พรบ. คอม ฉบับใหม่ 2559 ที่ผ่านสภาฯเมื่อ 15 ธ.ค. ที่ผ่านไปหมาดๆ นี้ มีสาระสำคัญมากมาย ..แม้เจตนารมณ์จะใช้ป้องกันอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ แต่ก็มีจุดที่เกี่ยวกับผู้ใช้มือถืออย่างเราๆ เต็มๆ
…นั่นเพราะทุกวันนี้คนไทยใช้เน็ตและโซเชี่ยลโพสต์ๆ อ่านๆ กันมากกว่าคอมพิวเตอร์ตามชื่อ พรบ. คอมซะอีก
ผลกระทบก็มีทั้งไม่ว่าจะใน “ทางบวก” หรือ “ทางเสี่ยง” ที่ต้องระวังว่าเราจะไปมีพฤติกรรมความผิดเสียเองทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ
เริ่มที่ผลบวกชัดๆ ก่อน นั่นคือความรำคาญจากการ “สแปม” อาจจะลดลง สแปมทั้งหลายนี้ก็เช่นอีเมล์โฆษณาจากแหล่งที่เราไม่เคยยินยออมบอกรับ หรือโพสต์โฆษณาที่แท็กชื่อเราโดยไม่ได้รู้จักอะไรกัน หรือ SMS กระหน่ำขายของดูดวงต่างๆ เป็นต้น
…ซึ่ง พ.ร.บ. ใหม่นี้จะกำหนดให้ผู้ส่งต้องเปิดช่องให้ผู้รับยกเลิกการรับได้ด้วย ไม่อย่างนั้นถือว่าผิดกฎหมาย
เรื่องต่อไปก็คือ การลงข้อมูลต่างๆ ทางออนไลน์ จะไม่ไปปะปนกับโทษ “หมิ่นประมาท” แบบเดิม เช่น สมมติเราโพสต์ลงเฟสบุ้คตำหนิร้านอาหารขายแพงเกิน ซึ่งเดิมทางร้านอาจไปฟ้องหมิ่นประมาท โดยชี้ว่าที่โพสต์นั้นๆ เป็นข้อความเท็จ
…แต่ พ.ร.บ. คอมฯ ใหม่นี้จึงระบุว่าจะมีโทษได้ ต้องไม่ใช่แค่ข้อมูลเท็จเท่านั้น แต่ต้องเป็นการเจตนาหลอกลวงด้วยจึงจะเข้าข่ายความผิด
มาที่เรื่องความเสี่ยงกันบ้าง …ข้อแรกคือฐานความผิด “กรณีโพสต์ข้อมูลที่ส่งผลเสียหายต่อความมั่นคงประเทศ เศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน ความปลอดภัยสาธารณะ”
…ถ้าเราได้รับผลกระทบจากหน่วยงานรัฐบาล แล้วไปโพสต์วิจารณ์ในเน็ต ก็น่าจะผิดตามข้อนี้เต็มๆ หรือไม่ ? และจะรวมไปถึงกรณีที่ไปใช้บริการรัฐแล้วไม่พอใจมาบ่นในเน็ตด้วยเหรือเปล่า ?
อีกความเสี่ยงสำคัญที่สยองขวัญหลายๆ คนคือ ถ้าประชาชนคนไหน มีข้อมูล เช่นไฟล์เอกสาร ภาพ คลิปเสียง หรือคลิปวิดีโอ ที่เคยถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด อยู่ในเครื่องตัวเอง ก็ต้องลบด่วน มิฉะนั้นจะมีความผิดกึ่งหนึ่งของคนทำ
…งานนี้ต้องรีบตรวจสอบในมือถือและในคอมฯและอาจจะรวมถึงใน “แคช” ของคอมฯด้วยว่าเคยไปดูไปเซฟอะไรที่เข้าข่ายฯไว้บ้าง ?!?
…แถมท้ายคือประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับผู้ใช้มือถือส่วนใหญ่โดยตรง แต่ส่งผลกระทบตรงๆ ต่อบรรดาเจ้าของเว็บ ผู้ดูแลเพจ ต่างๆ นั่นคือจะมี “คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์” 5 คน (3 ใน 5 มาจากภาครัฐ) มาเฝ้าดูว่ามีข้อมูลอะไรในอินเตอร์เน็ตที่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ. คอมฯ หรือ “ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน” แล้วส่งเจ้าหน้าที่ไปขอคำสั่งศาลให้บล็อคหรือลบทิ้งได้ทันที
เดิมก่อนนี้ การจะ “ปิดเว็บ ปิดเพจ” ได้นั้นต้องมีการแจ้งความก่อน แล้วจึงไปขออำนาจศาลในการปิดเว็บบล๊อคเว็บ …แต่ต่อไปคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นศูนย์กลางจัดการแทนเต็มตัว จากที่ปัจจุบันก็มีทีมลักษณะนี้อยู่แล้วแต่ยังไม่มีอำนาจเท่าใน พ.ร.บ. นี้
…ข้อถกเถียงก็คือสื่อเว็บไซต์และเพจต่างๆ จะถือว่ามีสิทธิเสรีภาพลดลงหรือไม่ ? มีความกลัวและ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” มากขึ้นหรือเปล่า ?
และจากข้อนี้ …ระยะยาวจะทำให้ประชาชนทั่วไปมีทางเลือกน้อยลงในการติดตามข้อมูลข่าวสารหรือไม่ ? หากเว็บไหนถูกปิดไปเพราะลงสิ่งที่ผิดกฎหมายชัดๆ และส่งผลเสียต่อผู้อื่นและสังคมชัดๆ เช่นภาพอนาจารเด็ก หรือ สอนเสพยา ก็คงไม่เป็นไร …แต่ถ้าเป็นลักษณะอื่นๆที่ “ก้ำกึ่ง” กว่านี้ เช่นการวิจารณ์รัฐบาลหรือบุคคลสาธารณะต่างๆ จะเป็นทางให้ปิดสื่อนั้นๆ ได้ง่ายขึ้นหรือไม่ ?
“ดราม่า” ต่างๆ ที่เราได้ข่าวว่ามีผู้ต่อต้าน พ.ร.บ. ใหม่นี้ตลอดปลายปีที่แล้ว และยังมีควันหลงอยู่บ้างหลัง พ.ร.บ.ผ่านมาถึงวันนี้ ส่วนใหญ่ก็มาจากสารพัด “ความเสี่ยง” และ “ความกลัว” ประเด็นท้ายๆ นี้เองเป็นสำคัญ
หลังจากนี้พวกเราคงต้องติดตามผลการใช้ พ.ร.บ. นี้ปฏิบัติงานจริงกันต่อไป พร้อมกับพยายามระวังไม่ให้เราไปเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง !