก็บสต็อคใดๆ มีแต่เพียงที่พักของเพื่อรอเวลารถหรือเครื่องบินที่จะมารับสินค้าไปส่งเท่านั้น นอกจากนั้นคู่ค้าที่ต้องการของจาก Xiaomi ยังต้องจ่ายเงินก่อนรับของอีกด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าของที่สั่งผลิตจะต้องมีคนรับของ 100%
ปัจจุบัน Xiaomi ได้ใช้โรงงานผลิตอันดับโลกอย่าง Foxconn (ที่ผลิต iPhone ให้ Apple) และ Inventec กลยุทธอันน่าถึงของได้ผลอย่างน่าทึ่งในตลาดบ้านเกิดอย่างประเทศจีน ซึ่งต้องยอมรับว่า Lei Jun นั้นตีโจทย์แตก เขาได้มองเห็นประชากรในประเทศบ้านเกิดของเขาที่มีคนอยู่นับพันล้านคน โทรศัพท์มือถือก็ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกๆ คนไปแล้ว ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นก็ล้วนแล้วแต่ผลิตในจีนทั้งสิ้น แล้วใยจะให้คนจีนมาซื้อสินค้าที่แพงๆ เหล่านั้นที่ผลิตอยู่ในประเทศของตัวเองอยู่อีก ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่าต้นทุนการผลิตรวมค่าชิ้นส่วนนั้นมีราคาถูกเหลือเกิน ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศก็อยู่ในชนชั้นแรงงาน ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินซื้อสมาร์ทโฟนดีๆ กันได้ พอเมื่อสินค้าของ Xiaomi ออกสู่ตลาดแทนที่ประชาชนคนจีนเหล่าจะต้องกำเงินเยอะๆ ไปซื้อสินค้าอย่าง Apple, Samsung ก็ทำให้พวกเขามีตัวเลือกในการหาซื้อสินค้าที่ราคาเหมาะสมและมีคุณภาพสูง พอกับรายได้ที่มีที่จะหาซื้อมาเป็นเจ้าของกันได้ ทำให้ยอดขายของ Xiaomi นั้นสูงอย่างถล่มทลายในวันนี้ โดยไม่ต้องใช้โฆษณาผ่านหน้าจอทีวีแม้แต่นิดเดียว
นอกจากนี้ Xiaomi ยังเน้นเรื่องของบริการการใช้งานด้านแอพพลิเคชั่น ด้าน Content ต่างๆ ให้ผู้ใช้ได้ดาวน์โหลดมากมาย ตรงนี้ต่างหากที่จะเป็นเงินกำไรที่เป็นกอบเป็นกำให้ Xiaomi เดินหน้าธุรกิจต่อไปได้อย่างมั่นคง ดั่งที่ Hugo Barra ผู้บริหารของ Xiaomi ได้กล่าวไว้ “พวกเราเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจในด้านอินเตอร์เน็ทและซอร์ฟแวร์มากกว่าเป็นบริษัทที่ทำด้านฮาร์ดแวร์ หรืออุปกรณ์” หลักการนี้เอง Xiaomi ก็พยายามใช้กับสินค้าตัวเดียวกันในการส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ในปี 2014 ซึ่งเป็นปีแรกของ Xiaomi กับการบุกตลาดโลก CEO Lei Jun ยังได้ให้ทางอดีตนักวิเคราะห์จากค่าย Morgan Stanley มาเป็นที่ปรึกษาทำการหาเงินลงทุนเข้าสู่บริษัทโดยทำการประชาสัมพันธ์ในตลาดสหรัฐอเมริกา เพื่อทำการระดมทุนจากนักธุรกิจใหญ่ หรือ Venture Capital ซึ่งถือว่าการระดมทุนจากต่างประเทศนั้น Xiaomi ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากโดยได้เงินมากว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว (33,000 ล้านบาท)
ขณะที่มูลค่าทางการตลาดของบริษัทนั้นทะลุไปกว่า 45 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นบริษัทในด้านเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงสุดบริษัทหนึ่งในโลกก็ว่าได้ คาดการณ์ว่าในปี 2015 นี้ Xiaomi จะมียอดขายสมาร์ทโฟนกว่า 100 ล้านเครื่องเลยทีเดียว โดยจะทำให้ Xiaomi มียอดขายมูลค่าสูงถึงเกือบล้านล้านบาท นี่แค่ขายในตลาดจีนและต่างประเทศไม่ถึง 10 ประเทศเสียด้วยซ้ำ แล้วถ้าวันหนึ่ง Xiaomi มีสำนักงานขายครบทั่วโลก ยอดขายของ Xiaomi คงจะไปไกลกว่าที่ผมหรือคุณจะจินตนาการกันได้แล้วล่ะครับ…
Xiaomi ไม่ได้มีดีแค่สมาร์ทโฟน แต่อนาคตอาจจะแซงยักษ์ใหญ่วันนี้ไปจนหมด…
สิ่งหนึ่งที่เราได้เห็นจากเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของ Xiaomi นั้น วันนี้ไม่ได้มีแค่โทรศัพท์สมาร์ทโฟนเท่านั้น Xiaomi ยังมองเห็นโอกาสในการพัฒนาสินค้าต่างๆ ที่มีความจำเป็นกับชาวจีนในทุกครอบครัวอีกด้วย ทำให้ Xiaomi ใช้หลักการเดียวกับการผลิตสมาร์ทโฟนออกมาขาย นั่นก็คือ ถูกและดี ต้อง Xiaomi ฮ่าๆๆๆ Xiaomi ยังมีผลิตภัณฑ์อีกมากมายเปิดตัวออกมา ได้แก่
MiTV โทรทัศน์จอแบนที่ยอดขายสูงสุดในประเทศจีน ด้วยดีไซน์ที่สวยงาม สเปคสูงไม่ต่างจากแบรนด์เกาหลีหรือญี่ปุ่น ซึ่งในเครื่องก็ใช้ Android OS เป็นแกนหลักในการทำให้ MiTV เป็นสมาร์ททีวีที่สมบูรณ์แบบ ราคาเริ่มต้นในจีน สำหรับจอ 40” ในราคาไม่ถึงหมื่นบาท ขณะที่จอแบบ 4K 55” 3D มีราคาเริ่มต้นเพียง 20,000 บาท
Mi Air Purifier เครื่องฟอกอากาศที่ทรงพลังสามารถกรองมลพิษเพื่อผู้ใช้ได้อย่างดีเยี่ยม โดยมีประสิทธิภาพในการกรองอนุภาพที่เล็กขนาด 2.5 ไมครอนออกจากห้องขนาด 406 ลูกบาศก์เมตรได้ถึง 99% ในเวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น เพื่อให้คนจีนได้มีสุขภาพที่ดีในเวลาอยู่บ้าน ราคาในจีน ขายเพียง 899 หยวน หรือ 4,800 บาทเท่านั้น!!
