หลังจากหมดยุคกักตัวอยู่แต่ในบ้าน คนก็เริ่มใช้บริการหลายๆ อย่างน้อยลง เรื่องนี้รวมไปถึง Netflix ด้วยที่รายได้ลดลงอย่างมากหลังจากคนเริ่มกลับไปใช้ชีวิตนอกบ้านกันมากขึ้น
ในเมื่อรายได้ลดลง บริษัทก็ต้องหาทางหาเงินให้ได้มากขึ้น รวมไปถึงการจัดการการแชร์แอคเคาต์ หรือรวมตี้เปิด Family หารแบ่งกันอย่างที่เราแทบทุกคนจะทำกัน แม้ว่า Netflix เองจะเคยบอกว่าการแชร์แอคเคาต์ข้ามครอบครัวนั้นเจ๋งดี (ข่าว) แต่ตอนนี้บริษัทต้องหาเงินเข้าเพิ่ม จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเปลี่ยนทิศทางจากที่เคยกล่าวเอาไว้
รอบล่าสุดในการทดสอบวิธีรีดเค้นเงินเพิ่มจากผู้ใช้บริการที่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกันกำลังทดสอบอยู่ในอเมริกาใต้ (อาร์เจนตินา, เอลซัลวาดอร์, กัวเตมาลา,ฮอนดูรัส และสาธารณรัฐโดมินิกัน) โดยถ้าหากผู้ใช้งานไม่ได้อยู่บ้านเดียวกัน จะต้องเสียเงินเพิ่มราวๆ $3 หรือราวๆ 110 บาท ต่อคน เงื่อนไขในการใช้งานคือถ้าหากมีการรับชม Netflix นอกพื้นที่บ้านที่กำหนดไว้เป็นเวลา 2 สัปดาห์จึงจะต้องสร้าง Home เพิ่มเพื่อรองรับพื้นที่ดังกล่าว ไม่งั้นจะไม่สามารถรับชม Netflix ได้อีก
ในหน้า Support ของ Netflix อธิบายว่าการนิยามว่าที่ไหนบ้างที่เข้าข่ายนับเป็น Home พิจารณาจาก IP Address, Device ID และพฤติกรรมการใช้งาน ถ้าใช้ตามปกติแต่ถูกระบบตรวจสอบว่าอยู่คนละแห่งแนะนำให้ใช้เน็ทเวิร์คเดียวกัน และไม่ต่อ VPN สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปต่างแดน จะสามารถรับชมได้เป็นเวลา 2 สัปดาห์เท่าๆ กับการใช้นอกบ้านตามปกติ โดยเงื่อนไขคือที่ๆ ไปนั้นจะต้องไม่เคยไปมาก่อน แล้วอนุญาตใหทำได้ที่ละครั้งต่อปี (เช่นไปเที่ยวญี่ปุ่น จะได้แค่ปีละครั้ง ถ้ามากกว่านั้นจะต้องซื้อ Home เพิ่ม)
ในการทดสอบนี้ผู้ที่ใช้งาน Basic จะเพิ่ม Home ได้เพียง 1 แห่งเท่านั้น สำหรับ Standard จะได้ 2 แห่ง และ Premium จะได้สามแห่ง นอกจากนี้ Netflix ยังทดสอบระบบจัดการการแชร์พาสเวิร์ดในคอสตาริก้า เปรู โคลัมเบียในแนวทางอื่นด้วย คือถ้ามีคนใช้นอกสถานที่จะชาร์จเพิ่ม (ราคาแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ) และจะเพิ่มแอคเคาต์ที่เข้าชม Netflix ได้ นอกจากนี้ยังมีระบบ Profile Transfer tool ให้ย้ายโปรไฟล์แนะนำวิดิโอออกไปให้กับแอคเคาต์อื่นได้ด้วย
เรายังไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้ว Netflix จะเลือกวิธีไหนในการควบคุมการแชร์แอคเคาต์ Netflix แต่ความพยายามที่จะรีดเงินเพิ่มจากผู้ใช้งานนั้นคงจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน เหลือแค่ต้องคอยดูว่าจะออกมาในรูปแบบใดเท่านั้นเอง
ที่มา – The Verge