กูเกิ้ลผู้นำพาแฟชั่นมาบรรจบกับเทคโนโลยี
ปีที่แล้วถูกขนานนามว่าเป็นปีแห่งเทคโนโลยีที่สวมใส่ได้ (Wearable Technology) แต่สิ่งที่เราสัมผัสต้องได้จริงๆ กลับเป็นการเปิดตัวของ “นาฬิกาอัจฉริยะ” จากค่ายมือถือมากมาย ไม่ว่าจะเป็น โซนี่ (Sony SW2), ฮวาเหวย (Huawei Watch), อัสซุส (Asus ZenWatch), และในที่สุดก็ถึงคราวของแอปเปิ้ลที่ได้เปิดตัว “แอปเปิ้ล ว้อช (Apple Watch)” นาฬิกาไฮเทครุ่นแรกๆ ที่ใช้เม็ดมะยมมาควบคุมการซูมจอ ซึ่งก็ถือเป็นนวัตกรรมของการออกแบบระบบ User Interface ของนาฬิกาสุดทันสมัยนี้ด้วย!
แต่ความเป็นจริงแล้วสิ่งที่กำลังตื่นตัวกันในวงการแฟชั่นขณะนี้ก็คือ การทำเสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่ทุกวันมีความไฮเทคขึ้น โดยแบรนด์ที่ลุยเปิดตัวสินค้าเสื้อผ้าทันสมัยนี้ไปแล้วได้แก่ วิคตอเรีย ซีเครต (Victoria Secret) ทำเสื้อชั้นในไฮเทค Smart Bra ตัวละ 2,500 บาท ที่เมื่อใส่กล่องเซ็นเซอร์เข้าไปจะตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจ รวมถึง โปโล ที่ออกแบบเสื้อยืดออกกำลังกายที่เมื่อผสานกับเซ็นเซอร์ที่ติดข้างลำตัวแล้ว จะออกกำลังกายท่าไหน ก็มีเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว และรายงานให้กับโค้ชเสมือนจริง ที่จะเอาข้อมูลการเคลื่อนไหวเปลี่ยนเป็นคำสั่งให้เราทำอิริยาบถต่างๆ เช่น หายใจให้ลึกขึ้น ออกกำลังกายให้เร็วขึ้น เป็นต้น
แต่ตัวอย่างจากทั้งสองแบรนด์นี้กลับทำให้ “คนโลว์เทค” อีกหลายๆ คนคิดว่าเสื้อผ้าแบบนี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อฉัน มีฟังก์ชั่นมากเกินไป และมีวิธีการใช้งานที่ยุ่งยาก
ซึ่งทัศนคติแบบนี้เป็นสิ่งที่ผู้อยู่ฝั่งเทคโนโลยีต้องทำความเข้าใจและปรับตัว และคนที่จะเข้าใจซึ้งถึงปัญหานี้ได้ดีที่สุดคงเป็น “กูเกิ้ล” ผู้ซึ่งไม่หยุดที่จะคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ แม้บางส่วนจะโดนกระแสต่อต้านมากมายก็ตาม ดังในกรณีของการเปิดขาย “แว่นตาอัจฉริยะ (Google Glass)” ที่ต้องหยุดการขายไว้ชั่วคราว
กูเกิ้ลได้บทเรียนข้อแรกที่สำคัญที่สุดจากการสร้างนวัตกรรมนี้ก็คือ แว่นตา ไม่ใช่ของที่ทุกคนใส่ และคนที่ใส่แว่นตา ก็หวังแต่ว่าใส่แล้วมองชัด ดูดี แต่ในแว่นตาอัจฉริยะนี้กลับให้มากกว่าสิ่งที่ขอ!