Mi Water Purifier เครื่องกรองน้ำระบบ Reverse Osmosis (RO) วิธีการกรองแบบเดียวกับน้ำดื่มบ้านเราที่ขายเป็นขวดๆ ซึ่งมีระบบสามารถต่อเชื่อมกับสมาร์ทโฟนทำให้มองเห็นว่าเมื่อไรจะถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนไส้กรอกแล้ว ราคาเริ่มต้นในจีนเพียง 7,900 บาท ขณะที่ไส้กรองราคาเพียง 830 บาทเท่านั้น
Mi Pad แท็บเลตขนาดจอ 7.9” ราคาประหยัดเพื่อให้คนจีนเข้าถึงคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วนี้ ได้โดยไม่ต้องไปลงทุนกับการซื้อคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่มีราคาสูง แต่ใช้งานไม่คุ้มกับสตางค์ที่จ่ายไป ราคาเริ่มต้นในจีนสำหรับความจุ 16 GB เพียง 7,500 บาท ความจุ 64 GB เพียง 8,500 บาท
Mi Band อุปกรณ์แบบ Wearable Device ที่จะเป็นเหมือน Activity Tracker คอยตรวจสอบการเคลื่อนไหวร่างกายแต่ละวัน เพื่อให้สอดคล้องกับอาหารที่ร่างการได้บริโภคเข้าไป รวมถึงการวัดการออกกำลังกายที่เราได้ทำไปอีกด้วย ราคาขายในจีนเพียง 500 บาทเท่านั้น
Mi Power Bank หรือแบตเตอรี่สำรองแบบพกพาที่มาพร้อมทั้งรูปแบบดีไซน์ที่สวยงามและมีคุณภาพสูง มีให้เลือกหลายความจุ ราคาในจีนสำหรับความจุ 5,000 mAh เพียง 280 บาท ส่วนความจุ 10,400 mAh ราคาเพียง 450 บาท ถูกและดีจริงๆ เคยใช้มาแล้วครับ
Mi Headphone และ Mi In-Ear Headphone หูฟังที่มีให้เลือกทั้งแบบสไตล์ดีเจ (Mi Headphone) และแบบยัดใส่หู (Mi In-Ear Headphone ได้รับรางวัล Red Dot Design ด้วย) ซึ่งทั้งสองแบบให้คุณภาพเสียงที่ดี สมกับราคา ต้องบอกอย่างนั้น ส่วนดีไซน์นั้นก็สวยจับใจไม่แพ้ของญี่ปุ่นเลยทีเดียว ราคาขายในจีน สำหรับ Mi Headphone ราคาเพียง 2,800 บาท ส่วน Mi In-Ear Headphone ราคาเพียง 600 บาท เท่านั้นกับสินค้าที่มีทั้งดีไซน์และคุณภาพ
นอกจากนี้ยังผลิตภัณฑ์อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น MiWiFi (อุปกรณ์ Router อินเตอร์เน็ทไร้สายในบ้าน), Blood Pressure Monitor (เครื่องวัดความดันเลือด), Yi Action Camera (กล้องแอ็คชั่นแคม), Smart Home Kit (ชุดเซ็นเซอร์ประตูหน้าต่างๆ ในบ้าน) และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ยังอยู่ในแผนการพัฒนาของ Xiaomi ผมเชื่ออย่างนั้น สินค้าเหล่านี้ของ Xiaomi กำลังคืบคลานเข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิตอยู่ของผู้คนในประเทศจีน ด้วยราคาสินค้าที่ไม่แพงทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ในอนาคตต่อๆ ไปเมื่อ Xiaomi ได้ขยายอาณาจักรธุรกิจของตนเองไปทั่วโลก แชมป์ตัวจริงวันนี้ หรือจะเรียกว่าผู้ถูกท้าชิงอย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลี ก็คงจะตกอยู่ในที่นั่งลำบากแน่ๆ และถึงวันนั้นใครจะไปรู้ Xiaomi อาจจะกลายเป็นผู้นำสินค้าในทุกๆ ด้าน ทุกๆ ตลาดไปจนหมดสิ้นบนโลกใบนี้…
สำหรับแฟนๆท่านใดที่มีคำถาม สามารถติดตามมาได้ที่ twitter ของผม @peter2514 นะครับ ส่วน facebook ตามมาได้ที่ จะติดตาม Instagram ก็ Search หา ID “peter2514” ได้นะครับ แล้วเจอกันใหม่ฉบับหน้านะครับ ขอบคุณทุกการติดตามครับ