Li-Fi เทคโนโลยีใหม่ที่คิดค้นโดยศาสตราจารย์ แฮโรลด์ ฮาส แห่งมหาวิทยาลัยเอดินบะระในสกอตแลนด์ ได้เสนอแนวคิดนี้มาตั้งแต่ปี 2011 ที่จะใช้หลอดไฟแบบ LED ภายในบ้านเป็นตัวกระจายสัญญาณอินเทอร์เนต ซึ่งผลจากการทดลองมันสามารถส่งข้อมูลได้เร็วกว่า Wi-Fi ถึง 100 เท่า เรียกได้ว่าสามารถส่งข้อมูลขนาด 1GB เสร็จได้ภายในเวลาแค่ 1 วินาที
หลักการของเทคโนโลยีนี้ จะใช้การกระพริบของไฟ LED อย่างรวดเร็วในระดับ nano seconds (1/1,000,000 วินาที) นั่นคือกระพริบถี่จนระดับที่สายตาของมนุษย์ไม่สามารถมองเห็น และรูปแบบของข้อมูลจะส่งผ่านไปเป็นค่าความสว่างของแสง (Amplitude) ซึ่งแตกต่างจากระบบปัจจุบันที่เราใช้เป็นคลื่นวิทยุ (Wi-Fi , 4G) ล่าสุดในการทดลองเทคโนโลยีนี้ในห้องแล็บ พบว่ามันสามารถทำความเร็วในการส่งข้อมูลได้ถึง 224 Gbps และตอนนี้ก็เริ่มมีการนำเอาไปทดลองใช้จริงในหลายๆ ที่ รวมถึงมีบริษัท Start Up ผลิตหลอดไฟและอุปกรณ์รับสัญญาณออกขายแล้ว
และล่าสุดในการทดลองเทคโนโลยีนี้ ยังสามารถส่งสัญญาณอินเทอร์เนตแบบแสงผ่านหลอด LED ไปยังตัวรับสัญญาณที่เป็นเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) นั่นคือตัวรับสัญญาณนอกจากจะรับข้อมูลแบบไร้สายความเร็วสูงผ่านแสงแล้ว ยังผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีกด้วย
จุดเด่นของ Li-Fi เทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนโฉมอินเทอร์เนตในบ้าน
- ประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะว่าสามารถใช้งานกับอุปกรณ์หลอดไฟ LED ที่ใช้อยู่ในบ้านเรือนที่พักอาศัย และอาคารต่างๆ ได้ทันที
- ด้านความปลอดภัยของข้อมูล เพราะว่าการส่งสัญญาณเป็นในรูปแบบแสงจึงไม่สามารถดักจับสัญญาณเหมือนแบบที่เป็นคลื่นวิทยุได้ และการส่งสัญญาณเป็นแสงในอาคารจึงไม่สามารถผ่านกำแพงออกไปภายนอกอาคาร การดักข้อมูลจึงไม่สามารถทำได้ด้วยเช่นกัน
- ความปลอดภัยและสุขภาพของผู้ใช้ ด้วยการส่งสัญญาณที่เป็นแสงไม่ใช่คลื่นวิทยุหรือคลื่นแม่เหล็ก
- การรบกวนของสัญญาณน้อยกว่าแบบที่เป็นคลื่นวิทยุ
แต่ว่าเทคโนโลยีนี้ก็ยังมีข้อจำกัดในหลายๆ ด้านอยู่เช่นกัน ตั้งแต่อุปกรณ์ตัวรับสัญญาณก็จะต้องเปลี่ยนมาใช้ที่เป็นมาตรฐานการรับสัญญาณที่เป็นแบบแสง ที่ปัจจุบันยังต้องพัฒนาให้มีขนาดที่เล็กลงจนสามารถนำไปติดตั้งกับอุปกรณ์พกพาได้ และมันยังมีขอบเขตการกระจายสัญญาณที่น้อยกว่า Wi-Fi ดังนั้นถ้าใช้งานจริง รวมถึงในอาคารก็จะต้องมีความถี่ในการติดตั้งไฟ LED มากขึ้น อีกทั้งมันยังไม่สามารถเอาไปใช้นอกอาคารหรือกลางแจ้งได้
ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ถือว่าเทคโนโลยีนี้มีความน่าสนใจ และมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาต่อยอดไปจนสามารถทำให้มีขนาดที่เล็กลงและใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวันได้
ข้อมูลจาก : Purelifi