ดังนั้น Google ATAP หนึ่งในทีมงานนวัตกรรมของกูเกิ้ล จึงเผยผลงานเปลี่ยนโลกแฟชั่นชิ้นล่าสุดกับ 2 โครงการที่ลิงก์หากันได้อย่างกลมกลืน นั่นคือ โปรเจ็ค “แจ๊คคว๊าด (Jacquard)” และ “โซลิ (Soli)”
Mobile Insider ฉบับนี้จะพาคุณมาเจาะลึกถึงการที่กูเกิ้ลสามารถขยายขีดจำกัดของเทคโนโลยีที่มักต้องอยู่ในรูปแบบของแกดเจ็ทมาเป็นการสวมใส่อยู่บนร่างกายมนุษย์ได้อย่างเหมาะสม
Jacquard + Soli 2 โครงการพลิกโลกแฟชั่น
โครงการ แจ๊คคว๊าด (Jacquard) คือ การที่ Google ATAP บริษัทลูกของกูเกิ้ลนำเส้นด้ายนำไฟฟ้า (Conductive Yarn) ไปผสานเข้ากับวัตถุดิบผลิตเสื้อผ้าแบบต่างๆ ให้ออกมาเป็น “ชิ้นผ้าไฮเทค” ซึ่งเชื่อมโยงกับอุปกรณ์ไฮเทคอย่างมือถือและแท็บเล็ตได้ โดยตัวอย่างในเบื้องต้นคือ เมื่อผสานชิ้นผ้าไฮเทคนี้ไปในปลายแขนเสื้อสูท ทำให้เราสั่งโทรออกได้เพียงเอานิ้วแตะที่ปลายแขนเสื้อและรูดลงไปอย่างรวดเร็วเหมือนการสไลด์ปลดล็อกจอไอโฟน
ดูวิดีโออธิบายที่มาที่ไปของโครงการ Project Jacquard ได้ที่นี่
และเป้าหมายของเทคโนโลยีนี้คือ ทำมันให้เกิดขึ้นในเชิงพาณิชย์จริงๆ ในเวลาอันรวดเร็วที่สุด ทีมงานจึงเลือก “ลีวายส์ (Levi’s)” มาเป็นคู่หูสร้างโปรเจ็คเปลี่ยนโลกแฟชั่นนี้ด้วยกัน
โดยผู้บริหารของกูเกิ้ลกล่าวถึงเหตุผลที่เลือกแบรนด์เสื้อผ้ายีนส์เก่าแก่กว่า 130 ปีอย่างลีวายส์มาเป็นพันธมิตรรายแรก ก็เพราะทีมงานเชื่อว่าสินค้าของลีวายส์ถูกใจคนทุกเพศ ทุกวัย (มิใช่เฉพาะคนชอบความไฮเทค หรือเฉพาะกลุ่มคนรักกีฬา) ทั้งทีมงานฝ่ายนวัตกรรมของลีวายส์ก็หวังว่าจะสร้างเนื้อผ้าไฮเทคมาตลอด 20 ปี การมาพบกันที่โครงการนี้จึงถือว่าเป็นเนื้อคู่ที่หากันเจออย่างแท้จริง
โดยโครงการนี้เดินหน้าแล้วและคาดว่าจะมีเสื้อผ้ายีนส์ไฮเทคที่มีปฏิสัมพันธ์กับแกดเจ็ทรอบตัวจะออกวางขายจริงๆ ในปีหน้า!
โดยคำถามคลาสสิกของการใช้เส้นด้ายนำไฟฟ้ามาผลิตเสื้อผ้าก็คือ การดูแลและซักล้าง ซึ่งเบื้องต้นบอกได้เลยว่ามันสามารถใส่ลงเครื่องซักผ้าได้ แต่ในอนาคต เชื่อว่าเครื่องซักผ้าก็ต้องไฮเทคตาม เช่น อาจจะฝังชิป RFID เพื่อการตรวจจับได้ว่าเสื้อผ้าไฮเทคที่กำลังซักมีสีใด ทำจากผ้าชนิดใด จากนั้นก็ปรับโหมดการซักตามเสื้อผ้านั้นๆ ได้ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อเสื้อผ้าในที่สุด ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเพ้อฝัน เพราะมีผู้จดสิทธิบัตรนวัตกรรมนี้เอาไว้แล้ว!
