หลังจากนำเสนอแนวคิดจนถึงขั้นตอนการผ่านร่างกฏหมายที่ยาวนาน สหภาพยุโรปก็ได้ข้อสรุปว่าหลังจากนี้พอร์ตมาตรฐานสำหรับอุปกรณ์ไอทีแทบทุกชนิดคือ USB-C
ในเมื่อผ่านร่างเป็นกฏหมายและข้อบังคับแล้ว ผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีอย่างมือถือ แทบเล็ต ฯลฯ จะมีเวลาปรับตัวสองปี และภายในปี 2024 จะต้องวางจำหน่ายอุปกรณ์เป็นพอร์ต USB-C ให้หมด เพื่อลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อันเกิดจากการใช้งานข้ามยี่ห้อไม่ได้
นอกจากจะต้องเปลี่ยนสายมาเป็นแบบเดียวกันให้หมดแล้ว ผู้ผลิตจะต้องวางจำหน่ายอุปกรณ์ทั้งแบบมีหัวชาร์จ และไม่มีหัวชาร์จให้ผู้บริโภคเลือกซื้อ เพื่อสนับสนุนการใช้หัวชาร์จเดิม คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยให้ประชาชนในยุโรปลดค่าใช้จ่ายจากการจ่ายเพื่อหัวชาร์จไฟที่ไม่ต้องการได้ราวๆ 250 ล้านยูโร
ในทศวรรษที่ผ่านมาสหภาพยุโรปได้กำหนดมาตรฐานพอร์ต ทำให้สายชาร์จไฟมือถือที่มีมากกว่า 30 ประเภท ลดลงเหลือเพียง 3 ประเภทเท่านั้น โดยยี่ห้อที่เป็นปัญหาที่สุดก็คือ Apple ที่ใช้พอร์ต Lightning อยู่เพียงเจ้าเดียว คิดเป็นสัดส่วนราวๆ 20% ของมือถือทั้งหมดที่ใช้งานในยุโรป โดย Apple ก็อ้างว่าการกำหนดมาตรฐานและบังคับให้ใช้เหมือนกันหมด ย่อมขัดขวางการเกิดนวัตกรรมในอนาคต
อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องสายมาตรฐานนี้ยังไม่จบ แม้เรื่องสายชาร์จไฟจะเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่สายอื่นๆ เช่นสายส่งข้อมูลภาพ ระหว่าง DisplayPort กับ HDMI ก็คงจะเป็นเรื่องให้ถกเถียงกันต่อไปว่าอุตสาหกรรมควรจะมุ่งเน้นไปทางไหนดี รวมไปถึงสายดังกล่าวจะรองรับการจ่ายไฟได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากในปัจจุบันมาตรฐาน USB-C Version 2.1 รองรับการจ่ายไฟผ่าน USB-PD สูงสุดที่ 240Watts เพิ่มขึ้นมาจากมาตรฐานก่อนหน้ามาก (มาตรฐานก่อนหน้าจ่ายไฟได้สูงสุดที่ 100 Watts) ถ้าหากสายไม่ได้มาตรฐาน หรือคุณภาพ ก็อาจจะทำให้เกิดการจ่ายไฟเกินความสามารถของสาย และเกิดความร้อนลุกลามไปจนกลายเป็นไฟไหม้ได้
ส่วนสหราชอาณาจักร อดีตสมาชิกสหภาพยุโรปก็เผยว่าไม่สนใจที่จะร่างมาตรฐานบังคับว่าผลิตภัณฑ์ไอทีจะต้องใช้พอร์ตมาตรฐานแต่ประการใด แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าแค่สหภาพยุโรปกำหนดพอร์ตมาตรฐานมาแบบนี้ ผู้ผลิตแทบทั้งหมดก็จะต้องเปลี่ยนไปใช้ USB-C อยู่แล้ว แม้สหราชอาณาจักรจะไม่ออกคำสั่งแบบเดียวกัน อุปกรณ์ที่จะวางจำหน่ายในอนาคตก็จะใช้ USB-C อยู่ดี