โครงการเงินคริปโตสาธารณะของ Facebook นั้นแบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกัน ได้แก่ Calibra กระเป๋าเงินดิจิตอลจาก Facebook และเงินสกุล Libra ของ Libra Association
ตัวกระเป๋าเงินที่ชื่อว่า Calibra นั้นมีกำหนดจะเปิดให้บริการจริงในปีหน้า ซึ่งเราคงจะไม่ได้ยินข่าวมากนักจนกว่าจะเข้าช่วงปีหน้า (ถ้าจะได้ยินน่าจะเป็นข่าวภาครัฐไม่ปลื้ม Libra และพยายามหาทางปิดให้ได้ก่อนเปิดให้บริการจริง) ส่วนตัวสกุลเงิน Libra นั้นในปัจจุบันเปิดให้ทดสอบใช้งานแล้ว
Libra Association หน่วยงานที่ดูแล Libra นี้เป็นการรวมตัวของบริษัทและองค์กรรวมทั้งสิ้น 28 หน่วยงาน รายใหญ่ๆ ก็ได้แก่ MasterCard, Visa, PayPal, eBay, Uber, Lyft, Farfetch, Facebook และอื่นๆ อีกมาก ล่าสุดประกาศเปิดให้นักวิจัยด้านความปลอดภัยที่ค้นพบช่องโหว่ของ Libra แจ้งเข้ามาได้ โดยจะมีรางวัลให้ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่ามีช่องโหว่ความปลอดภัยจริงๆ (เรียกโครงการแบบนี้ว่า Bug Bounty Program หรือโครงการล่าค่าหัวช่องโหว่)
Michael Engle หัวหน้าแผนกชุมชนนักพัฒนาของ Libra Association ได้เผยว่ารางวัลสำหรับช่องโหว่ประเภท Cirital Issue ร้ายแรงจะมีรางวัลให้สูงสุดที่ $10,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่อาจจะมีมากกว่านั้น หรือน้อยกว่านั้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับช่องโหว่ที่ถูกนำมาแจ้ง แต่เป้าหมายสูงสุดของโครงการนี้คือการเรียกให้นักพัฒนาและนักวิจัยด้านความปลอดภัยหันมาสนใจ Blockchain กันมากขึ้น
โครงการล่าค่าหัวช่องโหว่นี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกินความคาดหมายแต่ประการใด เนื่องจาก Facebook ที่เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนรายใหญ่ (ทั้งในแง่การเงินและเทคโนโลยี) เองก็ทำเช่นเดียวกันมาหลายปีแล้ว และมอบเงินค่าหัวให้กับนักวิจัยด้านความปลอดภัยมาหลายล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว ล่าสุดเพิ่งจะขยายโครงการออกไปยัง Instagram ถ้าหากนักวิจัยความปลอดภัยพบแอพภายนอกตัวไหนที่ใช้ช่องโหว่ขโมยข้อมูลผู้ใช้งานออกไปก็สามารถแจ้งเข้ามาได้ด้วยเช่นกัน
ที่มา – Engadget