อีกโครงการที่เปิดตัวพร้อมกัน “โซลิ (Soli)” การผลิตชิปขนาดเล็กเท่าปลายนิ้วมือ ที่ภายในฝังเรดาร์ เพื่อการดักจับความเคลื่อนไหวของสิ่งที่อยู่ด้านบนของชิป จุดนี้เองที่ทำให้ฟีลลิ่งของการควบคุมอุปกรณ์ไฮเทคโดยไม่ต้องแม้แต่สัมผัสที่ตัวมันกลายเป็นความจริง โดยที่ผู้ใช้เองก็ไม่ต้องที่จะเรียนรู้วิธีการควบคุมอุปกรณ์นั้นๆ ด้วย เพราะอาศัยแค่ความเคยชิน เช่น ต้องการหรี่เสียงหูฟัง ก็เพียงเอาปลายนิ้วโป้งและนิ้วชี้ ทำท่าเหมือนบิดปุ่มกลมๆ หรือการกระดิกนิ้วชี้ แทนการกดปุ่ม เป็นต้น
ดูวิดีโอแนะนำการทำงานของเรดาร์ Soli ได้ที่นี่
เพราะขนาดเล็กจิ๋วของชิปโซลินี้ ทำให้ในอนาคตอันใกล้ มันสามารถเข้าไปฝังตัวอยู่ในอุปกรณ์อย่าง มือถือ แท็บเล็ต นาฬิกา หรือแม้แต่กระเป๋าเสื้อสูทของใครๆ ก็ได้
แฟชั่นไฮเทคออกแบบมาเพื่อให้คนใช้ชีวิตได้ดีขึ้น
แนวคิดพื้นฐานของการออกแบบเสื้อผ้าไฮเทคของกูเกิ้ลนี้ ก็เพราะกูเกิ้ลตระหนักดีว่าตัวเองที่เป็นคนสร้างบริการไฮเทคมากมายจนทำให้ผู้บริโภคมีชีวิตที่ถูกเชื่อมต่อกับโลกไซเบอร์อยู่ตลอดเวลา เช่น ระบบ Push Email ที่ส่งให้เรารู้ว่ามีอีเมล์ใหม่โดยไม่ต้องเช็ค ระบบ Google Docs ที่ให้เราแก้ไขงานพร้อมกันโดยที่ต่างคนต่างอยู่ที่หน้าจอของตัวเองในคนละซีกโลก
สรุปก็คือ กูเกิ้ลไม่ปฏิเสธว่าเทคโนโลยีทำให้คนมีไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป!
ดังนั้นเพื่อต้องการให้คนใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สมดุล และ เป็นตัวของตัวเองมากยิ่งขึ้น การผสานเทคโนโลยีเข้าไปกับเสื้อผ้าที่เราใส่อยู่ทุกวัน ย่อมจะมีส่วนช่วยให้เรากลับมาใช้ชีวิตดีๆ อย่างที่ควรจะเป็นได้อีกครั้ง เช่น ขณะสนทนากับใครๆ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องคอยดูจอ แตะมือถือ หรือวิ่งขอตัวไปรับโทรศัพท์ เพราะเพียงแค่ปัดมือตรงกระเป๋ากางเกงระบบก็ตัดสัญญาณเข้าระบบฝากข้อความได้เป็นต้น
และแน่นอนว่าผิวสัมผัสไฮเทคนี้จะไม่หยุดแค่เสื้อผ้า แต่จะเข้าไปถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่มีพื้นผิวเป็นผ้า อย่าง เก้าอี้โซฟา กระเป๋า และเครื่องประดับอื่นๆ รอบๆ ตัวด้วย
เผยเบื้องหลังทีมสุดล้ำอย่าง Google ATAP
2 โปรเจ็คที่กูเกิ้ลทุ่มทุนไปนี้ย่อมสร้างความ “ว้าว” ให้กับทั้งวงการเทคฯ และวงการแฟชั่นในคราวเดียว แต่ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการมหัศจรรย์นี้ย่อมทำให้คุณต้องร้องว่า “เจ๋งมาก” โดยผู้บริหารโครงการ Google ATAP เป็นหญิงแกร่งนามว่า “เรจิน่า ดูแกน (Regina E. Dugan)”
