เมื่อปลายปีที่ผ่านมา OpenAI เปิดตัวแชทบอท ChatGPT ที่สามารถตอบสนองได้เหมือนกับมีคนกำลังคุยอยู่จริงๆ ร้อนจนถึง Google ต้องนำเสนอแชทบอทที่ทำได้เหมือนคนจริงๆ ของตัวเอง และวันนี้เปิดตัวแล้วในชื่อ Bard
Bard เป็นปัญญาประดิษฐ์ลักษณะเดียวกันกับ ChatGPT คือมันสามารถหาคำตอบจากในอินเตอร์เน็ท และนำมาโต้ตอบกับผู้ใช้งานด้วยความมั่นใจ ซึ่งในอนาคต Bard จะถูกนำไปรวมกับ Search Engine บริการหลักของ Google นั่นเอง
ความแตกต่างระหว่าง Bard กับการค้นหาในปัจจุบันก็คือ Bard สามารถหาคำตอบให้กับคำถามของเราได้ ขณะที่การค้นหาผ่าน Google นั้นเราจะต้องเลือกว่าจะอ่านลิงค์ใด และจะเชื่อถือลิงค์ใด ตัวอย่างคำถามที่สามารถถามได้ก็เช่น มือใหม่ที่เล่นดนตรีไม่เป็นจะเริ่มต้นจากการเล่นกีตาร์ หรือเปียโนดี อะไรจะต้องใช้เวลาฝึกฝนมากกว่ากัน หลังจากถามไป Bard จะวิเคราะห์จากข้อมูลในอินเตอร์เน็ท และสรุปให้เราว่าเครื่องดนตรีไหนจะใช้เวลาฝึกฝนนานกว่ากัน
อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นกับ ChatGPT ก็น่าจะเกิดขึ้นกับ Bard ด้วยเช่นกัน คือความน่าเชื่อถือของคำตอบ เพราะที่ผ่านมา ChatGPT มีปัญหาเรื่องการตอบคำถามประเภท Fact ที่มีคำตอบที่ถูกต้องอยู่แล้ว แต่เมื่อปัญญาประดิษฐ์ไม่ทราบถึงคำตอบก็ทำการสร้างคำตอบใหม่ออกมา ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง เช่นถ้าหากถามว่านายกรัฐมนตรีของสหรัฐอเมริกาคือใคร (ตอบ: สหรัฐอเมริกาไม่มีนายกรัฐมนตรี เพราะมีประธานธิบดี) ก็เป็นไปได้ว่า AI จะเมคบุคคลขึ้นมาเพื่อตอบว่าเป็นนายกรัฐมนตรี
ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากการเปิดตัวก็คือ Bard ตอบคำถามเรื่องกล้อง James Web Space Telescope ผิดในวิดิโอเดโม (เรื่องดาวนอกระบบสุริยจักรวาลที่ถ่ายโดยกล้อง JWST) เนื่องจากข้อมูลที่ Google ให้เรียนรู้นั้นค่อนข้างเก่า คือราวๆ ปี 2020 เป็นช่วงก่อนที่กล้อง James Web จะส่งขึ้นสู่อวกาศ
เบื้องหลังของ Bard คือโมเดลภาษา LaMBDA (Language Mode for Dialog Applications) แม้จะเป็นเวอร์ชันที่ลดทอนความสามารถลงมาแล้ว แต่ก็ยังต้องการพลังประมวลผลจำนวนมากเพื่อค้นหาและตอบให้เหมือนมนุษย์ ซึ่งตอนที่ Google เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถใช้งาน Bard ได้อาจจะเกิดเหตุการณ์พลังประมวลผลไม่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้งานได้
ที่มา – Washington Post