DJI เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่คนทั่วไปเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยเฉพาะชื่อ Phantom ที่ถือว่าเป็นที่รู้จักในวงการถ่ายภาพไปจนถึงช่างภาพ นักเล่นเครื่องบินวิทยุบังคับ รวมไปถึงมือสมัครเล่นอย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นซีรี่ย์ของโดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ ของ DJI จนมาถึงตอนนี้มาถึงรุ่นที่ 4 แล้ว แต่ Phantom 4 ที่วางจำหน่ายไปเมื่อปีที่แล้ว ในต้นปีที่ผ่านมาก็มีรุ่นอัพเกรดปรับปรุงความสามารถให้เหนือชั้นกว่าเดิมคือ DJI Phantom 4 Pro ที่เราจะมารีวิวกันในวันนี้
จุดเด่นของ DJI Phantom 4 Pro ที่พัฒนาเพิ่มเติม
- กล้องดิจิตอลความละเอียด 20 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์ขนาด 1 นิ้ว
- ถ่ายวิดีโอความละเอียด 4K 60 เฟรมต่อวินาที
- กล้อง และเซ็นเซอร์กันชน 5 ทิศทาง ด้านหน้า, ด้านหลัง, ด้านซ้าย, ด้านขวา และด้านล่าง
- Gimbal ป้องกันภาพสั่นแบบ 3 แกน
- รัศมีการบิน และส่งภาพไกลสูงสุด 7 กิโลเมตร บินได้นานสูงสุด 30 นาที
- มี GPS ในตัว สามารถบินกลับเองได้เพียงแค่กดปุ่ม Home
- มีโปรแกรมการช่วยบินให้เลือกหลากหลาย สั่งงานผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน
- บินได้เร็วสูงสุด 70 กม./ชม. ในโหมด Sport
แกะกล่องมีอะไรให้บ้าง
กล่องของ DJI Phantom 4 Pro ก็เหมือนกับผลิตภัณฑ์ทั่วไปคือมีกล่องกระดาษหุ้มปิดด้านนอก แต่เมื่อแกะกล่องออกมาจะพบกับกล่องโฟมที่สามารถใช้เป็นกล่องสำหรับหิ้วเดินทางได้เลย เมื่อเปิดล็อคออกมาก็จะพบกับอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้
- DJI Phantom 4 Pro พร้อมแบตเตอรี่ 1 ก้อน
- รีโมทคอนโทรลเลอร์
- ใบพัด 4 ใบ 2 ชุดในถุงผ้า (รวมเป็น 8 ใบพัด)
- สาย Micro USB 1 เส้น และสาย USB OTG 1 เส้น
- คู่มือแนะนำการใช้งานเบื้องต้น
- หน่วยความจำ microSD 16 GB
- อแดปเตอร์สำหรับชาร์จแบตเตอรี่
ตัวเครื่องมีส่วนประกอบอะไรสำคัญบ้าง
ด้านหน้าของตัวเครื่องจะมีกล้องดิจิตอลคุณภาพสูงความละเอียด 20 ล้านพิกเซล ถ่ายวิดีโอได้ความละเอียด 4k 60 เฟรมต่อวินาที ใช้เซ็นเซอร์ขนาด 1 นิ้ว มีระบบออโต้โฟกัสและใช้ชัตเตอร์แบบ Mechanical พูดง่ายๆ คือเป็นกล้องคอมแพ็คที่นำมาติดกับโดรนดีๆ นี่เอง เพียงแต่ไม่สามารถถอดออกมาใช้งานอย่างอื่นได้ มี Gimbal รักษาระดับถึง 3 แกน บริเวณขามีเซ็นเซอร์กล้องที่ขาทั้ง 2 ข้างสำหรับตรวจจับวัตถุ หรือสิ่งกีดขวางด้านหน้า หากตรวจเจอก็จะหยุดบินไปข้างหน้าโดยอัตโนมัติ
