Apple เป็นบริษัทที่เน้นเรื่องของการดีไซน์ที่สวยงาม เก็บความลับของผลิตภัณฑ์จนถึงงานเปิดตัว แต่ถ้าเอาจริงๆ ระยะหลังเราแทบจะรู้ว่างานเปิดตัวจะมีอะไรบ้างแทบทั้งหมดก่อนจะถึงงานเสียอีก
ปัญหาเรื่องข่าวหลุดของ Apple นั้นคงอยู่มายาวนานแทบจะเท่าอายุบริษัท ย้อนกลับไปปี 2013 ก่อนที่ Apple จะเปิดตัว iPhone 5c พนักงานในโรงงานกลุ่มหนึ่งลักลอบขโมยฝาหลังไปกว่า 19,000 ชิ้นเพื่อวางจำหน่ายบนเว็บไซต์จีน ซึ่งสุดท้ายจบลงด้วยการที่ Apple ต้องไปเหมากลับมาเพื่อไม่ให้ภาพหลุดออกไปสู่สาธารณะ
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ Apple จึงได้ตั้งทีมใหม่ชื่อว่า NPS (New Product Security) ทำหน้าที่ควบคุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ของ Apple ก่อนจะถึงงานเปิดตัว ซึ่งผลงานก็ใช้ได้ไม่น้อย เนื่องจากในปี 2014 บริษัทได้รับรายงาน 387 ครั้งว่าฝาหลัง iPhone รุ่นใหม่ถูกขโมยไปขายในอินเตอร์เน็ทก่อนจะเปิดตัว แต่ในปีถัดมาลดลงเหลือเพียง 57 ครั้งเท่านั้น และปีถัดไปก็เหลือเพียง 4 ครั้ง รวมไปถึงสามารถจับได้ด้วยว่าพนักงานโรงงานพยายามจะขุดอุโมงค์เพื่อลักลอบส่งชิ้นส่วนที่ใช้ผลิต iPhone ออกไป
อย่างไรก็ตามระยะหลังภาพหลุดของแอปเปิลเริ่มเปลี่ยนทิศทางมากขึ้น จากเดิมที่เราเห็นภาพหลุดตัวเป็นๆ เช่นฝาหลัง หน้าจอ บอดี้ เราเริ่มเห็นภาพหลุดที่เป็น CAD Design มากขึ้น และการหลุดครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากซัพพลายเออร์หรือพันธมิตรคู่ค้าอีกต่อไป แต่เป็นคนในนั่นเอง
หลังจาก iPhone XS วางจำหน่ายได้เพียง 4 เดือน เราก็เห็นภาพหลุดของรุ่นที่คาดว่าน่าจะเป็น iPhone XI (ที่มีสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นกล้อง) ทำให้แอปเปิลเพิ่มงานตรวจสอบและป้องกันภาพหลุดจาก CAD ให้กับทีม NPS ด้วย โดยหลังจากนี้น่าจะมีการควบคุมที่เข้มข้นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแบนเครื่องที่ใช้ดีไซน์กับการเชื่อมต่อเน็ทเวิร์ค รวมไปถึงต้องมีลายน้ำบนหน้าจอ ป้องกันการทำสกรีนช็อตออกไป และแบนการใช้งานอีเมล์ และบริการคลาวด์อย่าง Dropbox, Google Drive โดยสิ้นเชิงเพื่อป้องกันการรั่วไหล
นโยบายปัจจุบันคือถ้าแอปเปิลจับได้ว่าซัพพลายเออร์รายไหนปล่อยข้อมูลหลุดออกไปก่อนการเปิดตัวแอปเปิลจะปรับ $25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และค่าใช้จ่ายในการสืบสวนจนสาวไปถึงตัวการได้ ทำให้ฝั่งผู้รับจ้างผลิตและพันธมิตรต้องอัพเกรดระบบความปลอดภัยเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลได้นั่นเอง
ที่มา – Phone Arena