International Organization for Standardization หรือ ISO หน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานกลางระดับโลกนำเสนอแนวทางความเข้าใจในการบินโดรนทั่วโลก เพื่อให้ผู้ใช้มีความเข้าใจตรงกัน
แม้ว่าโดรนจะไม่ใช่ของใหม่ในวงการไอที แต่กฏระเบียบกลับถูกควบคุมด้วยหน่วยงานการบินแต่ละประเทศ ด้วยความที่หน่วยงานเหล่านี้มีความผ่อนปรนที่แตกต่างกัน ทำให้เมื่อผู้ใช้นำไปบินที่ต่างประเทศด้วยความเข้าใจในประเทศของตน ผลคือละเมิดกฏหมายโดยไม่รู้ตัว
ISO จึงเสนอร่างมาตรฐานความเข้าใจระดับโลกร่วมกันว่าการบินโดรนนั้นทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้บ้าง และควรหลีกเลี่ยงเรื่องอะไรบ้าง เช่นไม่ควรจะนำไปบินในพื้นที่รอบสนามบิน พื้นที่ต้องห้าม และผู้ผลิตต้องมีการกำหนด Geofencing เอาไว้เพื่อไม่ให้โดรนบินเข้าไปในพื้นที่ต้องห้ามได้
มาตรฐานกำหนดเอาไว้ว่าผู้ผลิตโดรนจะต้องเคารพความเป็นส่วนตัวของคนอื่นๆ และต้องอนุญาตให้มนุษย์เข้าแทรกแซงระบบได้ โดยเพื่อป้องกันความผิดพลาดจากปัญญาประดิษฐ์ หรือระบบบินอัตโนัมติ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดว่าผู้บังคับโดรนจะต้องผ่านการอบรม ฝึกฝน และมีการบันทึกชั่วโมงบินเอาไว้ อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้จะต้องได้รับการปกป้องเป็นอย่างดีอีกด้วย
มาตรฐานที่ร่างนี้จะเปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณะจนถึงวันที่ 21 มกราคมปีหน้า และคาดว่าจะเริ่มใช้งานจริงได้ในปี 2019 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามมาตรฐานไม่ใชส่ข้อบังคับ และอาจจะมีความแตกต่างกันไปบ้างในบางพื้นที่ ทาง ISO ก็คาดหวังว่าอย่างน้อยมาตรฐานนี้จะช่วยให้ผู้ผลิตโดรนรู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง และต้องพัฒนาระบบอะไรเพื่อช่วยเหลือ หรือป้องกันการนำไปใช้ที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุในอนาคตได้
ร่างมาตรฐานนี้เปิดสู่สาธารณะช่วงเวลาเดียวกับที่บอร์ดความปลอดภัยทางอากาศยานของสหราชอาณาจักรออกมาให้ข้อมูลว่าอุบัติเหตุทางอากาศกว่าครึ่งเกิดจากโดรนทั้งสิ้น หลังจากมาตรฐานเบื้องต้นนี้ผ่านทาง ISO จะออกมาตรฐานอื่นๆ ตามมาอีก เช่นสเปคของโดรน การควบคุมการบิน และกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน
ที่มา – Engadget