ด้านหลังเป็นช่องเสียบแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ บริเวณขาทั้งสองก็มีกล้องสำหรับตรวจจับสิ่งกีดขวางด้านหลังด้วยเช่นเดียวกับด้านหน้า
ด้านข้างซ้ายและขวามีเซ็นเซอร์อินฟราเรดสำหรับตรวจจับสิ่งกีดขวางด้านข้าง สามารถตรวจจับสิ่งกีดขวางได้ตั้งแต่ 0.2 – 7 เมตร ส่วนด้านซ้ายมีช่องเสียบการ์ดหน่วยความจำแบบ microSD และช่อง Micro USB สำหรับเสียบกับสมาร์ทโฟนสำหรับอัพเดท Firmware ให้กับเครื่อง
มองจากด้านบนจะเห็นโดรนเป็นรูปตัว X โดยแขนแต่ละข้างจะมีมอเตอร์ที่หมุนทวนเข็มนาฬิกา และหมุนตามเข็มนาฬิกา โดยจะมีจุดสีกำกับอยู่ตรงมอเตอร์ และใบพัด หากเป็นสีเงินจะหมุนทวนเข็มนาฬิกา และสีดำจะหมุนตามเข็มนาฬิกา
มองจากด้านล่างนอกจากจะพบกับกล้องแล้ว ยังมีเซ็นเซอร์กล้อง 2 ตัวสำหรับตรวจจับสิ่งกีดขวางด้านล่าง และช่องกลมๆ ใหญ่ๆ 2 ช่องเป็นเซ็นเซอร์สำหรับตรวจจับความสูงช่วยในการลงจอดไม่ให้กระแทกพื้นแรงจนเกินไป ส่วนบริเวณแขนทั้ง 4 ก็จะมีไฟสี LED บอกสถานะต่างๆ อย่าเช่นขณะบิน ด้านหน้าจะเป็นสีแดง และด้านหลังเป็นไฟกระพริบสีเขียวเป็นต้น
สำหรับรีโมทบังคับเครื่องก็จะดูเหมือนกับรีโมทบังคับเครื่องบินทั่วไป มีจอยสติ๊ก 2 ด้านไว้ใช้ควบคุมเครื่อง ใต้จอยสติ๊กมีปุ่มเปิด/ปิด และปุ่ม Return Home สำหรับเรียกโดรนกลับแบบอัตโนมัติ ด้านบนมีเสาอากาศรับส่งวิทยุควบคุมเครื่อง และเสาอากาศรับสัญญาณภาพอย่างละ 1 เสา มีช่องเสียบสาย USB เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตเพื่อใช้ดูภาพจากโดรน ตรงกลางมีแท่นยึดสมาร์ทโฟนที่สามารถยืดออกมายึดกับแท็บเล็ตขนาดประมาณ 10 นิ้วได้ด้วย
บริเวณด้านบนซ้ายมีปุ่มบันทึกวิดีโอมีจุดสีแดง สวิตซ์เลื่อนปรับโหมดการบังคับเครื่อง และ Jog Dial ใช้บังคับแพนกล้องขึ้นลง ส่วนด้านบนขวามีปุ่มชัตเตอร์ถ่ายภาพ และเปิดดูภาพ ใกล้ๆ กันมี Jog Dial สำหรับปรับสปีดชัตเตอร์ ตัวมีโมทมีแบตเตอรี่ในตัว สามารถใช้อแดปเตอร์ชาร์จโดรนมาชาร์จรีโมทคอนโทรลได้ที่ด้านข้างขวา
เตรียมตัวก่อนขึ้นบิน
หากไม่เคยใช้งาน หรือไม่เคยเล่นโดรนมาก่อนต้องศึกษาทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ เพราะโดรนรุ่นนี้ไม่ถือว่าเป็นของเล่นสำหรับเด็ก จัดได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่ค่อนข้างอันตราย ต้องใช้งานด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ และต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยอันดับแรก
ก่อนใช้งานต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า DJI Go 4 ซึ่งหากเป็น DJI Go จะไม่รองรับกับรุ่นนี้ สามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง iOS และ Android
เมื่อแกะกล่องออกมาควรชาร์จแบตเตอรี่เป็นอันดับแรก ตัวแบตเตอรี่จะมีไฟกระดับ 4 ดวงบอกระดับแบตเตอรี่ มีปุ่มเปิด/ปิดแบตเตอรี่ เมื่อเสียบเข้ากับโดรนก็จะทำหน้าที่เป็นปุ่มเปิด/ปิดโดรนไปด้วยในตัว แบตเตอรี่เป็นแบบ Li-Po มีความจุ 5,870 mAh แรงดัน 15.2 โวลท์ มีช่องระบายความร้อนให้แต่ละเซลล์ด้วย
การใส่ใบพัดไม่ต้องหมุนเป็นเกลียวเหมือนรุ่นก่อนๆ เพียงแต่ใส่ให้ลงล็อคแล้วบิดเล็กน้อยเพื่อให้เข้าที่ จากนั้นให้ตรวจความเรียบร้อยของใบพัดอีกครั้งเพื่อความแน่นอน และอย่าลืมเสียบการ์ดหน่วยความจำให้เรียบร้อย ก่อนขึ้นบินควรคาริเบทระบบเข็มทิศดิจิตอลโดยเข้าไปที่เมนูการตั้งค่าบนหน้าจอ แล้วจับเครื่องหมุนทำตามขึ้นตอนที่ปรากฏบนหน้าจอ เมื่อทำการคาริเบทเรียบร้อย DJI Phantom 4 Pro ก็พร้อมบินแล้ว
พร้อมแล้ว บิน!!!
เมื่อหน้าจอแจ้งว่า Ready to fly นั่นหมายถึงว่าตัวเครื่องได้จับสัญญาณ GPS และบันทึกตำแหน่งที่ขึ้นบินก็สมาร์ทเครื่องได้ทันที หรือจะกดปุ่ม Auto Take off ก็ได้เช่นกัน โดยในขณะที่เครื่องบินอยู่บนอากาศสามารถปล่อยมือจากคันบังคับได้ เพราะตัวเครื่องมีเซ็นเซอร์ และพิกัด GPS ช่วยในการรักษาตำแหน่งและความสูงได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะตก ในกรณีที่เป็นมือใหม่ หากอยู่ในสภาวะตกใจ หรือหลงทิศสามารถปล่อยมือจากคันบังคับได้เลย เครื่องจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ รอให้ตั้งสติได้ค่อยบังคับกันต่อไป
ที่หน้าจอสมาร์ทโฟนนอกจากจะแสดงภาพที่ส่งมาจากโดรนแล้ว ยังแสดงตัวเลขสำคัญๆ หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นระดับแบตเตอรี่, ระดับความแรงของสัญญาณภาพ วิทยุ และ GPS, ระยะเวลาที่เหลือที่สามารถบินได้, ความสูง, ระยะห่าง, ทิศทาง, แผนที่พร้อมตำแหน่งโดรน นอกจากนี้ยังสามารถตั้งค่าการถ่ายภาพนิ่ง หรือคลิปวิดีโอได้จากหน้าจอสมาร์ทโฟนทั้งหมด และสามารถ Live หรือถ่ายทอดสดภาพไปยัง Social ต่างๆ ได้ไม่ว่าจะเป็น Facebook, YouTube เป็นต้น แต่จะ Live ได้เฉพาะอุปกรณ์ iOS เท่านั้น ส่วน Android ต้องรออัพเดทเวอร์ชั่นต่อไป