เธอเคยอยู่กับหน่วยงาน Defense Advanced Research Projects Agency (DARPA) ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1985 และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา โดยมีตึกบัญชาการใหญ่อยู่ที่เพนตากอนนั่นเอง ผลงานดังจากหน่วยงานนี้คือ การคิดค้นระบบจีพีเอส เครื่องบินบังคับลาดตระเวนที่รู้จักกันในนาม Drone เป็นต้น ซึ่งทั้งสองเทคโนโลยีทำเงินมหาศาลให้กับหน่วย เพราะขายให้กับทั้งรัฐบาลสหรัฐและภาคเอกชนทั่วไป
และปี 2012 เธอก็พาสปิริตของ DARPA มาที่โครงการ Google ATAP (ก่อนหน้านี้ทีมงานนี้เป็นทีมจากบริษัทมือถือโมโตโรล่าที่กูเกิ้ลเข้าไปซื้อในปี 2011 และขายต่อให้กับเลอโนโว่ในที่สุดตอนปี 2014 โชคดีที่โครงการนี้ไม่ถูกเศรษฐีจีนสอยไปด้วย)
เรจิน่าตั้งเป้าให้ Google ATAP มีระบบทุกอย่างเหมือน DARPA นั่นคือ การที่ใช้ความทะเยอทะยานสูงเพื่อคิดค้นนวัตกรรมใหม่ภายใน 2 ปี (หากไม่สำเร็จก็ต้องพับโครงการหรือส่งไม้ต่อให้บริษัทแม่) ซึ่งที่ผ่านมาผลลัพธ์ที่เราเห็นจากโครงการนี้คือ มือถือแยกชิ้นส่วนอย่าง “อาร่า (Project Ara)” และ “แทงโก้ (Tango)” การผลิตแท็บเล็ตจับความเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว
และเลือกเฉพาะทีมงานหัวกระทิจากต่างวงการมาร่วมสร้างโปรเจ็คด้วยกัน อย่างเช่น การดึงตัว Joseph Marie Jacquard นักประดิษฐ์ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอมาเป็นคนนำโปรเจ็ค Jacquard นั่นเอง และสุดท้าย ทีมงานของ Google ATAP ต้องมีการปกครองตัวเองอย่างอิสระจากบริษัทแม่ และมีรายได้อุดหนุนจากบริษัทใหญ่
คอนเซ็ปต์พื้นฐานเหล่านี้เองที่เอื้อให้กับหน่วยงานเล็กๆ มี “พื้นที่และทรัพยากร” เพียงพอใจการคิดค้นนวัตกรรมพลิกโลกได้!
กูเกิ้ลวางแผนรวยครั้งใหม่ในธุรกิจแฟชั่น
หน่วยงานด้านการวิจัยของ Credit Suisse คาดการณ์ว่า ตลาดของการผลิตสินค้าประเภทเทคโนโลยีที่สวมใส่ได้ จะมีมูลค่าพุ่งทะยานถึง 1.6 ล้านล้านบาท! ในอีก 3 ปีข้างหน้า
จากข้อมูลทั้งหมดข้างต้น คุณพอคาดเดาได้ไหมว่าเมื่อกูเกิ้ลมาทำใยผ้าไฮเทคด้วยตัวเอง รายได้ที่มหาศาลจะมาจากทางใด คำตอบก็คือ การขายสิทธิบัตรเทคโนโลยีการผลิตเสื้อผ้าไฮเทคให้กับบริษัทแฟชั่นอื่นๆ นั่นเอง
ไม่แน่ว่ารายได้จากสิทธิบัตรส่วนนี้อาจจะมากพอๆ กับการขายเว็บแอพฯ ก็เป็นได้
โอกาสของไทยในวงการเทคโนแฟชั่น
ผู้เขียนมองว่าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบอย่าง TCDC ที่เป็นผู้นำเรื่องการเข้าถึงและเข้าใจวัตถุดิบเพื่อการออกแบบทางแฟชั่นเบอร์หนึ่งของไทย น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำนวัตกรรมทางวัสดุสิ่งทออาทิ “เส้นใยเซลลูโลสชีวภาพ” เข้าไปพูดคุยกับเหล่า “Maker” ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และสร้างสรรค์เป็นแฟชั่นไฮเทคที่มีลวดลายผ้าแบบไทยๆ ย่อมทำให้เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และสร้างการแข่งขันในระดับสากลได้อย่างแน่นอน