แบตเตอรี Lithium-Sulfur (ลิเธียม ซัลเฟอร์) ไม่ใช่ของใหม่นัก แต่ข่าวล่าสุดนี้น่าจะทำให้มันน่าสนใจขึ้นมากกว่าเดิม เพราะนักวิจัยจาก Monash University พบวิธีทำให้มันทำงานได้ดีกว่าเดิมมาก
สูตรที่นักวิจัยค้นพบนั้นสามารถใช้งานในมือถือได้ราวๆ ห้าวันต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง หรือถ้าเป็นรถยนตร์ไฟฟ้าก็สามารถวิ่งได้ไกลกว่า 1,000 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟหนึ่งหน ลดปัญหาโลกร้อนได้ และเปลี่ยนจากการผลิตแบตเตอรีลิเธียมแบบเดิมๆ มาเป็น Lithium-Sulfur ได้ไม่ยาก
ถ้าลงลึกในวิชาการสักหน่อย การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดจากการเปลี่ยนอนุภาคที่จับตัวกันในแคโธดที่ทำจากซัลเฟอร์ ทำให้รับกำลังไฟสูงๆ ได้โดยไม่สูญเสียความจุ ประสิทธิภาพในการจ่ายไฟ หรือความสเถียรเลย นักวิจัยบอกว่าเทคนิคนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตผงซักฟอกทั่วๆ ไปด้วยซ้ำไป
ปัญหาตัวจริงคือการทำให้แบตเตอรีประเภทนี้ถูกนำไปผลิตจริง เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาเรื่องแบตเตอรีถูกแก้ไขไปหลายหนแล้ว แต่ไม่เคยมีสักครั้งที่แบตเตอรีที่คิดค้นมาใหม่นั้นไปถึงขั้นตอนผลิตและใช้งานจริง เนื่องจากมีปัญหาอีกมากมายรออยู่ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตจำนวมาก การปรับกระบวนการผลิต และซัพพลายเออร์สำหรับสารเคมีที่เปลี่ยนแปลงไป
ผลงานของนักวิจัยจาก Monash University นี้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุดในตอนนี้ โดยสถาบัน Fraunhofer ในเยอรมันได้ทดสอบผลิตและใช้งานแล้ว และนักวิจัยมีแผนจะทดลองใช้ในรถยนตร์ไฟฟ้า และ Power Grid ที่เก็บประจุไฟจากพลังงานสะอาดเช่นโซลาร์เซลส์ในออสเตรเลียปีนี้อีกด้วย อาจจะอีกนานสักหน่อยกว่าจะกลายเป็นแบตเตอรีในมือถือของพวกเราจริงๆ แต่ดูจะมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้มากที่สุด และเร็วที่สุดในบรรดาแบตเตอรีตอนนี้แล้วล่ะครับ
ที่มา – Engadget