ผู้เขียนมีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูง ประธานบริษัท Sony Digital Entertainment Service คุณ Atsushi Fukuda ซึ่งมีประสบการณ์ตรงในการผลิตคอนเทนต์มาตลอดช่วงชีวิตการทำงานของเขา ในขณะที่ตัวบริษัทเองก็เป็นผู้นำด้านการผลิตคอนเทนต์ออนไลน์ โดยหัวข้อหลักที่เราจะสนทนากันในวันนี้เป็นเรื่องของมุมมองเกี่ยวกับตลาดคอนเทนต์ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผู้เขียน: ก่อนอื่นที่จะเริ่มพูดคุยในรายละเอียด ช่วยเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับตัวคุณและบริษัทหน่อย
Mr.Fukuda: สวัสดีครับ ผมชื่อ Atsushi Fukuda ประธานบริษัท Sony Digital Entertainment Service จริงๆ Background ของผมมาทางธุรกิจด้านโทรทัศน์ครับ อาทิเช่น ช่องรายการอนิเมชั่น ช่องแอ็คชั่น Sony’s Animax และ AXN
บริษัทของเรามีประสบการณ์ตรงในการผลิตดิจิทัลคอนเทนต์มานานกว่า 10 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้เราเป็นส่วนหนึ่งของ Sony Picture Entertainment หลังจากนั้นในปี 2007 ถึงค่อยแยกออกมาเป็นอีกหนึ่งบริษัททำหน้าที่ในการผลิตดิจิทัลคอนเทนต์รูปแบบต่างๆ เช่น ตัวคาแรกเตอร์ โมบายแอพฯ การ์ตูน เกม และภาพยนตร์ เรามีคาแรกเตอร์ของเราเองกว่า 400 ตัวซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่ถือลิขสิทธิ์ตัวคาแรกเตอร์มากที่สุดรายหนึ่งของโลก
กลุ่มลูกค้าของเราส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ระดับโลก อาทิเช่น P&G, Coca-Cola- Nike, NHK และ JTB เป็นต้น
ผู้เขียน: มีแผนขยายธุรกิจเข้ามาสู่ไทยอย่างไร
Mr.Fukuda: ต้องบอกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีหลายสิ่งหลายอย่าง ในเรื่องของความชอบ การเสพคอนเทนต์น่ารักๆ คล้ายๆ กับ ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และฮ่องกงครับ และ LINE ก็ได้รับความนิยมเอามากๆ เลยทีเดียว บริษัทของเราเป็น Creative House และทำงานร่วมกับออนไลน์เอเยนซี่จากทั่วโลก ปัจจุบันรายได้ของสติกเกอร์แบบเสียเงิน 20% มาจากไทยนะครับ
เรามีสติกเกอร์แบบที่ต้องเสียเงิน 51 ชุดบน LINE และมี 16 ชุดที่เป็นรูปแบบของสปอนเซอร์สติกเกอร์ซึ่งมีผู้ใช้กว่า 500 ล้านคนเลยทีเดียว ในขณะเดียวกันเราก็เป็นบริษัทแรกที่ทำงานร่วมกับ WeChat ในแง่ของการจับมือนำลิขสิทธิ์ของคาแรกเตอร์ไปใช้ นอกจากนี้เรายังรองรับสื่อโซเชียลมีเดียอื่นๆ อีกเช่น Facebook, Twitter, Kakao Talk อีกด้วย
รูปแบบธุรกิจที่ดูอยู่มีด้วยกัน 2 รูปแบบคือ
- ลิขสิทธิ์ของตัวคาแรกเตอร์ที่มีอยู่
- พัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์ให้กับแบรนด์ ยกตัวอย่างกรณีที่ประสบความสำเร็จในไทย คือ KOSE เราเริ่มต้นตั้งแต่ทำการวิจัยตลาด ออกแบบคาแรกเตอร์ให้เข้ากับผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ จนสุดท้ายกลายเป็น LINE สติกเกอร์ ด้วยแคมเปญนี้แบรนด์สามารถเข้าถึงคนได้กว่า 7 ล้านคนในประเทศไทย
ผู้เขียน: ในมุมมองของคุณ สื่อโซเชียลมีเดียตัวไหนที่น่าสนใจ และคุณกำลังโฟกัสอยู่?