ระบบช่วยบินอัจฉริยะ
นอกจากจะขึ้นชื่อว่าเป็นกล้องบินได้แล้ว ยังกล่าวได้ว่าเป็นคอมพิวเตอร์บินได้ เพราะระบบช่วยบินอัจฉริยะที่นำเอาหน่วยประมวลผลช่วยในการบินด้วย เพราะสามารถโปรแกรมให้เครื่องบินในแบบต่างๆ ได้เช่น บินตามแผนที่ที่ใช้นิ้ววาดได้ (Draw), บินและแพนกล้องตามวัตถุที่เคลื่อนที่ได้ (ActiveTrack), บินวนเป็นวงกลมอัตโนมัติได้ มีระบบป้องกันการชน 5 ทิศทางจากกล้องตรวจจับทั้ง 5 ด้าน เมื่อเข้าใกล้สิ่งกีดขวาง เครื่องจะเบรกอัตโนมัติ แต่หากเป็นกิ่งไม้เล็กๆ หรือสายไฟจะไม่สามารถตรวจจับได้
หรือหากเกิดเหตุไม่คาดฝันเช่นรีโมทแบตหมด สัญญาณขาดหาย หรือไม่อยากบังคับตัวเครื่องให้บินกลับเองก็สามารถกดปุ่ม Home ตัวเครื่องจะทำการบินกลับพิกัดที่บันทึกไว้ตอนแรกโดยอัตโนมัติ หากเจอสิ่งกีดขวางก็จะทำการบินสูงขึ้นไปเพื่อหลบหลีกสิ่งกีดขวาง แล้วทำการบินกลับจนถึงพิกัดแล้วลงจอดโดยอัตโนมัติโดยที่เราไม่ต้องบังคับใดๆ เลย ถือว่าเป็นระบบอัจฉริยะที่ช่วยลดอุบัติเหตุ และลดภาระการบังคับได้มากทีเดียว
DJI Phantom 4 Pro เหมาะกับใคร
จากการทดสอบใช้งานมาสักพักใหญ่ๆ พบว่าใช้งานได้ง่ายมากๆ โดยเฉพาะการบังคับโดรนที่หลายๆ คนกลัว แต่กลับบังคับง่ายกว่าที่คิด อาศัยคำแนะนำนิดหน่อยว่าบังคับยังไงก็สามารถใช้งานบินได้แล้ว สำหรับรุ่นนี้เหมาะกับผู้ใช้มือใหม่ไปจนถึงมืออาชีพ เพราะการใช้งานนั้นง่ายจริงๆ ภาพที่ออกมาก็ทำได้สวยงาม มีโหมดถ่ายภาพแบบ Manual สามารถปรับรูรับแสง, ISO และ Speed shutter พร้อมทั้งถ่ายภาพไฟล์ RAW ได้เลย อีกทั้งยังปรับตั้งค่ากล้องขณะบินได้ง่าย ไม่ต้องพะวงเรื่องการบิน เพราะตัวโดรนจะอยู่นิ่งๆ เพื่อรอรับคำสั่งต่อไป
ส่วนการถ่ายวิดีโออาจจะต้องอาศัยทักษะการบิน และเทคนิคการใช้มุมกล้องพอสมควร เพื่อที่จะให้ภาพดูลื่นไหล และได้มุมภาพที่สวยงาม เพราะต้องบังคับไปด้วย ปรับมุมกล้องด้วย หากบินจนชำนาญแล้วก็จะได้ภาพที่สวยงาม ดูแปลกตาไม่เหมือนใคร และหากใช้โหมดต่างๆ ในการช่วยบินก็จะลดภาระทำให้บังคับ ช่วยให้ถ่ายวิดีโอ และบินได้ง่ายขึ้น
สำหรับราคาเปิดตัวค่อนข้างสูง หากคุณรักการถ่ายภาพ อยากได้มุมภาพที่แปลกตาไม่เหมือนใคร และมีงบประมาณถึง แนะนำให้ซื้อได้เลย แต่หากงบประมาณมีจำกัด อาจจะเลือกเป็นรุ่นที่ถูกกว่านี้ อย่าง Phantom 4 ธรรมดาก็ได้ รับรองว่าคุณจะหลงไหลไปกับการถ่ายภาพมุมสูงอย่างแน่นอน