Mr.Fukuda: จากประสบการณ์กว่า 10 ปีที่ทำงานด้านนี้มา ผมว่าในธุรกิจสายนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แน่นอนว่าตอนนี้รายที่สำเร็จมากๆ ก็คือ LINE และ Facebook แต่ก็ไม่มีใครบอกได้ 100% นะครับว่าใครจะเป็นเจ้าตลาดเสียทีเดียว อย่างไรก็ตามแพลตฟอร์มก็คือแพลตฟอร์ม และเราก็ไม่รู้ว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่อะไรเข้ามาและทำให้ผู้ใช้แห่ไปใช้มัน แต่สำหรับพวกเราแล้วคอนเทนต์ไม่มีวันตาย เราไม่ได้ยึดติดอยู่กับแพลตฟอร์มใด แพลตฟอร์มหนึ่ง ไม่ว่าแพลตฟอร์มจะยังได้รับความนิยมอยู่ หรือคนไม่ค่อยสนใจแล้ว ธุรกิจของเรายังคงดำเนินอยู่ได้ ด้วยการผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพและรองรับแพลตฟอร์มต่างๆ ในช่วงเวลานั้นๆ
ผู้เขียน: เทรนด์ของคอนเทนต์ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นอย่างไร
Mr.Fukuda: ในตลาดนี้ผมเห็นทิศทางการเสพคอนเทนต์เติบโตขึ้นเร็วมาก มีปัจจัยหลายอย่างที่ช่วยผลักดัน ได้แก่
– การเพิ่มชึ้นของจำนวนสมาร์ทโฟนและแอพฯ ต่างๆ
- นักการตลาดให้ความสำคัญกับสื่อออนไลน์มากขึ้น และจัดสรรค์งบประมาณมาให้กับสื่อนี้มากขึ้น
- ในโลกตะวันตกคอนเทนต์ที่เป็นเชิงคาแรกเตอร์น่ารักๆ จะมีอิทธิพลกับกลุ่มเด็กๆ แต่สำหรับคนในแถบนี้ แม้แต่เลยวัยเด็กไปแล้วก็ยังชอบกัน คาร์แรกเตอร์ญี่ปุ่นหลายตัวก็ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน อาทิเช่น ดราก้อนบอล โดราเอมอน ชินจัง ผู้ใหญ่ทุกวันนี้เติบโตมากับคอนเทนต์กลุ่มนี้ ปัจจุบันก็มีกำลังซื้อแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นผู้ใหญ่อย่างเราๆ ยังโหลดสติกเกอร์กันอยู่เลย
นอกเหนือจากนี้เท่าที่ผมสังเกตดู GDP ของประเทศไทยเติบโตค่อนข้างดี ในขณะที่ญี่ปุ่นลดลง สำหรับผมแล้ว ผมยังมองว่าตลาดไทยตอนนี้น่าสนใจกว่าตลาดญี่ปุ่นอีก และด้วยปัจจัยเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นในฝั่งของผู้ใช้เอง โครงสร้างต่างๆ เองกลายเป็นตัวผลักดันที่ทำให้ตลาดคอนเทนต์ในภูมิภาคนี้โตขึ้นแน่ๆ
ด้วยลักษณะของวัฒนธรรม ความชอบต่างๆ ที่ใกล้เคียงกับประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน จึงไม่น่าแปลกใจที่บ้านเราเป็นตลาดที่บริษัททั้งญี่ปุ่น และเกาหลี ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งทำให้ LINE ประสบความสำเร็จมากๆ ในบ้านเราด้วยเช่นกัน